Buddhist Study | เหตุใดผมจึงศึกษาธรรมะ แนะแนวทางเจริญวิปัสสนา โดย โกวิท อมาตยกุล |
|||
|
ไม่รู้เวลาตาย เมื่อนึกถึงไพบูลย์
ทำให้คิดถึงคำบรรยายของอาจารย์ "การตายพรากทุกสิ่งจากชาตินี้ไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลือเป็นของบุคคลนี้อีกต่อไป แม้แต่ความทรงจำ ชาตินี้เกิดมาแล้ว จำได้ไหมว่าชาติก่อนเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร หมดความเป็นบุคคลในชาติก่อนสิ้นเชิง ฉันใด แม้ชาตินี้จะได้สร้างบุญ ทำกรรมใดมาแล้ว จะมีมานะในชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ใดๆก็ตาม ก็จะต้องหมดสิ้น ไม่มีเยื่อใยในชาตินี้ภพนี้เหลืออยู่อีกเลย ฉันนั้น การตายพรากจากทุกสิ่งโดยสิ้นเชิง ทั้งความคิด ความจำ ความยึดถือใดๆทั้งสิ้นที่เคยเกาะเกี่ยวผูกไว้ตั้งแต่เกิดจนเดี๋ยวนี้นั้น ก็จะผูกพันยึดถือว่าเป็นตัวเราอีกต่อไปไม่ได้ การพบกันครั้งสุดท้ายก่อนตายจากไปนั้น ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่จะแสดงให้รู้ว่า เมื่อเห็นกันแล้ว จะไม่ได้เห็นกันอีก เมื่อเห็นตอนเช้าก็อาจไม่ได้เห็นตอนเย็น เห็นตอนเย็นก็อาจไม่ได้เห็นตอนเช้า ทุกคนเห็นความจริงว่า ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงหรือต่อรองความตายได้ จะขอเวลาต่อแม้เล็กน้อยก็ไม่ได้ ฉะนั้น การกล่าวถึงชีวิตของแต่ละคน ก็ไม่พ้นจากการพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นแต่ละบุคคล ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย เมื่อพูดกันถึงผู้ตาย ก็ควรจะได้ระลึกถึงสภาพจิตในขณะนั้นว่าแยบคายหรือยัง แทนที่จะโศกเศร้าเสียใจอาลัยอาวรณ์ ก็ควรจะเป็นความเบิกบานในธรรม ที่ได้เข้าใจความจริงอันเป็นสัจจธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงถึงธรรมดาของการเกิดซึ่งต้องมีตาย เมื่อเกิดแล้วที่จะไม่ตายนั้นไม่มี และการตายนั้นก็ไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้เลย เมื่อเข้าใจความจริง ก็รู้ว่าความจริงเป็นสัจจธรรม ชีวิตเราเป็นกระแสจิตที่เกิดดับสืบต่อกันทีละดวงเรื่อยไป ตั้งแต่เกิดจนตาย จากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง กิเลสทุกชนิดเกิดขึ้นเพราะได้สะสมมาแล้วในอดีต เมื่อปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นดับกิเลส กิเลสก็เกิดอีกๆต่อไปในอนาคต
การฟังธรรมเสมอๆ ความเข้าใจพระธรรมย่อมสะสมไปในภพหน้า" หากข้อความที่เก็บมาบางตอน
พอเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกุศล
ท่านผู้อ่านคงอยากทราบ เพราะเหตุใดผมจึงศึกษาธรรมะ คำตอบก็คือ "ผมถูกบังคับ" แต่ใครบังคับ บังคับอย่างไร เมื่อไรนั้น ผมจะเล่าต่อไปข้างหน้า ผมขอเรียนให้ทราบเบื้องหลังของผมสักเล็กน้อยก่อน ตั้งแต่เด็กมาแล้ว ผมไม่เคยสนใจเรื่องธรรมะธรรมโมกับเขาเลย ตอนเป็นนักเรียนอยู่เทพศิรินทร์ ต้องสวดมนต์ทุกเช้า แต่ก็ไม่ค่อยทราบความหมายเท่าใดนัก สวดไปยังงั้นเอง ตอนเข้าโบสถ์ฟังเทศน์อาทิตย์ละครั้ง ก็ไม่สนใจ นั่งขัดสมาธิคุยกัน กินขนมกัน เป็นที่สำราญใจ เกือบจะถูกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านหวดก็หลายครั้ง แต่ก็รอดมาได้ อายุประมาณ 14-15 ติดตามญาติผู้ใหญ่ไปอยุธยา พบพระเจ้าอาวาสมาคุยกับเจ้าของบ้านจน 4 ทุ่ม แล้วนอนค้างที่บ้านนั้นเลย ตั้งแต่นั้นมาเลยเกลียดพระเพราะปฏิบัติตนไม่เหมาะสม เลยพาลเกลียดไปหมด ซึ่งไม่ถูกต้อง จบ ม.8 แล้วก็พยายามเข้า รร. นายร้อย แต่ก็เข้าไม่ได้เพราะตาบอดสี พยายามอยู่ 2 ปี ไม่สำเร็จ อายุครบ 20 ปี ถูกเกณฑ์ทหาร แม่กลัวจะลำบาก มีคนบอกให้ไปรดนํ้ามนต์จะได้ไม่เป็นก็ไม่เชื่อ เพราะไม่น่าเชื่อ แต่ขัดแม่ไม่ได้เลยต้องไป หลายคนรอดมาเพราะหลวงพ่อองค์นี้ แต่แล้วผมก็ไม่โดนทหารจริงๆ เพราะจับใบดำได้ จำได้ว่าวันนั้นมีมีคนมาดูกันมาก เขาทำกันที่ รร. เทศบาลตรงข้ามอำเภอดุสิต ปีนั้นเขาต้องการทหารมากแต่ยังขาดอยู่อีกหนึ่งคน คนแข็งแรงมีมากมาย เลยทำใบดำ 11 ใบ ใบแดง 1 ใบ ผมถูกคัดเลือกไปยืนเข้าแถว รอจับใบดำใบแดง ผมยืนเป็นคนที่ 11 เป็นที่น่าประหลาดว่า ลำดับ 1-10 จับได้ใบดำทั้งหมด คนเฮฮากันยกใหญ่ เหลืออีก 2 คน ไม่ทราบใครจะโดน แล้วเขาก็เรียกชื่อผมให้ไปจับใบดำใบแดง ใจผมเต้นแรง นึกถึงหลวงพ่อที่รดนํ้ามนต์ให้ นึกถึงสาริกาที่อมอยู่ในปาก นึกถึงขี้ผึ้งที่สีปาก นึกถึงด้าย 7 สีที่อยู่ในกระเป๋า นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาช่วยลูกด้วย ลูกยังไม่อยากเป็นพลทหารเลย ผมก้าวเท้าขาสั่นๆไปที่โต๊ะไหกระเทียมซึ่งในนั้นมีใบดำใบแดงอยู่ 2 ใบ นึกว่าล้วงลงไปพบอันไหนก็จับอันนั้น แต่เผอิญสลาก 2 ใบนอนเคียงคู่กันอยู่ เหงื่อผมแตกพลั่ก มือสั่นไม่แน่ใจจะหยิบอันไหนดี ขณะนั้น รู้สึกว่าที่หูได้ยินเสียงเหมือนมีคนมากระซิบขวาซิ ขวาซิ ผมก็หยิบอันขวาขึ้นมา พอมือพ้นไห ผมดีใจมากเพราะได้ใบดำ คนดูเฮกันใหญ่ จนบันไดที่ขึ้นชั้นสองพังลงมามีคนบาดเจ็บ แต่ผมไม่สนใจ ผมหันดูคนที่ 12 ที่ยืนข้างผม เขาไม่ต้องจับ หน้าเขาซีดเพราะโดนใบแดง นี่เป็นเรื่องประหลาดที่หาคำตอบไม่ได้ ผมเริ่มนับถือหลวงพ่อมากขึ้น นึกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์คงมีอยู่ในโลกนี้ ที่แปลกยิ่งกว่านั้นคือเพื่อนผม เขานึกว่าผมโดนแน่ เลยสมัครเป็นทหารก่อนหน้านั้น แต่พอรู้ว่าผมไม่โดน เขายืนนิ่งอยู่นาน ผมต้องปลอบใจ และขอบใจเขา นี่คือเพื่อนตาย ตกลงผมต้องไปเยี่ยมเขาที่กรมทหารบ่อยๆตลอด 2 ปี หลังจากที่ผมแต่งงานแล้ว ผมชอบดูรูปพระพุทธรูปต่างๆโดยเฉพาะรูปที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งล้นเกล้า ร. 6 พระราชทานให้พ่อในวันวิสาขะบูชา ปี 2460 เป็นรูปเงาดำมีแสงจันทร์สอดลอดใบโพธิ์ ทำให้เห็นพระพักตร์ด้านข้างลางๆ ด้านหลังไกลออกไปเข้าใจว่าจะเป็นแม่นํ้าเนรัญชลา พระพุทธองค์ทรงนั่งสงบนิ่ง เป็นรูปที่งามมาก เวลาจิตใจวุ่นวาย ผมต้องมาดูรูปนี้ ดูแล้วรู้สึกใจสบายดี ต่อมาเมื่อผมมีลูกชาย 