Buddhist Study   ธรรมจาริกในศรีลังกา   บทที่ 8
โดย  นีน่า  วัน   กอร์คอม   
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
   

 

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 
บทที่ ๘

คำถามอีกข้อหนึ่งในระหว่างการประชุมคือ “สติระลึกรู้การกระทำทุกอย่าง   เช่น  รับประทานอาหาร ขับรถหรือ”

ขณะที่คิดเรื่องตัวเองว่า   กำลังรับประทาน หรือกำลังขับรถนั้นไม่ใช่สติ   แต่เป็นการคิดถึงบัญญัติ   การรับประทานไม่ใช่เป็นสภาพธรรม   การขับรถก็ไม่ใช่สภาพธรรม    สติระลึกรู้สภาพธรรม   รู้นามธรรมและรูปธรรม   และระลึกรู้สภาพธรรมได้ทีละอย่างเท่านั้น   สติสามารถระลึกรู้ในขณะทำกิจการงาน   เช่น   ขณะรับประทานหรือขณะขับรถอยู่ก็ได้

ขณะที่กำลังรับประทานอาหารอยู่ก็มีสภาพแข็ง   รส  หรือคิดเกิดขึ้น    สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมทั้งสิ้น   และสามารถระลึกรู้ได้ทีละอย่างว่าเป็นธาตุแต่ละชนิด   ไม่มีบุคคลไม่มีตัวตนเลย การมีสติระลึกรู้สภาพธรรมโดยความเป็นธาตุต่าง ๆ เป็นหนทางที่จะเจริญปัญญา   ขณะใดที่หลงลืมสติก็จะต้องยึดมั่นในร่างกายและจิตใจ

ในมัชฌมนิกาย   มูลปัณณาสก์  สติปัฏฐานสูตร   อิริยาบถบรรพ  ข้อ ๑๓๔    มีข้อความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย    อีกประการหนึ่งภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน   เมื่อยินก็รู้ชัดว่าเรายืน   เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง   เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอน   หรือ เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใด ๆ  ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้น ๆ   ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง   พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง   พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง   พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง   พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

เราควรระลึกรู้การเดินหรือไม่ เราควรอ่านเนื้อหาของพระสูตรทั้งหมด เพื่อจะได้เข้าใจความหมายของพระสูตรนี้   จะพิจารณากายภายในและภายนอกอย่างไร   กายเป็นเพียงบัญญัติไม่ใช่สภาพธรรม   กายไม่ได้เกิดขึ้น   สิ่งที่เรายึดถือว่ากายนั้นเป็นเพียงธาตุต่างๆ   ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป   ควรระลึกรู้สภาพแข็ง  อ่อน   ร้อน  เย็น  ไหว  ตึงต่าง ๆ ที่ปรากฏไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือภายนอกก็ตาม   การพิจารณารู้เช่นนี้จะทำให้แจ้งชัดการเกิดขึ้นและดับไปของธาตุต่าง ๆ เหล่านี้ได้ต่อไป

พระสูตรนี้เตือนให้ระลึกรู้สภาพธรรมใด ๆ ที่ปรากฏในขณะที่เรากำลัง   เดิน  ยืน  นั่ง  หรือนอน

จะเป็นไปได้ไหมที่จะสอนข้อปฏิบัติง่าย ๆ ในการเจริญวิปัสสนา   นี่เป็นคำถามข้อหนึ่งในระหว่างการอภิปราย

ถ้าจะมีครูที่บอกให้ทำอะไรก่อนหลัง และถ้าเราปฏิบัติตามแล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างแน่นอนแล้วละก็   จะต้องง่ายมากทีเดียว   แต่อย่างไรก็ตามพระบรมศาสดาตรัสสอนไม่ให้ทำตามผู้สอนอย่างงมงาย   แต่ให้อบรมเจริญอริยมรรคด้วยตนเอง   ผู้เป็นกัลยาณมิตรในทางธรรมสามารถที่จะอธิบายหนทางเจริญปัญญาที่ถูกต้องได้   เราควรฟังและใคร่ครวญพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังนั้น แล้วศึกษาสภาพธรรมด้วยสติที่ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ   เราจะต้องอบรมเจริญอริยมรรคด้วยตนเอง   ณ  บัดนี้   ไม่มีใครสามารถทำให้เราได้

ปัญญานั่นเองไม่ใช่เราที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เราอาจสงสัยว่า   ปัญญาจะสามารถประจักษ์สภาพอนิจจัง   ทุกขัง  และอนัตตา ได้อย่างไร    และจะประจักษ์พระนิพพานได้อย่างไร

คุณสุจินต์บอกว่า   “อย่าประมาทกิจของปัญญา”   ปัญญาเท่านั้นที่รู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงไม่ใช่ตัวตน
ขณะปัจจุบันนี้มีค่ายิ่ง   ถ้าศึกษาพิจารณาสภาพธรรม   ปัญญาก็เจริญได้

