Buddhist Study   Special: ทรรศนะต่อการปฏิรูปการศึกษา
โดย  พระธรรมปิฎก  

จาก เนชั่นสุดสัปดาห์
   

 

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 
พระธรรมปิฎก

ชี้ปฏิรูปการศึกษา

ปัด "พระพุทธศาสนา" ให้หายไป?

จากความไม่ชอบมาพากลในโครงสร้างใหม่ของกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่จะรวมหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติเข้าด้วยกัน ซึ่งตามกฎหมาย ระบุว่า ในกระทรวงใหม่นี้จะมี 4 องค์กรหลักบริหารในรูปของสภา ประกอบด้วย 1.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมแห่งชาติ 2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

3.สำนักงานกรรมการอุดมศึกษาคือทบวงมหาวิทยาลัย และ 4.สำนักงานคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งข้อ 4 นี่เองที่เป็นตัวปัญหาอยู่ในขณะนี้มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1.เป็นห่วงว่าการปกครองคณะสงฆ์จะไปถูกครอบงำโดยคณะกรรมการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มาจากหลายๆ ศาสนา

2.การบริหารทรัพย์เกี่ยวกับศาสนสมบัติ ทั้งศาสนสมบัติกลางและศาสนสมบัติของวัด ซึ่งศาสนสมบัติของวัดนั้น วัดดูแลอยู่แล้วตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ส่วนศาสนสมบัติกลางนั้นในกฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นเรื่องของอธิบดีกรมการศาสนา แต่ว่าในปี 2545 จะไม่มีกรมศาสนาอีก งานอันนี้จึงยกไปให้กับเลขาธิการคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่แทน นั่นก็คือเป็นห่วงว่าในอนาคต ฆราวาสจะปกครองสงฆ์นั่นเอง

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2544 ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานปฏิรูปการศึกษา กับ ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ กรรมการบริหาร ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ เลขาธิการ และคณะได้เดินทางไปนมัสการท่านพระธรรมปิฎก ณ วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปการศึกษากับพระพุทธศาสนาที่กำลังมีการเคลื่อนไหวกันอยู่เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง จะได้นำไปแก้ปัญหาได้ถูกทาง

หลังจากนั้นอีกเดือนกว่าๆ มูลนิธิพุทธธรรม ก็ตีพิมพ์บทสนทนาชุดนี้ออกมาจำหน่ายพร้อมกับเทปสนทนาในงานสัปดาห์พระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 2-7 พฤษภาคมที่ท้องสนามหลวงในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ขณะที่ใบปลิว "ชาวพุทธเอ๋ย! ถึงคราวต้องตื่นแล้ว" ว่อนรอบสนามหลวง ประกาศย้ำเตือนถึงความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน หากโครงสร้างใหม่ผ่านการพิจารณาในคณะรัฐบาล!

ความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยคืออะไร ท่านพระธรรมปิฎก กรุณาเสนอแนะทางออกที่พาย้อนกลับไปสู่หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ "หลักธรรม" แท้ๆ ให้คณะกรรมการ สกศ. ได้เข้าใจ เพื่อที่จะได้มีแนวทางปฏิรูปการศึกษาให้ถูกทาง เพราะไม่เช่นนั้น ""ถ้าทำผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในบางกรณีความผิดพลาดนั้นอาจมีผลถึงกับเป็นความล่มสลายของพระศาสนาและสังคมประเทศชาติเลยก็ได้""

จึงขอคัดถ้อยความของท่านพระธรรมปิฎกจากการสนทนากับคณะกรรมการบริหาร สำนักงานปฏิรูปการศึกษา มาเป็นอุทาหรณ์เตือนใจเราชาวพุทธบริษัทสี่ ให้ช่วยกันคิดต่อ และช่วยกันเสนอแนะทางออกกลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่เวบไซต์ www.onec.go.th อีกทางหนึ่ง

............................

