Buddhist Study   ธรรมจาริกในศรีลังกา   บทที่ 6
โดย  นีน่า  วัน   กอร์คอม   
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
   

 

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 

บทที่ ๖

ที่กรุงแคนดี ท่านพระปิยะทัสสีเถระได้เปิดการอภิปรายด้วยความเมตตาและความอดทนอย่างยอดเยี่ยม   ท่านเข้าใจดีว่าศัพท์ใดที่ใช้กันในการอภิปรายนั้นอาจยากไป     ฉะนั้นท่านจึงขอให้เรานิยามคำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น    “ปัญญา” เป็นคำหนึ่งซึ่งท่านได้ขอให้พวกเราอธิบาย

ปัญญาคืออะไร   ปัญญาในภาษาบาลีมีหลายขั้น   ในขณะที่เรามีความเอื้ออารี   กุศลจิตอาจเกิดขึ้นพร้อมกับปัญญา   หรืออาจไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้   เราอาจจะให้เพราะเป็นอุปนิสัยของเราเองที่ชอบให้   โดยไม่ได้เข้าอกเข้าใจเลยว่ากุศลเป็นอย่างไรหรือว่ากรรมและวิบาก (การกระทำและผลของการกระทำ) เป็นอย่างไร     หรือเราอาจให้โดยมีปัญญารู้เหตุและผลที่จะเกิดขึ้นได้    กุศลจิตที่เป็นไปในศีลก็โดยนัยเดียวกัน คือ   อาจจะมีหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้

ตามที่ทราบแล้วว่าจิตที่เจริญสมถะจะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอ   จะต้องเข้าใจอารมณ์ของสมถะ   และอารมณ์นั้น จะเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตสงบได้     จะทำให้จิตละวางจากโลภะ   โทสะ  และโมหะลงชั่วขณะ   ปัญญาขั้นสมถะรู้ความต่างกันระหว่างกุศลจิตกับอกุศลจิตในขณะที่จิตเหล่านี้เกิดขึ้น   แต่อย่างไรก็ตามปัญญาขั้นสมถะนั้นไม่รู้สภาพของกุศลจิต   อกุศลจิต และธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริงว่าเป็นธาตุต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน

ส่วนปัญญาขั้นเจริญวิปัสสนานั้นเป็นปัญญาขั้นสูงที่สุด   เป็นปัญญาที่เห็นว่านามและรูปไม่ใช่ตัวตน   ปัญญาขั้นนี้จะสามารถดับมิจฉาทิฏฐิและกิเลสทั้งหลายได้   ปัญญาขั้นวิปัสสนานั้นเห็นแจ้งสภาพธรรม   เช่น   เห็นแจ้งว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหลายนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น   ไม่มี  “สิ่งของ”  ไม่มี “บุคคล”   ในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลยทั้งสิ้น   จึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน

ขณะที่เรายึดมั่นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นตัวเป็นตนนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ     มิจฉาทิฏฐิในที่นี้คืออะไร    เราจะยึดสิ่งที่ปรากฏภายนอกตัวเราว่าเป็นตัวตนได้หรือ    คำว่า  “ตัวตน”
ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่า   “อัตตา”  นั้น มีความหมายต่างกับคำว่า   “ตัวตน”   ตามที่ใช้กันอยู่ในภาษาธรรมดาทั่วไป    เรายึดถือสภาพธรรม  เช่น   การเห็น  การได้ยิน   และสภาพธรรม  “ภายนอก”  เช่น   สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น   “ตัวตน”     ในเมื่อเราไม่เห็นสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง    การยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น   “ตัวตน”  หมายความว่า   ยึดถือว่าเป็น  “บุคคล”   หรือ  “สิ่งของ”    เราเชื่อว่าได้เห็นคนหรือสิ่งของ   แทนที่จะประจักษ์แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที    ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิด ก็ยังยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายเป็น “ตัวตน” อยู่ตราบนั้น

