Buddhist Study   ธรรมจาริกในศรีลังกา   บทที่ 10
โดย  นีน่า  วัน   กอร์คอม   
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
   

 

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


   

บทที่ ๑๐

ดิฉันอ่านในหนังสือประวัติพระพุทธศาสนา (“ประวัติของพระพุทธศาสนาในศรีลังกา”   โดยวัลโพลา ราหุล) ว่า ในสมัยโบราณการจาริกแสวงบุญในศรีลังกา เป็นที่นิยมกันในหมู่พระภิกษุด้วยเหตุผลหลายประการ   ประโยชน์ข้อหนึ่งก็คือการได้จาริกไปกับครูอาจารย์   เป็นโอกาสที่จะได้ถกแถลงกันเรื่องข้อธรรมต่าง ๆ   ในระหว่างการจาริกแสวงบุญของเราก็เช่นกัน   เราได้ประโยชน์อย่างมากที่ได้สนทนาธรรมอย่างกันเอง   และได้เรียนรู้การนำธรรมไปปฏิบัติกับสถานการณ์จริง ๆ ในชีวิตประจำวัน   ในทางทฤษฎีเรารู้ว่าอะไรเป็นกุศลและอะไรเป็นอกุศล   แต่ในชีวิตประจำวันของเรา   เราลืมที่จะประพฤติธรรม

พระบรมศาสดาทรงสอนเราให้อดทน   ซึ่งดูเหมือนจะง่าย แต่เมื่อสิ่งต่าง ๆไม่เป็นไปตามที่เราใคร่จะให้เป็น และเมื่อคนทั้งหลายก็ไม่ได้เป็นดังใจหวัง   เราก็มักจะขาดความอดทน   ความอดทนเป็นหัวข้อของการสนทนาธรรมของเราอยู่เสมอ คุณสุจินต์พูดว่า   พระโอวาทปฏิโมกข์ที่พระสงฆ์สวดนั้น   เริ่มด้นด้วยเรื่องความอดทนว่า

“ขันติคือ ความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง…”
(ขันติ ปรมัง ตโป ตีติกขา..)

เราอาจสนทนากันอย่างยืดยาวเรื่องความอดทน   โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเมื่อไรมีความอดทน   และเมื่อไรไม่มีความอดทน    เมื่อจิตเป็นกุศลก็มีความอดทน   และเมื่อจิตเป็นอกุศลก็ไม่มีความอดทน

ขณะเดินทางสิ่งต่างๆ มักไม่เกิดขึ้นตามที่กะไว้   เราหวังว่าจะได้ขึ้น “สิริปาทะ” (ดอยแอดัมส์)   เป็นสถานที่ซึ่งพระสัมมาสมพุทธเจ้าได้เสด็จมา   เราต้องยกเลิกรายการนี้ถึงสองครั้ง   เพราะเวลาไม่อำนวยและเข้าหน้าฝนแล้ว   เราคิดเสมอว่าเรากำหนดสถานการณ์ได้ด้วยการเตรียมการไว้   แต่จะเป็นไปตามแผนหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย   เราไม่สามารถบีบบังคับสถานการณ์ต่างๆ   โดยยืนยันให้เป็นไปตามแผนของเราได้   ในสถานการณ์เช่นนั้น   เราต้องหัดอดทน   ถ้าเราเข้าใจว่ามีแต่เพียงนามกับรูปเท่านั้นไม่ว่าเราจะอยู่บนภูเขาหรืออยู่ในเมือง ก็ทำให้เราอดทนขึ้น

เราควรอดทนในการพูดจา   แม้ในเมื่อเราสนทนาธรรมก็ไม่ใช่ว่ากุศลจิตจะเกิดขึ้นตลอดเวลา   เราอาจพูดด้วยความไม่อดทนผิดกาละ   เราอาจพูดด้วยความยึดมั่นต่อคำพูดของเราเอง   ขณะนั้นไม่มีเมตตาธรรมเลย

