Buddhist Study   บทที่ 20   ภูมิของสัตว์    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 

 

 


"ชาติหน้า
จะเกิด ภูมิ
ใดนั้นก็
บังคับบัญชา
ไม่ได้
แล้วแต่
กรรมที่เป็น
ปัจจัยให้
ปฏิสนธิจิต
เกิดหลังจาก
ที่จุติจิตดับ"


 

 

 

 

 

 

 


"เราควรรู้ว่า
ความสุขหรือ
ความทุกข์
ก็เป็นแต่เพียง
นามธรรม
ที่เกิดขึ้น
เพราะเหตุ
ปัจจัยแล้ว
ก็ดับไป"


 

 

 

 

 

 

 


"ชีวิตของ
เราทุกขณะ
เป็นการ
เกิดดับ
สืบต่อของ
สภาพธรรม
ต่างๆ"


 

 

 

 

 

 

 


"เหตุทุกเหตุ
ก่อให้เกิด
ผลตามควร
แก่เหตุนั้นๆ"


 

 

 

 

 

 

 


"ภูมิ คือที่
เกิดของ
สัตว์โลก
การเกิดใน
ทุคติภูมิ
เป็นผลของ
อกุศลกรรม
และการเกิด
ในสุคติภูมิ
เป็นผลของ
กุศลกรรม"


 

 

 

 

 

 

 


"การเกิดใน
ปิตติวิสัยภูมิ
เป็นผลของ
อกุศลกรรม
ซึ่งมีโลภะ
เป็นปัจจัย
พวกเปรต
มีรูปร่าง
พิกลพิการ
และหิว
กระหาย
อยู่เสมอ"


 

 

 

 

 

 

 


"ภูมิมนุษย์
มีโอกาสจะ
เจริญกุศล
เราสามารถ
ศึกษา
พระธรรม
และอบรม
เจริญหน
ทางที่จะ
ดับกิเลส
และดับ
สังสารวัฏฏ์
ได้"


 

 

 

 

 

 

 


"กามภูมิ
เป็นภูมิที่
มีการเห็น
การได้ยิน
การได้กลิ่น
การลิ้มรส
และการ
กระทบ
สัมผัส
ทางกายและ
กามาวจรจิต
อื่นๆ"


 

 

 

 

 

 

 


"ภูมิที่เกิด
ของสัตว์
ไม่ใช่ภูมิ
ของจิต
จิตจะเป็น
ภูมิใดนั้น
ขึ้นอยู่กับ
อารมณ์
ที่จิตรู้"



 
      เราเกิด   ตาย  แล้วก็เกิดอีก    ชาติหน้าจะเกิด ภูมิ ใดนั้นก็บังคับบัญชาไม่ได้   แล้วแต่กรรมที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดหลังจากที่จุติจิตดับ

ขณะนี้เราอยู่ในมนุษยภูมิ   แต่ชีวิตมนุษย์สั้นนัก   เมื่อชาตินี้สิ้นสุดลง   เราก็ไม่ทราบว่าจะเกิดในภูมิใด คนส่วนมากไม่อยากคิดถึงความไม่ยืนยาวของชีวิตมนุษย์   มัวเมาเพลิดเพลินไปกับอารมณ์ที่ประสบทางทวาร 5  ซึ่งทำให้เป็นสุขบ้าง   เป็นทุกข์บ้าง    อย่างไรก็ตาม เราควรรู้ว่าความสุขหรือความทุกข์ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็ดับไป   ชีวิตของเราทุกขณะเป็นการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมต่างๆ

ศาสนาหลายศาสนาสอนเรื่องสวรรค์และนรก   พระธรรมของพระผู้มีพระภาคต่างจากศาสนาอื่นๆอย่างไรบ้าง   เราเพียงแต่จะต้อง เชื่อ เรื่องสวรรค์และนรกกระนั้นหรือ   พระธรรมสอนให้เราศึกษาสภาพธรรมต่างๆ   ศึกษาเหตุและผลของชีวิต    เหตุทุกเหตุก่อให้เกิดผลตามควรแก่เหตุนั้นๆ    เรากระทำกุศลและอกุศลซึ่งให้ผลต่างกัน   และเป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิต่างกัน    ภูมิคือที่เกิดของสัตว์โลก    การเกิดในทุคติภูมิเป็นผลของอกุศลกรรม   และการเกิดในสุคติภูมิเป็นผลของกุศลกรรม   ด้วยเหตุที่ว่ากุศลกรรมและอกุศลกรรมของแต่ละบุคคลต่างกันมากมายหลายขั้น   ผลจึงมีมากมายหลายระดับขั้นเช่นกัน   ทุคติภูมิและสุคติภูมิก็ต่างๆกันไป

