Buddhist Study   บทที่ 11   ปฏิสนธิจิตประเภทต่างๆ    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 

 


"จิตทั้งหมด
ซึ่งเกิดใน
ชีวิตประจำ
วันนั้น เป็น
กามาวจรจิต
หรือ จิตในขั้น
กามภูมิ"


 

 

 

 

 

 

 


"คนที่เกิดด้วย
อเหตุกปฏิสนธิ
จิตนั้นพิการ
ตั้งแต่เกิด"


 

 

 

 

 

 

 


"การที่บุคคล
ใดพิการนั้น
ไม่ใช่โดย
บังเอิญแต่
เพราะกรรม
ของเขานั่นเอง"


 

 

 

 

 

 

 


" ทุคติภูมิที่
เราเห็นในโลก
นี้คือการเกิดเป็น
สัตว์ดิรัจฉาน
มีทุคติภูมิอีก
3 ภูมิที่เรามอง
ไม่เห็น คือ
เปรตภูมิ
อสุรกายภูมิ
และนรกภูมิ"


 

 

 

 

 

 

 


"วิบากจิตที่ทำ
ปฏิสนธิกิจมี
หลายดวงตาม
กรรมต่างๆแล้ว
แต่ว่ากรรมใด
จะเป็นปัจจัย
ให้วิบากจิต
ประเภทใดทำ
กิจปฏิสนธิเป็น
สัตว์บุคคล
ประเภทใด"


 

 

 

 

 

 

 


"อกุศลกรรม
และกุศลกรรม
ที่ได้กระทำแล้ว
เป็นปัจจัยให้
เกิดปฏิสนธิจิต
19 ประเภท
ในภูมิต่างๆ
คือ เป็น
อกุศลวิบากจิต
1ดวง  เป็น
กุศลวิบาก
18 ดวง"


 

 

 

 

 

 

 


"จิตประเภท
เดียวกันอาจ
ทำกิจได้มาก
กว่าหนึ่งกิจ
ในขณะต่างกัน"


 

 

 

 

 

 

 


"การรู้เรื่อง
ปฏิสนธิจิตให้
ละเอียดยิ่งขึ้น
นั้นเป็นประโยชน์
เพราะจะทำให้
เข้าใจว่าเพราะ
เหตุใดคนเรา
จึงต่างกัน"


 

 

 

 

 

 

 


"กรรมหนึ่งใน
ชาตินี้หรือใน
ชาติใดๆก็ทำให้
ปฏิสนธิจิตเกิด
ในชาติหน้าได้"


 

 

 

 

 

 

 


"กุศลกรรมแต่
ละขณะมีค่ายิ่ง
เพราะย่อมให้
ผลไม่เร็วก็ช้า"


 

 

 

 

 

 

 



 
      ราเห็นสัตว์บุคคลแตกต่างกันมากมายในโลกนี้ ทั้งมนุษย์และดิรัจฉานล้วนมีรูปร่างลักษณะต่างๆกัน ซึ่งต้องต่างกันตั้งแต่ขณะแรกของชีวิต   คือขณะปฏิสนธิ   บางคนอาจสงสัยว่าปฏิสนธิมีกี่ประเภท   แต่สัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ก็มีหลายอย่างที่เหมือนกัน อาศัยอยู่ในโลกเดียวกัน   และรับรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆเหมือนๆกันไม่ว่าจะรวยหรือจน   เมื่อรู้อารมณ์ทางทวาร 6   กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิด   จิตทั้งหมดซึ่งเกิดในชีวิตประจำวันนั้น เป็น กามาวจรจิต  หรือ  จิตในชั้นกามภูมิ

มนุษย์เกิดมาต่างกันเป็น 2 จำพวก  คือ

  1. ผู้ที่เกิดด้วย ปฏิสนธิจิต ที่เป็น อเหตุกกุศลวิบาก (กุศลวิบากจิตที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเหตุ   คือ  อโลภะ  อโทสะ   และปัญญา)
  2. ผู้ที่เกิดด้วย ปฏิสนธิจิต ที่เป็น สเหตุกกุศลวิบาก (กุศลวิบาก ที่ประกอบด้วยโสภณเหตุ)

