Buddhist Study   บทที่ 16   อารมณ์และทวาร    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 

 


"จะมีจิตเกิด
ขึ้นโดยไม่รู้
อารมณ์ไม่ได้"


 

 

 

 

 

 

 


"จิต นั่นเองที่
รู้อารมณ์นั้น
เมื่อไม่รู้สภาพ
ธรรมตาม
ความเป็นจริง
เราก็คิดว่า
เป็นตัวเรา
ที่รู้อารมณ์"


 

 

 

 

 

 

 


"ลักษณะของ
รูปแต่ละ
ลักษณะเท่า
นั้นที่ปรากฏ
แต่ละขณะ"


 

 

 

 

 

 

 


"อารมณ์ทั้ง
หมดที่จิต
รู้ได้มี 6
อารมณ์"


 

 

 

 

 

 

 


"เมื่อเราคิดว่า
สิ่งที่เห็น
เป็นต้นไม้
เป็นสัตว์
หรือเป็นคน
เราคิดถึง
บัญญัติ
ของสิ่งที่เห็น
แต่ไม่ใช่การรู้
สิ่งที่ปรากฏ
ทางตา"


 

 

 

 

 

 

 


"ธัมมารมณ์
ได้แก่ อารมณ์
ทั้งหมด
ที่ไม่ใช่
อารมณ์ 5
ธัมมารมณ์
สามารถรู้ได้
ทางมโนทวาร
เท่านั้น"


 

 

 

 

 

 

 


"จะรู้ปสาทรูป
ได้ทาง
มโนทวาร
เท่านั้น เช่น
เรามองไม่เห็น
จักขุปสาท
แต่เรารู้ว่ามี
จักขุปสาท
เพราะมี
จิตเห็น"


 

 

 

 

 

 

 


"ถ้าเรายึด
ใน คำ "นาม"
และ "รูป"
และ คิดถึง
เรื่องนามและ
รูป แทนที่สติ
จะระลึกรู้
ลักษณะ ของ
นามและรูป
ที่ปรากฏ
เราก็จะรู้แต่
เพียงบัญญัติ
แทนที่จะรู้
สภาพธรรม
ตามความ
เป็นจริง"


 

 

 

 

 

 



 
      จิตรู้ อารมณ์    จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้   เมื่อมีอารมณ์ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน 6 ทวาร  เรารู้ไหมว่า จิต นั่นเองที่รู้อารมณ์นั้น   เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง   เราก็คิดว่าเป็นตัวเราที่รู้อารมณ์   และยิ่งไปกว่านั้น   เรายึดถืออารมณ์นั้นว่าเที่ยง   เป็นตัวตน  เช่น   เมื่อเห็นท่อนไม้   เรามักคิดว่าสิ่งที่ เห็น ขณะนั้นเป็นท่อนไม้   เราไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่มอง เห็น ได้   เมื่อ สัมผัส ท่อนไม้นั้น  สภาพแข็ง หรือ สภาพเย็น ก็ปรากฏทาง กาย    เราคิดว่าท่อนไม้นั้นไม่เสื่อมสลาย   แต่สิ่งที่เราเรียกว่าท่อนไม้เป็นรูปต่างๆซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป   ลักษณะของรูปแต่ละลักษณะเท่านั้นที่ปรากฏแต่ละขณะ   ถ้าเราระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏทางทวารต่างๆ   เราจะประจักษ์สภาพธรรมต่างๆตามความเป็นจริงได้

พระอริยบุคคลรู้จักชีวิตต่างกะปุถุชน   สิ่งที่ปุถุชนเห็นว่าเป็นความสุข   พระอริยบุคคลเห็นว่าเป็นทุกข์ สิ่งที่ปุถุชนเห็นว่าเป็นทุกข์   พระอริยบุคคลเห็นว่าเป็นสุข
ในสังยุตตนิกาย  สฬายตนวรรค   เทวทหวรรคที่ 4
ปัคคัยสูตรที่ 1  ข้อความว่า   รูป  เสียง  กลิ่น  รส   โผฏฐัพพะ   และธัมมารมณ์ทั้งสิ้นอันน่าปราถนา   น่าใคร่  และน่าพอใจ   ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด   รูปารมณ์เป็นต้นเหล่านั้นนั่นแลเป็นสิ่งอันชาวโลก   พร้อมทั้งเทวโลก   สมมุติว่าเป็น สุข    ถ้าว่ารูปารมณเป็นต้น์เหล่านั้นดับไปในที่ใด   ที่นั้นเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นสมมุติว่าเป็นทุกช์   ส่วนว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นการดับสักกายะว่าเป็นสุข   การเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้   ย่อมเป็นข้าศึกกับชาวโลกทั้งปวง   บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่าเป็น สุข   พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่าเป็น ทุกข์ บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่าเป็นทุกข์   พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่าเป็นสุข   เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก   คนพาลผู้หลงไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้   ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์หุ้มห่อไว้   เหมือนความมัวมนย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็น ....

