Buddhist Study   ธรรมจาริกในศรีลังกา   บทที่ 7
โดย  นีน่า  วัน   กอร์คอม   
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
   

 

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 
บทที่ ๗

นาม และ รูป ย่อมปรากฏทีละอย่างทางทวารทั้ง ๖
นามและรูปมีลักษณะต่างกัน    เราควรรู้ลักษณะเหล่านี้    ลักษณะ เป็นอีกคำหนึ่งที่เขาขอให้เราอธิบาย

สภาพธรรม ทุกอย่างมี ลักษณะเฉพาะซึ่งต่างกับสภาพธรรมอื่น   สิ่งที่ปรากฏทางตามีลักษณะต่างกับเสียง   สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏได้ทางจักขุปสาท   แต่ปรากฏทางหูไม่ได้    เสียงปรากฏได้ทางหู   แต่ปรากฏทางตาไม่ได้    สิ่งที่ปรากฏทางตามีลักษณะที่ต่างกับการเห็น    สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปซึ่งไม่สามารถรู้อะไรเลย ไม่เห็นอะไร    จิตเห็นเป็นสภาพเห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา จึงเห็นจิตเห็นไม่ได้ เรามักโน้มเอียงที่จะ “รวม” การเห็น กับ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็น “สิ่งหนึ่ง”    แทนที่จะมีสติระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันตามที่ปรากฏทีละอย่าง

ก่อนอื่นจะต้องรู้ลักษณะเฉพาะ (วิเสสลักขณะ) ของนามและรูปให้ชัดเจนเสียก่อน    ควรรู้นามว่าเป็นเพียงนาม   และรู้รูปว่าเป็นเพียงรูป    เมื่อปัญญาได้เจริญขึ้นแล้ว   ก็จะสามารถประจักษ์แจ้งสามัญญลักขณะของนามและรูปได้   คือ  อนิจจลักขณะ   ทุกขลักขณะ  และอนัตตลักขณะ
(ติลักขณะหรือลักขณะทั้งสาม)

สติและปัญญาจะ สะสม ไปเรื่อย ๆ ทีละเล็กละน้อย   คำว่า “สะสม” เป็นอีกคำหนึ่งที่มีคนขอให้เรานิยาม

บางคนรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจว่านิสัย   เช่น   ความโลภจะสะสมขึ้นได้อย่างไร    จิตทุกดวงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปโดยสิ้นเชิง   แล้วนิสัยจะสะสมไปได้อย่างไรเล่า

จิตทุกดวงดับไปหมด   แต่ เป็นปัจจัยให้เกิด จิตดวงต่อไป นี่เป็นเหตุที่ทำไมอุปนิสัยดี ๆ และอุปนิสัยเลวๆ จึงสืบต่อจากขณะหนึ่งไปสู่ขณะหนึ่ง    ในขณะที่เรานอนหลับสนิทและไม่ฝันย่อมจะไม่มีโลภะ    แต่เมื่อเราตื่นขึ้นโลภะก็เกิดขึ้นอีก   โลภะมาจากไหนกันเล่า    จะต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิด
โลภะ    โลภะเกิดขึ้นได้เพราะความโลภได้สะสมมาและสืบต่อจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง   โลภะของเราในวันนี้
มีโลภะในอดีตเป็นปัจจัย   และโลภะในวันนี้ก็จะกลับเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะในอนาคต

เราสะสมกิเลสมามากมาย   เช่น  โลภะ  โทสะ  โมหะ   ความริษยา  และความตระหนี่     และเราก็สะสมอุปนิสัยที่ดีมาแล้วด้วย วันนี้เราสนใจธรรม เราชอบฟังธรรม    ความสนใจเช่นนี้มาจากไหนเล่า    ต้องมี เหตุปัจจัย   เราต้องเคยฟังธรรมมาแต่ในอดีต    สิ่งที่เราได้เรียนรู้แล้วจะไม่สูญหาย ไปไหน    ถ้าขณะนี้มีสติระลึกรู้ขณะหนึ่ง    ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดสติขึ้นในภายหน้า

จิตทุกดวงมีปัจจัยที่จะทำดีและชั่ว    กิเลสเกิดขึ้นได้ง่ายมากเพราะเราสะสมกิเลสมามากมายเหลือเกิน    โลภะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ   และยากที่จะมีสติระลึกรู้    เราไม่ควรประหลาดใจในเรื่องนี้   สติระลึกรู้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในอดีต    ฉะนั้นปัจจุบันนี้จะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ได้อย่างไรเล่า    แต่ก็สะสมได้ในปัจจุบันและเดี๋ยวนี้เลย