ในมัชฌิมนิกาย   มูลปัณณาสก์  กกจูปมสูตร   ข้อ ๒๖๗   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงลักษณะของวาจาต่าง ๆ ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย    ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ  คือ  กล่าวโดย กาลอันสมควรหรือไม่ สมควร ๑   กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๆ ๑    กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑   กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑   มีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าว ๑   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม   จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม    ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้ในข้อนั้น   พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่าจิตของเราจักไม่แปรปรวน   เราจักไม่เปล่งวาจาลามก    เราจะอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์   เราจักมีจิตเมตตา   ไม่มีโทสะในภายใน   เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น   และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้   ไม่มีเวร  ไม่มีพยาบาท   ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทางซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล ฯ

เราควรพูดในกาลอันควร   และไม่ควรพูดในกาลที่ไม่สมควร เราจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย   เมื่อไม่ใช่กาลที่สมควรแก่การสนทนาธรรม   เราก็พูดกันเรื่องอื่นได้ด้วยกุศลจิต   คุณสุจินต์บอกดิฉันว่า “เราปฏิบัติธรรมด้วยเช่นกันในเวลาที่เราไม่ได้สนทนาธรรม”

ดิฉันเคยคิดว่าการพูดเรื่องดอกไม้ผลไม้   ธรรมชาติ  เด็ก ๆ  และลูก ๆ หลาน ๆ   มักจะเกิดขึ้นจากอกุศลจิตเสมอ   และคิดว่าเป็น “ดิรัจฉานกถา” ตามที่กล่าวไว้ในทีฆนิกาย   ศีลขันธวรรค  มัชฌมศีล  เช่น   “พูดเรื่องพระราชา  โจร   เสนาบดี  หรือกองทัพ ต่าง ๆ   “สิ่งเหล่านี้ภิกษุไม่ควรพูด

พระธัมมธโร ได้อธิบายให้ดิฉันฟังว่า   แม้แต่การพูดที่ระบุไว้ว่าเป็น ”ดิรัจฉานกถา” นั้นบางทีก็อาจเกิดขึ้นได้จากกุศลจิตได้   เช่น   เมื่อเราพูดถึงพระราชาว่า   แม้แต่พระราชาก็จะต้องสวรรคต   จิตซึ่งระลึกถึงความไม่ยั่งยืนของชีวิตนั้นเป็นกุศลจิต

เราพูดเรื่องที่คนอื่นสนใจด้วยเมตตาและกรุณาได้ เมื่อคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น    คุณสุจินต์อธิบายให้ดิฉันฟังว่า   การทำให้คนอื่นสบายใจไม่จำเป็นต้องเกิดจากโลภะ   อาจเกิดจากกุศลจิตก็ได้   เช่น  เมื่อเรากล่าวว่า “สวนสวยจริง ๆ” อาจพูดด้วยโลภะแต่ก็อาจจะพูดด้วยความเมตตา หรือด้วยความพลอยยินดี (มุทิตา) ก็ได้   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตที่ทำให้พูดเช่นนั้น   ในขณะที่เกิดความพลอยยินดีด้วยนั้น ไม่มีความริษยา    สิ่งที่ถูกต้องที่สุดก็คือ   เมื่ออยู่กับคนอื่นเราควรเจริญเมตตา   กรุณา  มุทิตา (ความพลอยยินดี)   และอุเบกขา (การวางเฉย)

ดิฉันถามพระธัมมธโรว่า   เวลาคนอื่นเล่าเรื่องอะไร ๆ ให้ฟังด้วยอกุศลจิต   ดิฉันควรจะพูดอย่างไร    ท่านได้ให้ข้อสังเกตว่า   “เวลานั้นช่างเป็นโอกาสวิเศษสุดที่จะเจริญเมตตาและกรุณา”   เมื่อมีเมตตาและกรุณา    กุศลจิตก็รู้ว่าควรจะพูดอะไร

