Buddhist Study | ธรรมจาริกในศรีลังกา
บทที่ 9 โดย นีน่า วัน กอร์คอม แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ |
|||
|
บทที่ ๙ การเดินทางของเราเป็นการจาริกแสวงบุญ เราไปนมัสการปูชนียสถานหลายแห่ง เพื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายในศรีลังกา ผู้ได้เจริญสติปัฏฐานจนดับกิเลสได้หมดสิ้น คุณสุจินต์ให้กำลังใจเราให้เพียรพยายามศึกษาและเจริญสติปัฏฐาน โดยบอกว่า ยังไม่พอ ยังไม่พอ จนกว่าจะได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ที่อนุราธปุระ เราพักที่จวนของผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่สงบเงียบร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ภายในเมืองอนุราธปุระอันเก่าแก่ จวนของท่านผู้ว่า ฯ อยู่ในระยะเดินไป รูวันเวลิสายะ พระสถูปองค์ใหญ่ (ดากาบะ) ซึ่งพระเจ้าทุฏฐคามินีได้ทรงเริ่มสร้างไว้ พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ประดิษฐานไว้ ณ พระสถูปแห่งนี้ มีไฟจุดสว่างทุกคืน มีคนเดินประทักษิณและสวดมนต์อยู่เป็นนิจ เราไปสักการะพระสถูปหลายครั้ง และครั้งหนึ่งขณะที่กำลังเดินประทักษิณอยู่นั้น คุณสุจินต์ก็ได้พูดกับเจ้าบ้านหญิงของเราเรื่องสติปัฏฐาน คุณสุจินต์เตือนเราให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมทีละลักษณะ ที่ปรากฏทางทวารใด ทวารหนึ่งใน ๖ ทวาร เราไม่ควรสับสนปะปนทวารทั้ง ๖ นั้น เราจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และสภาพธรรมที่ปรากฏทางกายปสาทพร้อมกันไม่ได้ คุณสุจินต์กล่าวว่า เวลาที่สภาพธรรมปรากกฏนั้นจะมีเพียงทวารเดียวเท่านั้น ทิ้งทวารอื่นให้หมด เราไม่ได้พยายามคิดถึงหลายอย่าง แทนที่จะระลึกรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏดอกหรือ ขณะที่เดินอยู่บนแผ่นหินรอบ ๆ องค์พระสถูปนั้น บางคนอาจคิดว่าเป็นพื้นแผ่นหิน นั่นก็แสดงว่าหลงลืมสติ ทางตาก็มีเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ทางกายก็มีเพียงสภาพแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ ถ้าเราไม่เอาทวารต่าง ๆ มาปนกัน เราจะรู้ว่าในความจริงนั้นไม่มีพื้นหิน มีแต่เพียงนามและรูปต่าง ๆ ซึ่งปรากฏทีละอย่างเท่านั้น เรามักถือว่า
การเห็นและสภาพธรรมอื่น ๆ
ยั่งยืน คุณ คุณสุจินต์ให้ข้อสังเกตว่า ถ้าไม่เจริญสติเดี๋ยวนี้ ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้ การตรัสรู้อริยสัจจธรรมย่อมมีได้ ในสมัยพุทธกาลคนเป็นจำนวนมากได้บรรลุอริยสัจจธรรม การเจริญสติเป็นปกติจริง ๆ ไม่ยากนัก ถ้าหากเราไม่คอยแต่จะหลงลืม แต่เมื่อสติไม่เกิด ก็ไม่ควรเสียใจ หากเกิดเสียใจขึ้นก็ระลึกรู้สภาพที่เสียใจนั้น ขณะที่กำลังประทักษิณรอบพระสถูปและ ศึกษาพิจารณา สภาพธรรมต่างๆ นั้น อดีตสมัยที่พระอรหันต์หลายรูปเดินและสอนสติปัฏฐานกันที่นี่ รู้สึกว่าไม่ห่างไกลเลย ท่านเหล่านั้นไม่หลงลืมในการระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลาย ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในอนุราธปุระซึ่งอยู่ใกล้ กับ พระสูปรูวันเวลิสายะ เป็นปูชนียสถานอีกแห่งหนึ่งที่เราไปสักการะ พระศรีมหาโพธิ์อยู่บนลานสูงมีลูกกรงทองล้อมรอบ ตามปกติแล้วเขาจะห้ามไม่ให้คนเข้าไปใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่พระภิกษุผู้ดูแลต้นพระศรีมหาโพธ์รูปหนึ่งอนุญาตให้เราขึ้นไปนมัสการบนลานนั้น คืนหนึ่งพระภิกษุรูปนี้ได้จัดดอกบัวขาวประมาณร้อยดอก ให้เราประดับบูชารอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ บรรดาพระสงฆ์ที่เดินนำประทักษิณรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้สวดมนต์ เราได้ดูกิ่งที่แตกใหม่ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเพิ่งจะแตกกิ่งได้ไม่นานเมื่อประมาณสักสองสามเดือนนี่เอง เรารู้สึกเสมือนว่าอยู่ห่างไกลจากสมัยพุทธกาล แต่ตราบใดที่ยังมีการสอนและการเจริญสติปัฏฐาน เราก็ไม่ไอยู่ห่างไกลแต่ประการใดเลย