Buddhist Study   บทที่ 4   ลักษณะของโลภะ    

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 


"แทนที่จะสนใจในอกุศลจิตของผู้อื่น   เราควรจะระลึกรู้อกุศลจิตของเราเอง"


 

 

 

 

 

 

 


"ถ้าเราศึกษาและเข้าใจจิตประเภทต่างๆมากขึ้น   เราก็จะรู้ด้วยตนเองว่า   จิตประเภทใดเกิดบ่อย และเราก็จะรู้จักตัวเองดีขึ้น"


 

 

 

 

 

 


"โลภะมีลักษณะ 
ยึดมั่น   หรือ  ติดข้อง"


 

 

 

 

 

 


"ขณะใดที่รูป  เสียง  กลิ่น   รส  โผฏฐัพพะ   ที่น่าพอใจปรากฏ   ขณะนั้นโลภะย่อมเกิดขึ้น   วันหนึ่งๆ โลภะเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน"


 

 

 

 

 

 


"อารมณ์ที่ดีซึ่งสามารถรู้ได้ทางทวาร 5 นั้นว่า  กามคุณ 5"


 

 

 

 

 

 


"โสมนัสซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตต่างกับโสมนัสซึ่งเกิดกับกุศลจิต"


 

 

 

 

 

 


"โลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์   เมื่อเราต้องพลัดพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รักหรือสูญเสียสิ่งที่รัก   เราย่อมเป็นทุกข์ "


 

 

 

 

 

 


"ทิฏฐิเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง  
ซึ่งเกิด
พร้อมกับ
โลภมูลจิต "


 

 

 

 

 

 


"การยึดถือร่างกายว่าเป็นตัวตนนั้นเป็น
ความเห็นผิด อย่างหนึ่ง ในภาษาบาลีเรียกว่า
ทิฏฐิ "


 

 

 

 

 

 


"เวทนา ที่เกิดพร้อมกับโลภมูลจิตนั้น   อาจเป็น โสมนัสเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา ก็ได้   แต่โทมนัสเวทนาจะไม่เกิดกับ
โลภมูลจิต"


 

 

 

 

 

 


"ตัวอย่างของโลภมูลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วย
มิจฉาทิฏฐิและเป็น

สสังขาริก  เช่น   คนที่ตอนแรกไม่ดื่มสุรา   แต่เมื่อถูกชักชวนให้ดื่ม   ตอนหลังก็มีความยินดีพอใจในการดื่ม"


 

 

 

 

 

 


"ตัวอย่างของโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   เช่น   ขณะที่เพลิดเพลินพอใจในสีสวยๆ   หรือเสียงเพราะๆ "


 

 

 

 

 

 


"ตัวอย่างของโลภะมูลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย   เช่น   ขณะที่อยากจะยืนหรืออยากจะหยิบจับอะไรๆ"


 

 

 

 

 

 

 

 

 
     จิตมีมากมายหลายประเภท   มี อกุศลจิต (จิตที่ไม่ดีงาม)   กุศลจิต (จิตที่ดีงาม)    วิบากจิต (จิตที่เป็นผล)    และกิริยาจิต (จิตที่ไม่เป็นทั้งเหตุและผล)    จิตต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ   แต่ว่าเราไม่ค่อยรู้เรื่องจิตเหล่านี้เลย   โดยมากเราไม่รู้ว่า  จิตเป็น อกุศล   หรือ กุศล  หรือ วิบาก   
หรือ กิริยา  

ถ้าเราพิจารณาสภาพของจิตก็จะเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น   เราจะมีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นมากขึ้น   แม้ว่าผู้นั้นจะประพฤติไม่สมควร   เราไม่ชอบอกุศลจิตของผู้อื่น   เราไม่พอใจเมื่อผู้อื่นตระหนี่หรือกล่าววาจาหยาบคาย   แต่เรารู้บ้างไหมว่าเรามีอกุศลจิตขณะไหนบ้าง   ขณะที่เราไม่พอใจวาจาหยาบคายของผู้อื่น   ขณะนั้นเราเองมีอกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยโทสะ   แทนที่จะสนใจในอกุศลจิตของผู้อื่น   เราควรจะระลึกรู้อกุศลจิตของเราเองผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมซึ่งอธิบายสภาพธรรมไว้อย่างละเอียด   อาจไม่รู้ว่าอะไรเป็นอกุศล   อาจเข้าใจว่าอกุศลเป็นกุศล   ฉะนั้นจึงสะสมอกุศลโดยไม่รู้ถ้าเราศึกษาและเข้าใจจิตประเภทต่างๆมากขึ้น   เราก็จะรู้ด้วยตนเองว่า   จิตประเภทใดเกิดบ่อย และเราก็จะรู้จักตัวเองดีขึ้น

