Buddhist Study   ธรรมจาริกในศรีลังกา   บทที่ 5
โดย  นีน่า  วัน   กอร์คอม   
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
   

 

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 

บทที่ ๕

สภาพธรรมใด ๆ ซึ่งปรากฏในขณะนี้เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้   ขณะนี้ไม่มีการเห็นหรือ   การเห็นก็เป็นอารมณ์ของสติได้   ขณะนี้ไม่มีการได้ยินหรือ   การได้ยินก็เป็นอารมณ์ของสติได้

เราอภิปรายกันเรื่องสภาพเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา และการคิดเรื่องสิ่งที่เห็น    เพราะเราทุกคนมักจะสับสนในสภาพธรรมต่าง ๆ   การเจริญวิปัสสนานั้นจะต้องเจริญปัญญาที่ประจักษ์สภาพธรรมต่าง ๆ อย่างถูกต้อง

การเห็นเป็นนามธรรม   เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา   สิ่งที่ปรากฏทางตาก็คือ   สิ่งที่ถูกเห็น ซึ่งเห็นได้ทางจักขุปสาท จะเรียกว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือสีก็ได้   ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตานั้นเอง    สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่ใช่เก้าอี้   สิ่งของ  สัตว์ หรือบุคคล   สิ่งเหล่านี้จะกระทบจักขุปสาทได้อย่างไร   ขณะนี้เมื่อลืมตา ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา   เมื่อหลับตาลงและคิดถึงสิ่งอื่นหรือคนอื่น   ก็จะไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา    เรามักลืมที่จะระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่ปรากฏ   เรารู้จักสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วหรือ   หรือว่าเรายังเชื่ออยู่ว่าเราเห็นเก้าอี้หรือบุคคล

เราอาจเชื่อว่าเราเห็นรูปร่างสัณฐานทางตา   แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทั้งนี้เพราะความทรงจำในอดีตทำให้เราเกิดความคิดว่าเป็น “บุคคล” หรือ “เก้าอี้”     จิตชนิดต่าง ๆ เกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก   ดูเสมือนว่าเห็นอยู่ช่วงระยะหนึ่ง   แต่สภาพเห็นนั้นก็ดับไปแล้วทันที

เมื่อเราจำสีต่าง ๆ ได้เช่นสีแดงและน้ำเงิน   ก็เป็นเรื่องของความทรงจำอีกนั่นแหละ   จิตเห็นรู้เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น   ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสี่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่มีสี
ในขณะที่สติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา   สิ่งนั้นก็หาได้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่   เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั่นเอง และ “ปรากฏขณะนี้เอง”   คุณสุจินต์คอยเตือนเราแล้วเตือนเราอีก

ดูยากนักยากหนาที่จะรู้ความแตกต่างระหว่างการเห็นกับการคิด   เราอาจจะโน้มเอียงไปในการคิดเรื่องการเห็น และเฝ้าสงสัยว่าการเห็นเหมือนกับอะไรหนอ   หากเรามัวแต่สงสัยและครุ่นคิดเรื่องการเห็น   แทนที่สติจะระลึกรู้สภาพการเห็นขณะนี้ ก็จะไม่มีวันประจักษ์การเห็นตามความเป็นจริง    ปัญญา (ความรอบรู้) ซึ่งเกิดจากการเจริญสติปัฏฐานจะประจักษ์แจ้งว่า   การเห็นเป็นการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา   ซึ่งต่างจากการสำเหนียกรู้รูปร่างสัณฐาน

หลายคนรู้สึกว่าการอภิปรายเรื่องการเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา   การได้ยินกับเสียง เป็นวิชาการมากเกินไป    ทำไมเราจะต้องรู้สภาพธรรมเหล่านี้ด้วย

