Buddhist Study   เจ้ากรรมนายเวร    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 
    หลังจากที่ละคอนเรื่อง "เจ้ากรรมนายเวร" ได้จบลงไปแล้วนั้น    ก็ยังมีผู้สงสัยและสนใจในเรื่องนี้อยู่มาก    ทางผู้จัดทำจึงเห็นว่า   ถ้าหากสามารถจะทำให้ทุกท่านที่สนใจได้มีความเห็นที่ถูกต้องในเรื่องนี้   ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก   เพราะการสะสมความเห็นที่ถูกนั้น ย่อมสามารถเป็นปัจจัยให้เราสามารถเจริญกุศลได้ยิ่งๆขึ้นไป

ทางผู้จัดทำได้รับหนังสือ "เจ้ากรรมนายเวร" ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างอาจารย์สุจินต์   บริหารวนเขตต์   กับผู้ที่สนใจ ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จากคุณ รัตนา ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรของมูลนิธิฯเมื่อเร็วๆนี้   จึงขอนำมาเสนอให้ทุกคนได้อ่าน   ณ  ที่นี้

 


 

  • ถาม   มีผู้กล่าวว่า   การทำบุญแล้วควรอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร   ไม่ทราบว่า    คำว่า   เจ้ากรรมนายเวร    หมายถึงอะไร    การทำสมาธิแล้วจะอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรด้วยได้หรือไม่   อย่างไร
  • สุ.   รู้สึกว่าใช้คำว่า   เจ้ากรรมนายเวรกันมาก   และกลัวเหลือเกินว่า   ถ้าไม่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรจะไม่พ้นจากเคราะห์กรรมต่างๆ   มีท่านผู้ใดเตยทำและเคยคิดอย่างนี้บ้างไหม    ตวามจริงนั้นเมื่อทำบุญแล้วควรอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่สามารถรู้และอนุโมทนาได้   แต่คำว่าเจ้ากรรมนายเวรดูจะเป็นคำคล้องจองของคำว่า   กรรมเวร และ เจ้านาย    ที่ว่ามีเจ้ากรรมนายเวรนั้น   ตามความเป็นจริงแล้ว   ใครทำให้ท่านปฏิสนธิในชาตินี้   อะไรทำให้แต่ละบุคคลเกิดในภพนี้ในภูมินี้   เจ้ากรรมนายเวรเป็นผู้ทำหรือ   หรือว่าเป็นกรรมของแต่ละท่านที่ได้กระทำแล้ว    กรรมหนึ่งเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในภูมินี้   เพราะฉะนั้นไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นเจ้ากรรมของใคร   เพราะว่าแต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน   แม้แต่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นจิตขณะแรกที่เกิดในภูมินี้   ก็เป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในอดีตของท่านเอง   ไม่ใช่มีเจ้ากรรมทำให้ท่านปฏิสนธิ    ข้อความในอังคุตตนิกาย   ทสกนิบาต  ธัมมปริยายสูตร ข้อ 193   พระผู้มีพระภาคฯตรัสว่า    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เราจักแสดงธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย   เธอทั้งหลายจงฟัง   จงใส่ใจให้ดี  เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้น   ทูลรับคำพระผู้มีพระภาคฯแล้ว   พระผู้มีพระภาคฯ  ได้ตรัสว่า    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉน    ดูกรภิกษุ    สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน   เป็นผู้รับผลของกรรม   เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด   มีกรรมเป็นพวกพ้องและมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย    กระทำกรรมไว้เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม   ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
