ความเป็นมาของมิลินทปัญหา
Buddhist Study

Home
มิลินทปัญหา



 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     

 

     

 

 

watsuthat10.jpg (20258 bytes)
   
เนื่องจาก พระเจ้ามิลินท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก การตั้งปัญหาถาม ล้วนเป็นปัญหาที่ยากจะตอบได้   แต่ พระนาคเสน ท่านก็เฉลยปัญหาได้ทุกข้อ พร้อมทั้งยกอุปมาขึ้น โดยอาศัยธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัว เปรียบเทียบได้อย่างแจ่มแจ้ง   ทางเราจึงเห็นว่าเรื่องนี้คงจะเป็นประโยชน์ และให้ความเพลิดเพลินแก่ท่านบ้าง จึงนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้

ความเบื้องต้น


ในสมัยของ สมเด็จพุทธกัสสป มีพระราชาพระนามว่า พระเจ้าวิชิตาวี เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนครราชธานี ได้ทรงสร้างมหาวิหารไว้ที่ริมแม่นํ้าคงคา ถวายพระเถระทั้งหลายที่ทรงคุณธรรม    มีพระภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลรูปหนึ่ง เรียกสามเณรรูปหนึ่งว่า  "จงมานี่......สามเณร! จงหอบเอาหยากเยื่อไปเททิ้งเสีย"   สามเณรรูปนั้นก็เฉยอยู่ เหมือนไม่ได้ยินถึงสามครั้ง   จึงคิดว่าสามเณรรูปนี้หัวดื้อ แล้วเอาด้ามไม้กวาดตีสามเณรจนร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด    เมื่อสามเณรเอาหยากเยื่อไปทิ้งนั้น    ได้ปราถนาว่า "ด้วยผลบุญที่เราหอบหยากเยื่อมาทิ้งนี้ หากเรายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด เราจะเกิดในภพใดๆก็ตาม ขอให้เรามีเดชเหมือนกับดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงวันฉะนั้นเถิด"

สามเณรตั้งใจดังนี้แล้ว ก็เดินไปอาบนํ้าที่แม่นํ้าคงคา   ได้เห็นละลอกคลื่นในแม่นํ้านี้มากมาย   ก็ยินดีปรีดาจะใคร่มีปัญญาเฉลียวฉลาดไม่รู้สุดรู้สิ้น ดุดลูกคลื่นในแม่นํ้านั้น     จึงปราถนาขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า  "ข้าพเจ้ายังไม่ถึงนิพพานตราบใด   ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปเกิดในชาติใดๆ   ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาไม่สิ้นสุด   เหมือนกับลูกคลื่นในแม่นํ้าคงคานี้เถิด"  

ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์นั้น   เมื่อลงไปที่ท่านํ้า   ก็ได้ยินเสียงสามเณรตั้งความปราถนา   จึงคิดว่า   สามเณรนี้เป็นผู้ที่เราใช้ก็ยังปราถนาอย่างนี้   จึงตั้งความปราถนาว่า  "ข้าพเจ้ายังไม่สำเร็จพระนิพพานตราบใด   ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาที่สุดมิได้   เหมือนกับฝั่งแม่นํ้าคงคานี้   ให้เป็นผู้สามารถแก้ไขปัญหาทั้งปวง   ที่สามเณรนี้ไต่ถามได้สิ้น"

เมื่อบุคคลทั้งสองนั้น   ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเทพยาดาและมนุษย์   ก็ล่วงมาถึง 1 พุทธันดร   พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า "เมื่อเราปรินิพพานล่วงไปได้ 500 ปีแล้ว   บุคคลทั้งสองนั้นจะเกิดขึ้น   ธรรมวินัยอันใด อันเป็นของสุขุมที่เราได้แสดงไว้ ธรรมวินัยอันนั้น บุคคลทั้งสองนั้น จะแก้ไขให้หมดฟั่นเฟือน ด้วยการไต่ถามปัญหากัน ดังนี้"

ต่อมาสามเณรนั้น   ก็ได้มาเกิดเป็น พระเจ้ามิลินท์ ในสาคลนคร   เป็นผู้ฉลาด มีความคิดดี   มีถ้อยคำหาผู้ต่อสู้ได้ยาก   ไม่มีใครเสมอเหมือนในทางสติปัญญา   เที่ยวเบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์   ด้วยการถามปัญหาตามลัทธิเดียรถีย์   จนพากันหนีไปสู่ป่าหิมพานต์   เมืองสาคลนครจึงเป็นเหมือนว่างจากสมณพราหมณ์อยู่ถึง 12 ปี

ในคราวนั้นมีพระอรหันต์ 100 โกฏิ อาศัยอยู่ที่ถํ้า ในภูเขาหิมพานต์   ได้ทราบเรื่องดังกล่าว   จึงได้พากันไปอ้อนวอน มหาเสนะเทพบุตร ณ  เกตวิมาน   ให้ไปเกิดในมนุษยโลกเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้หนึ่ง   โดยมีชื่อว่า นาคเสนกุมาร

นาคเสนกุมาร บวชเป็นสามเณรที่ถํ้ารักขิต   ท่ามกลางพระอรหันต์จำนวนมาก พระโรหณะ ผู้เป็นอุปัชฌาย์เห็นปัญญาอันแหลมคม ของสามเณรนาคเสนแล้ว   จึงให้เรียนพระอภิธรรมก่อน    สามเณรนาคเสนเรียนได้อย่างรวดเร็ว   พระอรหันต์ทั้งหลายจึงประชุมกันให้สามเณรนาคเสนบวชเป็นภิกษุ   โดยมีพระโรหณะเป็นพระอุปัชฌายะ

