Buddhist Study   บทที่ 17   ทวารและวัตถุที่เกิดของจิต    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 

 


"สิ่งใดที่ไม่
เที่ยงย่อมเป็น
ทุกข์จะเป็น
สุขไม่ได้"


 

 

 

 

 

 

 


"เมื่อสติระลึก
รู้นามธรรม
และรูปธรรม
ที่ปรากฏ เช่น
การเห็น
รูปารมณ์
เวทนาหรือ
การนึกคิด
ก็สามารถ
พิสูจน์ความ
จริงของพระ
ธรรมได้ด้วย
ตนเอง"


 

 

 

 

 

 

 


"เราจะรู้แจ้ง
สัจจธรรมไม่
ได้ถ้าเรา
ปฏิบัติตาม
คนอื่นอย่าง
งมงายหรือ
คิดคาดคะเน
เรื่องสัจ-
จธรรม"


 

 

 

 

 

 

 


"พระผู้มีพระ
ภาคทรงสอน
ให้เราดับกิเลส
โดยอบรม
เจริญปัญญา
ที่รู้แจ้งสภาพ
ธรรมที่ปรากฏ
ทางทวาร 6
ตามความ
เป็นจริง"


 

 

 

 

 

 

 


"เราควรระลึก
เสมอว่า
พระอภิธรรม
ไม่ใช่ตำราที่
มีแต่ทฤษฎี
แต่เป็นการที่
แสดงให้เห็น
ถึงสภาพธรรม
ที่ปรากฏใน
ชีวิตประจำวัน"


 

 

 

 

 

 

 

 


"ถ้าสติเกิดขึ้น
รู้ลักษณะของ
นามและรูป
ที่ปรากฏ
ปัญญาก็
เจริญขึ้นจน
สามารถดับ
กิเลสได้
ปัญญาขั้นนี้
คมกล้ายิ่งกว่า
ความรู้ทาง
ทฤษฎีใดๆ
ทั้งสิ้น"


 

 

 

 

 

 

 


"จากการศึกษา
พระอภิธรรม
เราจึงรู้เรื่อง
ปัจจัยต่างๆที่
ทำให้เกิด
นามและรูป"


 

 

 

 

 

 

 



 
ระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นอันตรายของการมัวเมาเพลิดเพลินในอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร 6    พระองค์ทรงสอนให้เราอบรมณ์เจริญปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางทวาร 6 ว่าเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน   สิ่งใดที่ไม่เที่ยง   ย่อมเป็นทุกข์   จะเป็นสุขไม่ได้   เมื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง   ก็จะมัวเมาเพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆน้อยลง

ในสังยุตตนิกาย   สฬายตนวรรค  ภิกขุสูตร   แสดงจุดประสงค์ของพระธรรมว่า

ครั้งนั้นแล   ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ   ฯลฯ   ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นในโลกนี้แล   ย่อมถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า   อาวุโส   ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสมณโคดมเพื่ออะไรเล่า   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   เมื่อข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้   จึงพยากรณ์แก่ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้ว่า   เราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ทุกข์   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อข้าพระองค์ถูกถามแล้วอย่างนี้   พยากรณ์อย่างนี้   ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว   ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง   ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม   อนึ่ง การกล่าวและกล่าวตามที่ชอบแก่เหตุแม้น้อยหนึ่ง   จะไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนละหรือ"

"ถูกแล้ว  ภิกษุทั้งหลาย   เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว   เมื่อพยากรณ์อย่างนั้น   ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว .... เธอทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเราก็เพื่อกำหนดรู้ทุกข์

ถ้าพวกอัญญเดียรถีร์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า   อาวุโส   ก็ทุกข์ซึ่งพวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อกำหนดรู้นั้นเป็นไฉน   เธอทั้งหลายถูกถามแล้วอย่างนี้   พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีร์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า   อาวุโส  จักษุแลเป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้จักษุเป็นทุกข์นั้น   รูป  ฯลฯ  สุขเวทนา   ทุกขเวทนา  หรือ
อทุกขมสุขเวทนา   ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นทุกข์   เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ทุกข์ข้อนั้น   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว   พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้แลฯ"