    เพราะฉะนั้น   จึงไม่มีใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใคร   หรือว่าท่านผู้ใดเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวรว่าอย่างไร   มีใครเคยอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรบ้าง
  • ช.    ผมเพียงแต่ยกมือว่าเคยกระทำเช่นนั้น   แต่ผมไม่มีความรู้เรื่องเจ้ากรรมนายเวร
  • สุ.    ขณะที่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรนั้น   ไม่รู้ว่ามีเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่   ใช่ไหม
  • ช.    เป็นคติความเชื่อที่เชื่อว่า   เรากระทำอะไรให้ใครเขาไม่พอใจเดือดร้อน อย่างไรก็แล้วแต่   เราก็ขอให้ต่างฝ่ายต่างมีอโหสิกรรมต่อกัน    อันนั้นเป็นความเชื่อว่าถ้าเราแผ่ส่วนกุศลไป   แผ่เมตตาไป    เชื่อว่าย่อมเป็นการกระทำที่ดี   และอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เราสบายใจ    เพราะเชื่ออย่างนี้จึงทำอย่างนี้   และเชื่อต่อไปโดยไม่ได้ศึกษาว่า   พระผู้มีพระภาคฯ   อาจจะตรัสไว้ที่ไหน   คิดว่าเป็นคติทางพุทธศาสนา
  • สุ.    แต่ไม่เคยเห็นเจ้ากรรมนายเวร   ใช่ไหม
  • ช.   ที่เป็นตัวเป็นตนก็มี   พ่อแม่ของผม   ผมก็ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวร    ท่านมีบุญคุณกับผม   ผมก็อุทิศให้พ่อแม่   ครูบาอาจารย์   อุทิศให้ทุกครั้งไป
  • สุ.   ถ้าอย่างนั้น   ในความหมายนี้คงหมายถึงผู้ที่มีกรรมต่อกัน   ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ชื่อว่า   เจ้ากรรมนายเวร
  • ไม่ทราบว่าความจริงจะเป็นอย่างไรสำหรับคนอื่น   สำหรับกระผม   กระผมถือว่าใครก็แล้วแต่กระทำกรรมต่อกัน   เราก็อยากอุทิศให้
  • สุ.    นั่นเป็นเรื่องอุทิศส่วนกุศล   เป็นเรื่องของการเจริญเมตตา   แต่นี่เป็นเรื่องการเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวร    คือไม่ทราบว่าแต่ละท่านมีความคิดความเข้าใจเรื่องของเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร   เพราะรู้สึกว่าจะเป็นธรรมเนียมในการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร
  • ช.   กระผมก็เป็นคนธรรมดาๆ   ที่ไม่ได้ศึกษา    มีความเชื่อว่า   ถ้าเรากระทำความไม่ดีอะไรกับใครไว้   ก่อความไม่พออกพอใจแก่ใครไว้   ก็คิดว่ากรรมนั้นอาจเกิดสนองแก่เราได้เหมือนกัน    เพราะฉะนั้นก็คิดว่า   ถ้าเราอโหสิกรรมต่อกันเสียก็คงจะดี   อันนี้เป็นความเชื่อ    นอกจากนั้นคอยไปพบใครไม่ทราบบอกว่า   เวลาเจ็บป่วย   พระภิกษุท่านบอกว่ามีสาเหตุหลายอย่าง   จำได้ว่ามีพยาธิ  มีอุตุ   มีกรรม   และมีข้อหนึ่งว่าเป็นเรื่องของกรรมที่เราทำอะไรไปในชาติก่อน   อาจจะทำให้ผู้ถูกกระทำนั้นมาทวงบุญทวงคุณ   หรือว่าทวงกรรมที่เราไปทำเขา    ด้วยเหตุนั้นผมก็เชื่อเช่นนั้น   เวลาทำบุญทำกุศลอะไรก็แล้วแต่   ก็อุทิศส่วนกุศลไปให้   เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆก็ไม่ลืมที่จะใส่บาตรกรวดนํ้าให้ผู้ที่อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวร   ถ้ามีอะไรต่อกันก็ขออโหสิแก่กัน   ทำอย่างนั้นด้วยความเชื่อ    ผมไม่ทราบว่าถูกต้องตามคติหรือพระธรรมของพระผู้มีพระภาคฯหรือเปล่า