เมืองอนุราธปุระอันเก่าแก่ และภายในปริมณฑลมีพระสถูปโบราณสถาน และอนุสรณ์สถานต่าง ๆ มากมาย เจ้าภาพคนหนึ่งของเราได้พาเรานั่งรถจี๊บไปที่ตันตริมาลี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอนุราธปุระ ท่านสังฆะมิตตาเถรีและคณะที่นำกิ่งตอนของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากประเทศอินเดีย ได้แวะพักที่ต้นตริมาลีระหว่างเดินทางไปอนุราธปุระ หน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นหนึ่งจึงได้ปลูกไว้ที่นี่ ทุกวันนี้ก็ยังเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งขึ้นอยู่บนพื้นดินปนหิน ที่ซึ่งไม่มีไม้อื่นขึ้นได้เลย ในครั้งกระโน้น ได้นำต้นกล้าของต้นพระศรีมหาโพธิ์หลายต้นไปปลูก ณ ที่ต่างๆ และต่อมาก็ขยายต้นพระศรีมหาโพธิ์ออกถึงสามสิบสองต้นไปปลูกไว้ทั่วทั้งเกาะ พระบรมสารีริกธาตุหลายองค์ได้นำมายังศรีลังกาจากประเทศอินเดีย พระบรมสารีริกธาตุพระศอด้านขวา ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระสถูป ถูปารามะ ซึ่งเก่าแก่ที่สุดอยู่ในอนุราธปุระ ที่ศรีลังกามีสองสามบ้านที่มีพระบรมสารีริกธาตุองค์เล็ก ๆ เจ้าภาพของเราคนหนึ่งในอนุราธปุระ มีพระบรมสารีริกธาตุองค์หนึ่งและพระธาตุของพระอรหันต์องค์หนึ่ง ซึ่งป้าของเขามอบให้ประดิษฐานในห้องพระ กล่าวกันว่าตราบใดที่ยังมีผู้ประพฤติธรรม พระบรมสารีริกธาตุที่อยู่ในบ้านก็จะไม่สูญหายไป แต่เมื่อใดละเลยพระธรรม พระบรมสารีริกธาตุก็จะหายไป เจ้าภาพของเราได้ให้เราสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และนี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ให้คนนอกครอบครัวมีโอกาสสักการะ เขาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาจากตลับที่เก็บ แล้วให้เราบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน เราสักการะพระบรมสารีริกธาตุและระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน ให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อีกครั้งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ใกล้เรา ขณะที่เราศึกษาพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พระเขี้ยวแก้วของพระผู้มีพระภาค ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียในพุทธศตวรรษที่สิบ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ นครหลวงต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ปัจจุบันนี้พระเขี้ยวแก้วประดิษฐานอยู่ที่ ดาละดา มิลิกาวา ที่กรุงแคนดี จะมีการอัญเชิญผอบจำลองของผอบจริง ที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วเข้าขบวนแห่ในงาน แคนดีเปราเฮรา ปีละครั้ง ช้างที่มีงายาวโค้งซึ่งเป็น ช้างชนะงา จะทูนผอบจำลองนี้ในขบวนแห่ พระเขี้ยวแก้วองค์จริงนั้นไม่เคยได้อัญเชิญออกมานอกพระวิหารเลย ห้องภายในพระวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วนั้น โดยทั่วไปแล้วจะไม่เปิดให้กับสาธารณชน แต่เราได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ หลังจากนั้นเราก็ได้ประทักษิณที่บริเวณรอบห้องภายในพระวิหารสามรอบ ถวายสักการะ ณ ที่สักการะสี่ทิศ การบูชาปูชนียสถานต่าง ๆ ในศรีลังกานั้น เป็นโอกาสที่จะระลึกถึงพระผู้มีพระภาคและคำสอนของพระองค์ และระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยประการฉะนี้ เราเรียนรู้ว่าชีวิตเป็นเพียงขณะหนึ่งที่รู้อารมณ์หนึ่งเท่านั้น ดิฉันได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่ง และได้อธิษฐานว่า ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความตระหนี่น้อยลง คุณสุจินต์เตือนดิฉันว่า แม้ในขณะที่เราอธิษฐานนั้นก็อาจจะมีความยึดมั่นก็ได้ เราอาจจะยึดมั่นในความเห็นว่า ความตระหนี่ของเรา หรือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเรา นี่แสดงว่าปัญญาจะต้องแหลมคมขึ้นเพียงใด หาไม่แล้วเราก็จะไม่เห็นความยึดมั่นของตัวเอง และเข้าใจว่าอกุศลเป็นกุศล