ก่อนปฏิรูปการศึกษา

ปฏิรูปคนทำงานเสียก่อน

เราคงต้องยอมรับความจริงในสภาพปัจจุบันว่า ผู้บริหารฝ่ายรัฐหรือแม้กระทั่งท่านที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการเอง ไม่ค่อยรู้เรื่องพระศาสนาเท่าไหร่ ใช่ไหม ยิ่งมองต่อไปข้างหน้าเราก็มีความหวังได้น้อย หรือหวังได้ยากว่าแนวโน้มจะดีขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้จึงมีความเสี่ยงอยู่ แม้จะมีความหวังดี ปรารถนาดี แต่เมื่อทำในสิ่งที่ตนไม่รู้ ก็อาจจะผิดพลาดเสียหายได้

งานนี้เรียกชื่อว่างาน "ปฏิรูปการศึกษา" เป้าหมายที่แท้ของงานเน้นที่การศึกษา แต่ในเรื่องพระศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เป็นกิจการใหญ่มาก เหมือนกับเป็นอาณาจักรหนึ่งเลย เรากลับให้ความสนใจน้อย นอกจากนั้น ระยะหลังเรามักมีแนวคิดมองศาสนาต่างหากจากการศึกษา และให้การสนใจในการที่จะนำพระศาสนามาเกื้อหนุนการศึกษาอย่างไร แล้วกิจการพระศาสนาเองก็ให้ความสนใจไม่เพียงพอ ฉะนั้นก็น่าที่จะจัดออกไปเป็นองค์กรอิสระ แล้วถือโอกาสจัดรูปเสียให้ดีที่สุด ให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อดูโครงสร้างการจัดระบบและจัดแบ่งหน่วยงานเห็นว่า ตามโครงสร้างใหม่ เหมือนกับว่าแบ่งกรมศาสนาเดิมแยกออกไป 4 หน่วยงาน ซึ่งจะทำให้หน่วยงานแต่ละหน่วยนั้นใหญ่ขึ้น เพราะแต่ละหน่วยนั้นแต่เดิมขึ้นกับกรมศาสนาหมด ตอนนี้มีฐานะเท่ากับกรมศาสนา ดูเหมือนจะดี แต่พร้อมกันนั้นก็มีข้อเสีย คืองานพระศาสนาจะขาดเอกภาพไป

สมควรไหมที่จะกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพระศาสนา มีสังกัดใหญ่เป็นอันเดียวกัน

เมื่อมีเสียงร้องขึ้นมา ทางคณะกรรมการมีการปรับแก้หลักการบางอย่างหรือแก้ไขกฎระเบียบบางข้อ ก็เป็นเพียงการหาทางออก ไม่เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง

เรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรมที่มีตัวแทนศาสนาต่างๆ เข้าไปร่วม ที่จะไม่ให้ไปกระทบอำนาจของมหาเถรสมาคม และเรื่องศาสนสมบัตินั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เราต้องมองที่ตัวงานทั้งหมด เช่นเมื่อคณะกรรมการชุดนี้ทำงาน ก็มีเรื่องนโยบาย ส่วนทางมหาเถรสมาคมจะปฏิบัติเรื่อง ก็ต้องกระทบกระเทือนถึงกัน การทำงานต้องมีทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติ ถ้าจะให้มหาเถรสมาคมเข้ามาโยงอยู่กับส่วนงานที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการ เหมือนกับเป็นอิสระซ้อนกันอยู่ มันก็คลุมเครือ และจะเกิดความอิหลักอิเหลื่ออึดอัดกัน

เพราะมหาเถรสมาคมไม่ใช่หน่วยงานปฏิบัติ แต่เป็นองค์กรสำหรับวางนโยบาย สำนักงานที่มาแทนกรมศาสนาจะต้องรับนโยบายทั้งจากมหาเถรสมาคม และจากคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม พูดง่ายๆ ว่าไม่ปลอดโปร่ง ฉะนั้น กิจการคณะสงฆ์จึงน่าจะให้มีความเป็นเอกเทศออกไป น่าจะทำเป็นองค์กรอิสระให้ชัด

 

พระพุทธศาสนา

ควรตั้งเป็นองค์กรอิสระ?