เราไปเยี่ยมคนหนึ่งที่ไม่ชอบเสียงดัง ๆ เอาเสียจริง ๆ   เขาโกรธคนที่จุดประทัดเล่นสนุก ๆ ในวันปีใหม่   ดิฉันเห็นใจเขาเพราะเวลามีใครเปิดวิทยุดัง ๆ ดิฉันก็ขัดใจทันที    เราไม่ชอบโทสะและความรู้สึกไม่สบายใจ   แต่เรารู้สาเหตุของโทสะจริง ๆ   หรือเมื่อเรามีปัญหา   เราคิดถึงสาเหตุของปัญหาในทางที่ถูกหรือเปล่า   สาเหตุนั้นเกิดจากภายในตัวของเราเองเสมอนั่นคือ   จากกิเลสของเราเอง   พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่มีปัญหาอีกเลย

เราชอบสิ่งที่น่าพึงพอใจ   และเราไม่ชอบสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ โลภะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ   ดิฉันรู้อย่างนี้ทางทฤษฎี   แต่เวลาเกิดไม่พอใจเมื่อไรก็ต้องมีคนเตือน   คุณสุจินต์เน้นว่าเมื่อเกิดความขัดเคืองใจ   ย่อมแสดงว่า โลภะซึ่งเป็นปัจจัยนั้นต้องมีกำลังเป็นอย่างมาก   ซึ่งทำให้ดิฉันเห็นว่าอกุศลช่างน่ารังเกียจจริง ๆ   ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ   ขณะนั้นจะไม่มีความอดทนและไม่มีความสงบ

การรู้ลักษณะอาการต่าง ของอกุศลและกุศล   นับว่ามีประโยชน์มาก    ถ้าหากลักษณะอาการหนึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่เราในขณะหนึ่ง   ลักษณะอาการอีกอย่างหนึ่งอาจจะมีประโยชน์ก็ได้   การคิดถึงกรรมและวิบากทำให้เราอดทนมากขึ้น   เวลาได้ยินเสียงที่ไม่ถูกหูและเกิดโทสะ   เราไม่ควรลืมว่าการได้ยินเสียงที่ไม่น่าพึงพอใจเป็นผล   (วิบาก) ของการกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) ที่เราได้ทำไว้   การได้ยินนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้ว   และไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้   การได้ยินรู้เสียงที่ไม่น่าพอใจเพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไปทันที   ไม่ยั่งยืนเลย

เมื่อใดไม่อดทนเมื่อนั้นก็มีอวิชชา   อวิชชาปิดบังความจริง   ปัญญาเห็นโทษของอกุศล   และนี่เองที่เป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น

จะต้องหัดอดทนต่อเหตุการณ์มากมาย ที่ดูไม่คอยจะสำคัญอะไรในชีวิตประจำวันของเราด้วยเช่นกัน   เวลาที่ได้รับของขวัญ เช่น หนังสือที่เราไม่ชอบ    เราควรจะหัดอดทน   ด้วยการคิดถึงความเมตตาของผู้ให้ เป็นต้น

ดิฉันเกิดเป็นหวัดและสระผมไม่ได้หลายวัน   คุณสุจินต์ได้เตือนให้ดิฉันอดทนแม้ในเรื่องนี้ด้วย   ดิฉันมักจะมองข้ามข้อเท็จจริงเช่นนี้   แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ เหล่านี้ไม่สำคัญกระนั้นหรือ    มีมากมายหลายขณะเหลือเกินในชีวิตของเรา ที่ผ่านไปโดยไม่ได้สังเกต

กุศลจิต และอกุศลจิตเป็นปัจจัยต่อลักษณะหน้าตาของเรา   ทำให้เกิดสีหน้าอาการต่าง   เวลาเราหน้าตาบูดบึ้งไม่ใช่เพราะขาดการนึกถึงใจคนอื่นดอกหรือ   ถ้าเราไม่ลืมข้อนี้ก็จะทำให้เราดีกับคนอื่นได้   ถึงแม้ว่าขณะนั้นเราจะเหน็ดเหนื่อยก็ตาม   เจ้าภาพฝ่ายหญิงของเราที่อนุราธปุระเป็นคนที่ยิ้มอยู่เสมอ   แม้ในขณะที่เราต้องเสียเวลาคอยรถนาน ๆ   เดี๋ยวนี้ดิฉันเห็นคุณค่าของการคำนึงถึงจิตใจผู้อื่น   แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

