Buddhist Study   บทที่ 21   สมถภาวนา    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก


 

 

 


"พยาปาทะ หรือ
ความคิดร้าย
เป็นโทสเจตสิก
......... ขณะที่
พยาปาทะเกิด
นั้น ไม่เมตตา
กรุณาใครๆ"


 

 

 

 

 


"ถีนะ และ มิทธะ
เป็นความหดหู่
ท้อถอย ความ
ง่วงเหงาซึมเซา
ไม่ควรแก่การงาน"


 

 

 

 

 


"อุทธัจจะ เป็น
สภาพธรรมที่
หวั่นไหว  และ
กุกกุจจะ เป็น
สภาพธรรมที่
กังวลรำคาญใจ
อุทธัจจะ เกิดกับ
อกุศลจิตทุกดวง
จึงกั้นจิตจาก
กุศลธรรม"


 

 

 

 

 


"สำหรับ
วิจิกิจฉา นั้น
ความสงสัยมี
หลายอย่าง
สงสัยเรื่องพระ
ผู้มีพระภาค
พระธรรม
พระสงฆ์
สงสัยในมรรค
มีองค์แปด
วิจิกิจฉาเป็น
อกุศลและเป็น
เครื่องกั้นกุศล"


 

 

 

 

 


"นิวรณธรรม
ทั้ง 5
เป็นเครื่องกั้น
การทำกุศล"


 

 

 

 

 


"สมถะหรือการ
เจริญความสงบ
เป็นทางหนึ่งที่
ระงับนิวรณ์ได้
ชั่วคราว"


 

 

 

 

 


"กุศลจิตทุกดวง
สงบตามขั้นของ
กุศลนั้นๆแต่ยาก
ที่จะรู้ลักษณะ
ของความสงบ
อย่างชัดแจ้ง
เพราะอกุศลจิต
อาจเกิดหลังจาก
ที่กุศลจิตดับ
ไปไม่นาน"


 

 

 

 

 


"ในการเจริญ
สมถะ .........
จะขาดปัญญา
หรือความเห็นถูก
ไม่ได้เลย"


 

 

 

 

 


"ถ้าใครพยายาม
ให้จิตตั้งมั่นใน
อารมณ์สมถะ
โดยไม่มีปัญญา
ไม่รู้ว่าขณะใด
เป็นกุศลขณะ
ใดเป็นอกุศล
และไม่รู้ลักษณะ
ของความสงบ
ความสงบก็
เจริญไม่ได้"


 

 

 

 

 


"อกุศลจิตย่อม
เกิดบ่อยๆแม้
ในขณะที่
กำลังเจริญ
สมถภาวนา"


 

 

 

 

 


"บางท่านอาจ
คิดว่าเมื่อไม่มี
สุขเวทนาหรือ
ทุกขเวทนา
มีแต่อุเบกขา
เวทนา ขณะนั้น
ก็เป็นความสงบ
แต่อุเบกขา
เวทนาเกิดกับ
กุศลจิตหรือ
อกุศลจิตก็ได้"


 

 

 

 

 


"ปัญญาขั้น
สมถะภาวนา
นั้นต้องเฉียบ
แหลมที่จะรู้
ลักษณะของ
กิเลสที่เกิดขึ้น
แม้ว่าเป็นกิเลส
ที่ละเอียดขึ้น
ก็ตาม"


 

 

 

 

 


"ก่อนที่พระผู้
มีพระภาคทรง
ตรัสรู้ ฌานเป็น
กุศลขั้นสูงสุด
ที่บุคคลจะพึง
บรรลุได้
ฌานซึ่งเป็น
อัปปนาสมาธิ
นั้นเป็นความ
สงบขั้นสูง
ขณะที่ฌานจิต
เกิดนั้นไม่รับรู้
กามอารมณ์และ
ระงับกิเลสจาก
กามอารมณ์
การบรรล
ฌานจิต
นั้นแสนยาก
ไม่ใช่ว่าทุกคน
ที่เจริญสมถะ
จะบรรลุฌานได้"


 

 

 

 

 


"ผู้เจริญสมถ
ภาวนาต้องรู้ชัด
ขณะใดจิตเป็น
กุศลและขณะใด
จิตเป็นอกุศล
ต้องรู้สภาพธรรม
ใดเป็นองค์ฌาน
และต้องรู้ตาม
ความเป็นจริงว่า
องค์ฌานเจริญ
ขึ้นหรือยัง
ต้องรู้ว่าเจตสิก
ที่เป็นอินทรีย์ 5
เจริญขึ้นหรือยัง
และเสมอกัน
หรือไม่"



 

 

 

 

 


"ถ้ายังไม่เข้าใจ
อย่างถูกต้องใน
เรื่ององค์ฌาน
และสภาพธรรม
ต่างๆที่เป็น
ปัจจัยสำคัญ
ในการบรรลุ
อุปจารสมาธิ
และการบรรลุ
ฌาน
ก็จะหลงเข้าใจ
ว่าได้บรรลุ
อุปจารสมาธิ
แล้วหรือได้
บรรลุฌานแล้ว"


 

 

 

 

 


"ไม่ใช่ว่าสมถ
กรรมฐานจะทำ
ให้บรรลุฌาน
ได้ทุกอารมณ์
บางกรรมฐาน
ก็ทำให้เกิด
อุปจารสมาธิ
เท่านั้น  เช่น
พุทธานุสสติ
ธัมมานุสสติ
สังฆานุสสติ
.....อานาปานสติ
ทำให้บรรลุ
ฌานทุกขั้น"


 

 

 

 

 


"อานาปานสติ
สมาธิยากมาก
ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
เลย เมื่อกำหนด
ลมหายใจไปๆ
ลมหายใจเข้า
และลมหายใจ
ออกจะละเอียด
ขึ้นๆ จึงยากที่จะ
สังเกตุรู้ได้"


 

 

 

 

 