วันรุ่งขึ้นพระนาคเสนออกบิณฑบาตกับพระอูปัชฌาย์   เดินตามหลังท่านและคิดในใจว่า   "พระอุปัชฌาย์ของเราโง่เขลาจริง ที่ให้เราเรียนพระอภิธรรมก่อนพระพุทธพจน์อื่นๆ"   พระโรหณะทราบความคิดพระนาคเสน   จึงกล่าวว่า  "นาคเสนคิดอย่างนั้นหาควรไม่"    พระนาคเสนจึงได้รู้ว่า   พระอุปัชฌาย์ของตนรู้วารจิต    จึงคิดใหม่ว่า   พระอุปัชฌาย์ของเรามีปัญญาดีแท้    จึงกล่าวขออภัยท่านในการคิดล่วงเกิน

พระโรหณะกล่าวว่า  "จะอภัยโทษล่วงเกินด้วยเหตุเพียงเท่านี้   หาสมควรไม่   นาคเสนต้องไปทำกิจพระศาสนาอย่างหนึ่งให้สำเร็จ   เราจึงจะอภัยโทษให้  คือ มีพระราชานามว่า มิลินท์ ในสาคลราชธานี   ทรงโปรถถามปัญหาต่างๆ   ให้เธอไปทำพระราชาองค์นั้นให้เลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว   นั่นคือการอภัยโทษของเรา"

พระนาคเสนตอบว่า "อย่าว่าแต่เพียงพระเจ้ามิลินท์องค์เดียวเลย   แม้ร้อยแห่งพระเจ้ามิลินท์   ท่านก็สามารถให้เลื่อมใสได้"...........

พุทธศาสนาสมัยพระเจ้ามิลินท์

พระพุทธศาสนาเจริญเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้ามิลินท์   หรือ  พระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander)   ซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีกที่ปกครองอินเดียอยู่ระยะหนึ่ง

ก่อนหน้านี้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทับเข้ารุกรานอินเดีย   แคว้นที่ทรงตีได้แล้วโปรดให้แม่ทัพนายกองของพระองค์ปกครองดูแล   โดยทิ้งกองทหารกรีกไว้บางส่วน    ฝรั่งชาติกรีกเหล่านี้ได้ตั้งตนเป็นอนาจักรอิสระขึ้น   เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตแล้ว   

อาณาจักรที่มีกำลังมากคือ อาณาจักรซีเรีย และ อาณาจักรบากเตรีย  ปัจจุบันคือ เตอรกี และ อัฟกานิสถาน       ซีเรียเป็นสื่อเชื่อมอารยธรรมกรีกกับอินเดียเป็นเวลานานถึง 247 ปี จึงถูกโรมันตีแตก ส่วนบากเตรียเดิมก็อยู่ในอำนาจของซีเรีย   มาสถาปนาเป็นรัฐอิสระได้เมื่อ พ.ศ.287 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช   

เหตุการทางประวัติศาสตร์ในแถบนี้ของโลกสับสนวุ่นวายด้วยการแย่งชิงอำนาจกันอยู่ประมาณร้อยปีเศษ   จนกระทั่งถึง พ.ศ. 392   พระราชาเชื้อสายกรีกพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เมนันเดอร์   หรือที่เรียกในคัมภีร์บาลีว่า พระเจ้ามิลินท์   ได้แผ่อำนาจลงมาถึงตอนเหนือของลุ่มแม่นํ้าคงคา    เดิมทีมิได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา   ได้ทรงขัดขวางการขยายตัวของพระพุทธศาสนาด้วยซํ้าไป   เนื่องจากทรงแตกฉานวิชาไตรเพท (ของพราหมณ์) และศาสนาปรัชญาต่างๆ   รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย    จึงประกาศโต้วาทีกับนักบวชในลทธิศาสนาต่างๆในเรื่องศาสนาและปรัชญา    ปรากฏว่าไม่มีใครสู้พระองค์ได้   

จนกระทั่งคณะสงฆ์เลือกพระเถระผู้สามารถรูปหนึ่งมายังเมืองสาคละ เพื่อสนทนาเรื่องศาสนาและปรัชญากับพระเจ้ามิลินท์   พระเถระผู้นั้นคือพระนาคเสน    พระเจ้ามิลินท์ทรงทราบข่าวนั้นเสด็จไปสนทนาเป็นเชิงปุจฉาวิสัชนา    อภิปรายกันขึ้นเป็นเวลาหลายวัน    ผลปรากฏว่า   พระเจ้ามิลินท์ยอมแพ้พระนาคเสน    ข้อสนทนาระหว่างทั้งสองท่านนี้ ได้รวบรวมไว้เป็นคัมภีร์ เรียกว่า "มิลินทปัญหา"


หมายเหตุ:

ข้างต้นนี้คือความเป็นมาอย่างคร่าวๆ ของมิลินทปัญหา  ที่ได้ย่อ/คัดลอก มาจากหนังสือ 2 เล่ม คือ:
1. อธิบายมิลินทปัญหา  โดย วศิน   อินทสระ
2. ธัมมวิโมกข์ฉบับรวมเล่ม มิลินทปัญหา  โดย วัฒนไชย

 

  home          มิลินทปัญหา

       03/10/01             

Click Here!