เวลาเหนื่อยเรามักจะไม่พอใจ   นี่ก็เกิดมาจากความยึดมั่นในสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายของเราเป็นปัจจัย   “โทสะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย”   เราอาจจะพูดอย่างนี้ได้ ทั้งด้วยอกุศลจิตหรือด้วยปัญญา    แม้ว่าเราจะพูดว่าโทสะเกิดจากเหตุปัจจัยก็ตาม   แต่เราอาจจะยังถือว่าเป็น “โทสะของฉัน”   และทำให้โทสะเป็นเรื่องสำคัญเสียเหลือเกิน   เราอาจให้ความเหน็ดเหนื่อยของเราเป็นข้ออ้างที่จะต้องขัดเคือง   ขณะที่ลักษณะของโทสะปรากฏ   สติก็ระลึกรู้ได้ว่า   เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง   ไม่ใช่ตัวตน

กุศลขั้นวิปัสสนาอาจจะไม่เกิดบ่อย   แต่ข้อสำคัญคือไม่ลืมที่จะเจริญกุศลทุกประการ   เมื่อเราไปเยี่ยมหญิงชราคนหนึ่งที่อยู่ตามลำพังในที่ห่างไกลผู้คน   เพื่อนคนหนึ่งตัดผมให้ท่านและเศษผมสีขาวก็ได้ร่วงหล่นลงมา   ชั่วขณะหนึ่งเราอาจพิจารณา “กายคตาสติ” ผม..ซึ่งเป็นปัจจัยให้สงบได้ อีกขณะหนึ่ง   เราอาจเจริญเมตตาในขณะที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุท่านนั้น   หรือขณะที่มองดูมดที่ไต่อยู่บนเสาประตูบ้านของท่าน   ขณะต่อมาอาจจะศึกษาพิจารณาสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า   เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

จำเป็นที่จะต้องสงบเสียก่อนแล้วจึงจะเกิดสติระลึกรู้สภาพนามและรูปได้กระนั้นหรือ   ในมัชฌิมนิกาย   มหาสติปัฏฐานสูตร  สูตรที่ ๑๐   อานาปานบรรพ   ที่เกี่ยวกับการมีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก   ปฏิกูลมนสิการบรรพ   ระลึกรู้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนวสีวถิกาบรรพ   ระลึกรู้สภาพซากศพบ่งไว้ กระนั้นหรือ

เมื่อเราอ่านข้อความในพระสูตรนี้ทั้งหมด   จะเห็นได้ว่าพระบรมศาสดามิได้ทรงสอนให้ต้องเจริญสมถะก่อนเลย   พระสูตรนี้ (และในสูตรอื่น ๆ ทั้งหมด)  สอนว่า ไม่ว่ากำลังทำอะไร  เดิน  ยืน   นั่ง  นอน  เจริญความสงบ   หรือกำลังทำกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด   สติก็จะระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้   แม้แต่อกุศลจิตก็เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้   ตามข้อความในสติปัฏฐานสูตรตอนที่ว่าด้วย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน “การพิจารณาจิต”

จิตที่เจริญสมถภาวนาก็เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้เช่นกัน   ขณะที่สงบนั้นไม่มีนามรูปดอกหรือ   ตัวอย่าง เช่น เมื่อจิตสงบเพราะระลึกถึงซากศพ   สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้สภาพธรรมใด ๆ ที่ปรากฏในขณะนั้นได้   นี้เป็นหนทางที่ทำให้ประจักษ์นามและรูปตามความเป็นจริงได้ในที่สุด   ไม่มีหนทางอื่นอีกเลย

ตามที่เรารู้แล้วว่าปัญญาขั้นสมถะนั้นต่างกับปัญญาขั้นวิปัสสนา   ปัญญาขั้นสมถะไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา   การเห็น  เสียง   หรือการได้ยินที่กำลังปรากฏ   ปัญญาขั้นสมถะจะกลับกลายเป็นปัญญาขั้นวิปัสสนาไปเองไม่ได้