"ไม่ใช่วิปัสสนา
ภาวนาเท่านั้น
ที่จะต้องมีสติ
สัมปชัญญะอย่าง
สมบูรณ์ แม้
สมถภาวนา
ก็ต้องมีด้วย
เช่นกัน แต่
อารมณ์ของสติ
ในสมถะต่างจาก
อารมณ์ของสติ
ในวิปัสสนา
ภาวนา"


 

 

 

 

 


"อารมณ์ของสติ
ในสมถภาวนา
ได้แก่ สมถ-
กรรมฐาน 40
และมุ่งที่จะ
เจริญความสงบ
อารมณ์ของสติ
ในวิปัสสนา
ภาวนา คือ นาม
หรือ รูป ซึ่งกำลัง
ปรากฏทางทวาร
ใดทวารหนึ่งใน
ทวาร 6 เพื่อละ
สักกายทิฏฐิ และ
กิเลสทั้งหมด"


 

 

 

 

 


 

 

 

 

 




 
      เราปราถนาที่จะมีกุศลมากๆในชีวิตของเรา   แต่เราไม่สามารถที่จะทำกุศล   พูดในทางที่เป็นกุศล   หรือคิดในทางที่เป็นกุศลได้บ่อยๆ   กิเลสที่สะสมมาขัดขวางเราไม่ให้ทำกุศล   พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้รู้ว่า   มี สภาพธรรมที่กั้นกุศลธรรม (นิวรณธรรม)   ซึ่งได้แก่   อกุศลเจตสิกที่เกิดพร้อมกับอกุศลจิต เราทุกคนมีนิวรณธรรมซึ่งได้แก่

กามฉันทะ            ความติดในกามอารมณ์

พยาปาทะ            ความอาฆาต   ปองร้าย
                           ความโกรธ

ถีนะมิทธะ             ความหดหู่ท้อถอย
                            ความง่วงเหงา

อุทธัจจะกุกกุจจะ   ความไม่สงบของจิต
                             และความรำคาญใจ

วิจิกิจฉา                 ความสงสัย

กามฉันทะ   หรือความพอใจในกามคุณ  เป็น โลภเจตสิก    กามฉันทะเป็นความติดในอารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารและมโนทวาร   เราทุกคนมีกามฉันทะในลักษณะต่างๆกันและมากน้อยต่างกัน   ความก้าวหน้าทางเศรฐกิจและการประดิษฐ์ทางวิชาการใหม่ๆทำให้ชีวิตสมบูรณ์พูนสุขขึ้น   เราสามารถซื้อหาสิ่งต่างๆมากขึ้นที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย   แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความสุขใจ   ตรงข้ามเรากลับรู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่เรามี   และแสวงหาความเพลิดเพลิน   ความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   มีกามฉันทะในการกระทำ   คำพูดและความคิดของเรา   แม้ขณะที่เราคิดว่าเรากำลังทำกุศลและช่วยเหลือผู้อื่น   กามฉันทะก็เกิดได้   กามฉันทะทำให้เราไม่สงบและไม่เป็นสุข

พยาปาทะ หรือความคิดร้าย   เป็น
โทสเจตสิก   พยาปาทะทำให้เราเดือดร้อนวันละหลายครั้ง   เรารู้สึกรำคาญคนอื่นหรืออะไรๆที่เกิดขึ้นในชีวิต   พยาปาทะกั้นกุศล   ขณะที่พยาปาทะเกิดนั้น   ไม่เมตตากรุณาใครๆ

ถีนะ และ มิทธะ   เป็น ความหดหู่  ท้อถอย   ความง่วงเหงาซึมเซา   ไม่ควรแก่การงาน   ถีนะและมิทธะทำให้เราท้อถอยที่จะทำกุศล   ในวิสุทธิมัคค์  ขันธนิทเทส   อธิบายเรื่องถีนมิทธะไว้ว่า

...ถีนะ   มีความไม่อุตสาหะเป็นลักษณะ   มีอันทอดทิ้งความเพียรเป็นรส   มีความจมลงเป็นเครื่องปรากฏ    มิทธะมีอันไม่ควรแก่การงานเป็นลักษณะ   มีอันซบเซาเป็นรส   มีความหดหู่เป็นเครื่องปรากฏหรือมีอันหลับโงกเป็นเครื่องปรากฏฯ ทั้ง 2 อย่าง   มีอันไม่ใฝ่ใจโดยแยบคาย   ในความไม่ยินดีและเกียจคร้านเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน

วันหนึ่งๆเราก็รู้สึกเกียจคร้านและท้อถอยที่จะทำกุศลมิใช่หรือ   เช่น   ขณะที่ฟังธรรมหรืออ่านพระธรรม   มีโอกาสที่กุศลจิตเกิด   แต่เราอาจเกิดเบื่อหรือท้อถอยที่จะเป็นกุศล   อาจจะมีคนที่ต้องช่วยเหลือ   แต่เราก็ขี้เกียจและไม่ช่วย   ขณะนั้นถีนะมิทธะขัดขวางกุศล   ถีนะมิทธะทำให้จิตไม่คล่องแคล่ว (วิสุทธิมัคค์  ขันธนิทเทส   กล่าวถึงนิวรณธรรมว่าเป็นเครื่องขัดขวางโดยเฉพาะของฌาน)

อุทธัจจะ เป็นสภาพธรรมที่หวั่นไหว  และ
กุกกุจจะ เป็นสภาพธรรมที่กังวลรำคาญใจ    อุทธัจจะ เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงจึงกั้นจิตจากกุศลธรรม

ในวิสุทธิมัคค์  ขันธนิทเทส   อธิบาย
กุกกุจจะ  ว่า

... กุกกุจจะนั้นมีอันเดือดร้อนในภายหลังเป็นลักษณะ   มีอันคอยเศร้าโศกถึงกิจที่ทำแล้วและมิได้ทำแล้วเป็นรส   มีความเดือดร้อนในใจภายหลังเป็นเครื่องปรากฏ   มีกรรมที่ทำแล้วและมิได้ทำแล้วเป็นปทัฏฐาน   พึงเห็นดุจความเป็นทาส