ตามกฎหมายนั้น คณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ""มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายและแผนพัฒนาด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การดำเนินการด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม""

ด้วยข้ออำนาจหน้าที่ที่วางไว้กว้างๆ คลุมๆ แม้จะบอกว่าต้องสอดคล้องกับแผนฯแห่งชาติก็มีช่องว่างมาก ถ้าไม่วางระบบกำกับให้ชัดเจน จะต้องเป็นปัญหาแน่นอน แม้แต่ในแง่ทำงานด้านสนับสนุนส่งเสริม ถ้าไม่รู้จริงก็อาจจะส่งเสริมออกนอกลู่นอกทางนอกพระธรรมวินัยไปเลยก็ได้

เรื่องอัตราส่วนกรรมการที่เป็นตัวแทนศาสนาต่างๆ ในกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ที่ว่าชาวพุทธเป็นห่วงนั้น ก็น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะเวลานี้พุทธศาสนิกชนจำนวนมากไม่ค่อยรู้เรื่องพระศาสนาเท่าไหร่ การให้มีผู้แทนของศาสนานั้นๆ เป็นกรรมการ กับการมีคนนับถือศาสนานั้นๆ เป็นกรรมการ ย่อมไม่เหมือนกัน การที่มีผู้แทน ก็คือ นอกจากเอาคนที่รู้เรื่องเป็นอย่างดีแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบด้วย เขารู้ตัวอยู่ว่าเขาเป็นผู้แทน ที่ต้องคอยคิดพิจารณาในแง่ศาสนาของตน ในกรณีนี้ ถึงกรรมการ 30 กว่าคนจะเป็นชาวพุทธ แต่ไม่รู้เรื่องราวมากพอ และไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ถึงหลายสิบคนก็อาจจะสู้ผู้แทนคนเดียวไม่ได้

ถ้าถือว่ากรรมการอื่นส่วนมากก็เป็นชาวพุทธอยู่แล้ว ก็อาจพูดได้เหมือนกันว่า กรรมการอื่นใน 39 คนที่ไม่ได้เป็นผู้แทนนั้นอาจจะเป็นศาสนิกศาสนาอื่นๆ อยู่แล้ว

การวางนโยบายไม่ใช่เรื่องเล็ก จะต้องมองเห็นทะลุเลยว่างานพระศาสนา สภาพปัญหาจากด้านต่างๆ เป็นอย่างไร ผู้แทนคนหนึ่งสองคนไม่มีทางรู้จักสภาพการณ์ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในท้องถิ่นนั้นๆ หรือในชนบทต่างๆ ทั่วทุกแห่ง ฉะนั้น เขาจะไม่มีความสามารถที่จะวางนโยบายได้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย คนจะต้องมีความสามารถจริงๆ ที่จะถึงขั้นวางนโยบาย

โจทย์ที่ตีไม่แตก

คำตอบก็บิดพลิ้ว

ระหว่างพุทธศาสนากับการศึกษา การแบ่งส่วนงานฟ้องว่าคนไทยเวลานี้มีท่าทีมองศาสนาอย่างไร คือจะมองศาสนาไปเป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรมในความหมายที่เป็นรูปแบบ อย่างที่คนส่วนมากมองกันอยู่คือ มองเหมือนกับว่าอยู่ที่วัดนี่ เห็นโบสถ์ เห็นใบระกา เห็นสิ่งสวยๆ งามๆ มีศิลปกรรม เช่น จิตรกรรมฝาผนัง มีวรรณกรรมอะไรต่างๆ ซึ่งมากับพระศาสนา มีประเพณี มีพิธีกรรมโน่นนี่ และสิ่งนี้เราเรียกว่าวัฒนธรรม มองแค่นี้ก็เลยคล้ายๆ ว่าจับเอาศาสนามาเป็นเรื่องจำพวกเดียวกัน หรือระดับเดียวกันกับวัฒนธรรม ก็เลยจัดเข้าเป็นงานของคณะกรรมการหรือสำนักงานคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม ส่วนการศึกษาก็แยกไปอีกอันหนึ่ง เหมือนกับว่าศาสนาแยกกันไปเป็นคนละอย่างกับการศึกษา

ตามหลักการแท้ๆ พระพุทธศาสนานั้นตัวแท้อยู่ที่การศึกษา ทางพระเรียกเป็นบาลีว่า "สิกขา" ถ้าไม่มีการศึกษา ก็ไม่มีพุทธศาสนาใช่ไหม ดูง่ายๆ ที่คำว่า "บวชเรียน" การบวชก็คือการเรียน แต่ตอนหลังความคิดนี้กำลังจะหายไป และตรงนี้แหละคือความหมายหลักที่เป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา จุดที่เราต้องฟื้นก็คืออันนี้ คือทำอย่างไรจะให้พุทธศาสนากลับคืนสู่เนื้อหาที่แท้ของพุทธศาสนาเอง คือการศึกษา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคน หรือการสร้างมนุษย์ให้มีคุณภาพดีทั้งทางพฤติกรรม จิตใจและปัญญา ศาสนาที่เป็นการศึกษาเป็นต้นแหล่งที่มาของวัฒนธรรมที่เรากำลังเอามาผนวกเข้าด้วยกันนี้

