Buddhist Study | ธรรมจาริกในศรีลังกา
บทที่2 โดย นีน่า วัน กอร์คอม แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ |
|||
|
บทที่ ๒ สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงบุญกิริยาประการต่างๆ และกุศลประการหนึ่งก็คือ ทาน หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราควรอบรมเจริญความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ทว่าเราจะรู้ไหมว่า ขณะใดเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จริง ๆ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นไม่จิรัง
ไม่มีอัตตาที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ไม่มีชีพที่ถาวรมีแต่กระแสของสภาพรู้ที่สืบต่อและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
จิต (สภาพรู้)
เกิดขึ้นและดับไปในทันทีแล้วก็สืบต่อด้วยจิตดวงต่อไป
จิตต่างๆ
เกิดขึ้นแล้วดับไปสืบต่อกันไป ในวันหนึ่ง ๆ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกิดขึ้นน้อยมาก ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหลับ เราก็มีแต่แสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นของเรา ส่วนช่วงเวลาที่เราเป็นฝ่ายให้แทนที่จะเป็นฝ่ายได้นั้นช่างเล็กน้อยเสียเหลือเกิน เรารู้ตัวจริง ๆ หรือ ว่าขณะไหนเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราอาจจะไปยึดถือสิ่งที่ความจริงแล้วเป็นโลภะว่าเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็ได้ เรารู้ตัวหรือเปล่าว่ามีความผูกพันในบุคคลผู้รับ ผูกพันกับสิ่งของที่เราให้ และผูกพันกับกุศลกรรมของเราเอง เราติดข้องในความรู้สึกแช่มชื่นที่เกิดจากการให้ และไม่ได้สังเกตแม้แต่น้อยว่าขณะนั้นเป็นโลภะ เราอาจจะคิดถึง การให้ของฉัน และยึดถือกุศลกรรมว่าเป็นตัวตน โลภะเกิดขึ้นมากมายหลายขณะเกินกว่าที่เราคาดคิด
บางคนอาจจะคิดว่าโลภะเกิดก็ต่อเมื่ออยากได้อะไร
ๆ เมื่อเกิดละโมบ
แต่โลภะมีมากมายหลายรูปแบบ
บางอย่างก็หยาบและบางอย่างก็ละเอียดกว่า
บ่อยครั้งไหมที่พอเราและเห็นอะไรเข้าก็เกิดพอใจสิ่งที่เห็น
เราไม่ยึดมั่นในการเห็นและในตาของเราหรือ
เราย่อมไม่อยากสูญเสียดวงตาหรือสายตาที่ดี
นั่นก็แสดงว่ามีโลภะ
โลภะมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราเห็น
ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส
ได้กระทบกับสิ่งที่สัมผัสกาย
และขณะรู้สิ่งที่ บางคนอาจจะสงสัยว่า ทวาร หมายถึงอะไร ทวารคือทางที่จิตรู้อารมณ์ จิตเห็นรู้สิ่งที่ปรากฏทางทวารตา จักขุทวารก็คือจักขุปสาทอันเป็นรูปชนิดหนึ่งที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฎทางตาได้ จักขุปสาทเองนั้นไม่เห็น แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเห็น ทวารทั้งหมดมีอยู่ ๖ ทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ไม่มีตัวตนที่รู้สิ่งที่ปรากฏต่าง ๆ มีแต่จิตประเภทต่าง ๆ ที่เกิดดับสืบต่อกัน โดยรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารนั่นเอง ความโลภ ความโกรธ และความหลงสามารถเกิดในอารมณ์ที่รู้ทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวารนั้น เรามักจะทึกทักจิตซึ่งที่แท้จริงแล้วเป็นอกุศลจิตว่าเป็นกุศลจิตบ่อย ๆ เช่น ดิฉันไปช่วยคนที่ตักน้ำให้สตรีชราคนหนึ่ง ขณะที่ช่วยเขาตักน้ำดิฉันก็พูดธรรมไปด้วย แต่ดิฉันก็เกิดความโลภต่อกุศลของดิฉันอยู่หลายขณะทีเดียว และเมื่อผู้คนที่วัดแสดงความปรารถนาดีชื่นชมต่อดิฉันและอนุโมทนากุศลนั้น ดิฉันก็ซาบซี้งในความเอื้ออารีของเขา