เรามักจะคิดถึงอกุศลที่ได้กระทำไปแล้ว   หรือกุศลควรจะได้กระทำแต่ยังไม่ได้กระทำ   หลายครั้งหลายคราเราอาจจะถามตัวเองว่าทำไมเราจึงทำอย่างนั้น   แต่เราเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กระทำไปแล้วไม่ได้   ขณะที่กังวลใจนั้นเป็นอกุศลจิต   ความเดือดร้อนใจครอบงำเรา   อุทธัจจะและกุกกุจจะทำให้จิตไม่สงบ

สำหรับ วิจิกิจฉา นั้น   ความสงสัยมีหลายอย่าง   สงสัยเรื่องพระผู้มีพระภาค   พระธรรม  และพระสงฆ์    สงสัยในมัคค์มีองค์ 8    วิจิกิจฉาเป็นอกุศลและเป็นเครื่องกั้นกุศล

นิวรณธรรมทั้ง 5   เป็นเครื่องกั้นการทำกุศล    มีหนทางกำจัดนิวรณ์ไหม   สมถะหรือการเจริญความสงบเป็นทางหนึ่งที่ระงับนิวรณ์ได้ชั่วคราว    ความสงบที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมถะ ต้องเป็นความสงบที่เป็นกุศล   ไม่เกิดกับอกุศลจิต   กุศลจิตทุกดวงสงบตามขั้นของกุศลนั้นๆ   แต่ยากที่จะรู้ลักษณะของความสงบอย่างชัดแจ้ง   เพราะอกุศลจิตอาจเกิดหลังจากที่กุศลจิตดับไปไม่นาน   ในการเจริญสมถะซึ่งทำให้จิตปราศจากนิวรณ์ชั่วคราวนั้น   จะขาดปัญญาหรือความเห็นถูกไม่ได้เลย   ถ้าใครพยายามให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์สมถะโดยไม่มีปัญญา   ไม่รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล   ขณะใดเป็นอกุศล   และไม่รู้ลักษณะของความสงบ   ความสงบก็เจริญไม่ได้    ปัญญาขั้นสมถภาวนาไม่ได้ดับกิเลส   แต่รู้ลักษณะของความสงบและหนทางเจริญความสงบ   โดยเจริญกรรมฐานที่เหมาะสม   อกุศลจิตย่อมเกิดบ่อยๆแม้ในขณะที่กำลังเจริญสมถภาวนา   บางท่านอาจจะยินดีพอใจในความเงียบสงัด   ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตแทนความสงบที่เป็น
สมถภาวนา   หรือบางท่านอาจคิดว่าเมื่อไม่มีสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา   มีแต่อุเบกขาเวทนา   ขณะนั้นก็เป็นความสงบ    แต่อุเบกขาเวทนาเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ได้   โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาก็ได้
โมหมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาได้อย่างเดียว    ฉะนั้น   ขณะที่อุเบกขาเวทนาเกิด   และดูเหมือนว่าเป็นความสงบ   แต่อาจจะไม่ใช่ความสงบที่เป็นกุศลสมถะก็ได้   ปัญญาขั้นสมถะภาวนานั้นต้องเฉียบแหลมที่จะรู้ลักษณะของกิเลสที่เกิดขึ้น   แม้ว่าเป็นกิเลสที่ละเอียดขึ้นก็ตาม

ในพระไตรปิฎกมีข้อความเรื่องบุคคลที่สามารถบรรลุฌานเมื่อเจริญเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง   ก่อนพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้   ฌานเป็นกุศลขั้นสูงสุดที่บุคคลจะพึงบรรลุได้    ฌานซึ่งเป็นอัปปนาสมาธินั้นเป็นความสงบขั้นสูง   ขณะที่ฌานจิตเกิดนั้น   ไม่รับรู้กามอารมณ์และระงับกิเลสจากกามอารมณ์   การบรรลุฌานจิตนั้นแสนยาก   ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เจริญสมถะจะบรรลุฌานได้   อย่างไรก็ตาม   แม้ว่าจะไม่ต้องการเจริญฌาน   เมื่อรู้ลักษณะของความสงบและวิธีที่จะเจริญความสงบ   ก็มีปัจจัยให้สงบได้ชั่วขณะในชีวิตประจำวัน

ในการเจริญสมถภาวนานั้น   ผู้ปฏิบัติอบรมเจริญ เจตสิก 5 ประเภท ซึ่งสามารถระงับ
นิวรณธรรมได้  เจตสิก 5 ดวงนี้เป็น องค์ฌาน

องค์ฌานที่ 1  คือ วิตก เป็นสภาพธรรมที่ จรดในอารมณ์   วิตกเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตหลายประเภท   เกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ได้   เมื่อวิตกเจตสิกที่เป็นกุศลขั้นสมถะเจริญขึ้น   ก็เป็นองค์ฌาน

ในวิสุทธิมัคค์   ปฐวีกสิณนิทเทส   กล่าวถึงวิตกเจตสิกว่า

... ความตรึกชื่อว่าวิตก   อธิบายว่าความจรดลงๆ   วิตกนี้นั้น   มีอันปลูกลงซึ่งจิตในอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันกระทบก่อนและอันกระทบทั่วๆไปเป็นรสฯ   จริงอย่างนั้น   ด้วยคำว่ามีวิตกมีวิจารนั้น   ท่านย่อมกล่าวว่า   พระโยคาวจรย่อมทำซึ่งอารมณ์ให้เป็นธรรมชาติ   ถูกวิตกจรดก่อนแล้วให้เป็นธรรมชาติ   ถูกวิตกจรดแล้วโดยทั่วๆไป   วิตกนี้มีการชักจิตมาในอารมณ์เป็นเครื่องปรากฏโดยเฉพาะฯ