เราควรรู้ความแตกต่างกันของ กุศลธรรม และ อกุศลธรรม    ในอัฏฐสาลินี   จิตตุปปาทกัณฑ์  อธิบายคำว่า   "กุศล" ว่า   กุศลมีความหมายหลายอย่าง   คือชื่อว่ากุศล   เพราะอรรถว่า 
"ไม่มีโรค"   "ไม่มีโทษ"    "เกิดแต่ความฉลาด" 
"มีวิบากที่น่าปราถนาเป็นสุข"

ขณะให้ทาน  รักษาศีล   และเจริญภาวนานั้นจิตเป็นกุศล   กุศลต่างๆ เช่น   อนุโมทนากุศลกรรมของผู้อื่น   สงเคราะห์เกื้อกูลผู้อื่น   ความสุภาพอ่อนโยน   ความอ่อนน้อม  การรักษาศีล   การศึกษาธรรม  การแสดงธรรม   การเจริญสมถะและการเจริญวิปัสสนานั้น   รวมอยู่ในทาน  ศีล   หรือภาวนา    กุศลมีวิบากที่น่าปราถนา   กุศลกรรมทุกอย่างย่อมนำมาซึ่งวิบากที่น่าปราถนา

ในอัฏฐสาลินี  จิตตุปปาทกัณฑ์   มีข้อความอธิบายเรื่อง  อกุศลธรรม ว่า

"อกุศล"  หมายถึง  "ไม่ใช่กุศล"   เช่นเดียวกับศัตรูไม่ใช่มิตร   หรือสภาพที่ไม่ติดข้องตรงกันข้ามกับโลภะ เป็นต้น 
ฉันใด  "อกุศล"   ก็ตรงข้ามกับ  "กุศล"   ฉันนั้นฯ

อกุศลกรรมย่อมให้ผลเป็นทุกข์   ไม่มีใคร
ปราถนาผลที่เป็นทุกข์   แต่คนส่วนมากก็ไม่รู้เรื่อง อกุศลกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์
เขาไม่รู้ว่าจิตขณะไหนเป็นอกุศล   และขณะทำอกุศลกรรมก็ย่อมไม่รู้อีกเหมือนกัน

เมื่อศึกษาพระอภิธรรม   ก็รู้ว่ามีอกุศลจิต 3 ประเภท คือ

1.  โลภมูลจิต     จิตซึ่งมี โลภะ เป็นมูลเหตุ
2.  โทสมูลจิต     จิตซึ่งมี โทสะ เป็นมูลเหตุ
3.  โมหมูลจิต     จิตซึ่งมี โมหะ เป็นมูลเหตุ

โมหะ (ความไม่รู้) เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง   แท้จริงโลภะมูลจิตมี 2 เหตุ คือ โมหเหตุ  และ โลภเหตุ แต่ที่เรียกว่า  โลภมูลจิต   นั้นก็เพราะเหตุว่า   ไม่ใช่มีแต่โมหะที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงเท่านั้น   แต่ยังมีโลภะอีกด้วย    ฉะนั้จึงเรียกโลภะมูลจิตตามโลภะซึ่งเป็นเหตุ   โทสมูลจิต  ก็มี 2 เหตุ   คือโมหเหตุและโทสเหตุ   ที่เรียกว่า  โทสมูลจิต   ก็เพราะมีโทสเหตุ    อกุศลจิต 3 ประเภทนั้น   แต่ละประเภทมีหลายดวง   เพราะมีจิตต่างกันมากมายหลายประเภท