แต่ก็เกิดโลภะต่อสิ่งเหล่านั้นและต่อกุศลของดิฉันเองด้วยทันที เนื่องจากจิตต่าง ๆ เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วจึงยากเหลือเกินที่จะรู้ได้อย่างชัดแจ้งว่า ขณะใดจิตเป็นกุศลและขณะใดเป็นอกุศล ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นไม่มีโลภะ โทสะ และโมหะเลย เมื่อเรารู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นแล้ว เราก็จะทราบได้ว่าแม้แต่กุศลดังเช่นทานนั้น ก็อาจเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะขึ้นได้ เราจะรู้ก็ต่อเมื่อมีความติดข้องในผลของกุศลกรรม เช่น การเกิดในสุคติภพ หรือมิฉะนั้นก็รู้ได้เมื่อมีความสำคัญตนในกุศลนั้น เราอาจคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น บุคคลจึงต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะได้รู้ถึงความต่างกันระหว่างกุศลกับอกุศล ความเข้าใจอันถูกต้องหรือปัญญานั้นไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิตทุกดวง
เช่น
คนบางคนอาจช่วยเหลือคนอื่นเพราะเป็นอุปนิสัยของเขาโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมกับกุศลจิตเลยก็ได้
เราอาจถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุหรือถวายดอกไม้บูชาในโบสถ์ การรู้ความจริงของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นการเตือนสติให้เจริญปัญญา เพื่อรู้ชัดว่าขณะใดเป็นกุศลและขณะใดเป็นอกุศล เราจะต้องตรงต่อตัวเองจริง ๆ และควรรู้ว่าอกุศลย่อมเกิดขึ้นบ่อยกว่ากุศล ศีล เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง การละเว้นการกระทำชั่ว ทางกาย ทางวาจาและใจ เป็นกุศลศีล การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม และการช่วยเหลือผู้อื่นก็รวมอยู่ในศีลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการประชุมที่อนุราธปุระ ได้มีคนถามเรื่องการรักษาศีลหลายประเด็น บางคนที่มีอาชีพเป็นทหารได้ถามว่า การปฏิบัติตามคำสั่งให้ฆ่าคนนั้นเป็นอกุศลหรือไม่ คุณสุจินต์ได้ถามเขาว่า คุณต้องการจะฆ่าหรือว่าคุณจำเป็นต้องฆ่าเล่า ตรงนี้เองเป็นข้อที่ต่างกัน การฆ่าเป็นอกุศลกรรม (การกระทำชั่ว) แต่อกุศลกรรมก็มีหลายระดับ เมื่อบุคคลใดต้องการฆ่าอย่างสุดหัวใจ อกุศลกรรมนั้นเป็นขั้นแรงกว่าการฆ่าโดยปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ควรคิดว่าไม่มีวันจะล่วงละเมิดศีลห้าเลย ความโน้มเอียงที่จะเกิดอกุศลสารพัดชนิดนั้นย่อมนอนเนื่องอยู่เป็นประจำ และเมื่อประจวบโอกาสเราก็อาจกระทำอกุศลกรรมได้ บางคนอาจจะไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จำต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่นาน แต่ใครจะรู้แน่ได้เล่าว่าถ้าอยู่ในสภาวการณ์คับขันแล้วจะไม่ฆ่าสัตว์ เช่น เราอาจจะต้องฆ่าแมลง เพราะแขกกำลังจะมาบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หนึ่งถามว่า
เขาจะกระทำหน้าที่ของเขาด้วยกุศลจิตได้ไหม
คุณสุจินต์ได้กล่าวว่า
อาชีพของเขามีโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้มากมาย
เช่น
ช่วยในการรักษาระเบียบและช่วยประชาชนที่เดือดร้อน
ผู้พิพากษาท่านหนึ่งถามว่า
การที่จำต้องตัดสินลงโทษประหารชีวิตคนนั้น
เป็นการกระทำอกุศลกรรมหรือเปล่า
