แนะนำหนังสือธรรมะ
Buddhist Study

home
ปัญหาถาม-ตอบ
พระไตรปิฎก
ถาม-ตอบจากหนังสือ
อ่านหนังสือธรรมะ


 


หมายเหตุ:
หนังสือของ"มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา"
สามารถติดต่อขอรับได้ที่
อาคารสำนักงานมูลนิธิฯ    เลขที่ 174/1 
ซอยเจริญนคร 78 
บุคคโล  ธนบุรี  
กทม. 10600
โทร.  468-0239

สารบัญ

กรุณาคลิกที่ชื่อหนังสือที่ต้องการดูรายละเอียด

1.    เหตุใดผมจึงศึกษาธรรมะ แนะแนวทางเจริญ    
       วิปัสสนา

2.    ตอบปัญหาธรรม

3.     ความเข้าใจสภาวะธรรม
      (Understanding Reality)

4.   กรณีธรรมกาย เอกสารเพื่อพระธรรมวินัย



1.    เหตุใดผมจึงศึกษาธรรมะ แนะแนวทางเจริญ    
      วิปัสสนา

โดย   โกวิท  อมาตยกุล
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

เป็นหนังสือเล่มแรกๆที่ควรอ่าน   เพราะอ่านง่ายและหนาเพียง 32 หน้า   แต่อัดแน่นไปด้วยคำตอบที่ทุกคนควรรู้   เช่น   ทำไมต้องเจริญสติปัฏฐาน    สติจะเกิดเมื่อใด จะบังคับให้สติเกิดได้หรือไม่    จะรู้ได้อย่างไรว่าสติเกิด    ขณะที่หลงลืมสติ กับมีสติต่างกันอย่างไร      จะเจริญปัญญาได้อย่างไร   ฯลฯ

"สติปัฏฐาน  นั้น  เป็น วิปัสสนาภาวนา (คืออบรมปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง)   ไม่ใช่  สมาธิ ซึ่งเป็นการทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว   ให้พ้นจากการเห็น  การได้ยิน   ฯลฯ  ชั่วคราว  และก็ไม่ใช่   สมถภาวนา   ซึ่งเป็นการเจริญความสงบ   ให้จิตสงบระงับจากโลภะ  โทสะ   โมหะ ชั่วคราว......"

"การเจริญสติปัฏฐาน  เป็นหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดขึ้นอีก แม้จะให้ทานสักเท่าใด   และทำจิตให้สงบสักเท่าใด   แต่กิเลสทั้งหลายก็ไม่หมดสิ้นไปได้เลย....."

"สติเป็นอนัตตา   ไม่ใช่ตัวตน   บังคับบัญชาไม่ได้............ถ้าอยากให้สติเกิด    ต้องพยายามหัดพิจารณาสังเกตุ   น้อมไปที่จะให้สติเกิด    ต้องพยายามเจริญกุศลทุกประเภท   ฟังธรรมะ  ใส่บาตร   ศึกษาธรรม   แล้วจะเริ่มรู้สึกตัววันละเล็กละน้อย    นอกจากนี้จะต้องพยายามระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏบ่อยๆเนืองๆ   ไม่ว่าจะปรากฏทางตา  หู   จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ............."

Back to Top 


2.    ตอบปัญหาธรรม

โดย  สุจินต์   บริหารวนเขตต์
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

รวบรวมคำถาม-ตอบที่น่าสนใจ   จากการบรรยายธรรม ณ สถานที่ต่างๆ  เช่น   ชาติหน้ามีจริงหรือ   มีอะไรพิสูจน์แสดงให้เห็นว่ามีจริง?    กรรมเก่าตามมาสนองในชาตินี้จริงหรือไม่   ทำไมไม่มีบัญญัติให้ใช้กรรมเก่าให้หมดเสียก่อน จึงปล่อยให้มาเกิด   เราจะมีวิธีลบล้างกรรมเก่าได้อย่างไร?    เป็นต้น

"วิปัสสนา  คือ  ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่หลับตาเห็น  นรก สวรรค์   หรือกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ    ฉะนั้นการปฏิบัติอบรมเจริญวิปัสสนาจึงเป็นเรื่องละเอียด   เป็นเรื่องใหญ่   และเป็นเรื่องยาก   แต่ว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าถึงธรรมจริงๆ    ฉะนั้นถ้าถามว่าการเข้าสมาธิเป็นการเข้าถึงธรรมหรือเปล่านั้น   ถ้าเป็นสมาธิที่ถูกต้องก็เป็นการเข้าถึงธรรมขั้นสมาธิ"

"ฉะนั้นจึงควรเจริญกุศลทุกทางทุกโอกาส   เพราะเมื่อเป็นโอกาสของกุศลแล้วไม่ทำกุศล   โอกาสของกุศลก็หมดไป   โอกาสทำกุศลเป็นโอกาสที่หายากในชีวิต   ในวันหนึ่งๆลองพิจารณาดูว่าอกุศลมากหรือกุศลมาก   ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสที่จะเจริญกุศลทางใดก็ไม่ควรให้โอกาสนั้นผ่านไป   เพราะเมื่อกุศลไม่เกิด   อกุศลก็เกิด

"เมื่อจุติจิตดับ   สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลในชาติก่อน   ปฏิสนธิจิตชาตินี้ก็เกิดสืบต่อจากจุติจิตชาติก่อน   ทำให้เป็นบุคคลใหม่ทันที    ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากคือผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์   กรรมนั้นเป็นชนกกรรมคือ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตและกัมมชรูป (รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย) เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด
ด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงต่างกันทั้งในรูปร่างและลักษณะ   อุปนิสัยใจคอ  ความนึกคิด   ตามการสะสมของจิต........."