โลภมูลจิต นั้น  ต่างกันเป็น 8 ดวง    เมื่อเรารู้ลักษณะของโลภะมากขึ้น   และรู้ขณะที่โลภะเกิดขึ้น   ก็จะสังเกตุเห็นว่า  โลภมูลจิตมีลักษณะต่างๆกัน   โลภะ เป็นปรมัตถธรรม เป็น เจตสิก (ธรรมประเภทหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับจิต)   โลภะมีจริงและสามารถพิสูจน์ได้

โลภะมีลักษณะ  "ยึดมั่น"   หรือ  "ติดข้อง"    ในวิสุทธิมัคค์ขันธนิทเทส   มีข้อความว่า

..... โลภะมีอันยึดซึ่งอารมณ์   เป็นลักษณะดุจลิงติดตัง   มีความข้องเฉพาะเป็นรสดุจชิ้นเนื้ออันเขาทิ้งไปที่กระเบื้องร้อน   มีอันไม่สละเป็นเครื่องปรากฏ   ดุจนํ้าย้อมเจือนํ้ามันสำหรับหยอด   มีอันเห็นความแช่มชื่นในสังโยชนิยธรรมเป็นปทัฏฐาน   พึงเห็นว่าเมื่อโลภะเจริญอยู่โดยความเป็นแม่นํ้า คือ ตัวตัณหาย่อมพาไปสู่อบายถ่ายเดียว   ดุจแม่นํ้ามีกระแสเชี่ยวพัดพาไปสู่มหาสมุทรฉะนั้นฯ

บางครั้งโลภะ  แปลว่า  "ต้องการ"   หรือ  "ความอยาก"    โลภะแปลได้หลายอย่าง   เพราะเหตุว่าโลภะมีหลายระดับขั้น   มีโลภะ ขั้นหยาบ  ขั้นกลาง   และ ขั้นละเอียด
คนส่วนมากรู้ว่าเป็นโลภะก็ต่อเมื่อเป็นโลภะที่แรงกล้า   แต่ไม่รู้เมื่อเป็นโลภะที่ไม่รุนแรง   เช่น   เราอาจจะรู้ว่าเป็นโลภะเมื่ออยากจะรับประทานอาหารที่อร่อยมากๆ   หรือขณะที่อยากดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่   เรามีความผูกพันยึดมั่นในบุคคล   และเป็นทุกข์เมื่อผู้เป็นที่รักตายจากไป    เมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่าความผูกพันทำให้เกิดความทุกข์   บางครั้งความผูกพันยึดมั่นก็เห็นได้ชัด   แต่โลภะก็มีหลายระดับขั้น   โดยมากเราไม่รู้ว่าเรามีโลภะ   จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก   และเราอาจไม่รู้ว่าโลภะเกิดขณะที่สภาพธรรมปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งในชีวิตประจำวัน   โดยเฉพาะเมื่อเป็นโลภะที่ไม่แรงกล้าถึงขั้นที่เป็นราคะหรือตันหา   ขณะใดที่รูป  เสียง  กลิ่น   รส  โผฏฐัพพะ   ที่น่าพอใจปรากฏ   ขณะนั้นโลภะย่อมเกิดขึ้น   วันหนึ่งๆ โลภะเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน

โลภะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิด   ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา   ในพระสูตรหลายพระสูตร   พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เรื่องโลภะ  ทรงชี้โทษของโลภะ   และหนทางที่จะสละโลภะ 
ในพระสูตรหลายพระสูตรเรียกอารมณ์ที่ดีซึ่งสามารถรู้ได้ทางทวาร 5 นั้นว่า  "กามคุณ 5"

ในมัขฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์   ภาค 1  มหาทุกขักขันธสูตร   มีข้อความว่า  สมัยหนึ่ง   พระผู้มีพระภาคประทับอยู่พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถีพระผู้มีพระภาคตรัสกะพระภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็อะไรเล่าเป็นคุณของกามทั้งหลาย   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  กามคุณ 5 ประการนี้   5 ประการเป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปราถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ   น่ารัก  ประกอบด้วยกาม   เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด   เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ .... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา .... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยด้วยกาย   น่าปราถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ   น่ารัก   ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด    ดูกรภิกษุทั้งหลาย  กามคุณ 5 ประการเหล่านี้แล  ความสุข   ความโสมนัสใดเล่า   อาศัยกามคุณ 5 เหล่านี้เกิดขึ้น   นี้เป็นคุณของกามทั้งหลายฯ"