  • สุ.    ขอให้พิจารณาโดยละเอียดถึงเรื่องการอุทิศส่วนกุศลและการอบรมเจริญเมตตา    สำหรับการอุทิศส่วนกุศลนั้นเมื่อได้ทำกุศลแล้ว   ก็สามารถจะอุทิศให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ได้   ที่สามารถจะล่วงรู้   เพื่อเขาจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา   ไม่ว่าจะเป็นผู้ยังมีชีวิตอยู่หรือว่าเป็นผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว   แต่สำหรับความเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวรนี้   ขอให้พิจารณาจริงๆว่า   แต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน   เพราะฉะนั้น   จึงไม่มีเจ้ากรรมนายเวร   ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะดลบันดาลทุกข์สุขให้กับท่าน   เพราะว่าทุกข์สุขของแต่ละท่านนั้นย่อมต้องเป็นผลของการกระทำคือกรรมของท่านเอง   ส่วนการอุทิศส่วนกุศลขณะนั้นผู้อุทิศต้องมีเมตตาจิต   จึงสามารถจะอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละบุคคลนั้นได้   ถ้าขาดเมตตาจิตในบุคคลใดก็จะไม่อุทิศส่วนกุศลให้บุคคลนั้น    เพราะฉะนั้นการอุทิศส่วนกุศลจึงเป็นการเจริญเมตตา   คือต้องมีความเมตตาจึงสามารถจะอุทิศส่วนกุศลในขณะนั้นได้    ถ้าคิดถึงเจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็น   กับคิดถึงบุคคลที่ท่านกำลังไม่พอใจ   แทนที่จะคอยโอกาสมีเมตตาอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่ไม่เห็นหน้าและไม่รู้ว่าเป็นใคร   แต่กับคนซึ่งท่านกำลังเห็นและไม่พอใจนั้น   อาจจะเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรได้ไหม   ซึ่งความจริงเจ้ากรรมนายเวรไม่มี   ทุกท่านมีกรรมเป็นของๆตน   แต่ถ้าคิดถึงกรรมที่ตนได้เคยทำต่อบุคคลอื่น   แล้วเรียกบุคคลที่ท่านกระทำด้วยว่าเป็นเจ้ากรรมของท่าน   แล้วใคร่ที่จะเห็นเขามีความสุข ให้พ้นจากความผูกโกรธขณะนั้น   ก็ควรเมตตาบุคคลที่ท่านเห็น   แทนที่จะไปอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็น   นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณา   ส่วนการเจริญเมตตานั้นก็เจริญได้ต่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น    การเจริญเมตตาต่อคนที่ล่วงลับไปแล้วไม่มีประโยชน์   ไม่เกิดผล  เพราะฉะนั้น   ควรพิจารณาตามความเป็นจริงว่าบุคคลที่สิ้นชีวิตแล้วนั้น   สูญสิ้นสภาพของการเป็นบุคคลซึ่งเคยเกี่ยวข้อง   เคยมีความสัมพันธ์   เคยชอบหรือเคยชังต่อกันก็จบสิ้นไปแล้ว   ฉะนั้น การที่สามารถมีเมตตาต่อบุคคลซึ่งเป็นที่ไม่รักได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่   จึงเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาจริงๆ   มีกำลังของเมตตาที่สามารถจะเจริญได้แม้บุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักก็เมตตาได้    แต่ถ้าบุคคลนั้นสูญสิ้นการเป็นบุคคลนั้นแล้ว   จะมีเมตตาต่อบุคคลนั้นทั้งๆที่ท่านเองก็รู้ว่าไม่มีบุคคลนั้นอีกต่อไป   ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้   ฉันนั้น   ความคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวรก็ฉันนั้น   ในเมื่อกรรมได้กระทำไปแล้ว   และกรรมนั้นก็เป็นของท่านเอง   และบุคคลที่ท่านกระทำกรรมในชาติไหนๆก็ตาม   ในปัจจุบันชาตินี้จะเป็นใคร   ถ้ากล่าวลอยๆว่าเจ้ากรรมนายเวร   โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร   ก็ย่อมเป็นโมฆะ   เพราะไม่รู้ว่าเป็นใครที่ไหน    แต่ถ้าระลึกได้ว่า   ควรจะมีเมตตา   ควรอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลทั้งหลายผู้สามารถล่วงรู้ได้   ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร   ท่านก็สามารถจะเจริญเมตตาโดยอุทิศส่วนกุศลให้    แม้คนซึ่งไม่เป็นที่รัก   จะดีกว่าการไปอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร   โดยไม่ทราบว่าชาติไหนท่านได้ทำกรรมอะไรกับบุคคลใด   จึงจะเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน
    เพราะว่า  แม้กรรมในชาติก่อนๆ   ก็ยังนึกไม่ออก   ไม่สามารถจะล่วงรู้ได้ว่า   ในชาติก่อนๆได้กระทำกรรมอะไร   จึงมีเจ้ากรรมนายเวร   และเป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติไหนก็ไม่รู้     และถ้าเป็นในชาตินี้ ใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านบ้าง     และเจ้ากรรมนายเวรซึ่งท่านได้กระทำกรรมต่อบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือว่าล่วงลับไปแล้ว   ถ้าล่วงลับไปแล้ว   ก็อุทิศส่วนกุศลให้บุคคลนั้นได้   แต่ไม่ใช่โดยฐานะซึ่งเป็นเจ้ากรรมนายเวรลอยๆ   โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร   และเป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติไหน
    สภาพธรรมะนั้นต้องไตร่ตรองพิจารณาเหตุผลจริงๆ   เพราะถ้าไม่พิจารณาเหตุผลก็อาจจะกระทำไปโดยไม่เข้าใจว่าเป็นกุศลจริงๆหรือไม่    เพราะเพียงแต่การกล่าวอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร   โดยไม่รู้ว่าเจ้ากรรมนายเวรเป็นใครนั้น   โดยมากมักจะกลัวเจ้ากรรมนายเวรเพราะคิดว่า   เจ้ากรรมนายเวรจะทำให้ชีวิตของท่านลำบากเดือดร้อน   แทนที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า   อกุศลกรรมที่ท่านได้กระทำแล้วซึ่งเกิดเพราะกิเลสเป็นเหตุให้วิบากคือผลของกรรมนั้นๆเกิดขึ้นกับท่านเอง   เมื่อท่านยังมีอกุศลกรรม   ยังมีกิเลสซึ่งเป็นต้นเหตุให้ทำอกุศลกรรม   อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นย่อมให้ผล   คือทำให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นได้ในภายหลัง   เพราะฉะนั้น   จึงควรเห็นโทษของกิเลสและอกุศลกรรมมากกว่ากลัวที่จะไม่อุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร
  • ท.   อย่างพวกที่ผูกพยาบาทกัน   ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันหรือไม่
  • สุ.   โดยสถานไหน
  • ท.    มีธรรมบทเรื่องนางยักษิณี   มีการผูกเวรกันมาหลายชาติ
  • สุ.   เมื่อผูกเวรกันแล้ว   หนทางที่จะหมดเวรได้นั้น   คืออย่างไร
  • ท.    เรื่องที่จะหมดเวรก็คือว่า   ตอนสุดท้ายนางยักษิณีจะไปจับลูกของผู้หญิงคนที่ผูกเวร   เพื่อนำไปเป็นอาหาร   ผู้หญิงนั้นวิ่งเข้าไปในวัด   เอาลูกไปวางไว้ที่พระบาทของพระพุทธเจ้า   และพระพุทธเจ้าได้เรียกนางยักษิณีพร้อมด้วยผู้หญิงคนนั้น   และทรงโปรดแสดงเทศนาจนคนทั้งสองเลิกผูกเวรกัน
  • สุ.   เพราะฉะนั้น   ที่จะหมดเวรกันได้นั้น คืออย่างไร
  • ท.    คงจะเป็นเพราะกุศลจิตที่เกิดขึ้น
  • สุ.   คือไม่จองเวร   ไม่โกรธกันต่อไปขณะใด   ขณะนั้นก็หมดเวรต่อกัน   คือกุศลจิตเกิดทั้งสองฝ่าย
