Buddhist Study   ธรรมจาริกในศรีลังกา   บทที่1
โดย  นีน่า  วัน   กอร์คอม   
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
   

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 
บทที่ ๑

"พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน”   เป็นเนื้อหาของการสัมมนาทางพระพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา เราปฏิบัติตามพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชีวิตประจำวันกันจริง ๆ หรือเปล่า   เราไม่ได้หลงลืมกันบ่อยๆ ดอกหรือ ในขณะที่เรากำลังขาดความอดทนนั้น   ความเมตตา และ ความกรุณา ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้หายไปไหน   ในทางทฤษฎีแล้วเราตระหนักดีถึงหนทางที่ดีงามต่าง ๆ ตามคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน   เราคิดว่าเราเข้าใจเรื่องการอบรม   การกระทำชอบ  วาจาชอบ  และ การดำริชอบ   แต่แล้วเราก็หลงลืมมันเสียเกือบทุกครั้ง   เราอ่านพระสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น   การพูดจาไพเราะ   การพูดตามกาลเวลาอันควร ความอดทนและเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายอันเป็นเรื่องที่ดีงาม   เราคิดว่าเราเข้าใจในสิ่งที่ได้อ่าน   แต่อย่างไรก็ตาม   เราก็มักจะละเลยที่จะนำธรรมนั้น ๆ มาปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา   การที่เราได้รับการเตือนสติในการปฏิบัติธรรม   และได้สนทนาธรรมกับสหายธรรมใหม่ ๆ ระหว่างที่อยู่ในศรีลังกาครั้งนี้จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง

ดิฉันได้รับคำเตือนให้มีชีวิตอยู่กับขณะปัจจุบัน   ไม่ใช่ในอดีตและไม่ใช่ในอนาคตและให้ศึกษาสภาพธรรมในขณะปัจจุบันด้วยสติที่ระลึกรู้   คุณสุจินต์เตือนเราทุกวันว่า “ถ้าไม่ศึกษาสภาพธรรมในขณะปัจจุบัน   ปัญญาก็เจริญไม่ได้”

ในครั้งกระโน้น   พระภิกษุ ภิกษุณี และคฤหัสถ์ ในศรีลังกาได้ศึกษาและปฏิบัติ “สติปัฏฐาน” (ฐานที่ตั้งแห่งสติระลึกรู้) กันอย่างกว้างขวาง คนเป็นเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์    ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตตผลก็เพราะว่าท่านมีสติระลึกรู้สภาพความเป็นจริงที่ปรากฎทางตา   หู  จมูก  ลิ้น  กาย   และมโนทวารในขณะปัจจุบัน

ร้อยเอก เปเรร่า   แห่งศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนาในโคลอมโบได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาเพื่อสนทนาธรรมขึ้นเป็นเวลา ๕ สัปดาห์ในโคลอมโบ  อนุราธปุระ และแคนดี    คุณสุจินต์กับคุณดวงเดือน ได้มาจากประเทศไทย   ซาร่าห์มาจากอังกฤษ   และดิฉันมาจากฮอลแลนด์    เรามาพบกันที่ศรีลังกาในวาระที่มีสัมมนานี้   ท่านธัมมธโรภิกขุ   และท่านเจตนันโทภิกขุ ได้ล่วงหน้ามาจากประเทศไทยก่อนการประชุมหลายเดือน     และสามเณรสุนทโรได้มาพร้อมกับคุณสุจินต์