ดิรัจฉานภูมิ เป็น ทุคติภูมิ    เราเห็นสัตว์กินสัตว์ด้วยกัน   และเห็นว่าธรรมชาติโหดร้ายเสียจริง   ดิรัจฉานภูมิไม่ใช่เพียงภูมิเดียวที่เป็นทุคติ   มี ภูมินรกอีกหลายขุม    อกุศลวิบากในนรกนั้นรุนแรงยิ่งกว่าความทรมานในมนุษย์ภูมิ   สภาพของนรกที่ทรงแสดงไว้ในพระธรรมนั้นไม่ใช่เพียงคำอุปมาอุปมัย   การประสบกับอนิฏฐารมณ์ทางตา   หู  จมูก  ลิ้น  กาย   เป็นอกุศลวิบาก   และอกุศลวิบากเป็นสภาพธรรมที่มีจริง   ชีวิตในภูมินรกไม่ยั่งยืน   เมื่อตายจากภูมินรกแล้วก็ย่อมเกิดในภูมิอื่นได้

นอกจากดิรัจฉานภูมิและนรกภูมิ   ยังมีทุคติภูมิอื่นๆอีก   การเกิดใน ปิตติวิสันภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรมซึ่งมีโลภะเป็นปัจจัย พวกเปรตมีรูปร่างพิกลพิการและหิวกระหายอยู่เสมอ

นอกจากนั้นก็มีอสุรกายภูมิ    อารมณ์ใน อสุรกายภูมิ ไม่น่ายินดีอย่างภูมิมนุษย์    อบายภูมิ มีทั้งหมด 4 ภูมิ 

การเกิดเป็น มนุษย์ เป็น สุคติภูมิ    ภูมิมนุษย์มีโอกาสจะเจริญกุศล   เราสามารถศึกษาพระธรรมและอบรมเจริญหนทางที่จะดับกิเลสและดับสังสารวัฏฏ์ได้    การเกิดเป็นมนุษย์เป็นกุศลวิบาก   แต่ขณะที่อยู่ในโลกมนุษย์นั้นก็มีทั้งกุศลวิบากและอกุศลวิบาก   ทุกคนได้รับผลของกรรมต่างๆกัน   ได้ลาภและเสื่อมลาภ   ได้ยศและเสื่อมยศ   สรรเสริญและนินทา   สุขและทุกข์   ทุกคนเกิดในสกุลที่มีปัจจัยควรแก่การได้รับผลกรรมของตนเอง   การประสบกับอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีทางตา   หู  จมูก  ลิ้น  กาย   นั้นย่อมเป็นไปตามกรรมของตนเอง

สุคติภูมิอื่นนอกจากมนุษย์ภูมิก็คือ สวรรค์    ในสวรรค์มีกุศลวิบากมากกว่า   มีอกุศลวิบากน้อยกว่าในมนุษยภูมิ    สวรรค์มีหลายชั้น   และแม้ว่าเทพจะมีอายุยืนนานมาก   แต่ก็ไม่ยั่งยืน  ทุคติภูมิ   มนุษยภูมิ  และ สวรรค์ 6   เป็น กามภูมิ    กามภูมิเป็นภูมิที่มีการเห็น   การได้ยิน  การได้กลิ่น   การลิ้มรส   และการกระทบสัมผัสทางกาย   และ กามาวจรจิต อื่นๆ    กามภูมิ ทั้งหมดมี 11 ภูมิ 

ผู้ที่เห็นโทษของกามอารมณ์อาจเจริญฌาน   แล้วเกิดใน เทวภูมิที่สูง ชึ้นไปซึ่งไม่ใช่กามภูมิ   ผู้ที่บรรลุ รูปฌาน ก็เกิดในรูป พรหมภูมิ ซึ่งมีกามอารมณ์น้อยลง   รูปพรหมภูมิ มีทั้งหมด 16 ภูมิ    ภูมิหนึ่งใน 16 ภูมิ  คือ  อสัญสัตตาพรหมภูมิ ซึ่ง มีแต่รูป  ไม่มีนาม    ผู้ที่บรรลุฌานขั้นสูงสุดและไม่ปราถนาจะมีจิต   ก็เกิดในภูมินั้นโดย ไม่มีจิต   มีแต่รูปเท่านั้น    บุคคลเหล่านี้เห็นโทษของจิต   แม้ความสุขก็เป็นโทษ   เพราะไม่ยั่งยืน