ถ้าหากสติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิดเท่านั้น เราก็ทำอะไรไม่ได้   เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็อยู่ไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นหรือ

เราควรพยายามให้มีสติหรือไม่   พอได้ยินคำว่าพยายามเรามักจะนึกถึงตัวตนที่เพียรพยายาม   ความเพียรเป็นเจตสิกดวงหนึ่ง (นามธรรมที่เกิดกับจิต)   ไม่ใช่ตัวตน   ความเพียรเกิดกับจิตทุกดวง   ยกเว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง   ความเพียรเกิดไม่แต่เพียงกับกุศลจิตเท่านั้น   แต่เกิดกับอกุศลจิตด้วย

เวลามีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็มีความเพียรด้วยแล้ว   ไม่จำต้องคิดถึงความเพียรอะไรอีก   ถ้าคิดถึงความเพียรก็มักจะเป็นอกุศลจิตที่เกิดต้องการขึ้นมา   อกุศลจิตมีความเพียรผิดเกิดร่วมด้วย
ในมัชฌิมนิกาย  อุปริปัณณาสก์   สัจจวิภังคสูตร  ข้อ ๗๐๔
แสดงสัมมาวายามะ ๔  ดังนี้

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย    ก็สัมมาวายามะเป็นไฉน   คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมให้เกิดฉันทะพยายาม   ปรารภความเพียร  ประคองจิต ตั้งจิตไว้   เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น ๑   เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วเสีย ๑   เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น ๑  เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือง เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญและบริบูรณ์ของกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑   นี้เรียกว่าสัมมาวายามะ ๆ

สัมมาวายามะทั้ง ๔ นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร    ในอังคุตตรนิกาย  เอกนิบาต   ข้อ ๖๒   มีข้อความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย    เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น   หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป   เหมือนการปรารภความเพียร   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เมื่อบุคคลเป็นผู้ปรารภความเพียร   กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น   และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ๆ

เมื่อสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์แปดเจริญขึ้น โดยมีสติระลึกรู้นามและรูป   ย่อมเป็นปัจจัยแก่สัมมาวายามะในมรรคมีองค์แปด   แต่ถ้ายังเห็นว่าเป็นตัวตนที่ทำความเพียร   ก็ไม่ใช่สัมมาวายามะในมรรคมีองค์แปด

คนโดยมากยังสงสัยว่าแล้วจะทำอย่างไรจึงจะได้ไม่นั่งเฉย ๆ คอยให้ปัญญาเกิดขึ้น

ตัวตนที่จะ “ไม่ทำอะไรเลย” นั้นก็ไม่มี    จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นทำกิจของจิตนั้น ๆ   แม้แต่ในขณะที่กำลังคิดอยู่ว่าไม่ได้ทำอะไรนั้น สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพความคิดว่าไม่ใช่ตัวตนได้ เมื่อเข้าใจถูกต้องเรื่องอารมณ์ของสติแล้วก็จะไม่ละเลย   เมื่อมีปัจจัยให้สติเกิด   สติก็เกิดก่อนที่จะตั้งใจระลึกรู้   แต่ถ้าตั้งใจจะระลึกรู้ก็มักจะเป็นโลภะ

เราอาจจะรู้สึกว่าการระลึกรู้นี้ช่างยากเย็นเสียจริง ๆ   เราควรจะทำอะไรในระหว่างที่ไม่ได้ระลึกรู้นามและรูป   ในตอนนั้นมิต้องมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นการใหญ่ดอกหรือ

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องกุศลต่าง ๆ หลายประเภท   บางกาลก็เป็นโอกาสของทานกุศล   บางกาลก็เป็นโอกาสของศีล   บางกาลก็เป็นโอกาสของความสงบ   เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคหรือขณะที่เจริญเมตตา   บางครั้งสติก็เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพนามและรูป   ตัวเราไม่สามารถ “เปลี่ยน” กุศลจิตชนิดนี้ให้เป็นกุศลจิตชนิดนั้นได้เลย   กุศลชนิดไหนจะเกิดขึ้นขณะไหนนั้นย่อมเป็นไปตามปัจจัย   การรู้เรื่องกุศลชนิดต่าง ๆ และการเห็นประโยชน์ของกุศลทั้งหลายจะทำให้เราไม่เกียจคร้าน

ตามที่ทราบแล้วว่าปัญญาขั้นเข้าใจถูกนั้น   เป็นปัจจัยให้สติเกิด   นี่เป็นเหตุที่เรามาอภิปรายกันเรื่องสภาพธรรม   เช่น   การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา   การได้ยินหรือเสียง   เรายังเข้าใจผิดอีกมากในเรื่องนามและรูป   เราพูดเรื่องการได้ยิน และสนใจความหมายของคำที่เราได้ยิน   การสนใจความหมายของคำนั้นไม่ใช่การได้ยิน   แต่เป็นการคิดถึงบัญญัติ   เราจำบัญญัติไว้    ความทรงจำหรือสัญญาเป็นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกดวง   ความทรงจำเกิดขึ้นตลอดเวลา    จำสิ่งที่ปรากฏทางตา   จำเสียง  จำสภาพธรรมอื่น ๆ   และจำบัญญัติด้วย