เพื่อนคนหนึ่งของเราได้ให้ข้อสังเกตว่า   เขาเคยคิดว่าเฉพาะกรรมเท่านั้นไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่วที่สามารถสะสมได้    เขาไม่ได้คิดเลยว่าอุปนิสัยซึ่งไม่มีกำลังแรงถึงขั้นที่จะกระทำกรรมก็สะสมได้ด้วย

เป็นความจริงที่ว่ากรรมดีและกรรมชั่วก็สะสมไป    เมื่อเรากระทำอกุศลกรรม   เช่น  การฆ่า    อกุศลจิตมีกำลังแรงกล้าถึงขั้นอกุศลกรรม    เจตนา (กรรม) ซึ่งจงใจให้กระทำกรรมนั้นดับไปพร้อมกับจิต    แต่เนื่องจากจิตทุกดวงเป็นปัจจัยให้เกิดจิตดวงต่อไป   กรรมจึงสืบทอดจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง    นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมกรรมจึงก่อให้เกิดผลอันควรแก่กรรมนั้นในภายหลังได้   กรรมชั่วก่อให้เกิดผลอันไม่น่าพึงพอใจ   ซึ่งอาจจะเป็นการเกิดในอบายภูมิ   หรือวิบากที่ไม่น่าพอใจทางทวารหนึ่งทวารใดในช่วงชีวิตนี้    ส่วนกรรมดีซึ่งสะสมไว้ย่อมก่อให้เกิดวิบากที่น่าพอใจ     ฉะนั้นกรรมจึงสะสมได้   และสามารถก่อให้เกิดผลได้ในอนาคต    กรรม ซึ่งก่อให้บังเกิดผลได้นี้ เป็นปัจจัยชนิดหนึ่ง   คือ  กรรมปัจจัย ซึ่งไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น    ปัจจัยทั้งหมดมีอยู่ ๒๔ ปัจจัย   การงานของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สลับซับซ้อนมาก   แต่เราก็พิสูจน์ด้วยตัวเองได้ว่าไม่แต่เพียงกรรมต่างๆ เท่านั้น   อุปนิสัยดีหรือเลวต่างๆ ซึ่งไม่มีกำลังถึงขั้นกระทำกรรมก็สะสมไปเรื่อย ๆ จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง   เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตและอกุศลจิตในภายหน้า   และปัจจัยประเภทนี้ต่างกับกรรมปัจจัย

ที่อนุราธปุระเราได้อภิปรายกันเรื่อง กรรมและวิบาก   บางคนได้ให้ข้อสังเกตว่าไม่ยุติธรรมเสียเลย ที่กรรมซึ่งได้กระทำไว้เมื่อชาติก่อนสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ในชาตินี้ คนที่ทุกข์ยากชาตินี้ก็ไม่ใช่คนเดียวกับคนในอดีต ที่ได้ทำกรรมชั่วอันก่อให้เกิดผลอันไม่น่าพึงพอใจในชาตินี้    ทำไมเราจะต้องมารับเคราะห์กรรมในปัจจุบันนี้จากกรรมที่เราไม่ได้ทำเล่า

กรรมก่อให้เกิดวิบาก    กรรมแต่ละกรรมย่อมจะก่อให้เกิดวิบากอันควรแก่กรรมนั้น ๆ   นี่เป็นกฏแห่งกรรมและผลของกรรมที่ย่อมจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม   เมื่อเราเกิดเจ็บปวดขึ้นนั่นก็เป็นผลของกรรม    เราอาจคิดไปว่า “ทำไมจึงต้องเกิดขึ้นกับเรา”    แต่ทำไมเราจึงไปคิดถึง “ตัวเรา” เล่า   ไม่มีตัวตนที่กระทำกรรมในชาติก่อน   และในชาตินี้ก็ ไม่มีตัวตน   มีแต่ สภาพธรรม ต่าง ๆ   คือ  นามและรูปซึ่งจะเกิดขึ้นและดับไป