ผู้ที่เกิดด้วยปฏิสนธิจิตที่เป็นอเหตุกกุศลวิบากนั้น   เป็นผลของกามาวจรกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนกว่ากุศลกรรมที่ทำให้สเหตุกปฏิสนธิจิตเกิด   คนที่เกิดด้วยอเหตุกปฏิสนธิจิตนั้นพิการตั้งแต่กำเนิด    จักขุปสาทหรือโสตปสาทไม่เกิดหรือพิการทางอื่นก็ได้   อย่างไรก็ตาม   เมื่อเราเห็นคนพิการ   เราก็บอกไม่ได้ว่าปฏิสนธิจิตของเขาเป็นอเหตุกปฏิสนธิจิตหรือสเหตุกปฏิสนธิจิต   เราบอกไม่ได้ว่าเขาพิการตั้งแต่เกิดหรือภายหลัง   แม้ในขณะที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ก็ไม่รู้ว่าเขาเกิดด้วยปฏิสนธิจิตประเภทใด    การที่บุคคลใดพิการนั้นไม่ใช่โดยบังเอิญ   แต่เพราะกรรมของเขานั่นเอง

ปฏิสนธิจิต ที่เป็น อเหตุกกุศลวิบากมีดวงเดียว เท่านั้น   แต่วิบากจิตดวงนี้ก็มีหลายขั้น   กรรมที่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตดวงนี้เกิดนั้น   ทำให้เกิดในสิ่งแวดล้อมต่างๆกัน   เช่น   ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่น่ายินดี   แม้ว่าจะไม่ใช่ในทุคติถูม หรือในสิ่งแวดล้อมที่ดี   วิบากจิตดวงนี้ทำให้เกิดในสวรรค์ขั้นต้นก็ได้

ปฏิสนธิจิต ที่เป็น อเหตุกอกุศลวิบาก นั้น   ไม่เกิดในมนุษย์ภูมิ   แต่เกิดใน ทุคติภูมิ    ปฏิสนธิจิตที่เป็นอกุศลวิบากนั้นมีดวงเดียวเท่านั้น   แต่ก็มีหลายระดับขั้น    อกุศลกรรมมีมากมายหลายอย่าง    ฉะนั้น   ทุคติย่อมมีมากมายหลายภูมิด้วย   ทุคติภูมิที่เราเห็นในโลกนี้   คือ  การเกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน มีทุคติภูมิอีก 3 ภูมิที่เรามองไม่เห็น  คือ เปรตภูมิ  อสุรกายภูมิ  และ นรกภูม

วิบากจิตที่ทำปฏิสนธิกิจมีหลายดวงตามกรรมต่างๆ   แล้วแต่ว่ากรรมใดจะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทใดทำกิจปฏิสนธิเป็นสัตว์บุคคลประเภทใด
อเหตุกวิบากจิต ที่ทำกิจปฏิสนธิมี 2 ดวง  คือ
สันตีรณอกุศลวิบาก 1  และ   สันตีรณกุศลวิบาก 1

ขณะที่สันตีรณจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวาร 1 ใน 5 ทวารนั้นสันตีรณจิตทำกิจพิจารณาอารมณ์ (สันตีรณกิจ) เรารู้แล้วว่า สันตีรณจิต เป็น อเหตุกวิบากจิต จิตประเภทเดียวกันอาจทำ กิจได้มากกว่าหนึ่งกิจ ในขณะต่างกัน  สันตีรณจิตทำ ปฏิสนธิกิจ ได้ด้วย ขณะที่สันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธินั้น   ขณะนั้นไม่ได้ทำสันตีรณกิจทางปัญจทวาร