ขณะที่วิตกเจตสิกเป็นองค์ฌานนั้น   เป็นปฏิปักษ์ต่อถีนะและมิทธะ    ขณะที่จิตจรดในอารมณ์ของสมถภาวนา   วิตกเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนะมิทธะ

องค์ฌานอีกองค์หนึ่ง  คือ  วิจาร   สภาพที่ประคองตามวิตก    เจตสิกดวงนี้เกิดกับจิตหลายประเภท   แต่เมื่อเกิดขณะเจริญสมถะก็เป็นองค์ของฌาน   ข้อความในวิสุทธิมัคค์   ปฐวีกสิณนิทเทส   กล่าวถึงวิจารณ์เจตสิกว่า

... ความตรอง  ชื่อว่าวิจารฯ   มีอธิบายว่า   การตามเสาะค้นๆวิจารนี้นั้น   มีการเคล้าคลึงอารมณ์เป็นลักษณะ   มีการหมั่นประกอบซึ่งธรรมที่เกิดร่วมกันในอารมณ์นั้นเป็นรส   มีการตามผูกพันแห่งจิตเป็นเครื่องปรากฏโดยเฉพาะ

ในการเจริญสมถภาวนา   วิจารประคองจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน   ขณะที่จิตระลึกถึงอารมณ์ที่เป็นกุศล   เช่น   พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระธรรม   ขณะนั้นไม่มีวิจิกิจฉา   วิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา

องค์ฌานอีกองค์หนึ่งคือ  ปีติ   สภาพที่ปลาบปลื้มใจ หรือเอิบอิ่ม   ปีติเกิดกับอกุศลจิตก็ได้ แต่เมื่อปีติเจริญขึ้นในสมถภาวนาก็เป็นองค์ฌาน   ในวิสุทธิมัคค์   ปฐวีกสิณนิทเทส   มีข้อความเกี่ยวกับปีติว่า

... สภาพใดย่อมเอิบอิ่ม   สภาพนั้นชื่อว่า  ปีติฯ    ปีตินั้นมีความรักด้วยดีเป็นลักษณะ   มีความเอิบอิ่มแห่งกายและจิตเป็นรส   หรือมีความแผ่ซ่านไปเป็นรส   มีความลอยขึ้นเป็นเครื่องปรากฏ

ตามข้อความในวิสุทธิมัคค์   ปฐวีกสิณนิทเทส
ปีติที่เป็นองค์ฌานเป็นความเอิบอิ่มที่แผ่ซ่านไป   ซึ่งเป็นอัปปนาสมาธิ   และเจริญขึ้นจนถึงขั้นประกอบกับอัปปนาสมาธิ

ปีติที่เกิดในสมถภาวนานั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาปาทะ   อย่างไรก็ตาม   จะต้องมีปัญญาที่รู้ว่ามีปีติที่เป็นอกุศลที่เกิดกับโลภะหรือมีปีติที่เป็นกุศล   แม้ขณะที่คิดว่า   มีความปลาบปลื้มใจที่เป็นกุศลเกิดขึ้นในอารมณ์กรรมฐาน   ขณะนั้นอาจเป็นโลภะก็ได้    ปีติที่เป็นองค์ฌานนั้นเอิบอิ่มในอารมณ์กรรมฐานโดยไม่ยึดติด    ปีติที่เป็นกุศลซึ่งเป็นความปลาบปลื้มในพระพุทธ พระธรรม  พระสงฆ์   หรือในอารมณ์กรรมฐานอื่นๆนั้น   ทำให้จิตแจ่มใสไม่ขุ่นมัวหรือเบื่อหน่ายในกุศลธรรม

องค์ฌานอีกองค์หนึ่งคือ  สุข   องค์ฌานนี้ไม่ใช่สุขเวทนา   แต่เป็น โสมนัส หรือความสุขทางใจ   สุขซึ่งเกิดขึ้นจากการเจริญสมถะนั้นเป็นความสุขในอารมณ์กรรมฐาน    ตามที่ทราบแล้วว่าสุขเวทนาเกิดกับโลภะก็ได้   ปัญญาจึงต้องรู้ชัดว่าความสุขขณะใดเป็นอกุศลขณะใดเป็นกุศล   สุขเวทนาซึ่งเป็นองค์ฌานนั้นเป็นกุศล   เป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจะและกุกกุจจะ   ขณะที่มีสุขเวทนาซึ่งเป็นกุศลในอารมณ์กรรมฐาน   ขณะนั้นไม่มีอุทธัจจะ กุกกุจจะ

ปีติไม่ใช่สภาพธรรมเดียวกันกับสุข   สุข เป็น ความรู้สึก ที่เป็นสุขแจ่มใส  ปลอดโปร่ง   สบาย   ปีติ สภาพที่ปลาบปลื้มไม่ใช่ความรู้สึก ไม่ใช่เวทนาขันธ์  แต่เป็น สังขารขันธ์ (เจตสิกทุกดวงเป็นสังขารขันธ์   เว้นเวทนาเจตสิกและสัญญาเจตสิก)    เมื่อศึกษาธรรมจากฉบับภาษาอังกฤษ   จะต้องรู้ว่าข้อความนั้นบ่งถึงเจตสิกอะไร   ปีติหรือสุข

ในวิสุทธิมัคค์   ปฐวีกสิณนิทเทส   กล่าวถึงความแตกต่างกันของปีติและสุขว่า

อันที่แท้   แม้เมื่อปีติและสุขทั้งสองนั้นจะไม่พรากกันในที่บางแห่ง   ปีติคือความยินดีอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจการได้รับอิฏฐารมณ์   สุขได้แก่ความเสวยรสซึ่งปีติได้เฉพาะแล้วฯ   ในที่ใดมีปีติ   ในที่นั้นก็มีสุขฯ   แต่ในที่ใดมีสุข   ในที่นั้นจะมีปีติโดยแน่แท้ก็หาไม่ฯ   ปีติสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์   สุขสงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์   ปีติเปรียบดุจความปลื้มใจ   ในเพราะได้เห็น   หรือได้ข่าวชายป่าและชายนํ้าแห่งบุคคลผู้ลำบากในทางกันดาร   สุขเปรียบประดุจความสบาย   ในเพราะได้เข้าสู่ร่มเงาหมู่ไม้และบริโภคนํ้าฯ

