Buddhist Study             

home     หนังสือธรรมะ        พระไตรปิฎก      ถาม-ตอบจากหนังสือ    อ่านหนังสือธรรมะ

ปัญหาถาม-ตอบ


สารบัญ

กรุณาคลิกที่คำถามเพื่ออ่านคำตอบ

  1. ทำไมจึงต้องศึกษาธรรมะ?
  2. จริงรึเปล่าที่ต้องถือศีลและนั่งสมาธิก่อน ปัญญาจึงจะเกิด?
  3. ศึกษาธรรมะจากพระไตรปิฎกเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน   ศึกษาจากพระอาจารย์ต่างๆไม่ดีกว่าหรือ?
  4. จะใช้การนั่งสมาธิหรือทำอานาปานสติเพื่อบรรลุธรรมอย่างพระพุทธเจ้าหรืออาจารย์ต่างๆได้หรือไม่?

1.   ทำไมจึงต้องศึกษาธรรมะ?

ไม่มีใครสามารถบรรลุธรรมหรือมีปัญญารู้ธรรมได้เองโดยไม่ต้องศึกษาธรรมะ   เพราะปัญญาของเรานั้นมีจำกัด   ไม่สามารถเทียบได้กับพระปัญญาของพระพุทธเจ้า   ซึ่งทรงบำเพ็ญบารมีมานานหลายอสงไขยหลายกัป   จนสามารถตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง    เราทุกคนจึงต้องศึกษาธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้   โดยอาศัยพระไตรปิฎก   ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก   เพราะต้องอาศัยทั้งปัญญาและความเพียรอย่างสูงในการที่จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งไม่คลาดเคลื่อน

Back to Top

2.   จริงรึเปล่าที่ต้องถือศีลและนั่งสมาธิก่อน ปัญญาจึงจะเกิด?

เพียงการถือศีลและนั่งสมาธิไม่อาจทำให้ปัญญาเกิดขึ้นได้   เพราะการถือศีลหรือนั่งสมาธิไม่สามารถทำให้รู้ธรรมะอะไรขึ้นมาได้    ส่วนคนที่นั่งสมาธิแล้วเห็นนั่นเห็นนี่หรือรู้นั่นรู้นี่   ก็มักเกิดจากการคิดนึก   คาดคะเน  หรือไตร่ตรองเอาเอง   ซึ่งส่วนใหญ่จะผิดมากกว่าถูก    ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราศึกษาและเข้าใจธรรมะ   ซึ่งปัญญาที่เกิดก็มีหลายละดับตามการสะสมของแต่ละคน

คำถาม-ตอบต่อไปนี้จากหนังสือ "ตอบปัญหาธรรม" โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์   จะช่วยเพิ่มความกระจ่างในเรื่องนี้ได้

"ถาม - เมื่อนั่งวิปัสสนามีจิตออกจากจมูกไปขึ้นสมองแล้วลงไปในกายตํ่าลง   เห็นตับไตเครื่องในหมด   แล้วออกเดินไปพบผู้หญิงผู้ชาย 2 คนบอกว่าเดินไปทางนี้   แล้วไปเจออีกคนหนึ่งนุ่งขาวห่มขาว   แล้วจึงกลับมาเข้าร่าง    ทุกวันนี้ถ้าว่างก็จะไปนั่งภาวนาอย่างนี้ว่า   สัมมาอะระหัง   อยากเห็นพ่อก็ได้เห็น   อยากเห็นแม่ก็ได้เห็น   แต่ไม่รู้ว่าทำไมจึงเห็นและเพราะอะไร