พระคุณเจ้า มหานายเก (ตำแหน่งสำหรับพระมหาเถระซึ่งเป็นพระสังฆราชามีตำแหน่งสูงสุดตำแหน่งหนึ่งในศรีลังกา) ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนาด้วยการจุดตะเกียงน้ำมันตามประเพณี   การประชุมได้กระทำกันในเวลากลางคืนโดยเป็นการสนทนาธรรม   ส่วนในเวลากลางวันเราก็พบปะกับสหายชาวสิงหฬทั้งหลายที่บ้านของเขา   และสนทนาธรรมอย่างกันเองมากขึ้น    ตลอดเวลา ๕ สัปดาห์ที่เราใช้ชีวิตในศรีลังกานี้   เราได้รื่นรมย์กับความเอื้ออารีของชาวสิงหฬเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง   ในระหว่างที่เราได้พำนักเป็นแขกอยู่ในบ้านของท่านเหล่านั้น   ได้รับการเลี้ยงดูทั้งอาหารกลางวันและอาหารเย็นด้วยแกงกะหรี่อันโอชะ    ร้อยเอก
เปเรร่าเป็นผู้คอยดูแลพวกเรา   และในเมื่อเราเกิดมีปัญหาเรื่องวีซ่าหรือปัญหาอื่นใดเขาก็จะยิ้มและกล่าวว่า   “บาดแผลทั้งหลายจะหายสนิท”

พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมายังศรีลังกา ๓ ครั้ง   และในช่วงเวลาที่ได้เสด็จมาเยือนนั้น พระองค์ได้เสด็จไปยังสถานที่
ต่าง ๆ ๑๖ แห่ง   พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระสถูปหลายแห่ง   และกิ่งตอนจากพระศรีมหาโพธิ์ต้นดั้งเดิมที่พระองค์ทรงตรัสรู้   ณ เมืองคยาก็ได้รับการอัญเชิญมาปลูกยังศรีลังกา   ณ   เมืองอนุราธปุระตั้งแต่ครั้งกระโน้น   และยังคงเจริญเติบโตอยู่  ณ   ที่นั้นตราบจนทุกวันนี้    เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มีหน่อใหม่แตกขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้อีก   ปรากฏการณ์นี้จะไม่เป็นนิมิตหมายอันเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าพระพุทธธรรมยังคงเบ่งบานอยู่ในศรีลังกากระนั้นหรือ

ดิฉันเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา   และได้เริ่มต้นอ่าน “มหาวังสะ” หรือ สมุดจดหมายเหตุ (มหาวังสะ ได้รวบรวมขึ้นเมื่อตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบห้าหรือตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบหก)   หลังจากการทำสังคายนาครังที่สามที่กระทำกันในประเทศอินเดียในรัชสมัยของพระเจ้าอโศก (พ.ศ.๒๙๓)   สมณทูตหลายคณะก็ได้รับมอบหมายให้ไปยังประเทศต่าง ๆ    พระอรหันต์มหินทเถระพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกได้รับมอบหมายให้ไปยังศรีลังกาพร้อมกับพระภิกษุอื่นอีกสี่รูป   สามเณรหนึ่งรูป   กับอุบาสกอีกหนึ่งท่าน   คณะสมณทูตได้ไปยังมหินทเลและได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะกษัตริย์สิงหฬ   ซึ่งกำลังทรงล่ากวางอยู่
เมื่อกษัตริย์สิงหฬได้ทรงวางคันธนูลงข้างพระองค์   และหลังจากที่พระมหินทเถระได้ทดสอบความพร้อมของพระองค์ที่จะทรงฟังธรรมแล้ว   พระเถระก็ได้แสดงธรรมเรื่องจูฬหัตถิปมสูตร (ข้อเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้าง   มัชฌิมนิกาย   มูลปัณณาสก์สูตรที่ ๒๗)    สูตรนั้นพรรณนาชีวิตของพระภิกษุซึ่งได้ละเว้นจากความชั่วต่าง ๆ ทั้งกาย  วาจา  ใจ   และความสังวรในทวารทั้ง ๖   โดยเจริญสติสัมปชัญญะ บำเพ็ญฌาน (อัปปนาสมาธิ)   และในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัตตผล

ในวันต่อมาพระมหินทเถระและภิกษุอื่น ๆ  ก็ได้ไปยัง
อนุราธปุระซึ่ง  ณ   ที่นั้นพระกษัตราธิราชก็ได้ถวายพระราชอุทยานแก่พระมหินทเถระ    สถานที่นี้ได้เป็น “พระมหาวิหาร” ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง   ต่อมาก็ได้มีพระวิหารเจติยบรรพต   และพระวิหารอื่น ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