การศึกษาปัจจุบันที่เรามองแยกจากศาสนามาเป็นแบบนี้ ก็เพราะเราจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่เป็นระบบต่างหาก การศึกษาแบบสมัยใหม่ก็พัฒนาคนขึ้นมาให้เขามีแนวคิด มีลักษณะบุคลิกภาพของเขาอีกแบบหนึ่ง มีการดำเนินชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะพูดล้อก็ต้องพูดว่า วัฒนธรรมของการศึกษาปัจจุบันคงจะพอไปดูวัฒนธรรมของการศึกษาปัจจุบันได้แถวคาราโอเกะ หรือตามเซ็นเตอร์พอยท์ และอาร์ซีเอ เป็นต้น

การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะปฏิรูปกัน แต่ขณะนี้เรายังตีไม่แตกในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับศาสนา และการมองศาสนาในความหมายของการศึกษา ถ้าอย่างนี้ การปฏิรูปการศึกษาก็จะไม่ไปไหน คือจะได้แต่มองตามฝรั่ง และปรับไปตามฝรั่งกันต่อไป โดยไม่มีอะไรเป็นของเราเอง และที่จะเข้ากันได้กับสภาพของตัวเราที่แท้จริง

ขอย้ำว่า ต้องถือเรื่องการศึกษาเป็นเป้าหมายและภารกิจหลักของพระพุทธศาสนา เพราะนี่คือเนื้อตัวที่แท้ของพุทธศาสนา เมื่อพิธีบวชพระในโบสถ์เสร็จสิ้นลง พระอุปัชฌาย์บอกชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่พระบวชใหม่ทันที บอกว่าให้ศึกษาโดยไม่ประมาทในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา คือการพัฒนาชีวิตมนุษย์ ทุกคนต้องศึกษาจนกว่าเป็นพระอรหันต์ จึงไม่ต้องศึกษา

ศาสนาที่แท้คือการศึกษา

ทางคณะกรรมการพูดบ่อยๆ ถึงกรอบพระราชบัญญัติ ซึ่งหมายถึงว่าคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษานี้ จำเป็นต้องทำงานภายในกรอบที่พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติได้กำหนดวางไว้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเข้าใจและต้องเห็นใจคณะกรรมการ แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าเราต้องถือจุดหมายที่ว่าทำให้เกิดผลดีเป็นประโยชน์มากที่สุด แก่พระศาสนา และสังคมประเทศชาติ อันนี้ต้องเป็นจุดหมายสูงสุด

เรื่องกลัวการครอบงำการปกครอง หรือการบริหารพระศาสนา หรือคณะสงฆ์ ตลอดจนเรื่องศาสนสมบัตินั้น คงไม่ใช่เท่านั้น ส่วนสำคัญคือ เราควรถือโอกาสคิดกันว่า ทำอย่างไรจะให้กิจการพระศาสนามีประสิทธิภาพในการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมประเทศชาติได้ดีที่สุด ให้สมอุดมคติของพระพุทธศาสนา

โดยสรุป 1.เมื่อยุบกระทรวงศึกษาธิการและตั้งกระทรวงใหม่ คือกระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมนั้น จะเห็นชัดว่าการจัดเอาการศาสนากับวัฒนธรรมมารวมกันอยู่ในกรมเดียวนั้น ก็แสดงว่า นอกจากให้ความสำคัญแก่กิจการ 2 อย่างนี้น้อยกว่าการศึกษาแล้ว ก็แสดงถึงความคิดความเข้าใจของผู้จัดที่มองเรื่องศาสนาเป็นแค่เรื่องจำพวกเดียวกับวัฒนธรรมในความหมายแคบๆ ที่เป็นแนวโน้มของคนจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งมองไม่ชัดทั้งเรื่องศาสนาและเรื่องวัฒนธรรม ตรงนี้น่าจะถือว่าเป็นการพลาดไปแล้วขั้นหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งไม่อยู่ในขั้นที่จะเป็นงานของคณะกรรมการนี้ เป็นเรื่องที่ต้องปล่อยผ่านไปก่อน