ตอบ - ที่ถามเพราะไม่รู้  ความไม่รู้ไม่ใช่ปัญญา   ไม่ว่าจะไปนั่งทำอะไร   เมื่อทำแล้วก็ไม่รู้อะไร   ก็ไม่ควรจะทำต่อไป   เพราะทำเท่าไรก็ไม่รู้อยู่นั่นเอง.........ถ้านั่งแล้วเห็นสิ่งที่อยากเห็นแต่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย.......ควรอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมในขณะนี้   ไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่น   ซึ่งก็จะต้องศึกษาตามลำดับตั้งแต่ขั้นต้นจริงๆ   เช่นเดียวกับการเรียนวิชาอื่นๆ.........การศึกษาสภาพธรรมเป็นการเรียนรู้เรื่องตัวเองและทุกสิ่งในโลก   และสามารถเข้าใจเพิ่มขึ้น   ชัดขึ้น   จนประจักษ์แจ้งจริงๆ   ไม่ใช่ให้ไปเห็นสิ่งต่างๆ   เช่น  กำลังนั่งอยู่   ก็กลับเห็นว่ากำลังเดินออกไป ฯลฯ   ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย  

ถ้าสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ก็ต้องรู้ว่ากำลังนั่งอยู่   และรู้ว่ามีสภาพธรรมใดปรากฏเกิดขึ้นแล้วดับไป หมดไป  จึงจะถูกต้อง    วิปัสสนามิใช่การนั่ง  วิปัสสนาคือปัญญาซึ่งรู้สภาพธรรมได้ตามปกติตามความเป็นจริง   ไม่จำเป็นต้องนั่ง    ยืนหรือเดินหรือนอนก็รู้ได้   ฉะนั้นไม่ควรจะใช้คำว่า   วิปัสสนา   เมื่อไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา   หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ   ตามปกติในชีวิตประจำวัน"

Back to Top

3.   ศึกษาธรรมะจากพระไตรปิฎกเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน   ศึกษาจากพระอาจารย์ต่างๆไม่ดีกว่าหรือ?

แม้การศึกษาธรรมะจากพระอาจารย์ต่างๆจะง่ายกว่าการศึกษาจากพระไตรปิฎกก็ตาม   แต่โอกาสผิดเพี้ยนก็มีมากกว่าด้วย   เพราะถ้าเราไม่เคยศึกษาพระไตรปิฎก   เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคำสอนเหล่านั้น   เป็นคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าหรือไม่ จึงควรจะเริ่มศึกษาธรรมะโดยอาศัยพระไตรปิฎกเป็นหลัก โอกาสที่จะพลาดย่อมมีน้อยกว่าที่จะเชื่อถือผู้ใดผู้หนึ่ง   โดยปราศจากบรรทัดฐานในการอ้างอิง

ต่อไปนี้เป็นข้อความบางตอนจากหนังสือ "กรณีธรรมกาย เอกสารเพื่อพระธรรมวินัย"   โดย  พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)   ซึ่งจะช่วยตอบคำถามนี้ให้กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น

"พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่า   เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว   ธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้วและบัญญัติแล้ว แก่สาวกทั้งหลายนั้น   จะเป็นศาสดาแทนพระองค์สืบต่อไป    ธรรมวินัยนั้นเวลานี้อยู่ที่ไหน   ก็รักษาไว้ในพระไตรปิฎก............ถ้าศาสนิกชนปฏิเสธพระไตรปิฎก   หรือไม่ยอมรับพระไตรปิฎกก็คือไม่ยอมรับพระพุทธศาสนา"

"พระพุทธศาสนาแบบที่เรานับถือกันอยู่......เรียกว่าพระพุทธศาสนาเถรวาท   หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า   หินยาน........พระไตรปิฎกภาษาบาลีของเถรวาทนี้   เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นคำสอนดั้งเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า   เก่าแก่ที่สุดเท่าที่จะสืบหาได้   แล้วรักษากันมาอย่างเคร่งครัด   ทั้งแม่นยำที่สุดและครบถ้วนที่สุด"

"ใครก็ตามที่กล่าวอ้างว่าตนปฏิบัติได้โดยไม่ต้องอาศัยพระไตรปิฎก   ก็คือพูดว่า   ตนปฏิบัติได้โดยไม่ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า.........เราจะเรียกการปฏิบัตินั้นว่าเป็นพระพุทธศาสนาได้อย่างไร    แน่นอนว่านั่นเป็นการปฏิบัติลัทธิความเชื่อหรือความคิดเห็นของตัวเขาเอง   หรือของใครอื่นที่คิดข้อปฏิบัตินั้นขึ้นมา   หรืออย่างดีก็เป็นความที่เอามาเล่าต่อจากพระไตรปิฎก   แบบฟังตามๆกันมา   ซึ่งเสี่ยงต่อความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยน"

Back to Top

4.   จะใช้การนั่งสมาธิหรือทำอานาปานสติเพื่อบรรลุธรรมอย่างพระพุทธเจ้าหรืออาจารย์ต่างๆได้หรือไม่?