ความเพลิดเพลินยินดีในกามคุณ 5   ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง   ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคอาจคิดว่า ความยึดมั่นผูกพันเป็นกุศล   โดยเฉพาะเมื่อความยึดมั่นผูกพันนั้นเกิดพร้อมกับโสมนัส   เขาอาจไม่รู้ความต่างกันของความติดข้องกับเมตตาซึ่งเป็นสภาพธรรมต่างชนิด   แต่เกิดกับโสมนัสได้   แต่จิตที่เกิดกับโสมนัสนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกุศลจิต   

เมื่อเข้าใจเรื่องอกุศลจิตและกุศลจิตดีขึ้น   และสังเกตุลักษณะที่ต่างกันของจิต 2 ประเภทนี้   ก็จะเห็นว่าโสมนัสซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตต่างกับโสมนัสซึ่งเกิดกับกุศลจิต    ความรู้สึก (เวทนา) เป็นเจตสิกดวงหนึ่ง    ซึ่งเกิดพร้อมกับจิตทุกดวง   เมื่อจิตเป็นอกุศล   เวทนาก็เป็นอกุศล   และเมื่อจิตเป็นกุศล   เวทนาก็เป็นกุศล  
เราสามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของโสมนัสเวทนา ที่เกิดขึ้นเมื่อชอบรูปที่สวยงามหรือเสียงที่ไพเราะ   และโสมนัสเวทนาที่เกิดขึ้นเมื่อเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า   โลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์   เมื่อเราต้องพลัดพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รักหรือสูญเสียสิ่งที่รัก   เราย่อมเป็นทุกข์   ถ้าเราติดชีวิตที่สะดวกสบาย   ก็ย่อมจะเดือดร้อนเมื่อต้องประสบกับความทุกข์ยากหรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ปราถนา  
ในมัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์   มหาทุกขักขันธสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกะพระภิกษุเรื่องโทษของกามคุณ 5 ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย   กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยความขยัน   ประกอบศิลปะใด... ต้องตรากตรำต่อความหนาว   ต้องตรากตรำต่อความร้อน   งุนง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลือบ   ยุง  ลม  แดด   และสัตว์เลื้อยคลาน   ต้องตายด้วยความหิวกระหาย .... ดูกรภิกษุทั้งหลาย   นี้เป็นโทษของกามทั้งหลาย

....ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน   สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้   โภคะเหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล   เขาย่อมเศร้าโศก  ลำบาก   รำพัน  ตีอก  ครํ่าครวญ   ถึงความหลงเลือนว่าความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ   ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย   เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้นฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   อีกประการหนึ่ง   มีกามเป็นเหตุ ... แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา   แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับกษัตริย์   แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์   แม้คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี   แม้มารดาก็วิวาทกับบุตร   แม้บุตรก็วิวาทกับบิดา    แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกับพี่ชายน้องชาย   แม้พี่ชายก็วิวาทกับน้องสาว   แม้น้องสาวก็วิวาทกับพี่ชาย   แม้สหายก็วิวาทกับสหาย    ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะ   แก่งแย่ง  วิวาทกัน   ในที่นั้นๆ   ทำร้ายซึ่งกันและกัน ด้วยฝ่ามือบ้าง   ด้วยก้อนดินบ้าง   ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาสตราบ้าง   ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง   ถึงทุกข์ปางตายบ้าง    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย .... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้นฯ"