ผู้ที่เห็นโทษของรูปธรรมก็เจริญอรูปฌาน   ผู้ที่บรรลุ อรูปฌาน เกิดใน อรูปพรหมภูมิ ซึ่งไม่มี รูป เลย   อรูปพรหมภูมิมี 4 ภูมิ   อรูปพรหม มีแต่นาม   ไม่มีรูป    เราอาจสงสัยว่าจะมีบุคคลที่มีแต่รูปเท่านั้น   หรือมีแต่นามเท่านั้นได้อย่างไร   ถ้าเราประจักษ์ลักษณะต่างๆของนามธาตุและรูปธาตุที่ปรากฏทีละลักษณะ   และรู้ว่าเป็นแต่เพียงธาตุที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย   ไม่ใช่สัตว์  บุคคล  ตัวตน    เราก็จะไม่สงสัยว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ควรแก่เหตุ   ก็จะมีรูปได้โดยไม่มีนาม   และมีแต่นามได้โดยไม่มีรูป

ภูมิ ทั้งหมดมี 31 ภูมิ   ได้แก่

อบายภูมิ 4    รวมอยู่ใน กามภูมิ 11 ภูมิ
มนุษยภูมิ 1   รวมอยู่ใน กามภูมิ 11 ภูมิ
สวรรค์ 6       รวมอยู่ใน กามภูมิ 11 ภูมิ
รูปพรหมภูมิ 16
อรูปพรหมภูมิ 4

เป็นความจริงที่ว่าสัตว์โลกที่เกิดในภูมิต่างๆ ตามกรรมที่ได้สะสมไว้แล้ว  ภูมิที่เกิดของสัตว์ไม่ใช่ภูมิของจิต   จิตจะเป็น ภูมิ ใดนั้นขึ้นอยู่กับ อารมณ์ ที่จิตรู้   เรารู้เรื่อง ภูมิต่างๆของจิต   คือ

กามาวจรจิต  (จิตขั้นกามหรือ กามภูมิ)
รูปาวจรจิต  (จิตขั้นรูปฌานภูมิ)
อรูปาวจรจิต  (จิตขั้นอรูปฌานภูมิ)
โลกุตตรจิต  (จิตประจักษ์แจ้งพระนิพพาน)

กามาวจรจิต นั้นอาจจำแนกโดยนัยของ อโสภณจิต (จิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย)   และ กามโสภณจิต (จิตขั้นกามภูมิมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย)    จิตเหล่านี้เกิดในโอกาสภูมิใดบ้าง

กามาวจรจิต เกิดใน 30 ภูมิ   เว้นอสัญสัตตาพรหมภูมิที่ไม่มีนามมีแต่รูป   แม้ในอรูปพรหมภูมิก็มีกามาวจรจิต

กามโสภณจิต ก็เกิดได้ แม้ในอบายภูมิ และเกิดในมนุษยภูมิ   ในสวรรค์  ในรูปพรหมภูมิ   และในอรูปพรหมภูมิ   กามโสภณจิตเกิดใน 30 ภูมิ   เว้นอสัญสัตตาพรหมภูมิ   แต่ก็ไม่ใช่ว่ากามโสภณจิตทุกดวงเกิดในภูมิทุกภูมิ

อโสภณจิต เกิดได้ใน 30 ภูมิ   แต่ไม่ใช่อโสภณจิตทุกดวงเกิดในทุกภูมิ    โลภมูลจิต เกิดได้ทั้ง 30 ภูมิ   แม้ในรูปพรหมภูมิและอรูปพรหมภูมิ   โลภมูลจิตก็เกิดได้   โทสมูลจิต เกิดใน กามภูม11 ภูมิ   ไม่เกิดในรูปพรหมภูมิและอรูปพรหมภูมิ   ขณะที่เป็นพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิและอรูปพรหมภูมินั้น   ไม่มีปัจจัยให้โทสะเกิด   โมหมูลจิต เกิดได้ทั้ง 30 ภูมิ   ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีโมหะ   ฉะนั้นโมหมูลจิตเกิดได้ทั้ง 30 ภูมิ  เว้นในอสัญสัตตาพรหมภูมิ