พระมหินทเถระได้นำพระไตรปิฎกและอรรถกถาต่าง ๆ มายังศรีลังกา   และได้แสดงธรรมเป็นภาษาสิงหฬ   ชาวสิงหฬเป็นจำนวนมากปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในเพศพรหมจรรย์และได้พากันบวชเป็นภิกษุ   สตรีก็ปรารถนาจะเป็นภิกษุณี และเพื่อที่จะอุปสมบทสตรีเหล่านี้ให้เป็นภิกษุณีได้   พระภิกษุณีสังฆมิตตาพระขนิษฐาของพระมหินทะจึงได้เสด็จมายังศรีลังกาและได้นำกิ่งตอน ของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดียมาปลูกด้วย   ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิย
ติสสะนี้เองได้มีการก่อสร้าง   “ถูปารามดากะบะ”   พระสถูปเจดีย์องค์ที่เก่าแก่ที่สุดขึ้น   และได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอด้านขวาของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้   ณ  พระสถูปนี้

พระพุทธศาสนาได้เสื่อมถอยลงไปในประเทศอินเดีย   แต่กลับได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีในประเทศศรีลังกา   อย่างไรก็ตามผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของศรีลังกาย่อมจะประจักษ์ชัดว่าการอนุรักษ์พระพุทธศาสนาไว้นั้น   ช่างเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด   กษัตริย์ที่เข้ามารุกรานจากภายนอก   ตลอดจนกษัตริย์ในประเทศนี้เองซึ่งไม่สนับสนุนคณะสงฆ์ได้คุกคามต่อความอยู่รอดของพระศาสนาอย่างรุนแรง

ภายหลังจากการรุกรานของพวกทมิฬ   พระเจ้าทุฏฐคามินี (ประมาณ พ.ศ. ๓๙๓)   ได้สถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นใหม่และได้เริ่มก่อสร้างพระสถูป   “รูวันเวลิสายะ” อันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงของเมืองอนุราธปุระเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ   และเป็นศูนย์กลางของการสักการะบูชาคู่กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ในเมืองอนุราธปุระต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้

ไม่เพียงแต่ภัยจากสงครามเท่านั้น   ทุพภิกขภัยก็เป็นภัยพิบัติที่คุกคามต่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา   ซึ่งยังมิได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยเหมือนกัน   คนเป็นจำนวนมากได้เสียชีวิตไปในระหว่างทุพภิกขภัยนั้น   และบรรดาพระอรหันต์ที่รอดชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยรากไม้และผลไม้ต่าง ๆ   ก็ยังคงท่องสวดพระธรรมกันต่อไปอย่างทรหดและอาจหาญ    เมื่อท่านหมดพละกำลังที่จะทรงกายนั่งอยู่ต่อไป   ท่านก็เอนกายลงนอนแต่ก็ยังคงท่องสวดต่อไป

ภัยจากสงคราม ทุพภิกขภัย   รวมทั้งการก่อตัวของมิจฉาทิฏฐิและการปฏิบัติผิดต่างๆ   ได้ทำให้การอนุรักษ์พระศาสนาเป็นไปอย่างยากยิ่ง   ในที่สุดเมื่อพุทธศักราช ๔๕๔   จึงได้มีการจารึกพระธรรมวินัยเป็นลายลักษณ์อักษร   พระภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูปได้ร่วมกันกระทำสังคายนากิจอันยิ่งใหญ่นี้ในถ้ำอลูวิหาร (อลูลีน่า)   ซึ่งพวกเราได้ไปชมในระหว่างการจาริกของเรา