การเห็นและการได้ยินไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิตจริงของเราดอกหรือ   เราเห็นและเราได้ยินสิ่งที่น่ารื่นรมย์และสิ่งที่ไม่น่ารื่นรมย์หลังจากที่การเห็นหรือการได้ยินดับไปไม่นาน โลภะ  โทสะ  และโมหะ   ก็มักจะเกิดขึ้น    เรายังไม่รู้อะไรเลยในเรื่องการเห็น   การได้ยินและสภาพธรรมอื่น ๆ ในชีวิตของเรา   ถ้าไม่มีสติระลึกรู้สภาพเห็นและสภาพได้ยินแล้ว   เราก็ยึดมั่นในความคิดว่า “เราเห็น”  “เราได้ยิน”    ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือตัวตน   เราไม่ควรจะศึกษาให้รู้จักการเห็นและการได้ยินให้มากยิ่งขึ้นดอกหรือ    การเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา   การได้ยินกับเสียงและสภาพธรรมอื่นทั้งหลาย ซึ่งปรากฏนั้นเราควรจะรู้สภาพตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตัวตน   ถ้าหากไม่มีสติระลึกรู้   เราก็จะยังคงมีชีวิตต่อไปโดยเห็นผิด   อันจะนำความยุ่งยากมาสู่เราอย่างมากมาย เราจะยังยึดมั่นในความคิดว่าเป็นเรา เป็น “บุคคล” นี้หรือ “บุคคล” นั้นอยู่ต่อไป

เมื่อเราได้ยินคำที่ไม่น่าฟัง   ลักษณะของเสียงปรากฏ   เราไม่ได้ยินคำ   เราจำความหมายของคำต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ได้ยินเสียง   เราคิดถึงคำพูดด้วยความไม่พอใจและความเดือดร้อนใจก็เกิดขึ้นกับเราเอง   หาใช่กับเสียงหรือกับบุคคลอื่นไม่    ไม่มีตัวตนซึ่งได้ยินเสียง   แต่สภาพได้ยินนั่นเองที่รู้หรือได้ยินเสียง   สติระลึกรู้เกิดในบางครั้งได้หรือไม่   ในขณะที่สติเกิดนั้น ก็จะศึกษาพิจารณารู้ลักษณ์ของสภาพธรรมต่าง ๆ

 

ในมัชฌิมนิกาย   มูลปัณณาสก์   จุฬหัตถิปโทปมสูตร  ข้อ ๓๓๓    มีเรื่องภิกษุที่มีสติระลึกรู้ดังต่อไปนี้

….......ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักขุแล้ว   ไม่ถือนิมิต  ไม่ถือ
อนุพยัญชนะ   เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์   ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์   ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต…ดมกลิ่นด้วยฆานะ..ลิ้มรสด้วยชิวหา..ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย..รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต  ไม่ถืออนุพยัญชนะ   เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว   จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ   นั้นชื่อว่ารักษามนินทรีย์   ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้   ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน

เมื่อเราได้ยินคำว่า “สำรวม”   เราอาจจะนึกว่าตัวตนเป็นผู้สำรวม   แต่ความเป็นจริงนั้นเป็นสติไม่ใช่ตัวตนที่ ”สำรวม” ทวารทั้ง ๖ นั้น

เราควรเตรียมตัวเจริญวิปัสสนาหรือไม่   ควรนั่งในที่สงัดเพื่อให้เกิดความสงบเสียก่อน   ก่อนที่จะพิจารณานามและรูปที่ปรากฏหรือไม่

เรารู้แล้วว่าสมถะนั้นมีความสงบ   และรู้ว่าปัญญาที่เข้าใจ
สมถกรรมฐานอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ

วิปัสสนาก็ต้องมีความสงบด้วย และมีปัญญาเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น    ปัญญาขั้นวิปัสสนาต่างกับปัญญาขั้นสมถะ
การเจริญปัญญานั้น พิจารณาให้รู้นามและรูปตามสภาพที่เป็นจริงไม่ใช่ตัวตน   ขณะที่มีปัญญาเห็นสภาพธรรมตามความจริงที่ปรากฏก็มีความสงบในขณะนั้น   ไม่จำเป็นที่จะจดจ้องมุ่งให้เกิดความสงบ

ในสมถะ ความสงบเป็นสิ่งที่สำคัญ    และในวิปัสสนา ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ   ความพยายามที่จะทำให้เกิดความสงบเพื่อเตรียมเจริญวิปัสสนานั้น ไม่ใข่ปัจจัยที่ทำให้สติเกิด
ความเข้าใจในสภาพที่เป็นนามรรรมและรูปธรรม   และความเข้าใจถูกต้องในการเจริญวิปัสสนาเป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่ง