  • ท.   ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งทำบุญ   และมีเจตนาดีที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับผลบุญที่ตนกระทำด้วย   ฝ่ายนั้นอาจจะเลิกคิดพยาบาทเป็นไปได้ไหม
  • สุ.   ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่   เมื่อได้ทำกุศลแล้วก็อยากให้ผู้อื่นเกิดกุศลด้วย   จึงบอกให้ผู้นั้นรู้ในกุศลนั้น   เพื่อเขาจะได้อนุโมทนา   แต่ถ้าพูดถึงเจ้ากรรมนายเวรหลังจากที่เราทำกุศลแล้ว   จะรู้ได้อย่างไร
  • ท.    เมื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนที่โกรธกัน   โดยบอกว่าไปทำบุญมา   ขอให้ท่านได้รับผลบุญด้วย
  • สุ.    บอกให้เขารู้เพื่อที่เขาจะได้อนุโมทนา   แต่ไม่ใช่อย่างที่คิดว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้   กรรมอะไรก็ไม่รู้   แล้วยังไปกลัวอีกว่าที่อุทิศส่วนกุศลให้   เพื่อเขาจะได่ไม่มาทำให้เราเดือดร้อน   ดูเหมือนกับว่าเขาสามารถจะดลบันดาลทั้งๆที่เราเป็นผู้กระทำกรรม   เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของเราเอง   ไม่ใช่คนอื่นสามารถสามารถกระทำกรรมให้เราได้
  • ท.   คิดว่าเป็นอย่างนั้น
  • สุ.    ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่   ก็อย่าผูกโกรธ   แต่ไม่ต้องไปคิดถึงกรรมในอดีตที่ผ่านมา   แล้วไม่รู้ว่ากรรมอะไร   เจ้ากรรมนายเวรอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้   แต่ถ้าไม่ชอบใครก็คิดเสียว่าคนนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวร   อย่างที่เราเคยคิดก็แล้วกัน   จะได้ไม่โกรธเขา    แทนที่จะต้องไปนั่งอุทิศส่วนกุศลให้   ก็เกิดเมตตาในบุคคลนั้นทันที
  • ท.    เรื่องการแผ่เมตตามีคนเป็นจำนวนมากแผ่ไปไม่เฉพาะแต่เพื่อนฝูง   ญาติมิตรเท่านั้น   แต่แผ่ให้แก่โอปปาติกะทั้งหลายด้วย
  • สุ.    เมื่อทำกุศลแล้วก็ควรอุทิศส่วนกุศลที่กระทำแล้วให้ผู้ที่สามารถล่วงรู้   เพื่อเขาจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา   แต่ไม่ใช่คิดว่าโอปปาติกะนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวร    คืออยากให้เข้าใจคำว่า   เจ้ากรรมนายเวร ให้ถูกต้อง    ทุกคนมีกรรมเป็นของของตนเอง   เมื่อได้กระทำกรรมต่อใครไว้   และอยากจะให้หมดกรรมนั้น   ก็ควรเกิดกุศลจิตแทนการผูกโกรธ
  • ท.   อยากทราบว่า   ตามที่ยกข้อความในธรรมบทขึ้นมานั้น   คือ   กุลสตรีซึ่งในอดีตชาติเป็นภรรยาหลวงและภรรยาน้อย   ภรรยาหลวงได้ทำให้ภรรยาน้อยแท้งลูกถึง 2 ครั้ง  ครั้งที่ 3 ถึงสิ้นชีวิต    ภรรยาน้อยจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่
  • สุ.   ที่ใช้คำว่า   เจ้ากรรมนายเวร   หมายความว่าอย่างไร
  • ท.   เมื่อภรรยาน้อยตายไปแล้ว   ผูกอาฆาตว่าถ้าเกิดมาในชาติใดๆ   จะขอกินลูกภรรยาหลวงทุกชาติ
  • สุ.    แล้วเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร
  • ท.   เพราะยังไม่เข้าใจ   จึงเรียนถามอาจารย์ว่าเป็นหรือไม่
  • สุ.    ไม่ใช่เป็นเจ้ากรรมนายเวรแต่เป็นความผูกโกรธ   ทุกท่านในขณะนี้อาจจะมีภัย   หรืออาจจะมีศัตรูจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดในชาติปัจจุบันนี้   จะกล่าวว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันในอดีต   หรือว่าจะเกิดมามีความผูกโกรธกันในปัจจุบันชาติ   แต่บุคคลนั้นก็ไม่สามารถจะทำอันตรายบุคคลใดได้   ถ้ากรรมของบุคคลที่ถูกกระทำนั้นไม่ถึงกาลที่จะให้ผล   แต่ถ้าเป็นผู้มีกุศลสั่งสมมาดีพร้อมทั้งคติสมบัติ   กาลสมบัติ  อุปธิสมบัติ