องค์ฌานอีกองค์หนึ่งคือ  สมาธิ ซึ่งได้แก่
เอกัคคตาเจตสิก    เจตสิกดวงนี้เกิดกับจิตทุกดวงและทำกิจตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง   จิตทุกดวงรู้อารมณ์ได้เพียงอารมณ์เดียว   และ
เอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์นั้น
เอกัคคตาเจตสิกเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ได้   สมาธิในสมถภาวนาเป็นกุศลที่ตั้งมั่นใน
สมถกรรมฐาน   ซึ่งรู้ชัดว่าจิตเป็นกุศลหรืออกุศลเกิดร่วมกับสมาธิ   และรู้วิธีที่จะเจริญความสงบ   มิฉะนั้นแล้ว   สมาธิในสมถภาวนาก็ไม่เจริญ   ถ้าผู้ใดเพียรพยายามที่จะให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์โดยไม่มีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็อาจจะมีความยินดีพอใจในความเพียรพยายามที่จะให้สมาธิเกิด   หรือถ้าจิตไม่ตั้งมั่นในอารมณ์   โทสะก็อาจจะเกิดได้   และเมื่อเป็นเช่นนี้ความสงบก็เกิดไม่ได้    ถ้ามีปัญญา   ก็มีปัจจัยให้เจริญสมาธิได้
ในวิสุทธิมัคค์  ขันธนิทเทส   กล่าวถึงสมาธิว่า

จิตนี้ดำรงเสมอในอารมณ์   หรือดำรงอยู่ถูกทาง   หรือสภาพนี้เป็นเพียงความดำรงมั่นแห่งจิตเท่านั้น   เหตุนี้จึงชื่อสมาธิฯ   สมาธินั้นมีความไม่ส่ายวอกแวกเป็นลักษณะ   มีอันประมวณมาซึ่งสหชาตธรรมเป็นรส   มีความสงบเป็นปทัฏฐาน   ปานดังนํ้าแห่งจุณสำหรับอาบ   โดยพิเศษมีความสุขเป็นปทัฏฐาน   พึงทราบว่าเป็นความหยุดนิ่งแห่งใจ   ดุจความนิ่งแห่งเปลวประทีปในที่อับลม

สมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ   ขณะที่มีสัมมาสมาธิในอารมณ์กรรมฐานนั้นไม่มีกามฉันทะ

สรุปองค์ฌาน 5 ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการบรรลุปฐมฌาน   คือ

วิตก    คือ   เจตสิกที่จรดในอารมณ์
วิจาร   คือ   เจตสิกที่ประคองอารมณ์
ปีติ     คือ   เจตสิกที่ปลาบปลื้ม
สุข   คือ   เจตสิกที่รู้สึกเป็นสุข โสมนัสทางใจ
สมาธิ   คือ   เจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์

องค์ฌานจะต้อง เจริญ ขึ้นจึงจะระงับนิวรณธรรมชั่วคราว   ผู้ที่ต้องการเจริญองค์ฌานเพื่อบรรลุฌานจิตนั้น   จะต้องเตรียมการหลายอย่าง    ในวิสุทธิมัคค์   ธุดงคนิทเทส  มีข้อความว่า 
ผู้ที่ปราถนาจะเจริญสมถะจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน   ซึ่งจะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยถึงความเป็นผู้มีความต้องการน้อยลง   มีความสันโดษ   มีความไม่สำคัญตน   มีความหลีกเล้น  มีวิริยะ   และมีความต้องการแต่พอควรเท่านั้น   ด้วยการประพฤติวัตรของพระโยคาวจร (ในวิสุทธิมัคค์   กรรมฐานคหณนิทเทส)   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อปฏิบัติของพระภิกษุในเรื่องของจีวร   อาหารบิณฑบาต   และที่พักอาศัย   จึงจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้

ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังทรงมีพระชนม์อยู่นั้น   คฤหัสถ์ก็สามารถบรรลุฌานได้   ถ้าผู้นั้นดำเนินชีวิตที่เหมาะสมต่อการเจริญสมถะ (มารดาของท่านพระนันทะใน   อังคุตตรนิกาย  สัตตกนิบาต)   จะต้องไม่คลุกคลีและถึงพร้อมด้วยธรรมหลายประการ   ฌานเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ   ผู้นั้นต้องหลีกจากกามฉันทะเพื่อที่จะบรรลุปฐมฌานตามข้อความในพระสูตรต่างๆ

ในวิสุทธิมัคค์   ปฐวีกสิณนิทเทส  อธิบายว่า

แก้ว่า   ก็เมื่อท่านทำการกำหนดแน่นอนอย่างนี้   ว่าสงัดแล้วเทียวจากกามทั้งหลาย   ปฐมฌานนี้ย่อมปรากฏว่าแน่นอน   กามทั้งหลายอันเป็นข้าศึกต่อฌานนี้   ที่เมื่อมีอยู่   ฌานนี้ย่อมไม่เป็นไปฉันเดียวกับเมื่อยังมีความมืดอยู่   ดังฤาจะมีแสงประทีป   เพราะสลัดกามเหล่านั้นได้นั้นแล   จึงมีการบรรลุฌานนี้   ฉันเดียวกับการข้ามถึงฝั่งโน้น   มีได้เพราะสละฝั่งนี้ไป   เหตุนั้นท่านจึงทำการกำหนดแน่นอนฯ