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องจิตรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารต่างๆ   เพื่อให้เราพ้นจากความมืดบอด   เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้วก็รู้ว่า   อารมณ์ทั้งหมดที่จิตรู้ได้มี 6 อารมณ์

อารมณ์ที่หนึ่ง  คือ  สิ่งที่ปรากฏทางตา   หรือ
รูปารมณ์  ซึ่งรู้ได้ ทางตา เท่านั้น   เราอาจเรียกว่า  สิ่งที่เห็นทางตา หรือ สี    เราอาจเรียกอารมณ์ว่าอะไรก็ได้   แต่สิ่งที่ต้องรู้คือว่า   เป็นสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา เท่านั้น   สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่วัตถุสิ่งของหรือบุคคลดังที่เราคิด   เมื่อเราคิดว่าสิ่งที่เห็นเป็นต้นไม้   เป็นสัตว์  หรือเป็นคน   เราคิดถึงบัญญัติของสิ่งที่เห็น   แต่ไม่ใช่การรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

อารมณ์ที่สอง  คือ  เสียง หรือ สัททารมณ์

อารมณ์ที่สาม  คือ กลิ่น หรือ คันธารมณ

อารมณ์ที่สี่  คือ  รส หรือ รสารมณ์

อารมณ์ที่ห้า  คือ  อารมณ์ ที่สามารถรู้ได้ ทางกายหรือ โผฏฐัพพารมณ์  อารมณ์นี้ได้แก่:

สภาพแข็ง หรือ ธาตุดิน (ภาษาบาลีเรียกว่า
ปถวีธาตุ)    ซึ่งปรากฏลักษณะ แข็ง หรือ อ่อน ให้รู้ได้

อุตุ  หรือ  ธาตุไฟ   (ภาษาบาลีเรียกว่า  เตโชธาตุ )  ซึ่งปรากฏลักษณะ ร้อน หรือ เย็น ให้รู้ได้

สภาพไหว  หรือ  ธาตุลม (ภาษาบาลีเรียกว่า  วาโยธาตุ )  ซึ่งปรากฏลักษณะ ไหว หรือ ตึง ให้รู้ได้

สภาพแข็ง (ดิน)  สภาพเกาะกุม (นํ้า)  อุตุ (ไฟ)  สภาพไหว (ลม)   เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน 4 รูป  (มหาภูตรูป)  สภาพเกาะกุม (ภาษาบาลีเรียกว่า  อาโปธาตุ)   นั้นไม่สามารถรู้ได้ทางกายทวาร   เมื่อกระทบนํ้า   สภาพแข็งหรืออ่อน   ร้อนหรือเย็น  ไหวหรือตึง   สามารถรู้ได้ทางกายทวาร  สภาพเกาะกุม สามารถรู้ได้ ทางมโนทวาร เท่านั้น   ลักษณะของธาตุนํ้าจึงเป็นอารมณ์ประเภทที่ 6  คือ  ธัมมารมณ์

ธัมมารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ทั้งหมดที่ไม่ใช่อารมณ์ 5 ธัมมารมณ์ สามารถรู้ได้ ทางมโนทวารเท่านั้น

ผู้ที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน   ย่อมไม่รู้ชัดว่าอารมณ์ใดปรากฏทางทวารใด   ยังสับสนเรื่องอารมณ์และทวาร   ฉะนั้นจึงสับสนเรื่องโลก    พระอริยบุคคลไม่สับสนเรื่องโลก   ท่านรู้ว่าอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร 6 นั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมไม่ใช่ตัวตน

ข้อความใน  มัชฌิมนิกาย   อุปริปัณณาสก์
ฉฉักกสูตร   ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวาร 6    สมัยที่พระผู้ทีพระภาคประทับ   ณ  พระวิหารเชตวัน   อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี   พระองค์ตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลายเรื่องอายตนะภายใน 6  และอายตนะภายนอก 6     อายตนะภายใน 6 ได้แก่   ทวาร 6 ซึ่งเป็นทางรู้อารมณ์ที่ปรากฏ    อายตนะภายนอก 6  ได้แก่   อารมณ์ 6 ซึ่งรู้ได้ทางทวาร 6    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องวิญญาณ 6  ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยทวาร 6 และอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร 6   และทรงแสดงเรื่องผัสสะ 6   เวทนา 6  อันเกิดจากผัสสะ 6   ตัณหา 6  อันเกิดจากเวทนา 6   จึงเป็นธรรม 6   และ 6 คือหมวด 6 ของธรรม 6 ประเภท

พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องบุคคลที่มีโลภะ   โทสะ  โมหะ   เมื่อรู้อารมณ์ทางทวาร 6 ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ   ความประจวบของธรรมทั้ง 3 เป็นผัสสะ   เพราะผัสสะเป็นปัจจัยย่อมเกิดความเสวยอารมณ์   เป็นสุขบ้าง  เป็นทุกข์บ้าง   มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง   เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินพูดถึง   ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ   จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว   ย่อมเศร้าโศก  ลำบาก   รํ่าไห้  ครํ่าครวญ  ทุ่มอก ถึงความหลงพร้อม   จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่   อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว   ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น   ความดับไป  คุณ  โทษ   และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น   ตามความเป็นจริง   จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ฯ"

ทางทวารอื่นๆ   ก็โดยนัยเดียวกัน

ข้อความต่อไป   ทรงแสดงเรื่องบุคคลที่มีโยนิโส
มนสิการแทนโลภะ  โทสะ  โมหะ   ซึ่งสามารถดับสังสารวัฏฏ์   ดังนี้

"เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว   ย่อมไม่เพลิดเพลิน   ไม่พูดถึง   ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ   จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่   อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว   ย่อมไม่เศร้าโศก  ไม่ลำบาก   ไม่รํ่าไห้   ไม่ครํ่าครวญทุ่มอก   ไม่ถึงความหลงพร้อม   จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่   อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว   ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น   ความดับไป  คุณ  โทษ   และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น   ตามความเป็นจริง   จึงไม่มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา   บรรเทาปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา   ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้ แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้   นั่นเป็นฐานะที่มีได้ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป     ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุวิญญาณ   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุสัมผัส   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในตัณหา   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียง .... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่น .... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส .... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ .... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน
ธัมมารมณ์   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน
มโนวิญญาณ   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน
มโนสัมผัส   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในตัณหา   เมื่อเบื่อหน่าย   ย่อมคลายกำหนัด   เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น   เมื่อหลุดพ้นแล้วย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว   และทราบชัดว่า  ชาติสิ้นแล้ว   พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว   กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว   ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค   และเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่   ภิกษุประมาณ 60 รูป   ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ   เพราะไม่ถือมั่นแล"

ธัมมารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ 6   นั้นมี 6 ประการ  คือ

  1. ปสาทรูป 5
  2. สุขุมรูป 16
  3. จิต
  4. เจตสิก
  5. นิพพาน
  6. บัญญัติ

ธัมมารมณ์ประเภทที่ 1   คือปสาทรูป 5   เป็นรูปที่สามารถรับกระทบรูป   เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ ปสาทรูปไม่รู้อะไร  เป็นรูป   ไม่ใช่นาม   เป็นทางให้จิตรู้อารมณ์ได้   ปสาทรูปเป็นอารมณ์ของจิตทางตา
หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ไม่ได้   จะรู้ปสาทรูปได้ทางมโนทวารเท่านั้น   เช่น   เรามองไม่เห็นจักขุปสาท   แต่เรารู้ว่ามีจักขุปสาท   เพราะมีจิตเห็น

สำหรับ รูปละเอียด (สุขุมรูป) นั้นมี 16 รูป    รูปทั้งหมดมี 28 รูป   เป็น รูปหยาบ 12 รูป (โอฬาริกรูป)   และ รูปละเอียด 16 รูป
(สุขุมรูป)

รูปหยาบ 7 รูป   สามารถรู้ได้ทางทวาร 5 คือ   รูปหยาบ 4 รูปรู้ได้ทางตา  หู   จมูก  ลิ้น  ตามลำดับ    อีก 3 รูป  คือ  ธาตุดิน   ธาตุไฟ  ธาตุลม   รู้ได้ทางกาย   นอกจากนั้นมีรูปหยาบอีก 5 รูปคือปสาทรูป 5
ซึ่งเป็นทางให้รู้อารมณ์ 5   นี้ได้ปสาทรูป 5  เป็น
ธัมมารมณ์

สุขุมรูป 16 รูป รู้ได้เฉพาะ ทางมโนทวารเท่านั้น เช่น  โอชา  วจีวิญญัตติ   ซึ่งเป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดคำพูด กายวิญญัตติ เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดการแสดงความหมายออกทางกาย

ลักษณะของสุขุมรูปจะรู้ได้หรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับปัญญา   การคิดถึง สุขุมรูปใดรูปหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ามีปัญญา   ซึ่งรู้ลักษณะของรูปนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน

จิต เป็นธัมมารมณ์   จิตรู้อารมณ์   แต่จิตก็เป็นอารมณ์ด้วยเหมือนกัน   จิตมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือจิตอื่นๆ เป็นอารมณ์ก็ได้

ธัมมารมณ์อีกประเภทหนึ่ง  คือ   เจตสิกทั้ง 52 ดวง  เวทนา เป็นเจตสิก    ขณะที่จิตรู้ทุกขเวทนา ขณะนั้นอารมณ์ของจิตเป็นธัมมารมณ์   ขณะรู้ลักษณะ แข็ง อารมณ์ขณะนั้นไม่ใช่ธัมมารมณ์   แต่เป็นโผฏฐัพพารมณ์    ความแข็งและความไม่สบายทางกายปรากฏต่อกันได้   ถ้าไม่สังเกตุสำเหนียกว่า ความแข็งและความไม่สบายทางกายเป็นอารมณ์ต่างกัน   และไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม   ก็จะยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนต่อไป

จิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง  แม้ นิพพาน จิตก็รู้ได้   นิพพาน เป็น ธัมมารมณ์ ซึ่งรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น    ฉะนั้นจิตรู้ได้ทั้ง สังขารธรรม และ วิสังขารธรรม   จิตที่รู้สังขารธรรมเป็น โลกียจิต (โลกียะในทางธรรมมีความหมายไม่เหมือนโลกียะที่เข้าใจกันทั่วๆไปในทางโลก)    จิตที่ประจักษ์แจ้งนิพพานเป็น โลกุตตรจิต

ธัมมารมณ์อีกประเภทหนึ่งคือ  บัญญัติ     จะเห็นว่า
จิตรู้ได้ทั้ง ปรมัตถธรรม คือนามธรรมและรูปธรรม   และ บัญญัติธรรม   ซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม

เรื่องหรือคำที่จิตคิดไม่ใช่ปรมัตถธรรม   เราคิดถึงคน  สัตว์   หรือวัตถุสิ่งของได้เพราะการทรงจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว   แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่
ปรมัตถธรรมที่ประจักษ์แจ้งได้   เมื่อ คิดนึก ถึงคำหรือเรื่อง   ขณะนั้นมีนามธรรมที่คิด     นามธรรมเป็นปรมัตถธรรม    ฉะนั้น  สภาพธรรม ในขณะนั้นคือ จิตคิดนึก

คำที่บัญญัติขึ้นอาจหมายถึงทั้งสภาพธรรมที่มีจริงและสิ่งที่ไม่มีจริง   คำบัญญัตินั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม
แต่ใช้เรียกปรมัตถธรรม  เช่น  คำว่า   "นาม"  และ  "รูป"   เป็น บัญญัติ     แต่เป็นคำที่ใช้เรียก
ปรมัตถธรรม    เป็นการจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงความต่างกันของปรมัตถธรรมและบัญญัติ    ถ้าเรายึดใน คำ  "นาม"   และ  "รูป"  และ คิดถึง เรื่องนามและรูป   แทนที่สติจะระลึกรู้ ลักษณะ ของนามและรูปที่ปรากฏ   เราก็จะรู้แต่เพียงบัญญัติ   แทนที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

อารมณ์ 5  คือ  รูป  เสียง   กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ   เป็นรูป   ส่วนธัมมารมณ์ 6   ได้แก่  จิต  เจตสิก   ปสาทรูป  สุขุมรูป  นิพพาน   และบัญญัติ

อารมณ์ต่างๆรู้ได้ ทางทวาร ต่างๆเช่น  จักขุปสาทรูป (รูปที่รับกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาได้)   เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตรู้อารมณ์ทางตา
ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป   จิตจะรู้อารมณ์ทางตาไม่ได้เลย

จิตที่เป็นปัญจทวารวิถีรู้อารมณ์ทางตา   หู  จมูก  ลิ้น  กาย   สำหรับกายทวารนั้น   กายปสาทที่กระทบอารมณ์ทางกาย   เช่น  แข็ง  อ่อน  ร้อน   เย็น  ไหว  หรือ  ตึง   นั้นคือส่วนที่กระทบ
โผฏฐัพพารมณ์ได้   ฉะนั้นกายทวารจึงมีทั่วไปในร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดเว้นส่วนที่ปราศจากความรู้สึก