    ปโยคสมบัติ    แม้ว่าบุคคลอื่นจะโกรธหรือผูกโกรธอย่างไรก็ตาม   ย่อมไม่สามารถจะทำอันตรายได้   เพราะแต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน   เมื่ออกุศลกรรมเป็นเหตุก็ทำให้เกิดกุศลวิบากจิต   ฉะนั้นบุคคลอื่นจึงทำร้ายใดๆไม่ได้ทั้งสิ้น   แต่บุคคลที่โกรธท่านก็อาจจะยังโกรธ   จากวันเป็นเดือนเป็นปี   จากชาตินี้ไปถึงชาติหน้าก็ได้   เป็นเรื่องของบุคคลซึ่งผูกโกรธเอง   แต่ไม่ใช่ว่าบุคคลที่ผูกโกรธจะเป็นเจ้ากรรมที่สามารถจะดลบันดาลอะไรให้    เพียงแต่ว่าเมื่ออกุศลกรรมของท่านพร้อมที่จะทำให้เกิดอกุศลวิบากเมื่อใด   เมื่อนั้นก็เป็นโอกาสที่อกุศลวิบากจะเกิดขึ้น   เป็นผลของอกุศลกรรมของท่านเอง
  • ท.    เรื่องของกรรมที่กล่าวมานั้นถูกต้อง
    แต่สำหรับรายนี้เมื่อเขาผูกโกรธแล้ว   ผูกอาฆาตแล้ว   ไปเกิดในชาติต่อไป   และเกิดเป็นแมวในบ้านนั้น   หลังจากภรรยาหลวงตายไปเกิดเป็นไก่ในบ้านนั้นก็เหมือนกัน   เวลาไก่ออกไข่แมวจะกินทุกที   เพราะฉะนั้น   จะว่าเป็นกรรมของไก่   หรือเป็นการกระทำของแมว
  • สุ.   ถ้าไม่มีกรรมเป็นของตน   บุคคลอื่นจะทำอันตรายได้หรือไม่
  • ท.    ในที่นี้เป็นการกระทำของแมว   ไม่ใช่การกระทำของไก่
  • สุ.    ถ้าบุคคลนั้นไม่มีกรรมเป็นของตนเอง   แมวนั้นจะทำร้ายได้ไหม
  • ท.    จะเป็นการกระทำกรรมในอดีตชาติที่เป็นภรรยาหลวง   แล้วให้ยาเขากินจนแท้งลูก   กรรมนั้นหรือไม่
  • สุ.    นอกจากพระผู้มีพระภาคฯแล้ว   บุคคลอื่นไม่สามารถจะพยากรณ์เรื่องของกรรมได้เลย   ถ้าใครกล้าที่จะพยากรณ์กรรมว่าขณะนี้ท่านผู้นี้กำลังได้รับผลของกรรมนั้นในชาตินั้นๆ   ก็ต้องเป็นที่น่าประหลาดมหัศจรรย์ว่าบุคคลนั้นสามารถล่วงรู้ได้อย่างไร   ในเมื่อไม่ใช่ทศพลญาณ   อย่างพระญาณของพระผู้มีพระภาคฯ    เพราะฉะนั้น   ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นสามารถรู้ได้   แต่ข้อสำคัญนั้นคือ   ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉน    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆตน   เป็นผู้รับผลของกรรม   เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด   มีกรรมเป็นพวกพ้อง   มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย   กระทำกรรมใดไว้เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม   ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
    นี่คือกรรมของตัวเอง   เพราะฉะนั้น   เรื่องเจ้ากรรมนายเวรอย่าเข้าใจผิด   คิดว่าคนอื่นเป็นเจ้ากรรมนายเวรจริงๆ   ซึ่งสามารถจะทำให้ท่านได้รับความทุกข์ต่างๆ   แต่เป็นเพราะกรรมของท่านเองที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นเหตุให้ได้รับผลของกรรมนั้นๆ
  • ท.   ยิ่งฟังยิ่งงง   เกรงว่าจะเป็นเรื่องของถ้อยคำหรือภาษาเท่านั้นหรือเปล่าก็ไม่ทราบ   แต่ความเข้าใจซึ่งครงกันคือว่า   ให้มีอันเป็นไปอย่างนั้นเกิดขึ้น   แต่ท่านอาจารย์เรียกว่าเป็นกรรมของเราเอง   ไม่ใช่มีเจ้ากรรมนายเวร   แต่ที่เชื่อๆกันคือกรรมของเราเองที่ไปฆ่าเขา   ชาติต่อไปเขาก็มาฆ่าเรา   แต่ทางภาษาเราถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวร   คือเราไปกระทำใครเขาไว้   แต่ไม่ใช่หมายความว่า   จะเป็นกรรมมาจากคนอื่น   เป็นเพราะกรรมของเราเอง   รวมทั้งพระโมคคัลลานะ   ตอนสุดท้ายก็สิ้นชีวิตเพราะกรรม