เราอาจจะมีปัญญาที่จะเข้าใจความจริงเหล่านี้ได้    แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากจริง ๆ ที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏแก่ตาทั้งหลายในขณะที่เห็นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น   จะต้องมีสติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา   ระลึกรู้สภาพเห็นและสภาพธรรมอื่น ๆ ที่ปรากฏบ่อย ๆ เนือง ๆ ต่อๆ ไปจนนับภพชาติไม่ถ้วน      เราอาจจะเตือนตัวเองว่าสิ่งที่มองเห็นนั้นไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ    นี่คือปัญญาขั้นเข้าใจและเราควรจะรู้ด้วยว่าไม่ใช่สติที่ระลึกรู้      ต่อเมื่อ “ศึกษา” สภาพธรรมที่ปรากฏ   เมื่อนั้นปัญญาจึงจะเริ่มเจริญขึ้น    คุณสุจินต์คอยเตือนเราบ่อย ๆ ว่า   “ตอนนี้ไม่มีการเห็นดอกหรือ   พิจารณาเสียไม่งั้นปัญญาก็เจริญไม่ได้”

ดิฉันรู้สึกว่า คำว่าศึกษามีประโยชน์มาก   คำว่าศึกษาแปลจากคำบาลีว่า “สิกขา”    คำว่าสิกขาอาจแปลว่า อบรมก็ได้
คำว่าศึกษาเตือนให้ดิฉันรู้ว่าการมีสติแต่ไม่ได้รู้อะไรเลย   ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น   ไม่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้เลย    การศึกษาเตือนใจให้ดิฉันรู้ว่าปัญญาเพิ่งจะเริ่มเจริญขึ้นเท่านั้น   และจะต้องศึกษาต่อไปอีกอย่างนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้     ปัญญามีหลายขั้นและจะค่อย ๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับ

เราไม่ควรจะท้อใจว่าสติและปัญญาเกิดน้อยเหลือเกิน    ความจริงที่เราเกิดสนใจในวันนี้และฟังพระธรรมวันนี้   แสดงว่าเราได้มีเหตุปัจจัยที่จะเจริญปัญญาต่อไปยิ่งขึ้นอีก    เราคงจะได้เคยฟังพระธรรมมาแล้วในชาติก่อน ๆ เป็นแน่

คุณสุจินต์บอกว่า    “คนที่ได้ฟังพระธรรมเมื่อครั้งพุทธกาล และยังไม่ได้บรรลุธรรมนั้นเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน”   บุคคลเหล่านั้นได้มีเหตุปัจจัยที่จะเจริญปัญญา   แต่ปัญญานั้นก็ต้องอบรมให้เจริญขึ้น   เพราะยังไม่ได้เจริญถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริย
สัจจธรรม    เราอาจเป็นคนหนึ่งในบรรดาท่านที่เคยฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคก็ได้   และบัดนี้ปัญญายังจะต้องอบรมให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไป

ในขณะที่พวกเรากำลังเดินเล่นตามชายหาด   เพื่อนของเราคนหนึ่งได้ปรารภว่า   เขาวิตกว่าเขาจะไม่ได้เป็นพระโสดาบันในชาตินี้    ผู้ที่ยังไม่บรรลุอริยสัจจธรรมเสี่ยงต่อการเกิดในอบายภูมิ   ชาติหน้าอาจจะเกิดในภาพภูมิที่ไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานได้เลยก็ได้    ดิฉันเองก็เคยครุ่นคิดปัญหานี้เหมือนกัน

คุณสุจินต์ได้ตอบว่า   “วันนี้เราอยู่ในภูมิมนุษย์และเรากำลังสนทนาธรรมกัน   เราเคยเกิดเป็นสัตว์มาแล้ว   แต่ตอนนี้เราก็ลืมไปหมดแล้ว    สติที่ได้สะสมไว้วันนี้ไม่สูญหายไปไหน   แต่จะเป็นปัจจัยให้เจริญต่อไปในภายหน้า   แล้วก็อาจจะเกิดในอบายภูมิอีก   จะต้องวิตกกังวลไปทำไมกัน”   คุณสุจินต์ได้ยกตัวอย่าง   ม้ากันฐกะของพระผู้มีพระภาคซึ่งได้พาพระองค์ออกจากพระราชวัง เมื่อทรงสละชีวิตทางโลก    ในชาตินั้นม้ากันฐกะไม่สามารถเจริญปัญญาได้เพราะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน   แต่ชาติต่อไปก็ได้เกิดในเทวโลก   ซึ่งเมื่อได้เจริญปัญญาแล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม   เราบังคับบัญชาสภาพธรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย    แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ปัญญาจะเจริญ   ปัญญาก็จะเจริญไปตามทางของปัญญาเอง