เมื่อสติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ   เช่น  การเห็น  รูปารมณ์   เวทนาหรือการนึกคิด
ก็สามารถ พิสูจน์ ความจริงของพระธรรมได้ด้วยตนเอง   เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า   อารมณ์ที่รู้ได้ทางทวาร 6 นั้นไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน   เราจะรู้แจ้ง
สัจจธรรมไม่ได้ถ้าเราปฏิบัติตามคนอื่นอย่างงมงายหรือคิดคาดคะเนเรื่องสัจจธรรม
ในสังยุตตนิกาย  สฬายตนวรรค   ปริยายสูตร   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เหตุมีหรือหนอแล   ที่จะให้ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล   เว้นจากเชื่อผู้อื่นหรือเว้นจากความชอบใจ เว้นจากการฟังต่อๆกันมา   เว้นจากการนึกเดาเอาตามเหตุ   เว้นจากการถือเอาใจความตามความเห็นของตน     ย่อมรู้ชัดว่า   ชาติสิ้นแล้ว   พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว   กิจที่ควรทำ  ทำเสร็จแล้ว   กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์   มีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเดิม   เป็นผู้แนะนำเป็นที่พึ่ง   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ขอประทานพระวโรกาส   ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด   ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว   จักทรงจำไว้"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็เหตุที่จะให้ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล   ฯลฯ  เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว   ย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ  โทสะ   และโมหะ   อันมีอยู่ในภายในว่า  ราคะ   โทสะ  และโมหะ   มีอยู่ในภายในของเรา   หรือรู้ชัดซึ่ง  ราคะ  โทสะ   และโมหะ   อันไม่มีอยู่ในภายในว่า   ราคะ  โทสะ  และโมหะ   ไม่มีอยู่ในภายในของเรา    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ธรรมเหล่านี้พึงทราบด้วยการเชื่อต่อผู้อื่น   พึงทราบด้วยความชอบใจ   พึงทราบด้วยการฟังต่อๆกันมา   พึงทราบด้วยการนึกเดาเอาตามเหตุ   หรือพึงทราบด้วยการถือเอาในความตามความเห็นของตนบ้างหรือหนอ"

"ไม่ใช่อย่างนั้น   พระเจ้าข้า ฯ "

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ธรรมเหล่านี้พึงทราบได้เพราะเห็นด้วยปัญญามิใช่หรือ"

"อย่างนั้น  พระเจ้าข้า  ฯ "

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุให้ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล   เว้นจากการเชื่อผู้อื่น ... ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว   พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว   กิจที่ควรทำ  ทำเสร็จแล้ว   กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี   ฯลฯ "

ทางโสตทวาร  ฆานทวาร   ชิวหาทวาร  กายทวาร   และมโนทวาร   ก็โดยนัยเดียวกัน

เมื่อศึกษาพระอภิธรรม   เราไม่ควรลืมว่า   พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้เราดับกิเลส   โดยอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวาร 6 ตามความเป็นจริง   ซึ่งเป็นทางที่จะดับสังสารวัฏฏ์   เราควรระลึกเสมอว่า พระอภิธรรม ไม่ใช่ตำราที่มีแต่ทฤษฎี    แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึง สภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน    เราเรียนเรื่องนามธรรมและรูปธรรม   เรื่องจิตที่มีกิจเฉพาะของจิตนั้นๆ   ในปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี   ปัญจทวารวิถีจิตและมโนทวารวิถีจิตเกิดดับรู้อารมณ์ตามวิถีต่างๆอยู่เรื่อยๆ   ถ้าสติเกิดรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ ปัญญาก็เจริญขึ้นจนสามารถดับกิเลสได้   ปัญญาชั้นนี้คมกล้ายิ่งกว่าความรู้ทางทฤษฎีใดๆทั้งสิ้น

นามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดดับนั้นเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆปรุงแต่ง   จากการศึกษาพระอภิธรรม   เราจึงรู้เรื่องปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดนามและรูป   สภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นนั้นอาศัยปัจจัยหลายอย่าง   เช่น  การเห็นเป็น วิบาก   เป็นผลของ กรรม  รูปารมณ์ เป็นปัจจัยของการเห็นโดยเป็น อารมณ์ ถ้าไม่มีรูปารมณ์   การเห็นก็เกิดไม่ได้   จักขุปสาทรูป ที่อยู่กลางตาซึ่งสามารถรับกระทบรูปารมณ์ได้นั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการเห็น