ฉะนั้น  จะเห็นได้ว่า   ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเจริญฌานได้   จะบรรลุฌานได้   ถ้าดำเนินชีวิตอย่างโลกๆ   ซึ่งเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินในกามคุณ   แทนที่จะมีชีวิตที่  "มีความต้องการเล็กน้อย   ไม่คลุกคลี   และมีสิ่งจำเป็นพอสมควร"

ข้อความในวิสุทธิมัคค์ กรรมฐานคหณนิทเทส  กล่าวว่า   พึงตัดขาดสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญสมถะ   สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสมถะบางประการก็คือ   ที่อยู่อาศัย  การเดินทาง   และความเจ็บป่วย   สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญสมถะ   ควรเว้นการอยู่ในสถานที่ไม่เหมาะแก่การเจริญสมถะด้วยเหตุผลหลายประการ    ฉะนั้น   ก่อนที่จะเริ่มเจริญสมถะ   ก็จะต้องประกอบพร้อมด้วยหลายอย่าง

ในการเจริญสมถะนั้นจะต้องพิจารณาอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสมกับตน   สมถกรรมฐาน ที่เป็นปัจจัยให้เกิดความสงบได้ 40 อารมณ์  คือ

กสิณ 10  เช่น  วัณณะกสิณ   ปฐวีกสิณ  อาโลกกสิณ   เป็นต้น

อสุภ 10  เช่น   การพิจารณาซากศพ

อนุสสติ 10  ได้แก่   การระลึกถึง
พุทธานุสสติ  ธัมมานุสสติ   สังฆานุสสติ  จาคานุสสติ   เทวตานุสสติ  และมรณานุสสติ   กานคตาสติ  อานาปานสติ   และอุปสมานุสสติ (การระลึกถึงพระนิพพาน)

อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1

จตุธาตุววัฏฐาน  (ดิน   นํ้า  ไฟ  ลม)

พรหมวิหาร 4  ได้แก่   เมตตา  กรุณา  มุทิตา   และอุเบกขา   ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่อุเบกขาหรืออทุกขมสุขเวทนา   แต่เป็น ตัตตรมัชฌัตตตา ซึ่งเป็นโสภณเจตสิก

อารมณ์กรรมฐาน 4   สำหรับการเจริญ อรูปฌาน   ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ไม่ใช่ว่าทุกอารมณ์จะเหมาะกับทุกคน   แล้วแต่ว่าอารมณ์ใดจะเป็นสัปปายะแก่บุคคลใดที่จะทำให้สงบได้   ถ้ามีความเข้าใจถูกในวิธีที่จะทำให้จิตสงบโดยอาศัยอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสม   ความสงบย่อมเกิดขึ้นได้แม้ในชีวิตประจำวัน   เช่น  เมตตาและกรุณา เจริญได้และควรจะเจริญในชีวิตประจำวัน    ขณะที่เราอยู่กับคนอื่นๆ   ขณะนั้นกุศลจิตเกิดแทนอกุศลจิต    การระลึกถึงพระธรรมคุณ   รวมถึงการพิจารณาธรรมด้วยนั้น   เป็นประโยชน์ต่อทุกคน   เพราะทำให้เราเริ่มเข้าใจชีวิตของตนเอง   ขณะที่พิจารณาพระธรรมด้วยกุศลจิต   หรือพิจารณาอารมณ์กรรมฐาน   ขณะนั้นอาจมีความสงบ ถ้าเราไม่ยึดติดในความสงบ

ในวิสุทธิมัคค์   อธิบายวิธีเจริญความสงบให้สูงขึ้นโดยเจริญสมถกรรมฐาน   คำอธิบายมีว่า   เจริญสมถภาวนาด้วยการดู   สัมผัส  และสาธยาย    ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทของอารมณ์ที่ต้องอบรม   เจริญด้วยการดู  เช่น  กสิณ 9   และอสุภ 10   ในวิสุทธิมัคค์   กรรมฐานคหณนิทเทส  แสดงว่า   ข้นต้นจะต้องดูอารมณ์กรรมฐานเป็น บริกัมมนิมิต ให้ติดตา   เมื่อบริกัมมนิมิตเกิดแล้วก็ไม่ต้องดูอารมณ์กรรมฐานต่อไปอีก    ระยะแรกนิมิตนั้นจะไม่ผ่องใส   แต่หลังจากนั้นนิมิตก็ผ่องใสเป็นร้อยเท่าพันทวี   เช่น   วัณณกสิณหรือปถวีกสิณอาจจะไม่ผ่องใส   แต่เมื่อความสงบมั่นคงขึ้น นิมิตที่ปราศจากมลทินโทษก็จะปรากฏเป็น ปฏิภาคนิมิต

เมื่อปฏิภาคนิมิตปรากฏนั้น   ความสงบตั้งมั่นยิ่งขึ้นเป็น อุปจารสมาธิ จิตขณะนั้นไม่ใช่ฌานจิต   ยังเป็นกามาวจรจิต   แต่นิวรณธรรมไม่เกิด   ขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ    อย่างไรก็ตาม   องค์ฌานก็ยังไม่เจริญถึงขั้นที่จะบรรลุฌานได้   ฉะนั้นจึงต้องเจริญธรรมซึ่งเป็นปัจจัยที่สมควรแก่การบรรลุฌาน    การบรรลุอุปจารสมาธินั้นก็ยากมากอยู่แล้ว   แต่ การรักษานิมิต เพื่อที่จะให้บรรลุฌานนั้นก็ยากมากด้วยเช่นกัน   ผู้เจริญสมถภาวนาต้องรักษานิมิตไว้เพื่อไม่ให้ปฏิภาคนิมิตที่ปรากฏแล้วนั้นหายไป การรักษานิมิตไว้ได้นั้นต้องประกอบด้วย
สัปปายะที่สะดวกสบายหลายอย่าง   รวมทั้ง
อาวาสสัปปายะ  อาหารสัปปายะ   ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ   และต้องทำ อินทรีย์ 5 ให้เสมอกัน  อินทรีย์ 5  ได้แก่   เจตสิก 5  คือ