การเข้าใจนามและรูปต่างกับการระลึกรู้ตรงลักษณะต่างของนามและรูป   ซึ่งควรจะรู้ความต่างกันด้วย   ข้อสำคัญก็คือจะต้องรู้ว่าเมื่อใดมีสติ   และเมื่อใดหลงลืมสติ    เมื่อเข้าใจสติถูกต้องขึ้นแล้วสติก็จะเจริญขึ้นได้

มีสภาพธรรมปรากฏหลายอย่าง   เช่น  การเห็น  การได้ยิน
ความโลภ  ความแข็ง   และความร้อน   แต่ส่วนมากก็หลงลืมสติไม่พิจารณาสภาพธรรมเหล่านั้น   แต่ในบางครั้งสติอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ และระลึกรู้สภาพธรรมทีละอย่าง

เราอาจจะพยายามอธิบายโดยนัยต่าง ๆ ว่า สติคืออะไร   แต่ก็จะรู้จักสติได้ด้วยตนเองเมื่อสติเกิดขึ้นจริง ๆ เท่านั้น

สติไม่ใช่ตัวตน   เราบังคับไม่ได้   สติไม่เกิดขึ้นตามเวลาที่เราต้องการและไม่นานตามที่เราต้องการ   ไม่ว่าเราจะต้องการให้มีสติเกิดขึ้นมากเพียงใด   สติก็อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้   สติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น   ความเข้าใจนามและรูปและการเจริญวิปัสสนา เป็นปัจจัยให้เกิดสติดังที่รู้กันแล้ว    เราควรรู้ด้วยว่าปัญญาที่เข้าใจนั้นก็เป็นอนัตตา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย   และจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมและจดจำพระธรรมที่ได้ฟังแล้ว    ในขณะที่เราพิจารณาธรรมและไตร่ตรองทบทวนเป็นเวลานาน ๆ   และเมื่อมีสัญญาความทรงจำอันมั่นคงในธรรมที่ได้ฟังแล้ว   สติก็จะระลึกรู้สภาพนามและรูปที่ปรากฏในขณะนี้

ในอังคุตตรนิกาย   ทสกนิบาต  อิฎฐสูตร  ข้อ๗๓    เรื่องธรรม ๑๐ ประการ ที่นำมาซึ่งธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ๑๐ ประการ   กล่าวคือ

....ความไม่เกียจคร้าน   ความขยันหมั่นเพียรเป็นอาหารของโภคสมบัติ ๑   การประดับ การตกแต่งร่างกายเป็นอาหารของวรรณะ ๑    การกระทำสิ่งเป็นที่สบายเป็นอาหารของความไม่มีโรค ๑   ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นอาหารของศีลทั้งหลาย ๑    การสำรวมอินทรีย์เป็นอาหารของพรหมจรรย์ ๑ การไม่แกล้งกล่าวให้พลาดจากความจริงเป็นอาหารของมิตรทั้งหลาย ๑   การฟังด้วยดี การสอบถามเป็นอาหารของปัญญา ๑    การประกอบความเพียร การพิจารณาเป็นอาหารของธรรมทั้งหลาย ๑   การปฏิบัติชอบเป็นอาหารของสัตว์ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้แล    ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก ๑

เรารู้ว่าการฟังและสอบถามเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญปัญญา
ในสูตรเดียวกันนี้ได้มีข้อความว่า “การไม่ฟังด้วยดี ไม่สอบถามเป็นอันตรายแก่ปัญญา”

ท่านพระธรรมธโรได้ให้ข้อสังเกตว่า เราไม่ควรมีความคิดว่ามีตัวมีตนที่จะปฏิบัติธรรม และจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างรวดเร็ว    บางครั้งเราไม่ได้นึกคิดไปบ้างหรือว่าเราสามารถโน้มน้อมให้เกิดสติและปัญญาได้

ถึงแม้ว่าสติเกิดเราก็จะให้มีสติอยู่ต่อไปอีกไม่ได้   สติเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป    ใครจะรู้ขณะต่อไป    สภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป   เราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในขณะต่อไป แล้วเราจะไปเตรียมการให้เกิดสติขึ้นได้อย่างไรเล่า