จักขุปสาทรูป เป็น ทวาร ของการเห็นได้  ทวาร เป็น ทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์   กรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทเกิดดับตลอดชีวิต   แต่จักขุปสาทก็ไม่ได้เป็นทวารตลอดเวลา   เพราะไม่ใช่มีแต่การเห็นอยู่ตลอดเวลา   จักขุปสาทเป็นทวารเมื่อจิตรู้
รูปารมณ์   ปสาทรูปอื่นๆก็เช่นเดียวกัน   คือ
ปสาทรูปเหล่านั้นเป็นทวารเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยปสาทนั้นๆ

จักขุปสาทเป็นทางที่จิตรู้รูปารมณ์   ไม่ใช่แต่ จักขุทวาราวัชชนจิต และ จักขุวิญญาณจิต เท่านั้นที่รู้อารมณ์ทางจักขุทวาร   วิถีจิตอื่นๆในวาระเดียวกัน
คือ สัมปฏิจฉันนจิต   สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต
ชวนจิต
และ ตทาลัมพณจิต ก็อาศัยจักขุทวารเดียวกันเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันนั้น   เมื่อรูปารมณ์นั้นดับไปแล้ว มโนทวาร วิถีจิตก็รู้รูปารมณ์นั้นต่อ

จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันทางทวารใดทวารหนึ่งใน 6 ทวาร  เป็น วิถีจิต  (วิถี   แปลว่า  ทาง)
วิถีจิตต่างๆนั้นเรียกตามทวารที่วิถีจิตนั้นรู้อารมณ์   เช่น  จิตที่รู้อารมณ์ทาง จักขุทวาร   เรียกว่า  จักขุทวารวิถีจิต     จิตที่รู้อารมณ์ทาง โสตทวาร   เรียกว่า  โสตทวารวิถีจิต      จิตที่รู้อารมณ์ทาง มโนทวาร   เรียกว่า  มโนทวารวิถีจิต

มี ภวังคจิต   เกิดคั่นระหว่างวิถีจิตวาระหนึ่งๆ   ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต   ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทวาร 6    ภวังคจิตรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยทวารเลย    ดังที่ได้ทราบแล้ว (บทที่ 15) ว่าปฏิสนธิจิต  ภวังคจิต   และจุติจิต   ในชาติหนึ่งๆนั้นรู้อารมณ์เดียวกันกับชวนจิตสุดท้ายซึ่งเกิดก่อนจุติจิตของชาติก่อน    ปฏิสนธิจิต  ภวังคจิต   และจุติจิต  เป็น วิถีวิมุตติจิต   (วิถีวิมุตติ  แปลว่า   พ้นจากวิถี)    ฉะนั้นจิตเหล่านี้จึงต่างจากจิตที่เกิดทางปัญจทวารและมโนทวาร

การจำแนกจิตโดยนัยของทวารนั้นเป็นประโยชน์   ถ้าจำแนกจิตโดยนัยของ กิจ   โดยไม่จำแนกโดยนัยของทวารแล้ว   เราอาจไม่ทราบว่ากล่าวถึงจิตดวงไหน   เช่น  ปัญจทวาราวัชชนจิต
ทำ อาวัชชนกิจ    ถ้าเราไม่ทราบว่าจิตดวงนี้กระทำอาวัชชนกิจทางทวาร 5  เราอาจสับสนกับ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งทำอาวัชชนกิจเหมือนกัน
แต่มโนทวาราวัชชนจิตทำ อาวัชชนกิจ ทางมโนทวารเท่านั้น

จิตบางดวงทำกิจทางทวารเดียวเท่านั้น   เช่น
โสตวิญญาณ 2 ดวง  (กุศลวิบาก 1  อกุศลวิบาก 1)   กระทำกิจทางโสตทวารเท่านั้น   จิตบางดวงทำกิจมากกว่าหนึ่งทวาร    สัมปฏิจฉันนจิต กระทำกิจทางทวารทั้ง 5   ตามอารมณ์ที่กระทบทวารนั้นๆ สันตีรณจิต ทำกิจทางทวารต่างๆและทำกิจโดยไม่ต้องอาศัยทวารเลยก็ได้   คือ   เมื่อสันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธิ   ภวังค์  และจุติ