  • สุ.    ทุกท่านเป็นผู้ที่มีกรรมเป็นของๆตนเอง   ในปัจจุบันชาตินี้จำได้ไหมว่า   ได้กระทำกรรมอะไร   หรือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครบ้าง
  • ท.   บางทีก็จำได้   ไปทำอะไรให้ใครเจ็บชํ้านํ้าใจ   เคยมีและก็ขออโหสิกรรมไปแล้ว
  • สุ.   เมื่อคนนั้นสิ้นชีวิตไป   แล้วเกิดเป็นอีกบุคคลหนึ่ง   ยังจะถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรคนเก่าอยู่อีกหรือไม่
  • ท.   เรื่องนี้ไม่รู้
  • สุ.    แต่ละคนไม่ได้มีกรรมกรรมเดียว   ได้กระทำกรรมกันมาแล้วมาก   เคยฆ่าสัตว์มาแล้ว   สัตว์ที่ถูกฆ่านั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือเปล่า   และสัตว์จะจำได้ไหมว่าเคยถูกใครฆ่า   เช่น   ไก่ตัวหนึ่งถูกฆ่าตายแล้วไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์   ไก่ตัวนั้นยังจะจำได้ไหมว่าเขาเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน
  • ท.   คงจำไม่ได้แน่นอน
  • สุ.   จำไม่ได้ทั้งนั้น   คือคนที่กระทำกรรมก็จำไม่ได้ว่าได้กระทำกรรมต่อบุคคลนี้   เพราะว่าตัวเองก็ไปเกิดใหม่   เพราะฉะนั้น   ก็ลืมไปแล้วว่าชาติก่อนได้เคยกระทำกรรมอะไรไว้กับใคร   จะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครก็จำไม่ได้อีก   เพราะว่าจำเรื่องของชาติก่อนไม่ได้เลย   เพราะฉะนั้น   เรื่องเจ้ากรรมนายเวรก็เป็นเรื่องของความคิดเท่านั้น   ต่างคนต่างก็เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกันทั้งนั้น
    โดยลักษณะดังกล่าวข้างต้นในสังสารวัฏ
  • ท.   ใช่   เราไม่สามารถที่จะรู้ได้   เพราะเราไม่สามารถจะมีญาณหยั่งรู้อย่างพระผู้มีพระภาคฯ
  • สุ.    ควรพิจารณาอย่างไรเรื่องเจ้ากรรมนายเวร   เช่น   ไก่ที่ถูกฆ่าไปตัวหนึ่ง   ไก่ตัวนั้นไปเกิดใหม่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครในชาติก่อน    แม้เราเองในชาตินี้ก็ไม่รู้ว่าเราเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครในชาติก่อน   เพราะฉะนั้น   ใครที่กำลังอุทิศส่วนกุศลให้เรา   ซึ่งอาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเขาในชาติก่อนเราก็ไม่รู้อีก   เพราะว่าในชาตินี้เราจำชาติก่อนไม่ได้เลย    ชาตินี้ถ้าใครได้ทำอกุศลกรรมกับเรา   ถ้าจะคิดว่าเขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา   เราก็จำไม่ได้ว่าเขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราเมื่อไหร่   เขาเองก็จำเรื่องกรรมที่ทำต่อกันไม่ได้   ต่างคนต่างก็จำกรรมที่เคยกระทำในชาติก่อนๆไม่ได้ทั้งนั้น    แล้วจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันอย่างไร
  • ท.    กระผมจึงว่าน่าจะเป็นเรื่องของภาษาตามความเข้าใจของกระผม   กระผมคิดว่าเราจำไม่ได้ว่าไปทำอะไรใครไว้   แต่มีความเชื่อว่าเราคงเคยกระทำอะไรไว้   และเดี๋ยวนี้เรามีจิตที่บริสุทธิ์คิดว่าจะอุทิศส่วนกุศลให้ใครก็แล้วแต่ที่ว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวร
  • สุ.    ท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้   เคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านผู้ถามหรือไม่