2.เมื่อจัดปรับงานศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาอยู่ในกระทรวงใหม่ กรมศาสนาก็ต้องยุบไป แต่มาจัดเข้าเป็นสำนักงานคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม และกองต่างๆ ก็มาจัดปรับเป็นสำนักต่างๆ ซึ่งก็เหมือนกับว่าส่วนงานด้านศาสนาคงสถานะอยู่อย่างเดิม และเป็นไปตามกรอบของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เมื่อมองตามเกณฑ์ดังกล่าวกลายเป็นว่า งานด้านศาสนาและวัฒนธรรมไม่ใช่เป้าหมายที่คณะกรรมการตลอดถึงรัฐจะตั้งใจจัดวางให้เจริญงอกงามเป็นผลดี คณะกรรมการตลอดถึงรัฐตั้งใจจัดเรื่องปฏิรูปการศึกษาเท่านั้น และมองว่าการจัดปรับหน่วยงานศาสนาเป็นเพียงเรื่องพลอยพ่วงมาด้วย ซึ่งจะต้องจัดทำให้เสร็จๆ ไป เพียงแต่พยายามรักษาไว้ให้คล้ายหรือเสมอกับของเดิมให้มากที่สุด

แต่ในการที่พยายามจัดปรับให้เสมอเหมือนของเดิมนั้นดูเผินๆ คล้ายเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะมิใช่มีแต่กิจการศาสนาเท่านั้น การศาสนาไม่เป็นเอกเทศ แต่มีงานด้านวัฒนธรรมเข้ามาข้องด้วย จึงกลายเป็นว่า งานด้านศาสนาลดความสำคัญลง แต่ก่อนเคยเป็นกรมศาสนาซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะสำหรับกิจการศาสนาเต็มที่ แต่คราวนี้เปลี่ยนมาเป็น (กรม) สำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งรวมกรมศาสนา กรมศิลปากร และสวช. เข้าด้วยกัน ซึ่งผู้รับผิดชอบด้สนนี้ก็จะมีความรู้สึกที่แบ่งออกไปทำนองว่า ""ฉันไม่ได้รับผิดชอบงานศาสนาเท่านั้น ฉันมีงานอื่นที่ต้องดูแลด้วย"" ก็จะทำให้งานด้านศาสนาขาดเอกภาพ เพราะมีหน่วยงานด้านอื่นๆ มารวมอยู่ด้วยในส่วนงานใหญ่

นโยบายเป็นเรื่องใหญ่

ต้องได้คนรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง

ถ้าจะวางนโยบายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็ต้องรู้เข้าใจสภาพปัญหาของสถาบัน และกิจการพระพุทธศาสนา รู้การคณะสงฆ์ รู้สภาพชนบททุกภาคทุกท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร เช่นว่า ถอยหลังไปสัก 20 ปีในภาคกลางมีพระมากกว่าเณร ในภาคเหนือมีเณรมากกว่าพระ ภาคอีสานพระกับเณรเกือบเท่ากัน แต่เดี๋ยวนี้ทุกภาคเณรจะหมดแล้ว แต่ละภาคแต่ละถิ่นมีภาวะทางการศึกษาเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชนเป็นอย่างไร วัฒนธรรมประเพณีเป็นอย่างไร มีแนวโน้มอย่างไร มีความเสื่อมความเจริญในที่ไหน ตอนไหน เป็น ปัญหาเป็นอย่างไร คนที่วางนโยบายต้องรู้ ต้องเข้าใจ จึงจะส่งเสริมสนับสนุนได้ถูกเรื่องถูกที่ถูกทาง ฉะนั้นผู้แทนคนเดียวหรือแม้แต่พระสามองค์ ก็ไม่พอที่จะวางนโยบายและแผนได้ พระนั้น ในบางเรื่องก็ขยับเขยื้อนยาก ท่านอาจจะช่วยได้ในด้านการคณะสงฆ์ แต่สภาพการณ์พระศาสนาฝ่ายชาวบ้านเป็นอย่างไร ชาวพุทธจะมีวิถีทางอะไรที่เอื้อแก่สังคมประเทศชาติ ต้องมีคฤหัสถ์เข้าไปช่วยอยู่ดี