ศรัทธาเจตสิก  (ความเลื่อมใสในกุศลธรรม)
วิริยะเจตสิก     (ความเพียร)
สติเจตสิก       (การระลึกรู้)
สมาธิเจตสิก    (ความตั้งมั่น)
ปัญญาเจตสิก   (ความเข้าใจถูก)

ศรัทธากับปัญญาควรเสมอกัน   เพื่อจะได้ไม่เป็นผู้เลื่อมใสง่ายดาย   และเลื่อมใสในเรื่องที่ไม่ใช่ปราศจากเหตุผล   สมาธิกับวิริยะควรเสมอกัน   เพราะเหตุว่าถ้ามีความเพียรมากแต่มีสมาธิน้อย   อุทธัจจะย่อมครอบงำได้   และไม่สามารถจะบรรลุฌานได้   ถ้ามีสมาธิมาก   แต่ความเพียรน้อย   ความเกียจคร้านย่อมครอบงำได้   และจะบรรลุฌานไม่ได้   อินทรีย์ทั้ง 5 ควรเสมอกัน

จากหลายๆตัวอย่างที่กล่าวถึงแล้วนั้นจะเห็นได้ว่า   จะเจริญสมถภาวนาไม่ได้ถ้าไม่มีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน   ในเรื่องสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรม   ซึ่งความจริงก็เป็นเรื่องสภาพธรรมในชีวิตประจำวันนั่นเอง   และต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบด้วย   ผู้เจริญสมถภาวนาต้องรู้ชัดขณะใดจิตเป็นกุศลและขณะใดเป็นจิตเป็นอกุศล   ต้องรู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นองค์ฌาน   และต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าองค์ฌานเจริญขึ้นหรือยัง   ต้องรู้ว่าเจตสิกที่เป็นอินทรีย์ 5   เจริญขึ้นหรือยังและเสมอกันหรือไม่   ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่ององค์ฌานและสภาพธรรมต่างๆ   ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุอุปจารสมาธิและการบรรลุฌาน   ก็จะหลงเข้าใจผิดว่าได้บรรลุอุปจารสมาธิแล้ว   หรือได้บรรลุฌานแล้ว    อุปจารสมาธิและฌานจิตจะเกิดไม่ได้   ถ้าไม่ได้เจริญธรรมที่เป็นปัจจัยที่สมควร

ไม่ใช่ว่าสมถกรรมฐานจะทำให้บรรลุฌานได้ทุกอารมณ์   บางกรรมฐานก็ทำให้เกิด
อุปจารสมาธิเท่านั้น  เช่น   พุทธานุสสติ 
ธัมมานุสสติ  สังฆานุสสติ    บางกรรมฐานก็ทำให้บรรลุปฐมฌาน (ทั้งรูปฌาน   และอรูปฌานนั้นต้องเจริญเป็นขั้นๆ   ผู้ปฏิบัติมีความชำนาญขึ้นก็จะสามารถบรรลุฌานขั้นสูงขึ้นไป
อรูปฌานละเอียดกว่ารูปฌาน) เท่านั้น    บางกรรมฐานก็ทำให้บรรลุรูปฌานได้ทุกขั้น
อานาปานสติ ทำให้บรรลุฌานทุกขั้น   คนส่วนมากเข้าใจว่าอานาปานสติเจริญได้ง่ายๆ   แต่ความจริงเป็นอารมณ์ที่ยากที่สุดอารมณ์หนึ่งทีเดียว   จะต้องมีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกที่กระทบปลายจมูกหรือเบื้องบนริมฝีปาก   การเจริญอานาปานสติไม่ใช่ด้วยการดู   แต่โดยการกระทบสัมผัส   นั่นคือลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นนิมิตที่จะต้องใส่ใจระลึกรู้
ในวิสุทธิมัคค์   อนุสสติกรรมฐานนิทเทส   มีข้อความว่า

เหมือนอย่างว่ากรรมฐานอื่นๆย่อมปรากฏชัดยิ่งๆขึ้นไปฉันใด   แต่กรรมฐานนี้ไม่เหมือนอย่างนั้นๆ   ก็เมื่อพระโยคีเจริญกรรมฐานนี้ยิ่งๆขึ้นไป   กรรมฐานย่อมถึงแต่ความละเอียด   ไม่เข้าถึงแม้ความปรากฏชัด

ข้อความต่อไปมีว่า

... พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ผู้มีสติฟั่นเฟือน ไม่รู้สึกตัว   เราไม่กล่าวถึงการเจริญอานาปานสติฯ"

ที่จริงกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง   (ก็ตาม)   ย่อมสำเร็จเฉพาะแก่ผู้มีสติรู้สึกตัวแม้โดยแท้   ถึงอย่างนั้น   กรรมฐานอื่นจากอานาปานสติ  (กรรมฐาน) นี้  ย่อมปรากฏแก่พระโยคี   ผู้หมั่นใฝ่ใจฯ   ก็อานาปานสตินี้เป็นของหนัก   เจริญสำเร็จได้ยาก เป็นภูมิแห่งการใฝ่ใจ   เฉพาะของพวกมหาบุรุษ   ผู้เป็นพระพุทธเจ้า   และพระปัจเจกพุทธเจ้า   หรือบุตรพระพุทธเจ้า    และไม่ใช่กรรมฐานพอดีพอร้าย   ไม่ใช่กรรมฐานอันสัตว์ผู้ตํ่าต้อย   ส้องเสพแล้ว    พวกมหาบุรุษเหล่านั้นย่อมทำไว้ในใจด้วยประการใดๆ   กรรมฐานนี้ย่อมเป็นของสงบและละเอียด   ด้วยประการนั้นๆฯ  เหตุนั้น   จำต้องปราถนาสติและปัญญาที่มีกำลังในอานาปานสติกรรมฐานนี้