ทวาร 5 เป็นรูป   ทวารเดียวเท่านั้นเป็นนาม   มโนทวาร เป็น นาม   มโนทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ทางมโนทวาร   ภวังคจลนะ และ ภวังคุปัจเฉทะ เกิดก่อนมโนทวาราวัชชนจิต   ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเกิดก่อนมโนทวาราวัชชนจิตเป็น มโนทวาร   เป็นทางที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์

การรู้ว่าจิตรู้อารมณ์ทางทวารใดนั้นเป็นประโยชน์   เช่น   สิ่งที่ปรากฏทางตาหรือรูปารมณ์นั้นรู้ได้ทางจักขุทวารและทางมโนทวาร   วิถีจิตทางตารู้รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ   วิถีจิตทางมโนทวารที่เกิดต่อจากจักขุทวารวิถีนั้นรู้รูปารมณ์ที่เพิ่งดับ   ขณะนั้นไม่ได้คิดถึงบุคคลหรือวัตถุสิ่งของ   แต่มโนทวารวิถีอีกหลายวาระก็เกิดขึ้นคิดถึงบุคคลหรือสิ่งของ   อารมณ์ในขณะนั้นเป็นบัญญัติ   ไม่ใช่รูปารมณ์   การรู้รูปารมณ์เป็นปัจจัยให้คิดถึงเรื่องราวบัญญัติต่างๆในภายหลัง

ชวนจิตเกิดทั้งในปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี   สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์   ชวนจิตเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต   เมื่อรูปารมณ์ปรากฏทางจักขุทวาร   ขณะนั้นยังไม่เห็นเป็นบุคคลหรือวัตถุ   แต่ในปัญจทวารวิถีนั่นเอง   โลภะ  หรือโทสะ  หรือโมหะ   ในสิ่งที่เห็นก็เกิดได้   กิเลสเหนียวแน่นมาก   เกิดได้ทั้ง 6 ทวาร   เราอาจคิดว่าการเป็นทาสของอารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารนั้นเป็นเพราะอารมณ์นั้นเอง แต่ความจริงแล้วกิเลสไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอารมณ์   แต่เพราะกิเลสที่สะสมอยู่ในจิตซึ่งรู้อารมณ์นั้น

ในสังยุตตนิกาย  สฬายตนวรรค   โกฏฐิกสูตร   ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิกะพำนักอยู่ในป่าอิสิปตนะ   ใกล้เมืองพาราณสี   ท่านพระมหาโกฏฐิกะ   กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า

"ดูกรท่านพระสารีบุตร   จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป   รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ   ลิ้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส   รสเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้น   ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธัมมารมณ์   ธัมมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหรือ"

"ดูกรท่านโกฏฐิกะ   จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป   รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหามิได้   ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น   เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น   ลิ้นและใจก็โดยนัยเดียวกัน .... ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยรสกับลิ้น   ธัมมารมณ์กับใจ

ดูกรท่านโกฏฐิกะ   โคดำกับโคขาว   เขาผูกติดกันด้วยสายทามหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน   หากจะมีบุคคลใดกล่าวว่า   โคดำเกี่ยวเนื่องกับโคขาว   โคขาวเกี่ยวเนื่องกับโคดำดังนี้   บุคคลนั้นกล่าวชอบหรือ"

"ดูกรท่านพระสารีบุตร   ไม่ใช่อย่างนั้น"

"ดูกรท่านโกฏฐิกะ   ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน   จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป   รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหามิได้   ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น   เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น   ลิ้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส   รสเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้นหามิได้   ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นกับรสทั้งสองนั้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในลิ้นและรสนั้น   ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธัมมารมณ์   ธัมมารมณ์ก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหามิได้   ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธัมมารมณ์ทั้งสองนั้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธัมมารมณ์
เท่านั้น

ดูกรท่านโกฏฐิกะ   จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป   หรือรูปจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ   การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ   ย่อมไม่ปรากฏ   แต่เพราะจักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป   รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ   ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น   เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น   เพราะฉะนั้น   การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ   จึงปรากฏ  ฯลฯ

ดูกรท่านโกฏฐิกะ   พระเนตรของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้   พระองค์ก็ทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร   แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย   พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว   พระชิวหาของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้   .....   พระมนัสของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ ....   แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย   พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

ดูกรท่านโกฏฐิกะ   ข้อนี้พึงทราบโดยปริยายนี้"

 

 

 

ดูสารบัญ

home         ปัญหาถาม-ตอบ        หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