หลายศตวรรษต่อมา (พ.ศ. ๙๕๓)   พระพุทธโฆษาเถระได้เดินทางจากอินเดียมายังศรีลังกา    ณ  ที่นี้ท่านได้รจนา
“วิสุทธิมรรค” (หนทางแห่งความบริสุทธิ์) ขึ้น ท่านได้ประมวลและเรียบเรียงอรรถกถาทั้งสิ้นที่ท่านพบในศรีลังกาและได้แปลอรรถกถาเหล่านั้นจากภาษาสิงหฬเป็นภาษาบาลี คำแปลอรรถกถาของพระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   และพระอภิธรรมปิฎก   ส่วนใหญ่เป็นผลงานของท่านพระพุทธโฆษาเถระ    อรรถสาลินี (คำอธิบายขยายความ) เป็นอรรถกถาของธรรมสังคณี   คัมภีร์แรกของพระอภิธรรม    ศรีลังกาซึ่งเป็นแหล่งที่ได้อนุรักษ์พระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้งหลายไว้ เป็นประเทศที่น่าเร้าใจให้ไปเยือนเพื่อจะได้ระลึกถึงพระพุทธ   พระธรรม  และพระสงฆ์    ความจริงที่ได้เคยมีพระอรหันต์จำนวนมากมายอยู่ในประเทศนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ ว่าได้มีการปฏิบัติธรรมกันจริง ๆ ในชีวิตประจำวัน

แม้ว่าศรีลังกาจะได้ผ่านระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงหลายครั้งหลายครา   และถึงแม้จะได้ถูกกดขี่ข่มเหงอีกด้วยก็ตาม ชาวสิงหฬในทุกวันนี้ก็ยังมองเห็นความเกี่ยวข้องของพระธรรมในชีวิตประจำวันของเขา ชาวสิงหฬยังคงธำรงรักษาขนบธรรมเนียมอันดีงามซึ่งได้สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลไว้   เช่น  การถวายทานแด่พระภิกษุ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันอุโบสถ (วันพระกำหนดเอาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ และบางครั้งในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำด้วย)   และพิธีกรรมอย่างอื่นอีกมาก ในปัจจุบันนี้ได้มีหนังสือธรรมมากมายซึ่งเขียนโดยพระภิกษุและ
คฤหัสถ์ผู้ทรงความรู้และยังได้จัดพิมพ์สารานุกรมพุทธศาสนาขึ้นอีกด้วย

ชาวสิงหฬเป็นจำนวนมากเชี่ยวชาญภาษาบาลี   และสามารถสวดพระคาถาท่องข้อความจากพระไตรปิฎกได้ สุภาพสตรีเจ้าบ้านของเราในโคลอมโบจะใช้เวลาตอนค่ำของวันอุโบสถสวดสติปัฏฐานสูตร   และสูตรอื่น ๆ ในห้องพระของเธอ   เจ้าภาพซึ่งได้เชิญเราไปเลี้ยงอาหารกลางวัน   ได้ท่องกรณียเมตตสูตรให้เราฟังในรถยนต์ในขณะที่ภรรยาของเขาขับรถ เราสังเกตเห็นว่าผู้คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่คิดถึงเมตตาในขณะที่ท่องพระสูตรเท่านั้น   แต่เขาได้เจริญเมตตาตลอดวันด้วย   ความเมตตาของเขาปรากฎให้เห็นได้จากความมีใจคอกว้างขวาง   และความมีน้ำใจต่อแขกที่มาอยู่ที่บ้าน

เมื่อเราไปถึงศรีลังกาไม่นานก็ถึงวันอุโบสถ   เราได้เห็นคนเป็นจำนวนมากแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและถือศีลแปด (นอกเหนือจากศีลห้าแล้วศีลแปดก็เพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ  คือ   เว้นบริโภคอาหารหลังเวลาเที่ยง   เว้นการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ สวยงาม   และละเว้นจากการมหรสพและการประเทืองโฉม)   แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็ถือศีลแปดจนถึงหกโมงเย็น   ในวันนั้นเขาได้พาเราไปวัดกัลยาณี   ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางที่พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมายังศรีลังกาในครั้งที่สอง   ใกล้ๆ กับวัดนี้มีพระสถูป   ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและมีต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ด้วย   เราได้ยินเสียงกลองและบริเวณรอบ ๆ พระวิหารก็มีผู้คนนั่งอยู่เป็นกลุ่ม ๆ   ต่างก็สวดมหาสติปัฏฐานสูตรและพระสูตรอื่น ๆ  เขาจุดตะเกียงน้ำมัน   จุดธูปและถวายดอกไม้กัน