สติจะเกิดขึ้นเมื่อไรและจะระลึกรู้อะไรนั้น เป็นเรื่องที่คาดคิดไม่ได้    ในขณะที่เราจำใครได้นั้น มีจิตนานาชนิดเกิดขึ้นและดับไป   การเห็นซึ่งเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมซึ่งต่างกับการจำใครได้   เวลาเราจำใครได้นั้นเราคิดถึงบัญญัติ    การเห็นต้องเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วจึงจะจำได้ว่าเป็นใคร   ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจสงสัยว่าสติไม่ควรระลึกรู้การเห็นก่อน   แล้วจึงจะระลึกรู้การคิดดอกหรือ   ไม่มีกฎเกณฑ์ไม่มีลำดับก่อนหลังอะไรเลย    อาจจะไม่มีการระลึกรู้การเห็น   แต่พอจำได้ว่าเป็นใคร   สติอาจจะเกิดขึ้นและระลึกรู้การจดจำนั้น   แล้วการเห็นก็เกิดขึ้นอีก และสติก็ระลึกรู้การเห็นหรือระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

ขณะที่มีการเห็นนั้นก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย   มีสภาพธรรมหลายอย่างในขณะเดียวกัน   แต่จิตรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง   สติก็ระลึกรู้อารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น เราอาจจะสงสัยว่าเราสามารถแยกการเห็นออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้อย่างไร

ไม่มีตัวตนที่จะแยกการเห็นออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้   ปัญญาสามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมเหล่านี้   บางขณะสติก็ระลึกรู้การเห็น   บางขณะก็ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา   พิจารณาลักษณะต่าง ๆ ได้ทีละลักษณะ   ถ้าใครคิดว่าสามารถรู้การเห็นกับสิ่งที่ปรากฎทางตาในขณะเดียวกันได้แล้ว   ก็แสดงว่าไม่มีสติการระลึกรู้เกิดขึ้น   เวลาที่รวมสภาพธรรมหลาย ๆ อย่างเข้าเป็นอันเดียวกัน   ขณะนั้นก็คิดถึงบัญญัติ

หลังจากที่ความรู้ชัดในรูปธรรมและนามธรรมเจริญยิ่งขึ้นแล้ว    ปัญญาจึงจะสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมเหล่านั้นได้   บางคนอาจสงสัยว่าทำไม่หนอการเกิดขึ้นและดับไปนั้น จึงไม่สามารถจะรู้ได้ก่อน ที่จะประจักษ์ความแยกขาดจากกันของการเห็นและสิ่งที่
ปรากฎทางตา   หรือเสียงและการได้ยินในวันหนึ่ง ๆ นั้น   ได้มีการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมมากหลายต่าง ๆ กัน  เดี๋ยวก็มีการเห็น   เดี๋ยวก็มีการได้ยิน   และแล้วก็ยังมีสภาพธรรมอื่น ๆ อีกมากมาย   นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ของอนิจจังดอกหรือ

นี่เป็นเพียงการคิดเรื่องอนิจจังเท่านั้น   ไม่ใข่การประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปจริง ๆ

ถ้ายังคงถือว่าการคิดเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นรวมเป็น “อันเดียวกัน”    คุณสุจินต์ถามว่า   “แล้วอะไรเล่าที่เกิดขึ้นและดับไป”   อะไรกันแน่ที่เกิดขึ้นและดับไป   การเห็นหรือสิ่งที่ปรากฏทางตา   อารมณ์จะปรากฎได้ทีละอารมณ์เท่านั้น

ขั้นแรกของวิปัสสนาญาณคือ   การประจักษ์ความต่างกันระหว่างนามกับรูป   การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปนั้น จะประจักษ์ได้ในขั้นต่อ ๆ ไป    จะต้องศึกษาลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมเหล่านี้เสียก่อน    คุณสุจินต์ได้พูดว่า “ถ้าคุณไม่ศึกษาพิจารณาการเห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้   ก็อย่าได้คิดเลยว่าคุณจะเป็นพระโสดาบันได้”

 

 

 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "ธรรมจาริกในศรีลังกา"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!