ในบทที่ 9   เรารู้แล้วว่าสันตีรณจิตมี 3 ประเภท  คือ

  1. สันตีรณอกุศลวิบากจิต   เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
  2. สันตีรณกุศลวิบากจิต   เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
  3. สันตีรณกุศลวิบากจิต   เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

อุเบกขาสันตีรณ  อกุศลวิบาก จิตกระทำ กิจปฏิสนธิในทุคติภูมิ   และทำสันตีรณกิจทางทวารต่างๆ

อุเบกขาสันตีรณ กุศลวิบาก จิตทำกิจปฏิสนธิในมนุษย์และสวรรค์   และทำสันตีรกิจทางทวารต่างๆ

สำหรับโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิตนั้นไม่ทำปฏิสนธิกิจ    อกุศลกรรมและกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว   เป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิสนธิจิต 19 ประเภท ในภูมิต่างๆ คือ   เป็น อกุศลวิบากจิต 1 ดวง   เป็นกุศลวิบาก 18 ดวง    ในบรรดากุศลวิบากนั้น เป็น อเหตุกกุศลวิบาก 1 ดวง  เป็น สเหตุกกุศลวิบาก (ประกอบด้วยโสภณเหตุ) 17 ดวง   ปฏิสนธิจิต 19 ดวงนี้มีหลายระดับกรรมทำให้เกิดมาอัปลักษณ์หรืองดงาม   เกิดในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือที่รื่นรมย์   คนที่เกิดในสภาพที่ทุกข์ยากนั้นก็ไม่ใช่ว่าชาติหน้าจะเกิดในสภาพทุกข์ยากอีก   ทั้งนี้แล้วแต่กรรมที่ได้สะสมมา   คนที่เกิดมาสุขสบาย   เมื่ออกุศลกรรมให้ผล   ชาติหน้าก็เกิดในทุคติได้

ในอังคุตตรนิกาย  จตุกกนิบาต   ตมสูตร  มีข้อความว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคล 4 จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก   4 จำพวกเป็นไฉน

คือ  ผู้มืดมาแล้ว   มีมืดต่อไปจำพวก 1  
ผู้มืดมาแล้วมีสว่างต่อไปจำพวก 1   
ผู้สว่างมาแล้ว   มีมืดต่อไปจำพวก 1  
ผู้สว่างมาแล้ว   มีสว่างต่อไปจำพวก 1

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็บุคคลผู้มืดมาแล้ว มีมืดต่อไปอย่างไร"

บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดมาในตระกูลตํ่า คือตระกูลจัณฑาล   ตระกูลช่างสาน   ตระกูลนายพราน   ตระกูลช่างเย็บหนัง   หรือในตระกูลคนเทหยากเยื่อ   อันเป็นตระกูลเข็นใจ  มีข้าว   นํ้า  และโภชนะน้อย   เป็นอยู่โดยฝืดเคือง   หาของบริโภค และผ้านุ่งห่มได้โดยฝืดเคือง
อนึ่ง   เขามีผิวพรรณทรามไม่น่าดู   เป็นคนแคระ  มีโรคมาก   เป็นคนตาบอด  เป็นคนง่อย   เป็นคนกระจอก   หรือพิการไปแถบหนึ่ง   ไม่ได้ข้าว  นํ้า   ผ้านุ่งห่ม  ยานพาหนะ   ระเบียบ  ดอกไม้  ของหอม   เครื่องลูบไล้  ที่นอน   ที่อยู่อาศัย และประทีปตามสมควร    เขาซํ้าประพฤติทุจริตด้วยกาย   วาจา ใจแล้ว    เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย   ทุคติ  วินิบาต  นรก   บุคคลเป็นผู้มืดมาแล้ว   มีมืดต่อไปอย่างนี้แลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   บุคคลผู้มืดมาแล้ว   มีสว่างต่อไปเป็นอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดมาใน
ตระกูลตํ่า ... ไม่ได้ที่นอน   ที่อยู่อาศัย   และประทีปตามสมควร   แต่เขาประพฤติสุจริตด้วยกาย   ด้วยวาจา  และใจแล้ว   เมื่อตายไป   ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็บุคคลผู้สว่างมาแล้ว   มีมืดต่อไปเป็นอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดมาในตระกูลสูง ... อนึ่งเขามีรูปงาม  น่าดู   น่าเลื่อมใส   ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามยิ่งนัก   เป็นผู้มีปกติได้ข้าว  นํ้า ผ้านุ่งห่ม  ยานพาหนะ  ระเบียบ   ดอกไม้  ของหอม   เครื่องลูบไล้  ที่นอน ที่อยู่อาศัย  และประทีป   แต่เขาประพฤติทุจริตด้วยกาย   วาจา  และด้วยใจ    ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย   วาจา  และใจแล้ว    เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย   ทุคติ  วินิบาต  นรก    บุคคลเป็นผู้สว่างมาแล้ว   มีมืดต่อไปอย่างนี้แลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็บุคคลผู้สว่างมาแล้ว   มีสว่างต่อไปเป็นอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดมาในตระกูลสูง ...  มีปรกติได้ผ้านุ่งห่ม .... ที่นอน  ที่อยู่อาศัย   และประทีป    เขาย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย   วาจา  และด้วยใจ    ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย   วาจา  และใจแล้ว    เมื่อตายไป   ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์   บุคคลเป็นผู้สว่างมาแล้ว   มีสว่างต่อไปอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคล 4 จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลกฯ"

ปฎิสนธิจิตซึ่งเป็นสเหตุกวิบาก   (ประกอบด้วยโสภณเหตุ) เป็นผลของกุศลกรรมที่ดีกว่ากุศลกรรมที่ทำให้เกิดอเหตุกปฏิสนธิจิต   สเหตุกวิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิมี 8 ประเภท

คนเกิดมามีอุปนิสัยต่างกัน   บางคนก็มีปัญญามากน้อยต่างกัน   และบางคนก็ไม่มีปัญญาเลย   ปฏิสนธิจิตของแต่ละบุคคลต่างกัน   สเหตุกปฏิสนธิจิตทุกดวงมีอโลภะและอโทสะเกิดร่วมด้วย   และบางดวงก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย   แล้วแต่กรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด

นอกจากสเหตุกปฏิสนธิจิตจะต่างกันโดยเป็นทวิเหตุหรือติเหตุแล้ว   ยังต่างกันอีกหลายอย่าง   กุศลกรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิตนั้นเป็นกุศล   จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาเป็นกุศลอสังขาริก   หรือสสังขาริก    ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจัยหลายอย่างเป็นเหตุให้เกิดกุศลกรรมขั้นต่างๆ   ซึ่งทำให้เกิดผลที่สมควรแก่กรรมนั้นๆ

ฉะนั้น   สเหตุกปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกามาวจรกุศลกรรมมี 8 ประเภท  คือ

  1. ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา   เป็นอสังขาริก (โสมนสฺส   สหคตํ  ญาณสมฺปยุตฺตํ   อสงฺขาริกเมกํ)
  2. ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา   เป็นสสังขาริก  (โสมนสฺส   สหคตํ  ญาณสมฺปยุตฺตํ   สสงฺขาริกเมกํ)
  3. ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา   เป็นอสังขาริก  (โสมนสฺส   สหคตํ  ญาณวิปฺปยุตฺตํ   อสงฺขาริกเมกํ)
  4. ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา   เป็นสสังขาริก (โสมนสฺส   สหคตํ  ญาณวิปฺปยุตฺตํ   สสงฺขาริกเมกํ)
  5. ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ประกอบด้วยปัญญา   เป็นอสังขาริก  (อุเปกฺขา   สหคตํ  ญาณสมฺปยุตฺตํ   อสงฺขาริกเมกํ)
  6. ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ประกอบด้วยปัญญา   เป็นสสังขาริก  (อุเปกฺขา   สหคตํ  ญาณสมฺปยุตฺตํ   สสงฺขาริกเมกํ)
  7. ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ไม่ประกอบด้วยปัญญา   เป็นอสังขาริก  (อุเปกฺขา   สหคตํ  ญาณวิปฺปยุตฺตํ   อสงฺขาริกเมกํ)
  8. ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ไม่ประกอบด้วยปัญญา   เป็นสสังขาริก  (อุเปกฺขา   สหคตํ  ญาณวิปฺปยุตฺตํ   สสงฺขาริกเมกํ)