โดยปรมัตถ์ไม่มีคำว่า “ช่วงชีวิตนี้ของฉัน”    เพราะว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะเดียว เท่านั้น   มีจิตประเภทต่าง ๆ ซึ่งรู้อารมณ์ต่างๆ    และจิตทุกขณะก็ดับไปหมดสิ้น   จิตบางดวงเป็นเหตุให้กระทำกรรมดีและกรรมชชั่ว อันจะก่อให้เกิดผลที่ควรแก่กรรมนั้น ๆ ในภายหลัง   จิตบางดวงก็เป็นผลของกรรมดีหรือกรรมชั่วซึ่งเรียกว่า วิบากจิต   จิตเห็นหรือจิตได้ยินที่รู้ อารมณ์ที่น่าพึงพอใจหรือไม่น่าพึงพอใจทางปสาทต่างๆ นั้น  เป็น วิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นตลอดชีวิตของเรา   
วิบากจิตเกิดขึ้น ก็เพราะปัจจัยและก็ ดับไปทันที   ไม่มีตัวตนที่รู้อารมณ์ที่น่าพึงพอใจหรือไม่น่าพึงพอใจ   ขณะที่เจ็บปวดนั้นก็เป็นเพียงขณะสั้น ๆ ของการรู้อารมณ์ไม่น่าพอใจที่ปรากฏทางกายปสาทเท่านั้น   หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมีเหตุปัจจัยที่เกิดพร้อมแล้ว   และแล้ววิบากก็ดับไปทันที    หากเรา นึกถึงความเจ็บปวดด้วยความขุ่นใจ    จะมี จิตที่มีความขุ่นใจ เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงดวงเดียวแต่จะ เกิดติดต่อกันถึง ๗ ดวง   นี่คือลำดับของจิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นวิถีจิต    ฉะนั้น   ถ้าเราเกิดความขุ่นใจจากความเจ็บปวด   ก็จะทำให้เพิ่มทุกข์ขึ้นถึง ๗ เท่า    ความเจ็บปวดนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้   เพราะชีวิตคือการ เกิด   การแก่  การเจ็บ  การตาย

การเข้าใจธรรมสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนเราได้    เราพบกับนักธุรกิจคนหนึ่งซึ่งบ่นเรื่องที่ถูกโอนทรัพย์สินไปเป็นของรัฐ   เขาต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติไปเป็นจำนวนมาก   แต่หลังจากที่เขาได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว   และได้ไตร่ตรองพระอภิธรรมมากขึ้น   เขาก็ค่อยคลายกังวลเรื่องการสูญเสียทรัพย์สมบัติไป   และได้คิดที่จะเจริญกุศลมากยิ่งขึ้น    นี่แสดงว่าเขาได้สะสมปัญญามากขึ้น

เราควรระลึกถึงพระสูตรที่แสดงความอัศจรรย์ของพระธรรม ในอังคุตตรนิกาย  จตุกกนิบาต   อัจฉริยสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๒๘ มีข้อความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการ   ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า   ๔ ประการเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   หมู่สัตว์ผู้มีอาลัย (คือ กามคุณ)  เป็นที่รื่นรมย์   ยินดีในอาลัย   บันเทิงในอาลัย    เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอันหาความอาลัยมิได้อยู่   หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี   เงี่ยโสตสดับ   ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   หมู่สัตว์ผู้มีมานะ (ความถือตัว)……หมู่สัตว์ผู้มีความไม่สงบเป็นที่รื่นรมย์…….

ดูกรภิกษุทั้งหลาย    หมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชาเป็นผู้มืด   ถูกอวิชชารัดรึงไว้   เมื่อพระตถาคตแสดงพระธรรมอันเป็นเครื่องปราบปรามอวิชชาอยู่   หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี   เงี่ยโสตสดับตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   นี่เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๔   ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ

เมื่อสติเกิดขึ้น สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวาร   แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเขลาของเราเองเราอาจหลงผิดไปได้ง่าย   เราอาจคิดว่ากำลังระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ    แต่แท้ที่จริงนั้น เรากำลังคิดถึงสิ่งนั้นด้วยโลภะ   โทสะ  และโมหะ    ตัวอย่างเช่น  เมื่อสภาพแข็งหรืออ่อนกระทบกายปสาท   แทนที่จะพิจารณาศึกษาลักษณะเหล่านี้   ดิฉันกลับไป คิดถึงจุดที่สัมผัสนั้น แสดงว่า ไม่ใช่สติ    เป็นแต่เพียงคิดเรื่องบัญญัติของกาย   แต่ เมื่อสติระลึกรู้สภาพแข็ง   ขณะนั้น จะ มีแต่ลักษณะแข็งเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นปรากฏเลย    ไม่มี “สถานที่กระทบ” ในสภาพแข็งนั้น   และไม่มีร่างกายในความแข็งนั้นเลย    ถ้าเรารู้ชัดในอวิชชาและอุปาทานแล้ว ก็จะเตือนให้ศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้สภาพธรรมนั้นจะเป็นอุปาทานก็ตาม