ต่อจากนั้นมีข้อความเรื่องโทษของกามคุณ 5   และผลร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต   และพระผู้มีพระภาคยังได้ทรงแสดงคุณและโทษของรูปว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็อะไรเล่าเป็นคุณของรูปทั้งหลาย   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เหมือนอย่างว่านางสาวเผ่ากษัตริย์   เผ่าพราหมณ์  หรือเผ่าคฤหบดี   มีอายุระบุได้ว่า 15 ปี หรือ 16 ปี   ไม่สูงเกินไป  ไม่ตํ่าเกินไป   ไม่ผอมเกินไป  ไม่อ้วนเกินไป   ไม่ดำเกินไป  ไม่ขาวเกินไป    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ในสมัยนั้น   นางคนนั้นงดงามเปล่งปลั่งเป็นอย่างยิ่ง   ใช่หรือไม่เล่า"
"เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ความสุขความโสมนัสอันใดแลที่บังเกิดขึ้น   เพราะอาศัยความงามเปล่งปลั่ง   นี้เป็นคุณของรูปทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็อะไรเล่าเป็นโทษของรูปทั้งหลาย   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละในโลกนี้   โดยสมัยเมื่อมีอายุ 80-90 หรือ 100 ปี  โดยกำเนิด  เป็นยายแก่   มีซี่โครงคดดังกลอนเรือน   ร่างขดงอ   ถือไม้เท้ากระงกกระเงิ่น   เดินไป  กระสับกระส่าย   ผ่านวัยเยาว์ไปแล้ว   มีฟันหลุด  ผมหงอก  ผมโกร๋น   ศีรษะล้าน  เนื้อเหี่ยว   มีตัวตกกระ .......

.......ดูกรภิกษุทั้งหลาย   อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพ   ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า  ตายได้ 1 วันก็ดี  ตายได้ 2 วันก็ดี   ตายได้ 3 วันก็ดี   เป็นซากศพขึ้งพองก็ดี   มีสีเขียวก็ดี   เกิดหนอนไชก็ดี    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร   ความงดงาม  ความเปล่งปลั่ง   ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว   โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือฯ"
"เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   แม้ข้อนี้เล่า   ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลายฯ"

ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะพระภิกษุทั้งหลายอาจจะรุนแรงสำหรับเรา   แต่เป็นสัจจธรรม    เรารู้สึกว่ายากที่จะยอมรับสภาพชีวิตตามความเป็นจริง   เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย    เราทนไม่ได้ที่จะคิดว่าร่างกายของเราหรือร่างกายของคนที่เรารักนั้นเป็นดังซากศพ   เรายอมเรื่องการเกิด   แต่ไม่ค่อยอยากจะยอมรับหลังการเกิด   ซึ่งได้แก่  ความแก่   ความเจ็บ  และความตาย    เราไม่อยากรู้เห็นสภาพที่ไม่เที่ยงของสังขารธรรมทั้งหลาย    เวลาส่องกระจกและตบแต่งร่างกาย   เราก็อยากให้ร่างกายเป็นตัวตนที่ยั่งยืนและเป็นของเรา   แต่ร่างกายก็เป็นเพียงรูปธาตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที   ไม่มีสักอณูเดียวของร่างกายที่ยั่งยืน

การยึดถือร่างกายว่าเป็นตัวตนนั้น   เป็น ความเห็นผิด อย่างหนึ่ง   ในภาษาบาลีเรียกว่า ทิฏฐิ   ทิฏฐิเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง   ซึ่งเกิดพร้อมกับโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล)   โลภมูลจิตมี 8 ดวง โลภมูลจิต 4 ดวง  ประกอบด้วย  มิจฉาทิฏฐิ    ขณะใดที่โลภมูลจิตประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีความเห็นผิด