มีกฎหมายที่เราทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม บ่ายวันหนึ่งผู้พิพากษาท่านนั้นพร้อมทั้งครอบครัวได้มานมัสการพระธัมมธโร ภายใต้ร่มไม้ในบริเวณมหาวิหารที่อยู่ระหว่างพระสถูป รูวันเวลิสายะ กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ เรารู้สึกว่าสถานที่นี้ซึ่งเคยเป็นที่สนทนาธรรมตั้งแต่อดีตกาล เป็นที่เหมาะสำหรับสนทนาธรรมมาก ท่านพระธัมมธโรได้พูดถึงอันตรายของความทะเยอทะยาน ซึ่งอาจเป็นตัวก่อให้เกิดอกุศลจิตลักษณะต่าง ๆ และบางคนอาจกระทำอกุศลกรรม เช่น กล่าวเท็จเพื่อจะได้บรรลุจุดหมายของตน แต่การได้รับสิ่งที่น่าพอใจ เช่น เกียรติยศ และความเคารพนับถือนั้นเป็นผลของกุศลกรรม จะเป็นผลของอกุศลกรรมไปไม่ได้เลย เมื่อใดที่ไม่มีปัญญาก็ไม่รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิตและขณะใดเป็นอกุศลจิต และไม่รู้ว่าจะเจริญกุศลขึ้นได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงตกเป็นทาสของกิเลสทั้งหลายแหล่ ท่านผู้พิพากษาได้ให้เงินหญิงยากจนที่เดินเข้าใกล้
ๆ กลุ่มของเรา
คุณสุจินต์ได้กล่าวว่า
การให้ทานขณะนี้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย
หากปราศจากเหตุปัจจัยที่จะให้แล้วการให้ก็เกิดไม่ได้ การละเว้นจากมิจฉาวาจาก็เป็นอาการของศีลอย่างหนึ่ง ซึ่งเราเข้าใจในทางทฤษฎี แต่ในชีวิตประจำวันเราระลึกได้หรือเปล่าเมื่อกำลังจะกล่าววาจาที่ไม่น่าฟัง เช่น หากมีคนเสนอแผนงานที่เราไม่ชอบเลย เราหมดความอดทนแล้วพูดโผงผางออกไปหรือเปล่า ว่าเราไม่ชอบแผนงานของเขา หรือว่าเราจะสงบปากสงบคำไม่เพราะหูนั้นด้วยความเกรงใจเขา เราอาจจะรู้ว่าเวลาที่เราขึ้นเสียงเอะอะนั้นเป็นวาจาที่ไม่ดี ซึ่งนั่นก็เห็นชัด ๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อใดที่เราพูดจาไม่เกรงอกเกรงใจคนอื่นนั้น เรารู้ตัวหรือเปล่าว่านั่นเป็นวาจาที่ไม่สมควรเลยแม้ว่าเราจะไม่เอะอะเลยก็ตาม การแสดงความไม่พอใจด้วยวาจา เป็นการพูดที่เกิดจากความขัดเคืองใจ ด้วยเหตุนี้คำพูดนั้น ๆ จะเป็นสัมมาวาจาได้อย่างไร และแม้แต่การที่เราไม่ได้กล่าวอะไรเลยแต่หุบปากเงียบด้วยความไม่พอใจเมื่อไม่เห็นด้วยกับคนอื่น ก็ไม่ใช่กุศลจิตที่ละเว้นวจีทุจริต มีหลายพระสูตรที่มีข้อความเรื่องวาจาที่อ่อนโยน เช่น ในจุฬหัตถิปโทปมสูตร (มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๓๓๓) ซึ่งพระมหินทเถระได้เทศน์โปรดพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ข้อความเรื่องวาจามีว่า ให้พึง ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ พระธัมมธโรได้เล่าให้ดิฉันฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งดิฉันได้เห็นว่าเป็นข้อเตือนใจเราอย่างดียิ่งให้มีความอดกลั้นในการกล่าววาจา ท่านเล่าว่าคืนหนึ่งระหว่างการประชุม พระภิกษุไม่มีไมโครโฟน เมื่อพระภิกษุต้องการจะพูดอะไรก็ต้องคอยรับไมโครโฟนที่ส่งต่อกันมาให้ พระภิกษุทั้งหลายต่างรู้สึกว่าการรอคอยนี้เกิดประโยชน์มาก เพราะถ้าหากผู้ใดพูดอะไรออกมาทันทีแล้ว เขาก็อาจจะพูดด้วยอกุศลจิตได้เมื่อเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คนอื่นพูด ถ้าจำเป็นต้องรอเขาก็มีเวลาที่จะมีสติยับยั้งได้ การที่จะพูดด้วยกุศลจิตเสมอไปนั้นช่างยากเย็นจริง ๆ แม้แต่ในการพูดธรรมก็อาจจะมีความยึดมั่นในคำพูดและความคิดของตนเอง หรืออาจไม่พอใจคำพูดของคนอื่น หรืออาจจะมีความภาคภูมิใจในความรู้ของตนเอง เมื่อใดที่อกุศลจิตทำให้พูดแม้จะเป็นเรื่องธรรมก็ตาม ผู้พูดย่อมไม่สามารถอำนวยประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ผู้อื่นได้เลย ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นได้ว่าความเข้าใจจิตต่าง ๆ ของตนเองย่อมเป็นประโยชน์ที่สุดในการเจริญกุศล
home ปัญหาถาม-ตอบ หนังสือธรรมะ หมายเหตุ:
คัดลอกจากหนังสือ
"ธรรมจาริกในศรีลังกา"
|
|