Buddhist Study   จากพระไตรปิฎก: ปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์
มัชฌิมนิกาย   มัชฌิมปัณณาสก์  คหบดีวรรค 
ชีวกสูตร เล่มที่ ๑๓ ข้อ ๕๖-๖๑
   

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

อ่านหนังสือธรรมะ



 
เรื่องนี้   ตรัสสนทนากับหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ ซึ่งได้ปวารณาตัวเป็นแพทย์สำหรับพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ด้วย

วันหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของหมอชีวก เจ้าของสวนเข้าไปเฝ้าทูลว่า คนทั้งหลายพูดกันว่า พระพุทธองค์เสวยเนื้อสัตว์ที่คนฆ่าเจาะจงมาถวาย ทรงรู้อยู่ก็เสวย ข้อนี้จริงหรือไม่

ตรัสตอบว่า  ไม่จริง และทรงอธิบายว่าทรงห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ที่ประกอบด้วยองค์ 3 คือ เนื้อที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังมา หรือรังเกียจสงสัยว่า เขาฆ่ามาเพื่อตน ถ้าไม่ประกอบด้วยองค์ 3 นี้ก็ฉันได้ พระองค์เองก็ทรงถือเงื่อนไข 3 ประการนี้ด้วยเหมือนกัน

ทรงแสดงเพิ่มเติมว่า ภิกษุสาวกของพระองค์อาศัยอยู่ในบ้านหรือนิคมใด มีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา แผ่ไปทุกทิศ ไม่คิดเบียดเบียนใคร หรือสัตว์ใดๆเลย เมื่อมีผู้มานิมนต์ไปฉันก็ไม่ได้คิดว่าขอให้เขาถวายบิณฑบาตอันประณีตแก่ตน หรือถวายอีกในวันต่อไป เธอไม่กำหนัดในอาหาร ไม่ติดพัน พิจารณาเห็นโทษอยู่เสมอ มีปัญญาในการถอนตนออก เมื่อเป็นเช่นนี้เธอจะคิดเบียดเบียนตนหรือผู้อื่นได้อย่างไร เธอชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ

หมอชีวกทูลรับว่าเป็นอย่างนั้นจริง และทูลว่าเคยได้ยินได้ฟังมาว่า พรหมอยู่ด้วยอุเบกขา เขาไม่เคยเห็นพรหม แต่เห็นพระผู้มีพระภาคทรงอยู่ด้วยอุเบกขา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเป็นพรหมที่เห็นได้

พระศาสดาตรัสว่า ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน พระองค์ทรงละได้ขาดแล้ว ถ้าหมายเอาอย่างนี้ (ว่าเป็นพรหม) ก็ทรงอนุญาตให้กล่าวเช่นนั้นได้ ทรงอยู่ด้วยอุเบกขาได้ด้วยเหตุนี้

ทรงแสดงน้ำพระทัยอันชื่อตรงของพระองค์ให้หมอชีวกทราบว่า ทรงเห็นว่าผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงมาถวายพระองค์ ผู้นั้นย่อมได้รับบาปเป็นอันมาก 5 ประการด้วยกัน คือ

    1. ตอนที่พูดว่าให้นำสัตว์นั้นๆมาฆ่า
    2. เมื่อสัตว์นั้นๆถูกเขาผูกคอลากมา มันต้องประสบทุกขเวทนา
    3. เมื่อใช้ให้เขาฆ่า
    4. เมื่อสัตว์นั้นกำลังถูกฆ่า ย่อมได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส
    5. เมื่อผู้นั้นให้ตถาคตหรือสาวกของตถาคต บริโภคเนื้ออันไม่สมควร

หมอชีวกทูลสรรเสริญข้อชี้แจงของพระพุทธองค์ หายข้องใจสงสัยในเรื่องการเสวยเนื้อสัตว์ของพระพุทธองค์


home   ปัญหาถาม-ตอบ    หนังสือธรรมะ   
พระไตรปิฎก   อ่านหนังสือธรรมะ

หมายเหตุ:  คัดลอก/ย่อความ จาก "พระไตรปิฎกสำหรับเยาวชน"   

Click Here!

 



watarun08.jpg (4182 bytes)

วัดอรุณฯ
กรุงเทพฯ