การรู้เรื่องปฏิสนธิจิตให้ละเอียดยิ่งขึ้นนั้นเป็นประโยชน์เพราะจะทำให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดคนเราจึงต่างกัน

สเหตุกปฏิสนธิจิต 8 ประเภท   ซึ่งเป็นผลของกามาวจรกุศลนั้น   มิได้เกิดเฉพาะในมนุษย์ภูมิเท่านั้น   แต่เกิดในสวรรค์ซึ่งเป็น กามภูมิ ด้วย

ภูมิทั้งหมดมี 31 ภูมิ   เป็น กามภูมิ 11 ภูมิ  คือ   มนุษยภูมิ 1   สวรรค์ภูมิ 6    และอบายภูมิ 4    ผู้ที่เกิดในกามภูมิใดกามภูมิหนึ่ง   มีกามาวจรจิตซึ่งมีกามอารมณ์   และมีเทวภูมิอื่นอีกที่ไม่ใช่กามภูมิ

ผู้ที่เกิดในกามภูมิแล้วเจริญฌานด้วย   นอกจากมีกามาวจรจิตแล้วก็ยังมี รูปาวจรจิต  และ  อรูปาวจรจิต   อีกด้วย    ผู้ที่อบรมเจริญมัคค์มีองค์ 8 ก็อาจมี โลกุตตรจิต (จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์)ได้

กุศลกรรมในขณะที่บรรลุฌานไม่ใช่กามาวจรกุศล   ขณะที่เป็นฌานนั้น   ไม่มีกามอารมณ์   ฌานกุศลไม่ได้ให้ผลในชาติเดียวกันก็จริง   แต่ให้ผลโดยเป็นปัจจัยให้ฌานปฏิสนธิจิตเกิดในชาติต่อไป   ซึ่งฌานจิตจะเกิดก่อนจุติจิต   แล้วฌานวิบากซึ่งเป็นปฏิสนธิจิตของชาติต่อไปจึงมีอารมณ์เดียวกันกับฌานกุศลจิต

ผลของ รูปาวจรกุศลจิต   คือเกิดในเทวภูมิซึ่งไม่ใช่กามภูมิ   แต่เป็น รูปพรหมภูมิ    ผลของ
อรูปาวจรกุศลจิต   คือเกิดในเทวภูมิซึ่งเป็น
อรูปพรหมภูมิ    รูปพรหมภูมิ และอรูปพรหมภูมิมีหลายภูมิ

รูปฌานมี 5 ขั้น  ฉะนั้น   รูปาวจรกุศลจิตจึงมี 5 ดวง ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดรูปาวจรวิบากปฏิสนธิจิต 5 ดวง   อรูปฌานมี 4 ขั้น    ฉะนั้น  อรูปาวจรกุศลจิตมี 4 ดวง   ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอรูปาวจรวิบากปฏิสนธิจิต 4 ดวง   ฌานวิบากปฏิสนธิจิต 9 ดวง   เป็นผลของฌานกุศลจิต 9 ดวง    ฌานปฏิสนธิจิตเป็นสเหตุกวิบากจิต   (ประกอบด้วยโสภณเหตุ)   และประกอบด้วยปัญญา

รวมปฏิสนธิจิต 19 ดวง  คือ

สันตีรณอกุศลวิบากจิต 1 ดวง  (อเหตุก   เป็นผลของอกุศลกรรม)