เวลาดิฉันดูส่าหรีสีสวยสดใสซึ่งสุภาพสตรีหลายท่านสวมใส่อย ู่ก็สังเกตว่าโลภะเกิดขึ้นทันทีที่ดูส่าหรีนั้น    ต่อจากนั้นก็จะดู “โลภะของฉัน”    การคิดถึงโลภะของตัวเองไม่ใช่สติปัฏฐาน    ครั้งหนึ่งขณะที่ดิฉันกำลังรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อยอยู่นั้น   คุณสุจินต์ถามว่าสติระลึกรู้หรือเปล่า    ดิฉันก็เลยพูดว่า “โลภะ”   โดยไม่มีสติระลึกรู้ลักษณะของ
โลภะเลย คุณสุจินต์เตือนดิฉันว่า โลภะก็มีลักษณะเฉพาะซึ่งสติสามารถระลึกรู้ได้เมื่อปรากฏ    ฉะนั้นปัญญาจึงรู้ได้ว่า
โลภะเป็นเพียงธาตุ ชนิดหนึ่งเท่านั้น  ไม่ใช่ตัวตน   โดยไม่จำเป็นต้องคิดหรือเรียกว่าโลภะ

บางคนท้วงว่าควรมีวิธีการปฏิบัติสติปัฏฐาน   มิฉะนั้นจะไม่ได้ผล

ถ้าพยายามที่จะให้มีสติ ตามวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ใครกำลังพยายาม  ก็มีความคิดเรื่องตัวตน ที่พยายามจะให้สติรู้อยู่ที่อารมณ์เดียวอีกแล้ว   นั่นเป็นการคิดไม่ใช่สติ เราไม่รู้เลยว่าความโลภ   หรือความโกรธ  หรือการเห็น   หรือความสงสัย   หรือสภาพธรรมอื่นใดจะเกิดขึ้น    แล้วเราจะคุมสติหรือจะปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ได้อย่างไร

สติไม่ใช่ตัวตน    สติเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยอันเหมาะสม ที่สติจะเกิดขึ้น    คุณสุจินต์กล่าวว่า “ถ้าสติไม่เกิดขึ้น   ใครก็ระลึกรู้ในขณะนั้นไม่ได้”   เรายังเชื่ออยู่อีกหรือว่าเราสามารถควบคุมสติได้   หากใครพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะให้มีสติ   ผู้นั้นก็จะเครียด และจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย พระภิกษุรูปหนึ่งได้ให้ข้อสังเกตว่า ท่านรู้สึกโล่งใจไปถนัดเมื่อไม่ต้องพยายามทำให้เกิดสติ

สภาพธรรมได้มีอยู่ที่นี่แล้วในขณะนี้    แต่ต้องศึกษาพิจารณาจึงจะรู้ได้   ไม่ยากอะไรนัก   แต่เราไปทำให้ยากเอง
ถ้าหากเราไปคิดว่าเราจะต้องนั่งในห้องและปฏิบัติตามวิธีการ     จะอยู่ในห้องหรือนอกห้องก็มีการเห็น   การได้ยิน    ความแข็งและสภาพธรรมอื่นปรากฏทีละอย่างทาง ๖ ทวารอยู่เสมอ

คุณสุจินต์พูดว่าในขณะที่เห็น ได้ยิน หรือคิดนั้น    เราควรอาจหาญที่จะรู้จริง ๆ ว่า มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏหรือยังไม่มีเลย    การเห็นมีจริง   เป็นสภาพธรรมที่เห็น   สิ่งที่ปรากฏทางตาก็จริง ซึ่งต่างกับการเห็น    เราควรศึกษาพิจารณาสภาพธรรมเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ในระหว่างทำกิจการต่างๆ    เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

 

 

 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "ธรรมจาริกในศรีลังกา"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!