จิตจำแนกโดยนัยของ เวทนา ก็ได้  เช่น
สันตีรณจิต เกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนา และ โสมนัสเวทนา   โสมนัสสันตีรณจิต ทำ
สันตีรณกิจ ทาง ทวารทั้ง 5  และทำ
ตทาลัมพณกิจ (เกิดหลังชวนจิต)   ทางทวาร 6

อุเบกขาสันตีรณจิต (กุศลวิบาก 1  อกุศลวิบาก 1)  ทำกิจได้ 5 กิจ   คือ

  1. สันตีรณกิจทางทวาร 5
  2. ตทาลัมพณกิจทางทวาร 6
  3. ปฏิสนธิกิจไม่ต้องอาศัยทวาร
  4. ภวังคกิจไม่ต้องอาศัยทวาร
  5. จุติกิจไม่ต้องอาศัยทวาร

ทวารเป็นทางที่วิถีจิตรู้อารมณ์   รูปซึ่งเป็นที่เกิด ของจิต (วัตถุรูป)   เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของจิต   โดยเป็นที่เกิดของจิต   ในภูมิที่มีทั้งนามและรูป   จิตเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยร่างกายไม่ได้   จิตที่เกิดขึ้นมีรูปเป็นที่เกิด   เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น   จิตเห็นเกิดขึ้นนอกร่างกายได้ไหม   ขณะที่ได้ยินหรือคิดนึก   จิตเกิดนอกร่างกายได้ไหม   ย่อมเป็นไปไม่ได้    จิตเห็นเกิด ที่ไหน จิตเห็นจะเกิดขึ้นที่แขนหรือที่หูไม่ได้   จิตเห็นต้องมี ตา เป็นที่เกิด  จักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่อยู่กลางตาซึ่งรับกระทบรูปารมณ์ได้นั้นเป็น ที่เกิดของจิตเห็น ที่เกิดหรือ วัตถุรูป ไม่ใช่ ทวาร    แม้ว่าจักขุปสาทรูปเป็นทั้งทวารและวัตถุของจักขุวิญญาณ   ทวารและวัตถุก็มีกิจต่างกัน   จักขุทวาร เป็นทางที่จักขุทวารวิถีจิตเกิด   ซึ่งรู้อารมณ์  จักขุวัตถุ เป็นที่ตั้งที่เกิดของจักขุวิญญาณ
จักขุวัตถุเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิตเท่านั้น   ไม่ได้เป็นที่เกิดของวิถีจิตอื่นๆ ในทวารวิถีนั้น   วิถีจิตอื่นๆในทวารวิถีนั้นมีวัตถุอื่นเป็นที่เกิด   วัตถุของโสตวิญญาณ  คือ โสตปสาทรูป    วัตถุของฆานวิญญาณ  คือ ฆานปสาทรูป    วัตถุของชิวหาวิญญาณ  คือ ชิวหาปสาทรูป    วัตถุของกายวิญญาณ  คือ กายปสาทรูป

วัตถุที่ 6 ซึ่งไม่ใช่ปสาทรูปคือ หทยวัตถุ หทยวัตถุเป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิตที่ไม่ใช่
ปัญจวิญญาณจิต (จิตเห็น   จิตได้ยิน  เป็นต้น)   เพราะปัญจวิญญาณจิตมีปสาทรูปเป็นที่เกิด
หทยวัตถุต่างจากมโนทวาร  มโนทวารเป็นจิต   คือ   ภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นภวังคจิตสุดท้ายก่อนมโนทวาราวัชชนจิตเกิด   หทยวัตถุเป็นรูป   ไม่ใช่นาม

เมื่อเสียงกระทบโสตปสาท  ปัญจทวาราวัชชนจิต ที่เกิดขึ้นมี หทยวัตถุ เป็นที่เกิด   แต่โสตวิญญาณมีโสตปสาทรูปเป็นที่เกิด    จิตอื่นๆที่เกิดต่อ ในทวารวิถีนั้นมี หทยวัตถุ เป็นที่เกิด   มโนทวารวิถีจิต ทั้งหมดมี หทยวัตถุ เป็นที่เกิด