บางครั้งเรารู้สึกว่าเวลาเหนื่อยหรือไม่สบายนั้น เจริญกุศลใด ๆ ไม่ได้เลย   เราไม่ได้ถือเป็นข้ออ้างที่จะไม่เจริญกุศลดอกหรือ   กรยึดมั่นในตัวตนเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลหลายประการ

คุณสุจินต์บอกว่า   “การไม่เห็นว่าตัวเองสำคัญเป็นปัจจัยให้กุศลเจริญ”   การที่ได้อยู่กับคนอย่างคุณสุจินต์และคุณดวงเดือนซึ่งมีจิตเมตตา   อดทน   และมีน้ำใจอย่างเหลือเกินนี้เป็นที่ประทับใจยิ่ง    คุณดวงเดือนไม่มองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ เลย    เธอรู้ว่าการแสดงความเอื้ออารีในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นมีความสำคัญ   เธอกับคุณสุจินต์พูดกันทุกวันเรื่องการให้   วันนี้จะให้อะไรใครบ้าง   ทั้งสองได้นำของที่มีประโยชน์หลาย ๆ อย่างมาจากประเทศไทย เพื่อถวายพระ   คุณดวงเดือนดูแลคนอื่น ๆ ด้วยความกรุณาตลอดวันและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออยู่ทุกขณะ   ดิฉันยังระลึกถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเธอ ซึ่งเป็นตัวอย่างอันน่าประทับใจอยู่เสมอ   ตัวอย่างบุคคลเป็นประโยชน์มากกว่าคำพูด

คุณสุจินต์ได้ชี้ให้เห็นว่า การปลูกฝังนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นทำให้คลายความยึดมั่นในสมบัติของตนเอง หากเราไม่ปลูกทานุปนิสัยแล้ว   เราจะละวางความยึดมั่นร่างกายและจิตใจของเราได้อย่างไร   เรายึดมั่นขันธ์ห้ายิ่งกว่าอื่นใด   เราไม่อยากสูญเสียขันธ์ห้าเลย

การไม่มีโลภะ โทสะ หรือโมหะ ในขณะนี้ก็เป็นความอดทน คุณสุจินต์บอกว่า   ถ้าเราไม่เจริญกุศลเดี๋ยวนี้   ก็มีปัจจัยมากขึ้นอีกที่จะให้เกิดอกุศล

พระธัมมธโรเตือนดิฉันว่าเราจะต้องปลูกฝังนิสัยอดทน ทั้งเมื่อยู่กับคนอื่นและเมื่อไม่ได้อยู่กับคนอื่น    เมื่อเราอยู่กับคนอื่น ๆ เรามักจะมีโลภะบ้าง  โทสะบ้าง   แล้วก็ไม่อดทน    ควรที่จะเจริญเมตตาและกรุณา แทนที่จะมีโลภะและโทสะ   เวลาเราอยู่คนเดียว   เราก็ชอบที่จะอยู่ตามลำพัง   หรืออาจจะไม่ชอบอยู่ตามลำพังก็ได้   ในสถานการณ์เช่นนั้นเราก็ต้องอดทนด้วยเช่นกัน    ถ้ามีสติระลึกรู้สภาพธรรมใด ๆ ที่ปรากฏแล้ว   จะอยู่กับคนอื่น หรือไม่ได้อยู่กับใครก็ไม่สำคัญอะไรเลย   จะต่างอะไรกัน   ความจริงแล้วไม่มีคนมีแต่นามกับรูปเท่านั้น   ที่สำคัญกว่าอื่นใดนั้นก็อยู่ที่สติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เราหมดความอดทนหรือเปล่าเวลาที่ดูเหมือนว่า เราไม่ได้เจริญปัญญาขึ้นแต่อย่างใดเลย    การเจริญสติระลึกรู้นามและรูปนั้นจะต้องมีความอดทนเป็นชาติ ๆ   ถ้าเราปลูกฝังนิสัยอดทนต่อสถานการณ์ทั้งหลายในชีวิตประจำวันแล้ว   เราก็จะมีความอดทนมากยิ่งขึ้นในการเจริญวิปัสสนา   เราจะมีความอดทนที่จะศึกษาพิจารณาสภาพธรรม   โดยสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้   เราจะไม่เบื่อหน่ายที่จะศึกษา พิจารณานามและรูปบ่อย ๆ   ไม่มีวันเพียงพอเลย