ตามที่เข้าใจแล้วว่า   ไม่เฉพาะแต่อกุศลจิตเท่านั้นที่เป็นอโสภณจิต    อเหตุกจิต ก็เป็น อโสภณจิต ด้วย (จิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย)    อโสภณจิต ซึ่งเป็น อเหตุกจิต ที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดในปัญจทวารเกิดได้ในภูมิที่มีกามอารมณ์เท่านั้น    จักขุวิญญาณ และ โสตวิญญาณ เกิดใน กามภูมิ 11 ภูมิ (อบายภูมิ 4  มนุษยภูมิ 1  และสวรรค์ 6)   และเกิดใน รูปพรหมภูมิ 15 ภูมิ    ดังนั้น   จักขุวิญญาณและโสตวิญญาณจึงเกิดใน 26 ภูมิ)

ฆานวิญญาณ  ชิวหาวิญญาณ   และ กายวิญญาณ เกิดใน กามภูมิ 11 ภูมิ เท่านั้น   ไม่เกิดในรูปพรหมภูมิและอรูปพรหมภูมิ

ปัญจทวาราวัชชนจิต   สัมปฏิจฉันนจิต และ สันตีรณจิต เกิดในทุกภูมิที่มีกามอารมณ์   ดังนั้นจึงเกิดใน 26 ภูมิ (กามภูมิ 11 และรูปภูมิ 15)   เว้นอสัญสัตตาพรหมภูมิ

มโนทวาราวัชชนจิต เกิดในทุกภูมิที่มีนาม   ดังนั้นจึงเกิดใน 30 ภูม

เรามักคาดว่าจะเกิดในภูมิใด   เราอยากจะเกิดในมนุษยภูมิอีกหรือ   เรายึดติดในมนุษยภูมิ   และไม่ตระหนักเสียเลยว่าเราได้รับอกุศลวิบากมากมายในชาตินี้   เราถูกคุกคามด้วยภัยพิบัติ เช่น  สงครามและความหิวโหย   ความเจ็บป่วย   ความแก่และความตาย   บางคนอยากเกิดในสวรรค์   เขาอยากประสบอารมณ์ที่ดีๆทางปัญจทวาร   เราอาจจะอยากเกิดในสวรรค์ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่นั้นย่อมแล้วแต่กรรมของแต่ละบุคคล   การเกิดเป็นผลซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุ   ถ้าผู้ใดทำกุศลไว้มาก เขาก็เจริญเหตุที่จะทำให้เกิดผลที่ดี   แต่ไม่มีทางที่จะรู้ว่ากุศลจะให้ผล เมื่อไร เพราะไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้

เรากลัวตายไหม   คนส่วนมากต้องการให้อายุยืนยาว   เขากลัวตาย   เพราะไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร   ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลก็อาจเกิดในนรกได้   เราไม่อยากคิดถึงการเกิดในอบายภูมิ   แต่อาจมีกรรมที่กระทำในอดีตที่ยังเป็นเหตุให้เกิดในนรกได้   แม้แต่พระผู้มีพระภาค   ในอดีตพระชาติหนึ่งของพระองค์ก็ปฏิสนธิในนรก   ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดถึงนรกด้วยความไม่สบายใจและความกลัว   แต่การคิดถึงนรกจะเป็นประโยชน์เมื่อเตือนให้ทำกุศลในขณะนี้แทนที่จะทำอกุศล

ในสังยุตตนิกาย  มหาวารวรรค   โสตาปฏิสังยุตต์   สัปปัญญาวรรค    พระผู้มีพระภาคตรัสกะท้าวมหานามะ   ถึงหนทางที่ฆราวาสผู้มีปัญญาเมื่อเจ็บป่วย   ควรได้รับคำเตือนจากฆราวาสผู้มีปัญญาว่า

"ดูกรมหาบพิตร   อุบาสกผู้มีปัญญาพึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา   ผู้ป่วย  ได้รับทุกข์   เป็นไข้หนัก   ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ 4 ประการว่า  ท่านจงเบาใจเถิดว่า   ท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ    ดูกรมหาบพิตร   อุบาสกผู้มีปัญญา   ครั้นปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา   ผู้ป่วยได้รับทุกข์   เป็นไข้หนัก   ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ 4 ประการนี้แล้ว

ถ้าอุบาสกนั้นมีความห่วงใยในมารดาและบิดา   อุบาสกผู้มีปัญญาพึงถามอุบาสกผู้นั้น

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า  "เรายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่"   อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า   "ท่านผู้เช่นกับเราซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา   ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา   ก็จักตายไป   ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา   ก็จักตายไปเหมือนกัน   ขอท่านจงละความห่วงใยในมารดาและบิดาของท่านเสียเถิด"