สันตีรณกุศลวิบากจิต 1 ดวง  (อเหตุก   เป็นผลของกามาวจรกุศลกรรม)

มหาวิบากจิต 8 ดวง  (สเหตุก   เป็นผลของกามาวจรกุศลกรรม)

รูปาวจรวิบากจิต 5 ดวง  (สเหตุก   เป็นผลของรูปฌานจิต)

อรูปาวจรวิบากจิต 4 ดวง  (สเหตุก   เป็นผลของอรูปฌานจิต)

เราไม่รู้ว่ากรรมใดจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในภพหน้า เราทำทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว   กรรมหนึ่งในชาตินี้หรือในชาติใดๆก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในชาติหน้าได้ พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้เจริญกุศลนานาประการ กุศลกรรมแต่ละขณะมีค่ายิ่ง   เพราะย่อมให้ผลไม่เร็วก็ช้า

ในขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ   เอกนิบาต  วรรคที่ 3   พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ไซร้   สัตว์ทั้งหลายยังไม่ให้แล้วก็จะไม่พึงบริโภค    อนึ่ง   ความตระหนี่อันเป็นมลทิน   จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น    สัตว์เหล่านั้นไม่พึงแบ่งคำข้าวคำหลังจากคำข้าวนั้นแล้วก็ไม่พึงบริโภค   ถ้าปฏิคาหกของสัตว์เหล่านั้นพึงมี ..."

กุศลกรรมทำให้เกิดในสุคติ   แต่การไม่เกิดอีกเลยย่อมประเสริฐกว่าการเกิดใดๆ    ถ้าเราอบรมเจริญ
มัคค์มีองค์ 8  และบรรลุอรหัตต์   ก็จะไม่เกิดอีกเลย เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดับไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดต่อ พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้เห็นภัยของการเกิด   และทรงสอนให้เราอบรมเจริญสติเพื่อที่จะได้บรรลุถึงความไม่ตายคือพระนิพพาน    ในอังคุตตรนิกาย   อัฏฐกนิบาต  ปฏิปทาสูตรที่ 4   มีข้อความว่า  สมัยหนึ่ง   พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักก่อด้วยอิฐชื่อ  นาทิกะ   ณ ที่นั้นแล    พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว   กระทำให้มากแล้ว   ย่อมมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก   หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ภิกษุในธรรมวินัยนี้   เมื่อกลางวันสิ้นไป   กลางคืนเวียนมา   ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า   ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ   คือ  งูพึงกัดเราก็ได้   แมงป่องพึงต่อยเราก็ได้   ตะขาบพึงกัดเราก็ได้   เพราะเหตุนั้น   เราพึงทำการกิริยา   อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา   เราพึงพลาดล้มลงก็ได้   อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้   ดีของเราพึงซ่านก็ได้   เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้   ลมมีพิษดังศาสตราของเราพึงกำเริบก็ได้   มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้   พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้   เพราะเหตุนั้น   เราพึงทำกาลกิริยา   อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า   ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้   ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน   มีอยู่หรือหนอแล   ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า   ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้   ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนมีอยู่   ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ   ความพยายาม  ความอุตสาหะ   ความเพียร  ความไม่ท้อถอย     สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง    เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย   เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้   พึงกระทำความพอใจ   ความพยายาม  ความอุตสาหะ   ความเพียร  ความไม่ท้อถอย   สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง   เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น

ฉะนั้น  ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า   ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปิติและปราโมทย์   หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   อนึ่ง   ภิกษุในธรรมวินัยนี้   เมื่อกลางคืนสิ้นไป   กลางวันเวียนมาถึง   ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้   กระทำให้มากแล้วอย่างนี้   จึงมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ   มีอมตะเป็นที่สุดฯ"

 

 

ดูสารบัญ

home         ปัญหาถาม-ตอบ        หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