ท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ได้อธิบายให้เราทราบว่าก่อนที่ชาวศรีลังกาจะนำดอกไม้ไปบูชาเขาจะเด็ดกิ่งและใบออกหมดเสียก่อน และเขาไม่ใส่น้ำไว้แต่จะปล่อยให้เหี่ยวแห้งไป   เพราะดอกไม้จะต้องเหี่ยวแห้งไปตามธรรมชาติ   ผู้สูงอายุทั้งหลายจะไม่เกรงกลัวความชราและความตาย   เพราะตระหนักดีว่าเขาจะไม่สามารถล่วงพ้นความแก่และความตายไปได้เลย   เช่นเดียวกับดอกไม้จะต้องเหี่ยวแห้งไป

คาถาที่ใช้สวดตอนถวายดอกไม้นั้น   เป็นคำเตือนสติถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างไพเราะ   เจ้าภาพที่พาเราตระเวนชมในวันนั้นได้ท่องคำสวดนั้นให้เราฟังว่า

ด้วยหลากเพศสีมาลา   ข้าขอบูชา แด่องค์สมเด็จพระชินสีห์
ด้วยกุศลผลบุญพึงมี   ข้าขอชีวี นี้ปล่อยละคลายหน่ายวาง
แม้มวลดอกไม้หมองหมาง   มีแต่จืดจาง   เหี่ยวเฉาเหงาช้ำร่ำไป
เรือนร่างเรานั้นฉันใด   มิต่างอย่างไร   ธาตุแตกขันธ์ดับลับเอย

ดิฉันได้ประจักษ์ว่าการอภิปรายในการสัมมนาครั้งนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง   เราได้พูดกันถึงกุศลมากมายหลายอย่างที่พระบรมศาสดาของเราได้พร่ำสอน   ทาน  ศีล  และภาวนา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน    ข้อความในฑีฆนิกาย   ปาฏิกวรรค (ภาษาอังกฤษดิฉันใช้ฉบับแปลโดย ท่านพระนารทะ  สำนักพิมพ์วีล พับบลิเคชั่น ๑๔ บี.พี.เอส. แคนดี ศรีลังกา) สิงคาลกสูตร   มีว่า ขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่   ณ  พระวิหารเวฬุวัน   อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต   เขตพระนครราชคฤห์   พระองค์ได้ตรัสแก่สิงคาลกมาณพ   เรื่องการเจริญกุศลในชีวิตประจำวันว่า

บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ
มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง
ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
คนหมั่นไม่เกียจคร้าน
ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
คนมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา
ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
คนผู้สงเคราะห์   แสวงหามิตรที่ดี
รู้เท่าถ้อยคำที่เขากล่าว ปราศจากตระหนี่เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่าง ๆ เนือง ๆ
ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑
การประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑
ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย
ในคนนั้น ๆตามควร ๑
ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลกเหล่านี้แล
เป็นเสมือนสลักรถอันแล่นไปอยู่
ถ้าธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้
มารดาและบิดาไม่พึงได้
ความนับถือหรือความบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร
เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณา
เห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ
ฉะนั้นบัณฑิตเหล่านั้นจึงถึงความเป็นใหญ่
และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า   ดังนี้ ๆ

เมื่อเราอ่านพระธรรมเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะง่าย   แต่การจะปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอนั้น   ช่างเป็นเรื่องยากลำบากเสียนี่กระไร

ในวันหนึ่ง ๆ   มีปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตมากกว่าปัจจัยให้เกิดกุศลจิต   เมื่อยิ่งเห็นว่าตนเองขาดกุศลมากเพียงใด   ก็ยิ่งเห็นความสำคัญของการรู้จักตัวเองและรู้ลักษณะของจิตประเภทต่าง ๆ ให้ชัดแจ้งเกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น

เมื่อเราเห็นแจ้งว่าอกุศลเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจเพียงใด เราก็ใคร่จะเจริญกุศลมากขึ้น การเห็นโทษของอกุศลและคุณของกุศลก็เป็นปัญญาหรือความเข้าใจขั้นหนึ่ง   ความเข้าใจขั้นนี้เป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น

 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "ธรรมจาริกในศรีลังกา"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!