วันสุดท้ายที่ดิฉันอยู่ที่ศรีลังกาเป็นวันที่ชาวสิงหฬเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา   ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ   ตรัสรู้   และดับขันธปรินิพพาน (หนึ่งเดือนก่อนหน้าประเทศอื่น ๆ   ที่เป็นเช่นนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการคิดคำนวณวัน)   คนเป็นจำนวนมากรวมทั้งเด็ก ๆ พากันแต่งชุดขาว   และถือศีลแปดอยู่กับบ้านหรืออยู่วัด

ที่ศรีลังกาดิฉันเกิดความชื่นชมการถือศีลแปดในวันวิสาขบูชา   พวกเราเลยพากันถือศีลแปดด้วยความประทับใจในชาวสิงหฬที่เป็นตัวอย่าง   เจ้าภาพหญิงคนหนึ่งของเราบอกดิฉันว่า   เธอได้ถือศีลแปดเดือนละครั้งที่บ้าน   และถ้าหากวันอุโบสถไม่สะดวกสำหรับเธอ   เธอก็จะถือศีลแปดในวันอื่นแทน

การถือศีลแปดเป็นอีกทางหนึ่งที่ปลูกฝังนิสัยอดทน   เวลาถือศีลแปดอยู่กับบ้าน ก็จะรู้ความจริงว่าเราติดนิสัยบริโภคอาหารในเวลาวิกาลมากเพียงใด   เราไม่อดทนเรื่องอาหารด้วยมิใช่หรือ   ในวันที่ถือศีลเช่นนั้น   เตือนให้เรารู้ตัวว่าเราติดอะไร ๆ   ที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน   เช่น  การนอนบนเตียงอ่อนนุ่ม   หรือนั่งบนเก้าอี้แสนสบาย
เวลาเหล่านี้มักจะผ่านเราไปโดยมิได้สังเกต   เราไม่มีสติระลึกรู้สภาพธรรมเหล่านี้เลย

พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการถือศีลแปด   เพราะในวันนั้นผู้ถือศีลแปดได้ปฏิบัติตนตามอย่างพระอรหันต์

ในอังคุตตรนิการ  อัฏฐกนิบาต   อุโบสถวรรคที่ ๕
สังขิตตสูตร  ข้อ ๑๓๑    มีข้อความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ   อันบุคคลเข้าอยู่แล้วย่อมมีผลมาก   มีอานิสงส์มาก   มีความรุ่งเรืองมาก   มีความแพร่หลายมาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ   อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างไรจึงมีผลมาก   มีอานิสงส์มาก   มีความรุ่งเรืองมาก   มีความแพร่หลายมาก

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้   ตระหนักชัดดังนี้ว่า   พระอรหันต์ทั้งหลายละปาณาติบาต   งดเว้นจากปาณาติบาต   วางท่อนไม้  วางศาสตรา   มีความละอาย  เอื้อเอ็นดู   อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิตในวันนี้    แม้เราก็ละปาณาติบาต   งดเว้นจากปาณาติบาต   วางท่อนไม้  วางศาสตรา   มีความละอาย  เอื้อเอ็นดู   อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดคืนและวันนี้   เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้   และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว   อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๑ นี้

ศีลข้ออื่น ๆ ก็โดยนัยเดียวกัน

เมื่อเราถือศีลแปดเป็นครั้งคราว   เป็นโอกาสให้เราระลึกถึงพระครูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ปราศจากโลภะโดยสิ้นเชิง    โลภะย่อมจะเกิดขึ้นเนือง ๆ   แต่ถ้ามีสติระลึกรู้โลภะขณะที่ปรากฏ   เราก็จะค่อย ๆ ละคลายการยึดโลภะว่าเป็นตัวตน