ความเห็นผิดมีหลายอย่าง   ความเห็นว่ามี "ตัวตน" เป็นความเห็นผิดอย่างหนึ่ง   ขณะที่ยึดมั่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็น "ตัวตน"  ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐิ   บางคนเห็นว่ามีตัวตนอยู่ในชาตินี้และจะมีตัวตนอยู่ต่อไปอีกหลังจากสิ้นชีวิตแล้ว   นี่เป็นสัสสตทิฏฐิ   บางคนเห็นว่ามีตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น   และจะสูญไปเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว   นี่เป็นอุจเฉททิฏฐิ    ทิฏฐิอีกอย่างหนึ่งคือเห็นว่าไม่มีกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก   กรรมไม่มีผล  
มีคนในประเทศต่างๆ   ที่เชื่อว่าเขาจะชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาปอกุศลได้เพียงด้วยการชำระล้างร่างกายในนํ้า   หรือด้วยการสวดอ้อนวอน    เขาเชื่อว่า การทำอย่างนั้นจะขจัดปัดเป่าไม่ให้ผลของอกุศลกรรมเกิดขึ้น   เขาไม่รู้ว่ากรรมแต่ละอย่างย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลได้    เราสามารถจะดับกิเลสได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น    ผู้ที่คิดว่ากรรมไม่ให้ผลตามควรแก่กรรมนั้น   ก็อาจจะเชื่ออย่างง่ายๆว่า   การเจริญกุศลเปล่าประโยขน์   การเชื่ออย่างนี้ย่อมเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรม   และทำให้สังคมเสื่อมทราม

ในโลภมูลจิต 8 ดวงนั้น  โลภมูลจิต 4 ดวง  เกิดร่วมกับความเห็นผิด   ภาษาบาลีเรียกว่า
ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺต (สัมปยุตต   แปลว่า  ประกอบด้วย)  โลภมูลจิตอีก 4 ดวง  ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ภาษาบาลีเรียกว่า ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺต (วิปปยุตต  แปลว่า   ไม่ประกอบด้วย)

สำหรับ เวทนา ที่เกิดพร้อมกับโลภมูลจิตนั้น   อาจเป็น โสมนัสเวทนา   หรือ อุเบกขาเวทนา ก็ได้   แต่โทมนัสเวทนาจะไม่เกิดกับโลภมูลจิต   โลภะจะแรงขึ้นเมื่อเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา    สำหรับโลภมูลจิต   ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ 4 ดวงนั้น   เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา 2 ดวง   ภาษาบาลีเรียกว่า
โสมนสฺสสหคต (ประกอบด้วยความรู้สึกดีใจ)   อีก 2 ดวงเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ภาษาบาลีเรียกว่า  อุเปกฺขาสหคต   เช่น  ขณะที่ยึดมั่นใน
สัสสตทิฏฐินั้น   จิตอาจประกอบด้วยโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาก็ได้    สำหรับโลภมูลจิต   ทิฏฐิคตวิปปยุตต์นั้นเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
(โสมนสฺสสหคต) 2 ดวง  และอีก 2 ดวงเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา (อุเปกฺขาสหคต)    ฉะนั้นในโลภมูลจิต 8 ดวงนั้น เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา 4 ดวง   เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 4 ดวง

โลภมูลจิตนั้นอาจจำแนกได้อีกนัยหนึ่ง คือ  
โลภมูลจิตเป็น  อสังขาริก   (ไม่มีการชักจูง)  หรือ
สสังขาริก (มีการชักจูง)    อสังขาริกบางแห่งแปลว่า "ไม่ได้ถูกชักจูง"  "ไม่ได้ถูกกระตุ้น"   หรือ  "เกิดขึ้นเองทันที"    สสังขาริกแปลว่า  "ถูกชักจูง"   "ถูกกระตุ้น"ในวิสุทธิมัคค์มีข้อความเรื่องโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริกว่า   "เป็นจิตที่เฉื่อยชาต้องกระตุ้น"  โลภมูลจิตที่เป็น สสังขาริก นั้นอาศัย คำแนะนำหรือคำขอร้องของคนอื่น   หรือ ความจูงใจของตนเอง   แม้โลภมูลจิตที่เกิดขึ้นเพราะความจูงใจของตนเองก็เป็นสสังขาริก   "เป็นจิตที่เฉื่อยชาและถูกชักจูง"    ฉะนั้น เมื่อโลภมูลจิตเป็นอสังขาริก   จึงมีกำลังแรงกว่าโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก

สำหรับโลภมูลจิต 4 ดวงซึ่งประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นอสังขาริก 2 ดวง  และเป็นสสังขาริก 2 ดวง โลภมูลจิต 4 ดวงซึ่งไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เป็นอสังขาริก 2 ดวง   เป็นสสังขาริก 2 ดวง    ฉะนั้นโลภมูลจิต 8 ดวง   จึงเป็น อสังขาริก 4 ดวง และเป็น สสังขาริก 4 ดวง