แม้แต่ในขณะที่เราทำความดี อกุศลจิตก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นสืบต่อกุศลจิตโดยเร็ว ระหว่างที่เราอยู่ที่แคนดี เจ้าภาพของเราได้กรุณาขับรถพาเราไปเที่ยวทุก ๆ วัน พาเราไปที่โรงเรียนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งนอกกรุงแคนดี นักเรียนในโรงเรียนนี้ส่วนมากมาจากครอบครัวที่ยากจน ครูใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยความอดทนและอุตสาหะ ได้ก่อตั้งชมรมของโรงเรียนขึ้น แม้จะมีอุปสรรคมากมายอย่างไรก็ตาม หลักการของเขาก็คือ อย่าพร่ำบ่นถึงสิ่งที่ไม่มี จงทำให้อุปสรรคทุกอย่างเป็นโอกาสและการท้าทาย ที่โรงเรียนนี้จึงไม่มีใครบ่นอะไรเลย เราได้สนทนาธรรมกันในโรงเรียน และครูคนหนึ่งแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาสิงหฬ คำถามส่วนมากเป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าชาติหน้ามีจริง และเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่ามีสวรรค์และนรก เราได้อธิบายว่า วันนี้เราไม่มีความสงสัยว่ามีเมื่อวานนี้ ทั้งนี้เพราะวันนี้สืบต่อมาจากเมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ก็จะสืบต่อจากวันนี้ แม้กระนั้นจิตต่าง ๆ (สภาพรู้ขณะหนึ่ง ๆ) ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปก็สืบต่อจากขณะหนึ่งไปยังอีกขณะหนึ่ง จิตที่เกิดก่อนดับไปแล้ว แต่ก็มีปัจจัยของจิตทุกดวงที่ดับไปนั้นสืบต่อไปยังจิตดวงต่อไป เมื่อจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ดับแล้ว ก็มีจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ซึ่งเป็นจิตดวงแรกของชาติหน้าคือ ปฏิสนธิจิต จิตขณะแรกของชาตินี้เกิดขึ้น เป็นปฏิสนธิจิตของชาตินี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้น ปัจจัยของปฏิสนธิจิตนั้นมีอยู่ในชาติก่อน ปฏิสนธิจิตชาตินี้เกิดสืบต่อจากจิตดวงสุดท้ายของชาติก่อน ถ้าเราอยากรู้ว่าชาติหน้าของเราจะเป็นอย่างไร เราก็ควรจะรู้ชาติปัจจุบันของเรา ชาตินี้มีนามธรรมและรูปธรรมต่าง ๆเกิดขึ้นและดับไป ชาติหน้าก็จะเป็นอย่างนี้อีก ชาติปัจจุบันนี้ก็จะเป็นอดีตชาติของชาติหน้านั่นเอง มีคนสงสัยกันถึงเรื่องร่างกายในชาติหน้า ตราบใดที่มีปัจจัยให้เกิดใหม่ กรรมก็จะเป็นสมฏฐานก่อให้เกิดรูปพร้อมกับปฏิสนธิจิต ร่างกายของเราเมื่อวานนี้ดับไปหมดแล้ว แต่วันนี้ก็มีรูปที่เราเรียกว่า ร่างกายของเรา อีก เราไม่สงสัยเรื่องรูปเหล่านี้เลย แล้วทำไมจึงแคลงใจเรื่องชาติหน้าเล่า บางครั้งก็มีความโน้มเอียงที่จะพิสูจน์การเกิดใหม่ โดยสอบสวนเรื่องที่มีผู้อ้างว่าระลึกชาติก่อนได้ การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และการหาเหตุผล จะไม่สามาถขจัดความสงสัยและการเข้าใจผิดให้หมดไปได้เลย การพิสูจน์เช่นนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความกังวลที่จะเกิดกับ ตัวเขา หลังจากที่ตายไปแล้วหมดไป ความสงสัยและมิจฉาทิฏฐิจะหมดสิ้นไปได้ก็ด้วยปัญญา ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น ที่กรุงโคลอมโบ
เรามีรายการธรรมกับเด็ก ๆ
เรายกตัวอย่างในสิงคาลกสูตร
(ทีฆนิกาย ปกฏิกวรรค)
เป็นการสอนเรื่องกุศลชนิดต่างๆ
ที่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
คุณสุจินต์พูดถึงเรื่อความอดทน
เมื่อเราขัดเคืองใจในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ
ก็แสดงว่าขาดความอดทน
แต่เราอดทนต่ออารมณ์ที่น่าพอใจหรือเปล่า
เราชอบสิ่งที่น่าพึงพอใจ เด็ก ๆ อยากฟังนิทาน ชาดก (อดีตพระชาติของพระผู้มีพระภาค) ดิฉันจึงอธิบายว่า ชาดกสอนใจเราเรื่องพระคุณต่าง ๆ ที่พระโพธิสัตว์ได้สะสมตลอดภพชาตินับไม่ถ้วน คุณสุจินต์ถามเด็ก ๆ ว่า หนูชอบฟังนิทานชาดกแล้วเรื่องของหนูเองเล่า เราชอบฟังเรื่องของคนอื่น แต่เรารู้จักตัวของเราเองหรือเปล่า เราควรจะเรียนรู้เรื่องของเราเองด้วย
home ปัญหาถาม-ตอบ หนังสือธรรมะ หมายเหตุ:
คัดลอกจากหนังสือ
"ธรรมจาริกในศรีลังกา"
|
|