ในวันวิสาขบูชาพวกเราได้ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศูนย์ข่าวสารนั้น   และต่อจากนั้นเราก็ไปวัดสองสามแห่ง ที่วัดหนึ่งเราเห็นเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของบาตรของพระบรมศาสดา ซึ่งขุดได้จากซากปรักหักพังของพระสถูปโสภราใกล้เมืองบอมเบย์   อีกวัดหนึ่งที่เราไป มีพระบรมธาตุของท่านพระสารีบุตรและของท่านพระโมคคัลลานะประดิษฐานอยู่   ที่ศรีลังการเรามีโอกาสมากที่จะระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และของพระอรหันต์ทั้งหลาย

ในตอนบ่ายได้มีการสนทนาธรรมที่ศูนย์ข่าวสารเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา   การเห็น  การได้ยิน   และสภาพธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏ   คุณสุจินต์ได้กล่าวเน้นว่านามธรรมที่เห็น ไม่ได้ต่างกับเห็นในขณะนี้เลย   ดูเป็นการยากที่จะรู้ลักษณะของสภาพเห็น และเรามักจะคิดว่าจะต้องต่างกับเห็นในขณะนี้    คุณสุจินต์กล่าวว่า   “พิจารณาศึกษาเสียเดี๋ยวนี้   เมื่อมีการได้ยินก็ควรจะศึกษาพิจารณาสภาพธรรมที่ได้ยิน   ไม่ใช่พิจารณาสภาพธรรมที่เห็น…ขณะใดที่หลงลืมสติ   ขณะนั้นก็มีอวิชชา   เมื่อมีสติระลึกรู้   ปัญญาก็เริ่มเจริญขึ้น”

คุณสุจินต์บอกว่าการเข้าใจสิ่งที่สติระลึกรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก   ตัวอย่างเช่น   เราควรรู้ว่าการเห็นเป็นอย่างไร   บ่อยครั้งเหลือเกินที่ดูเหมือนกับว่าเราเห็นคนและเห็นสิ่งของต่างๆ   แต่นั่นไม่ใช่การเห็น   เป็นการใส่ใจในรูปร่างและสัณฐาน ซึ่งเป็นการคิดถึงบัญญัติ   ฉะนั้นถ้าหากเราถือสิ่งที่ไม่ใช่การเห็น ว่าเป็นการเห็นแล้ว   ก็ไม่มีสติที่ระลึกรู้ตรงอารมณ์ที่ถูกต้อง    เราไม่ควรจะท้อแท้ในความไม่รู้ของเรา   เมื่อรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สัมมาสติ ก็เตือนให้เกิดมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้   ไม่ว่าจะเป็นการคิด   ความสงสัย หรือนามธรรม หรือรูปธรรมใด ๆ

เมื่อมีสัมมาสสติก็ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ   เพียงทีละอย่างเท่านั้น ขณะนั้นจะไม่ปะปนสภาพเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา   หรือสภาพเห็นกับการใส่ใจในรูปร่างสัณฐาน   ถ้ายังไม่มีสัมมาสติก็ไม่ควรจะประหลาดใจ   เพราะว่าจะต้องศึกษา พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ   ด้วยความอดทนอย่างยิ่ง   หนทางนี้เท่านั้นที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้

ร้อยเอกเปเรร่าและคุณซาร่าห์ได้มาส่งดิฉันที่ท่าอากาศยาน   ระหว่างทางเราเห็นการตามประทีปโคมไฟและพระพุทธรูป ที่ประชาชนได้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา   ที่ท่าอากาศยานคุณซาร่าห์ได้เตือนดิฉันว่าเวลาที่เราคิดถึงคนและประเทศที่เราชอบ   ขณะนั้นเป็นการคิดถึงบัญญัติและเราจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ   แต่ถ้าเราตระหนักว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะที่รู้อารมณ์หนึ่งแล้วก็ดับไปทันที   เราก็จะมีปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงมากขึ้น   คุณซาร่าห์ได้กล่าวว่า   “ศรีลังกาและผู้คนที่เราชอบพอ   ตลอดระยะเวลาห้าสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น   บัดนี้ทั้งหมดนั่นก็เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง   เป็นความคิดชั่วขณะนี้ แล้วก็ดับไป”

ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้น   ชั่วขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น


 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "ธรรมจาริกในศรีลังกา"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!