การเรียนรู้คำบาลีและความหมายของคำนั้นๆ   เป็นประโยชน์มาก   เพราะการถอดความเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ความหมายของสภาพธรรมอย่างชัดเจน

โลภมูลจิต 8 ดวง  คือ

  1. จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เป็นอสังขาริก
    (โสมนสฺส  สหคตํ  ทิฏฺฐิคต   สมฺปยุตฺตํ  อสงฺขาริกเมกํ)
  2. จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเป็นสสังขาริก
    (โสมนสฺส  สหคตํ  ทิฏฺฐิคต   สมฺปยุตฺตํ  สสงฺขาริกเมกํ)
  3. จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เป็นอสังขาริก
    (โสมนสฺส  สหคตํ  ทิฏฺฐิคต   วิปฺปยุตฺตํ  อสงฺขาริกเมกํ)
  4. จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เป็นสสังขาริก
    (โสมนสฺส  สหคตํ  ทิฏฺฐิคต   วิปฺปยุตฺตํ  สสงฺขาริกเมกํ)
  5. จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เป็นอสังขาริก
    (อุเปกฺขา  สหคตํ  ทิฏฺฐิคต   สมฺปยุตฺตํ  อสงฺขาริกเมกํ)
  6. จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เป็นสสังขาริก
    (อุเปกฺขา  สหคตํ  ทิฏฺฐิคต   สมฺปยุตฺตํ  สสงฺขาริกเมกํ)
  7. จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เป็นอสังขาริก
    (อุเปกฺขา  สหคตํ  ทิฏฺฐิคต   วิปฺปยุตฺตํ  อสงฺขาริกเมกํ)
  8. จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เป็นสสังขาริก
    (อุเปกฺขา  สหคตํ  ทิฏฺฐิคต   วิปฺปยุตฺตํ  สสงฺขาริกเมกํ)

ฉะนั้น  จะเห็นว่า   โลภมูลจิตเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริกก็ได้   ในอัฏฐสาลินี   มีตัวอย่างของโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิและเป็นสสังขาริก    อุปมาว่า   บุตรชายเศรฐีคนหนึ่งแต่งงานกับหญิงที่มีความเห็นผิด   เขาจึงส้องเสพกับพวกที่มีความเห็นผิด   ไม่ช้าเขาก็คล้อยตามและพอใจในความเห็นผิดนั้น

ตัวอย่างของโลภมูลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วย
มิจฉาทิฏฐิและเป็นสสังขาริก   เช่น   คนที่ตอนแรกไม่ดื่มสุรา   แต่เมื่อถูกชักชวนให้ดื่ม   ตอนหลังก็มีความยินดีพอใจในการดื่ม

จะเห็นได้ว่า   โลภมูลจิตมีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย   หรือ มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วยก็ได้   ตัวอย่างของโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   เช่น   ขณะที่เพลิดเพลินพอใจในสีสวยๆ   หรือเสียงเพราะๆ   ขณะนั้นเรายินดีพอใจโดยไม่ได้มีความเห็นเรื่องตัวตน   เวลาเราชอบเสื้อผ้าสวยๆ   ไปดูหนัง   หรือหัวเราะและคุยกับคนอื่นเรื่องความสนุกสนานต่างๆ   ขณะนั้นเป็นความเพลิดเพลินที่ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย   แต่ก็มีบางขณะที่มีมิจฉาทิฏฐิที่เห็นว่าเป็นตัวตนเกิดร่วมด้วย

ตัวอย่างของโลภะมูลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย   เช่น   ขณะที่อยากจะยืนหรืออยากจะหยิบจับอะไรๆ   เพราะธรรมดาเราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสุขที่ทำอย่างนั้น   ขณะนั้นก็เป็นโลภะที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าโลภะเป็นเหตุให้ทำสิ่งที่ธรรมดาที่สุดบ่อยๆในชีวิตประจำวัน


ดูสารบัญ

home         ปัญหาถาม-ตอบ        หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