งานอย่างนี้ต้องจัดวางกำหนดไว้ตั้งแต่ในระบบให้แน่ใจที่สุด คือบางอย่างบางทีต้องให้มั่นใจที่ตัวระบบเลย จะไปหวังจากตัวคนไม่ได้ เพราะถ้าระบบบังคับอยู่ ก็จะช่วยไปขั้นหนึ่ง และถ้าได้คุณภาพคนเข้ามาอีก เช่นรู้และใจรักเป็นต้น ก็ได้อีกขั้นหนึ่งจึงจะสมบูรณ์ขึ้นมา

พระพุทธศาสนานั้น และแม้แต่พระภิกษุทุกองค์ก็มีไว้เพื่อความมุ่งหมายนี้ คืออุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า พระศาสนาดำรงอยู่และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก

เมื่อจุดมุ่งหมายอยู่ที่นี่ พุทธศาสนาเป็นสถาบันใหญ่อยู่ในประเทศ มีบทบาทสำคัญ เมื่อเราทำงานที่เกี่ยวกับพระศาสนา แม้ว่าเราจะประสงค์ดี แต่จะต้องระลึกตระหนักถึงความสำคัญของงานนี้ เพราะถ้าผิดพลาดไป มันก็คือผลกระทบที่ร้ายแรงต่อพระศาสนา ซึ่งหมายถึงสังคมประเทศชาติด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องเห็นใจผู้ที่เป็นห่วง แม้จะมีการว่ากันแรงๆ บ้างก็อย่าถือกัน ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนนั้นมีใจมุ่งประโยชน์ส่วนรวม

******************************

 

พุทธศาสนาที่หายไปกับกาลเวลา

ความเป็นมาในการตั้งกรมศาสนา และกระทรวงศึกษาธิการ เดิมกระทรวงศึกษาธิการก็คือกระทรวงธรรมการ เหตุผลในการตั้งกระทรวงธรรมการของในหลวงรัชกาลที่ 5 คือต้องการให้ศาสนามาเอื้อต่อการศึกษา หรือมองการศึกษากับศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน มุ่งหวังว่าศาสนาจะช่วยให้การศึกษาได้สร้างสรรค์พัฒนามนุษย์ที่มีคุณภาพดี เป็นคนดีของสังคม มีวิถีชีวิตที่ดีงามได้แท้จริง จึงตั้งเป็นกระทรวงธรรมการขึ้นใช้ธรรมเป็นหลักใหญ่

ต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่าคนที่จะรู้ดีทั้งเรื่องทางวัด คือเรื่องพระศาสนา และรู้ดีเรื่องการศึกษาด้วยนั้น หาไม่ค่อยได้ นี่แสดงว่าเป็นมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ที่รู้ดีทั้งสองด้านแทบไม่มี จึงแยกศาสนากับการศึกษาจากกันไป เอากรมธรรมการไปอยู่ในวัง แล้วเปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ทางด้านการศึกษา ซึ่งจะเป็นไปในแนวตะวันตก

จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรารภว่า การศึกษาไม่ควรแยกจากพระศาสนา ก็ย้ายกรมธรรมการโอนกลับมาอยู่กระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการกลับเป็นกระทรวงธรรมการอีก

พอเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 เสร็จ รัฐบาลใหม่ก็เปลี่ยน เอากระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการอีก กรมธรรมการจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ คือเป็นกรมศาสนาในปัจจุบัน

เป็นเรื่องเก่า แต่ก็ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับศาสนา แต่สมัยใหม่นี้นานๆ เข้าก็ห่างเหินกัน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า ตีไม่แตก แล้วมองเห็นเป็นคนละอย่าง จนมาถึงเวลานี้ เมื่อเรามีการฟื้นฟูปฏิรูป เราจะมีความสามารถแค่ไหนที่จะทำให้ทั้งสองอย่างนี้มาเอื้อต่อกันได้

หมายเหตุ: จาก เนชั่นสุดสัปดาห์

 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

 

Click Here!