  • ผู้ฟัง    เรื่องนี้ตอบแทนได้เลยว่าไม่มีใครรู้ใครทั้งสิ้น
  • สุ.    แต่ก็อุทิศส่วนกุศลให้ทุกวัน   และเขาก็ไม่รู้เลยว่าท่านอุทิศส่วนกุศลให้   เพราะเขาจำชาติก่อนไม่ได้   ขณะที่อยู่ในชาตินี้   พบใครก็ไม่รู้ว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรต่อกันหรือไม่   เพราะฉะนั้นแทนที่จะนึกว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวร   แทนที่จะมีเวรโดยการผูกโกรธต่อกันและกัน   ก็ควรมีเมตตาต่อกันทันที   จึงหมดเวรได้   ไม่ใช่ต้องไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร   โดยไม่รู้ว่าผู้ที่กำลังนั่งอยู่ในที่นี้อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรก็ได้   ทั้งๆที่อุทิศส่วนกุศลให้ก็ยังไม่รู้ว่าใครอุทิศส่วนกุศลให้บ้าง
  • ย.   ถ้ามีคนเขาอิสสาริษยาเรา   เราจะทำอย่างไรจึงจะให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นผิด   ถ้าเราทำบุญทำกุศลแล้วบอกให้เขาทราบ   เพื่อให้เขาอนุโมทนาด้วย   แต่เมื่อคิดว่าเขามีจิตริษยาจึงไม่บอกให้เขาทราบ   และจะมีวิธีใดที่จะบอกเขาได้
  • สุ.    รู้ได้อย่างไรว่าเขาอิสสาริษยา
  • ย.    จากเหตุการณ์ประมวลมาหลายๆอย่าง   ซึ่งคนอื่นคงไม่รู้   แต่เราสามารถรู้ได้
  • สุ.   ใจของคนอื่น   ใครจะสามารถแก้ไขได้   ถ้าไม่ใช่ตัวเขาเอง
  • ย.    สมมติว่าเราทำบุญแล้วจะให้เขาอนุโมทนาด้วย   เราจะบอกเขาว่าอย่างไรดี
  • สุ.   ข้อสำคัญที่สุดคือ   ผู้มีอกุศลจิตเป็นผู้ที่รู้ตัวเองว่ามีอกุศลจิตหรือไม่   ไม่ว่าใครทั้งนั้นที่กำลังมีอกุศลจิต   รู้ตัวเองหรือไม่ว่าตนเองกำลังมีอกุศลจิต   หรือคิดว่าคนอื่นทั้งนั้นที่อิสสาริษยา   นี่เป็นสิ่งต้องพิจารณา   แทนที่จะพิจารณาว่าคนอื่นริษยา   ควรพิจารณาจิตของตนเองดีกว่า   ว่าจิตของเราในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล
  • ย.   ก็ต้องเป็นอกุศลแน่
  • สุ.   เพราะฉะนั้น   แทนที่จะไปมุ่งหวังเกินเลย   ไปแก้ไขคนอื่น   ก็ขอให้ทุกคนได้พิจารณาจิตของตนเอง   ผู้ใดเป็นผู้ฉลาดย่อมแก้ไขจิตของตนเองด้วยการพิจารณาจิตของตนเองว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล   เพราะว่าบางคนอาจมุ่งคิดจะแก้ไขบุคคลอื่นที่ริษยา   แต่ความจริงนั้นควรพิจารณาจิตของตนเองก่อนว่าขณะที่คิดว่าเขาริษยา   จิตของเราเองเป็นอกุศลหรือกุศล
          ถ้าจะกล่าวถึงจิตของผู้ที่อุทิศส่วนกุศลก็เป็นกุศลจิต   เป็นกุศลกรรมของบุคคลที่อุทิศกุศลนั้น   และผู้ที่รู้และอนุโมทนาก็เป็นกุศลจิตเป็นกุศลกรรมของผู้ที่อนุโมทนาเอง
          อย่าลืมว่าถ้าจะคิดถึงเจ้ากรรมนายเวรก็คือ   คิดถึงบุคคลที่กำลังมองเห็นอยู่นี้เอง   โดยไม่ทราบว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันในชาติไหน    ถ้าจะคิดว่าในสังสารวัฏอาจจะเตยเป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติหนึ่งชาติใด   ก็มีเมตตาต่อผู้ที่กำลังพบเห็นทันที   แทนที่จะรอโอกาสเมื่อไปทำบุญแล้วจึงอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร   อยู่ที่ไหน  และมองไม่เห็น

  • หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "เจ้ากรรมนายเวร"
    มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    home     ปัญหาถาม-ตอบ   หนังสือธรรมะ     พระไตรปิฎก   ถาม-ตอบจากหนังสือ

    Click Here!