อานาปานสติสมาธิยากมาก   ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย   เมื่อกำหนดลมหายใจไปๆลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจะละเอียดขึ้นๆ   จึงยากที่จะสังเกตุรู้ได้   จากข้อความในวิสุทธิมัคค์ข้างบนนี้จะเห็นว่า   จะต้องมีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์จริงๆ   ไม่ใช่วิปัสสนาภาวนาเท่านั้นที่จะต้องมีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์
แม้สมถภาวนาก็ต้องมีด้วยเช่นกัน    แต่ อารมณ์ของสติ ในสมถะต่างกับอารมณ์ของสติในวิปัสสนา    อารมณ์ของสติ ใน
สมถภาวนา  ได้แก่   สมถกรรมฐาน 40   และมุ่งที่จะเจริญความสงบ    อารมณ์ของสติในวิปัสสนาภาวนา   คือ  นาม  หรือ  รูปซึ่งกำลังปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งในทวาร 6   เพื่อละสักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่ามีตัวตน)   และกิเลสทั้งหมด    สมถภาวนาไม่ได้ดับอนุสัยกิเลส    เมื่อมีเหตุปัจจัย   อกุศลจิตก็เกิดอีกได้    ในอังคุตตรนิกาย   ฉักกนิบาต
จิตตหัตถิสาริปุตตสูตร   มีข้อความว่า   แม้พระภิกษุผู้บรรลุฌานก็อาจจะลาสิกขาและกลับไปสู่ชีวิตฆราวาส    ข้อความตอนหนึ่งมีว่า   สมัยที่พระผู้มีพระภาคประทับที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน   แขวงเมืองพาราณสี   พระเถระหลายท่านสนทนากันเรื่องพระอภิธรรม   ท่านพระจิตตหัตถิสาริปุตตะ   กล่าวสอดขึ้น   แม้ครั้งหลังๆท่านพระมหาโกฎฐิตะกล่าวกะท่านพระจิตตหัตถิสาริปุตตะว่า

"เมื่อภิกษุผู้เถระกล่าวสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่   ท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตรพูดสอดขึ้นในระหว่าง   ขอท่านพระจิตตจงรอคอยจนกว่าภิกษุผู้เถระสนทนากันให้จบเสียก่อน"ฯ

เมื่อท่านมหาโกฏฐิตะกล่าวอย่างนั้นแล   พวกภิกษุผู้เป็นสหายของท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตรได้กล่าวกับท่านพระมกาโกฏฐิตะว่า   "แม้ท่านพระมหาโกฏฐิตะย่อมรุกรานท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตร (เพราะ) ท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตรเป็นบัณฑิต   ย่อมสามารถกล่าวสนทนาอภิธรรมกับพวกภิกษุผู้เถระได้"

"ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   บุคคลผู้ไม่ทราบวาระจิตของผู้อื่น   พึงรู้ข้อนี้ได้ยากฯ   ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นดุจสงบเสงี่ยม   เป็นดุจอ่อนน้อม   เป็นดุจสงบเรียบร้อย   ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์   ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่   แต่ว่าเมื่อใดเขาหลีกออกไปจากพระศาสดา   หลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู   เมื่อนั้นเขาย่อมคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ   ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา
พระราชา  มหาอำมาตย์ของพระราชา   พวกเดียรถีย์อยู่    เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่   ปล่อยจิตไม่สำรวมอินทรีย์   ชวนคุย  ราคะย่อมรบกวนจิตเขา   เขามีจิตถูกราคะรบกวน   ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย  อนึ่ง   บุคคลบางคนในโลกนี้   สลัดจากกาม  ...  บรรลุปฐมฌาน   เขากล่าวว่าเราได้ปฐมฌาน   แต่คลุกคลีด้วยภิกษุ  ....   เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่   ปล่อยจิต  ไม่สำรวมอินทรีย์   ชอบคุย  ราคะย่อมรบกวนจิตเขา   เขามีจิตถูกราคะรบกวน   ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ..."

ฌานขั้นอื่นๆก็โดยนัยเดียวกัน   ข้อความต่อไปมีว่า   ท่านพระจิตตะหัตถิสาริปุตตะลาสิกขากลับไปสู่เพศตํ่าทราม   แต่ไม่ช้าไม่นานท่านก็อุปสมบทอีก   ซึ่งมีข้อความว่า

ท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตรหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว   ไม่ประมาท  มีความเพียร   มีจิตแน่วแน่  ไม่นานนัก   ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม   ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น   ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง   ในปัจจุบันเทียว   เข้าถึงอยู่  ได้ทราบชัดว่า   ชาติสิ้นแล้ว   พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว   กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว   กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้   มิได้มีอีก

ก็แหละท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตร   ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายฯ

ถึงแม้ว่าผู้ใดบรรลุฌานขั้นสูงสุดแล้วก็ตาม   จิตของผู้นั้นก็ยังถูกรบกวนด้วยกิเลสได้   ตามข้อความในพระสูตรที่ว่า   เมื่อท่านพระจิตตสาริปุตตะบรรลุเป็นพระอรหันต์   บรรลุพรหมจรรย์อันยอดยิ่ง   นิวรณธรรมก็เกิดขึ้นอีกไม่ได้เลย

ด้วยการเจริญวิปัสสนา   รู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นต่างๆ   จึงดับนิวรณ์ได้   พระโสดาบันบุคคล (ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นที่ 1) ดับวิจิกิจฉานิวรณ์ได้    พระอนาคามีบุคคล (ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นที่ 3) ดับกามฉันทะ  พยาปาทะ   และกุกกุจจะได้    พระอรหันต์บุคคลดับถีนะมิทธะและอุทธัจจะ   พระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหมดได้เป็นสมุจเฉท

 

ดูสารบัญ     

home   ปัญหาถาม-ตอบ    หนังสือธรรมะ   
พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ
"พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