  Back toTop


3.  ความเข้าใจสภาวะธรรม (Understanding Reality)

โดย  นีน่า  วัน  กอร์คอม      
แปลโดย  ชุติมันต์   พานิชศักดิ์พัฒนา
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

เป็นหนังสือขนาดสั้นเพียง 35 หน้าและมีสองภาษาคือไทยและอังกฤษในเล่มเดียวกัน   บทความสั้นๆนี้จะให้ความกระจ่างทางทฤษฎีต่อผู้เริ่มศึกษาพุทธศาสนา   ด้วยภาษาที่ง่ายและตัวอย่างในชีวิตจริง

"จากการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพจิตขณะต่างๆ   เราก็จะรู้จักกิเลสของเราดีขึ้นและจะเห็นว่าเหตุของทุกข์   ความเศร้าโศกนั้น  อยู่ภายในตัวเราเอง   ไม่ใช่ภายนอก"

"ความกรุณาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม   เรามักจะคิดว่าบุคคลที่กรุณา   เป็นตัวตนที่กรุณา   แต่ความกรุณาก็ไม่เที่ยง   ไม่ใช่ตัวตน  เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง   ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป    การเห็นมีจริง  เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เราคิดว่า  เราเห็น แต่การเห็นก็ไม่ได้เห็นตลอดไป   ไม่ยั่งยืน   แล้วตัวตนอยู่ที่ไหน?   ไม่มีบุคคลใดเลย   ที่เราคิดว่าเป็นคน ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมต่างๆ   ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป"

Back to Top

 

4.   กรณีธรรมกาย เอกสารเพื่อพระธรรมวินัย

โดย  พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
มูลนิธิพุทธธรรม

แม้ขณะนี้กรณีธรรมกายจะเงียบๆไปแล้วก็ตาม   แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังน่าอ่านอยู่   เพราะมีการกล่าวถึงพระไตรปิฎกอย่างละเอียด   ทำให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องช่วยกันหันมาศึกษาพุทธศาสนาอย่างถูกวิธีเสียที   อีกทั้งไขข้อสงสัยเรื่องนิพพานว่าเป็นอัตตาหรืออนัตตากันแน่

"คัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทนั้นเป็นของที่สืบมาจากการสังคายนาครั้งแรก   จึงถือว่าต้นเดิมที่สุด   และก็ได้ชำระสะสางความเห็นแตกแยกแปลกปลอม   โดยเฉพาะในการสังคายนาครั้งที่ 3  สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  พ.ศ. 235 นั้น   เป็นที่ชัดเจนจะแจ้งอยู่แล้ว   ว่าอะไรใช่   อะไรไม่ใช่คำสอนของพระพุทธศาสนาแบบเดิมแท้ที่เรียกว่าเถรวาทนี้
จริงอยู่ในเรื่องปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆ   อาจจะมีอะไรที่ไม่ชัดเจนได้เป็นเรื่องธรรมดา   เช่นอย่างพระเทวทัตกับพระสารีบุตร ใครจะมีอายุมากกว่ากันอย่างนี้   อาจจะหาหลักฐานไม่ได้........แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ข้อสำคัญ   สิ่งที่สำคัญก็คือหลักการใหญ่ๆ   เช่น นิพพานนั้นจะต้องชัดเจน ท่านไม่ปล่อยไว้ให้คลุมเครือ......"

"เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว   เราจึงไม่มีทางเลี่ยงที่จะต้องไปหาคำสอนของพระองค์จากพระไตรปิฎก   และใช้คำตรัสสอนในพระไตรปิฎกนั้นเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า   สิ่งที่ใครก็ตามเชื่อถือหรือปฏิบัติอยู่   เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่"

"ในเมืองไทยของเรา   น่าเป็นห่วงว่ากำลังมีความโน้มเอียงจะเป็นอาจริยวาทกันมาก   มักมีการอ้างพระเถระ   พระมหาเถระองค์นั้นองค์นี้   จนกลายเป็นการเอาอาจารย์ของตนไปตัดสินพระพุทธเจ้า   แทนที่จะอัญเชิญพระพุทธเจ้ามาเป็นมาตรฐานแก่อาจารย์........"

"คำสอนของพระเถระ   และพระอาจารย์ทั้งหลายนั้น   เป็นเครื่องช่วยเราในการศึกษา   และช่วยโยงช่วยสื่อเราเข้าหาพระพุทธเจ้าเท่านั้น   ไม่ใช่เป็นเกณฑ์วินิจฉัยหรือตัดสินพระพุทธศาสนา    อย่าว่าแต่พระเถระพระมหาเถระรุ่นหลังๆ เหล่านี้เลย   แม้แต่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร   อัครสาวกสูงสุด   เมื่อมีปัญหาข้อธรรม   ก็ยังมีความเคารพต่อองค์พระศาสดา   นำถวายพระพุทธเจ้าทรงวินิจฉัย
แม้พระมหากัสสปเถระ   พระอุบาลีผู้ยอดแห่งวินัยธร   และพระธรรมภัณฑาคาริกอานนท์   พร้อมด้วยพระอรหันตสาวก   รวมด้วยกัน 500 รูป   ผู้ทันเห็นทันเฝ้าทันตามเสด็จพระพุทธเจ้า   ก็พร้อมใจกันยกให้พระธรรมวินัยที่มาอยู่ในพระไตรปิฎกนี้มีความสำคัญเหนือกว่าวาทะของท่านนั้นๆเอง"

ฺBack to Top

 

 

home     ปัญหาถาม-ตอบ      พระไตรปิฎก
ถาม-ตอบจากหนังสือ   อ่านหนังสือธรรมะ

         12/03/01                    

Click Here!