วิถีวิมุตติจิตซึ่งรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารนั้นก็เกิดที่รูปด้วย   แม้ว่าวิถีวิมุตติจิตไม่อาศัยทวาร   แต่ในภูมิที่มีทั้งนามและรูปนั้น   วิถีวิมุตติจิตจะเกิดโดยไม่อาศัยหทยวัตถุไม่ได้   ชาติต่อไปเริ่มต้นขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด   ซึ่งไม่ใช่มีแต่นามเท่านั้น   แต่มีรูปด้วย  หทยวัตถุ เป็นรูปซึ่งเป็น วัตถุ ที่เกิดของ ปฏิสนธิจิต   ภวังคจิตทุกดวง  และ จุติจิต มี หทยวัตถุ เป็นที่เกิด

ปสาทรูป 5 เป็นวัตถุของปัญจวิญญาณ   สำหรับกายปสาท   ซึ่งเป็นวัตถุของของกายวิญญาณ 2 ดวง  (กุศลวิบาก 1   และอกุศลวิบาก 1) นั้นเกิดได้ทั่วร่างกาย   รูปใดของร่างกายที่กระทบโผฏฐัพพะได้   รูปนั้นก็เป็นวัตถุของกายวิญญาณ

วัตถุ เป็นที่เกิดไม่เฉพาะแต่จิตเท่านั้น   แต่เป็นที่เกิดของ เจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิตด้วย  ฉะนั้น   เมื่อนามขันธ์ทั้ง 4 เกิด   จะต้องมีรูปขันธ์ด้วย   เว้นอรูปภูมิที่มีแต่นามเท่านั้น

การจำแนกจิตหลายๆนัย  เช่น   โดย กิจ   โดย อารมณ์    โดย ทวาร   โดย วัตถุ เป็นประโยชน์มาก   เพราะจะทำให้เข้าใจเรื่องจิตแจ่มแจ้งขึ้น   แต่ไม่ควรลืมว่า   ความเข้าใจขั้นนี้ยังไม่ใช่ปัญญาที่จะละคลายโลภะ   โทสะ  โมหะ ให้หมดสิ้นไปได้
ในสังยุตตนิกาย  ขันธวรรค   ปริญเญยยสูตร    มีข้อความว่า   พระนครสาวัตถีฯ

ท่านพระราธะนั่ง  ณ   ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง   พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า

"ดูกรราธะ   เราจักแสดงปริญเญยธรรม   ธรรมอันบุคคลควรกำหนดรู้   ปริญญา ความกำหนดรู้   และปริญญาตาวีบุคคล   บุคคลผู้กำหนดรู้  เธอจงฟัง   จงใส่ใจให้ดี  เราจักกล่าว"

ท่านพระราธะรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  "ดูกรราธะ   ปริญเญยยธรรมเป็นไฉน    ดูกรราธะ   รูปแลเป็นปริญเญยยธรรม   เวทนาเป็นปริญเญยยธรรม   สัญญาเป็นปริญเญยยธรรม   สังขารเป็นปริญเญยยธรรม   วิญญาณเป็น
ปริญเญยยธรรม   ดูกรราธะ   ธรรมเหล่านี้เรากล่าวว่าปริญเญยยธรรม

ดูกรราธะ  ปริญญาเป็นไฉน

ความสิ้นราคะ  ความสิ้นโทสะ   ความสิ้นโมหะ   นี้เรากล่าวว่าปริญญา

ดูกรราธะ   ปริญญาตาวีบุคคลเป็นไฉน

ผู้ที่เขาพึงเรียกกันว่าพระอรหันต์   คือ   ท่านผู้ที่มีชื่ออย่างนี้   มีโครตอย่างนี้  ดูกรราธะ   ผู้นี้เรากล่าวว่าปริญญาตาวีบุคคลฯ"

บางกาลพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโอวาทโดยละเอียด   และบางกาลก็ทรงแสดงโอวาทโดยย่อ   เพื่อเตือนให้ระลึกถึงจุดประสงค์ของพระธรรม   ซึ่งทุกคนจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าเข้าใจพระธรรมเพื่ออะไร   ถ้ามิใช่เพื่อนำไปสู่ความดับกิเลส

 

ดูสารบัญ

home         ปัญหาถาม-ตอบ        หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