มีคนถามว่า   สภาพธรรมคืออะไร   สภาพธรรมไม่ใช่บัญญัติและไม่ใช่สิ่งที่รู้ไม่ได้   สภาพธรรมเป็นสิ่งที่สามารถระลึกรู้ได้ในขณะนี้เอง    ขณะนี้ไม่มีสภาพเห็นหรือ   ขณะหลับตาไม่เห็นอะไร   แต่พอลืมตาไม่มีสภาพเห็นหรือ      ขณะที่สติระลึกรู้ ก็ศึกษาเห็นในขณะนั้นได้    การเห็นจึงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง

สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง   เป็นสิ่งที่รู้ได้เมื่อปรากฏขณะนี้   การได้ยินก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง   เสียงก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง   ความแข็ง  ความอ่อน   ความร้อนและความเย็น   ต่างก็เป็นสภาพธรรมทั้งสิ้น   เป็นสภาพที่รู้ได้ทางกายเมื่อปรากฏ   ขณะนี้ไม่มีสิ่งใดมากระทบกายบ้างเลยหรือ   ถ้าไม่หลงลืมสติ   สติก็ระลึกและศึกษาสภาพธรรมนั้น   นี่เป็นหนทางที่จะเรียนรู้สภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง   คือ  เป็นธาตุที่ไม่ใช่ตัวตน

บุคคลไม่ใช่สภาพธรรม   เป็นเพียงบัญญัติหรือความคิดที่เกิดขึ้นในใจของเรา   เราผูกพันกับคนและยึดถือว่าเป็นตัวตนที่ยั่งยืน   เรารู้ดีว่าเราทุกคนจะต้องตาย   เราควรระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งที่เรายึดถือเป็นตัวตนเป็นบุคคลนั้น   เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไปทันที    ฉะนั้นโดยแท้จริงแล้วมีการเกิดและการตายทุกขณะ

สิ่งที่เราเรียกว่าชีวิตนั้น   ในความเป็นจริงแล้วก็เป็นเพียงสภาพรู้อารมณ์ชั่วขณะเล็กน้อย   ซึ่งเมื่อดับลงแล้วขณะต่อไปก็เกิด    ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชีวิตคือการเห็น    ในขณะอื่นชีวิตก็เป็นการได้ยิน   หรือการคิดนึก   ขณะต่าง ๆ เหล่านี้ดับลงไปทันทีที่เกิดขึ้น   ฉะนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะสั้น ๆ เท่านั้น  และชั่วขณะสั้นๆ นี้เอง

นามและรูปเป็นสภาพธรรมซึ่งรู้ได้    แทนที่จะเรียกว่าสภาพที่มีจริงก็เรียกว่า ”สภาพธรรม”  ก็ได้      ธรรมไม่ได้หมายเฉพาะคำสอนของพระผู้มีพระภาคเท่านั้น   แต่ธรรมมีความหมายอื่นด้วย    ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็น ธรรม หรือ
ปรมัตถธรรม  ซึ่งแปลว่า “สภาพที่เป็นจริงแม้”     นามและรูปเป็นปรมัตถธรรม

สำหรับนามธรรมนั้นมีนามธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งอยู่สองอย่าง   คือ  จิต (สภาพรู้)  กับเจตสิก (นามธรรมที่เกิดกับจิต)  เช่น   การเห็นและการได้ยินเป็นจิต
ความโลภและสติเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต    จิตทุกดวงมีเจตสิกอย่างน้อยเจ็ดดวงเกิดร่วมด้วยเสมอ

นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง    นิพพานไม่รู้อารมณ์   แต่นิพพานเป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิต    กล่าวโดยสรุป ปรมัตถธรรม ได้แก่

จิต
เจตสิก
รูป
นิพพาน

“ปรมัตถสัจจะ”  ต่างกับ ”สมมุติสัจจะ”   ซึ่งเป็นบัญญัติ   หรือความนึกคิด   เราจำเป็นต้องใช้บัญญัติ   เช่น  บุคคล  สมอง  สังคม ในการติดต่อกับเพื่อนมนุษย์อื่น ๆ ของเรา    เราข้องเกี่ยวอยู่กับบัญญัติเหล่านี้มาตลอด และย่อมรู้สึกว่ายากที่จะไม่ใช้บัญญัติ   แต่อย่างไรก็ตามเราควรระลึกอยู่เสมอว่าบัญญัติไม่ใช่   “ปรมัตถธรรม”   ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกรู้ได้ เมื่อปรากฏในขณะนี้    ปรมัตถธรรมทุกอย่างเป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้

 

 

 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "ธรรมจาริกในศรีลังกา"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!