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าการสะสมมาของแต่ละบุคคลนั้นต่างกัน   และเราไม่สามารถจะไปเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าได้   เพราะได้ทรงบำเพ็ญบารมีมานานนับอสงไข   
อีกอย่างก็คือ  แม้ในครั้งพุทธกาล   ก็ยากที่จะหาผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้โดยการนั่งสมาธิ   ซึ่งปัญญาของผู้คนในเวลานั้นสูงกว่าในเวลานี้มาก   ส่วนใหญ่จะบรรลุธรรมโดยการฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ความจริงที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ   ในชีวิตประจำวันของเรานั้น   จะมีสักกี่ครั้งที่เราสามารถกำหนดลมหายใจ   หรือมีเวลานั่งสมาธิได้   ซึ่งต้องยอมรับว่าน้อยมาก    และถึงแม้ว่าจะหาเวลาได้  ปัญญาที่เกิดก็ไม่อยู่ในขั้นที่จะทำให้ละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท   เปรียบเหมือนเป็นเพียงการเอาหินไปทับหญ้าไว้   ไม่ได้ถอนรากโคนให้หมดสิ้น   จึงมีโอกาสที่หญ้าจะงอกขึ้นอีก   เมื่อไม่มีหินทับอยู่

ในครั้งพุทธกาลก็มีผู้ที่นั่งสมาธิจนสามารถเหาะเหินเดินอากาสได้   แต่อิทธิฤทธ์ที่สะสมมาก็หมดสิ้นไปในพริบตาเพียงแค่ได้เห็นหญิงเปลื้องผ้าเท่านั้น

จากที่กล่าวมานี้   คงจะพอเห็นได้ว่า การนั่งสมาธิหรือเจริญอานาปานสติคงจะไม่ใช่หนทางของคนส่วนใหญ่   ในการที่จะบรรลุธรรม

การที่เราจะทำอะไรเราควรจะรู้เหตุผลและจุดประสงค์ ของการกระทำนั้นเสียก่อน   ดังข้อความบางตอนจากหนังสือ "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

"การเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา   มีจุดประสงค์ที่ต่างกันที่   สมถภาวนาเป็นการเจริญกุศลด้วยปัญญาที่เห็นโทษของจิตที่ไม่สงบ   ผู้ที่มีปัญญาจะรู้ว่า   เมื่อเห็นสิ่งใดก็ไม่สงบด้วยโลภะบ้าง   โทสะบ้าง  โมหะบ้าง   เมื่อได้ยินเสียงก็ไม่สงบด้วยโลภะบ้าง   โทสะบ้าง  โมหะบ้าง    ผู้จะเจริญสมถภาวนาเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ   สามารถรู้ขณะที่เป็นอกุศลจิตว่าต่างกับขณะที่เป็นกุศลจิต   จึงมีปัญญารู้ว่าจิตจะสงบเป็นกุศลได้เมื่อตรึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบขึ้นๆได้อย่างไร    ฉะนั้นการเจริญสมถภาวนาจึงมีจุดประสงค์ให้จิตสงบเป็นกุศล   มั่นคงขึ้นๆ   จนเป็นสมาธิขั้นต่างๆ

ส่วนการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น   เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน   ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ   ตามความเป็นจริง   จนปัญญาเจริญขึ้น   คมกล้าขึ้น  เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม   ก็ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท"

Back to Top

Back to Top

Back to Top

 

home     หนังสือธรรมะ       พระไตรปิฎก       ถาม-ตอบจากหนังสือ     อ่านหนังสือธรรมะ

            12/03/01            

Click Here!