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า  "เราละความห่วงใยในมารดาและบิดาของเราแล้วฯ"   อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า   "แต่ท่านยังมีความห่วงใยในบุตรอยู่   ท่านผู้เช่นกับเราซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา   ถ้าแม้ท่านจักกระทำหรือไม่กระทำความห่วงใยในบุตร   ก็จักตายไป   ขอท่านจงละความห่วงใยในบุตรของท่านเสียเถิดฯ"

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า  "เราละความห่วงใยในบุตรของเราแล้ว"   อุบาสกนั้นพึงกล่าวกับเขาอย่างนี้ว่า   "ท่านยังมีความห่วงใยในกามคุณ 5 อันเป็นของมนุษย์อยู่"

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า  "จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษยแล้ว" อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า "กามอันเป็นทิพย์ยังประณีตกว่ากามอันเป็นของมนุษย์   ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชเถิด"

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า  "จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว"   อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า   "พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่าพวกเทพชั้นจาตุมหาราช   พวกเทพชั้นยามายังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ... พวกเทพชั้นดุสิตยังดีกว่า   ประณีตกว่าพวกเทพชั้นยามา ... พวกเทพชั้นนิมมานรดียังดีกว่า   ประณีตกว่าพวกเทพชั้นดุสิต ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตียังดีกว่า   ประณีตกว่าพวกเทพชั้นนิมมานรดี ...พรหมโลกยังดีกว่า   ประณีตกว่าพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี   แล้วโน้มจิตไปในพรหมโลกเถิด"

ถ้าจิตของเขาน้อมไปในพรหมโลกแล้ว   อุบาสกนั้นพึงกล่าวกับเขาอย่างนี้ว่า   "ดูกรท่านผู้มีอายุ   แม้พรหมโลกก็ไม่เที่ยง   ไม่ยั่งยืน   ยังนับเนื่องในสักกายะ   ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพรหมโลก   แล้วน้อมจิตเข้าไปในความดับสักกายะ (อุปาทานขันธ์ 5)  เถิด"

ถ้าเขากล่าวว่า   เขาน้อมจิตเข้าไปในความดับสักกายะแล้ว   ดูกรมหาบพิตร   อาตมภาพไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันของอุบาสกผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้   กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี   คือพ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน"

การเกิดเป็นทุกข์   การเกิดแม้ในสวรรค์ชั้นสูงสุดก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรยินดี   ผู้ที่ต้องการไม่เกิดอีก   ก็ควรที่จะรู้ว่าอริยสัจจ์ 4 เป็นทางที่นำไปสู่การดับความเกิด

อริยสัจจ์ที่ 1  คือทุกขสัจจ์   เช่น  ถ้าเรารู้ว่า   การเห็นขณะนี้  การได้ยิน   ความติดข้องพอใจ   หรือนามธรรมใดหรือรูปธรรมใดซึ่งปรากฏขณะนี้เป็นเพียงธาตุซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   เราจะมีความเข้าใจเรื่องทุกข์มากขึ้น   สิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วดับไปย่อมไม่ใช่ความสุข   แต่เป็นทุกข์    อริยสัจจ์ที่ 2  คือ   ทุกขสมุทัย   ตัณหาเป็นทุกขสมุทัย   ด้วยการเจริญมัคค์มีองค์ 8   โลภะก็จะลดน้อยลง   การยึดมั่นในนามรูปจะน้อยลง   ในที่สุดโลภะก็จะดับหมดไป   จะไม่มีการเกิดอีกซึ่งเป็นการสิ้นสุดแห่งทุกข์อริยสัจจ์ที่ 3  คือ  ทุกขนิโรธ  ได้แก่   พระนิพพานและอริยสัจจ์ที่ 4   คือมัคค์มีองค์ 8   ข้อประพฤติปฏิบัติที่นำไปสู่การดับทุกข์

ในฑีฆนิกาย  มหาปรินิพพานสูตร   มีข้อความว่า

ลำดับนั้น   พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโกฏิคามแล้ว   ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่   ณ  โกฏิคามนั้น

ณ  ที่นั้น   พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า   "ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ 4   เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้  
เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ 4  เป็นไฉน

เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริย-
สัจจ์  ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์   ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ 4  ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว   บัดนี้ภพใหม่มิได้มีฯ"

 

 

 

ดูสารบัญ     

home       ปัญหาถาม-ตอบ         หนังสือธรรมะ   
พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