เพื่อเป็นตัวอย่าง   คุณสุจินต์พูดคำว่า  “เอ ลิ ซา เบธ”

คุณสุจินต์พูดซ้ำว่า “เอ…เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปหมดแล้ว   ลิ…เกิดแล้วดับไป   ซา…เกิดแล้วดับไป   เบธ..เกิดแล้วดับไป”    มีเสียงต่าง ๆ กัน   และระหว่างนั้นก็มีจิตเกิดขึ้นหลายขณะ   อวิชชาอาจเกิดขึ้นแทรกในระหว่างนั้น   หรือสติอาจจะเกิดก็ได้    ขณะที่คิดถึงเสียงต่าง ๆ นั้นไม่ใช่ได้ยิน   แต่เป็นขณะที่คิดถึงบัญญัติ    ความทรงจำเป็นปัจจัยให้คิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของเอลิซาเบธ    เราแต่ละคนต่างก็นึกไปถึงเอลิซาเบธที่แต่ละคนรู้จัก   เราคิดถึงรูปร่างหน้าตาของคนชื่อนั้นที่เรารู้จัก   คิดถึงเสียง หรือจดหมายที่เธอเขียนถึง    การคิดเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน   เช่น  ความรู้สึกสบายใจ   ความรู้สึกไม่สบายใจ   หรือความรู้สึกเฉย ๆ   ความจริงไม่มีเอลิซาเบธ   มีก็แต่บัญญัติเรื่องเอลิซาเบธเท่านั้น

ตัวอย่างนี้ทำให้ดิฉันระลึกได้ว่า อวิชชาและมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นได้แม้ในระหว่างแต่ละพยางค์ที่เราพูด   ทำให้ดิฉันระลึกได้ว่ามีสภาพธรรมหลายอย่างในเวลาสั้น ๆ นั้น   ซึ่งจะต้องศึกษาพิจารณาเพื่อประจักษ์สภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง   ศึกษาพิจารณาสภาพธรรมได้   แทนที่จะไม่รู้แม้ในระหว่างขณะที่รู้เสียงต่าง ๆ

คุณสุจินต์เตือนเราว่า   “ขณะที่มีสติระลึกรู้สภาพนามและรูปเป็นขณะที่อยู่ลำพังจริง ๆ “   ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนแวดล้อมมากมายแต่ความจริงแล้วไม่มีคนเลย   มีสิ่งที่ปรากฏทางตา  มีเห็น   มีเสียง  มีได้ยิน   และสภาพธรรมต่างๆ อีกมาก   ซึ่งเป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ทีละอย่าง   สภาพธรรมไม่ใช่ของใคร    ถ้านึกถึงคน หนึ่งคน สองคน หรือหลายคน    โลกของความนึกคิดนั้นก็มีคนมากมาย   แต่ตามความเป็นจริงนั้นไม่มีคนเลย   มีแต่นามและรูปซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป    ชีวิตดำรงอยู่เพียงขณะสั้น ๆ ที่รู้อารมณ์หนึ่ง ๆ เท่านั้นเอง

คุณซาร่าห์บอกว่า   ยากที่จะรู้ขณะที่เพียงแต่เห็น   ซึ่งต่างกับการสนใจรูปทรงสัณฐาน    ขณะที่สนใจรูปร่างสัณฐานนั้นไม่ใช่ขณะเห็น

คุณสุจินต์ตอบว่า   ปัญญาไม่ใช่การจ้องจับขณะนี้ขณะนั้น   ควรรู้สภาพลักษณะที่ปรากฏ    ไม่ควรคิดถึง ขณะ ถ้าเราคิดถึงขณะนี้ขณะนั้น   หรือคอยจับว่า สภาพธรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นก่อนหลังอย่างไร ก็จะเป็นการคิดถึงบัญญัติแทนที่จะเป็นสติ    บางทีสติระลึกรู้สภาพเห็น   บางทีระลึกรู้สภาพคิด   บางทีก็ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา   ไม่มีกฏเกณฑ์ว่าสติจะต้องระลึกรู้อารมณ์อะไร

เรามักจะโน้มเอียงที่จะพยายามรู้ความต่างกัน ระหว่างการเห็นกับการสนใจรูปร่างสัณฐาน   แล้วเราก็หลงติดอยู่กับความพยายามนั้น   เราลืมระลึกรู้สภาพที่ติดข้อง   ในขณะที่พอใจติดข้องอยู่   ในขณะที่สงสัยลักษณะของสภาพธรรม หรือขณะที่หมดหวังที่จะมีสติ   ขณะนั้นก็ควรศึกษาพิจารณาด้วย   สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอารมณ์ของสติปัฎฐานได้   ไม่ว่าเราจะชอบสิ่งนั้นหรือไม่ชอบก็ตาม


 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "ธรรมจาริกในศรีลังกา"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!