3 คน อายุราว 9-7-5 ขวบ ผมให้ลูกๆลองวาดภาพนี้ดู ทุกคนวาดได้ แต่ความงามของรูปก็ลดหลั่นไป ผมใส่กรอบไว้ทุกรูป ในใจนึกว่าเมื่อไรจะได้มีโอกาสไปกราบนมัสการสักที หลังจากนั้นไม่กี่ปี ผมมีโอกาสได้ไปจริงๆโดยทุนรัฐบาลอินเดียไปสัมมนาและดูงาน 4 เดือน ทุนนี้ไม่มีใครอยากไป เพราะเห็นว่าอินเดียอดอยากแห้งแล้ง เขาก็โละมาให้ผม ผมคิดว่าเคยไปที่ดีๆมาแล้ว ลองไปดูก็ไม่เห็นลำบากอะไร ขากลับเขาจัดให้แวะนมัสการที่พุทธคยา ซึ่งผมปลื้มปิติอย่างยิ่ง นี่ก็เป็นเรื่องประหลาดอีก การทำบุญตักบาตร ผมทำเป็นครั้งคราว กุศลกรรมที่ผมทำมีอะไรแปลกๆบังเกิดแก่ผมในทางที่ดีหลายประการ การทำบุญซื้อโลงศพผมไม่ค่อยชอบ เพราะไม่รื่นหู ผมเกลียดการทำบุญแบบนี้ แต่มีคนชวนไปทำ ผมขัดไม่ได้ ทำแล้วไม่ทันข้ามวันผมมีลาภมาก เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ เพราะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแก่ผมแล้ว ท่านผู้ใดสนใจ ผมยินดีเล่าให้ฟังเป็นส่วนตัว ผมขออภัยที่คุยนอกเรื่องเสียนาน แต่อยากให้เห็นว่าสิ่งใดที่เป็นกุศล เมื่อทำแล้วเกิดผลตอบแทนอย่างประหลาด ทั้งๆที่ไม่เคยหวังผลตอบแทนเลย ต่อไปนี้ขอเข้าเรื่องที่ว่า
ผมถูกบังคับให้ศึกษาธรรมนั้นเป็นอย่างไร
ผมจำได้ว่าประมาณ 2 ปีที่แล้ว
พี่หญิงจะไป ผมฟังๆไป จึงรู้สึกตัวว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้เป็นธรรมะที่สูงมาก สำหรับผม เสมือนว่าจบประถม แล้วมาเรียนต่อปริญญาเลย แต่เมื่อก้าวเข้ามาแล้วจะถอยหลังกลับก็ดูกระไรอยู่ ประกอบกับมีความเข้าใจเกิดขึ้นลางๆ และคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้เป็นสิ่งท้าทายให้ชวนศึกษาเพราะเรื่องของชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ไม่เคยทราบมาก่อนเลย จึงทำให้มีกำลังใจศึกษาเรื่อยๆมา เป็นเวลาประมาณ 2 ปีกว่า ก่อนเขียนต่อไป ผมขอเรียนให้ทราบกิจวัตรประจำวันของผมสักหน่อย หลังจากที่ได้ศึกษาการเจริญสติปัฏฐาน ผมมักตื่นประมาณ 5.30 น. เกือบทุกวัน เพราะอาจารย์จะมาเยี่ยมที่บ้านทุกวันตอน 6.00 น. ต้องเตรียมตัวต้อนรับอาจารย์โดยเปิดเครื่องทิ้งไว้ รอฟังตอนเขาโฆษณา เป็นลมหน้ามืดตาลายยังไงล่ะ ต้องใช้ยาหอม ... นี่แสดงว่าใกล้เข้ามาแล้ว ไม่ช้าอาจารย์ก็บรรยาย การฟังบรรยายตอนเช้าๆ 6 โมง บางครั้งก็เผลอไผลหลับไปบ้าง พอรู้สึกตัวฟังอะไรพอเข้าใจได้ก็จดไว้ เพราะเตรียมกระดาษดินสอไว้บนหัวนอน บางทีก็จดไม่ทัน บางทีก็ไม่รู้จะจดอย่างไร อยากจะจดอย่างที่อาจารย์พูดแต่ก็ทำไม่ได้ เลยต้องจดย่อๆหรือหัวข้อเอาไว้ แล้วมาขยายความตอนหลัง ฟังจบแล้วก็ออกกำลังบนเตียงที่เขาเรียกว่าบิดขี้เกียจ ทำให้เส้นหายตึง หายใจได้ดีขึ้น ก่อนลุกจากเตียงก็นึกปลอบใจว่าโลกนี้น่าอยู่ อะไรมันจะเกิด ก็ต้องเกิด แล้วก็ค่อยคิดแก้อุปสรรคเอา ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้น นึกว่าอย่าไปมองหาความลำบากยุ่งยาก ถ้ามองหาต้องพบแน่ ตามปกติผมเป็นคนร่าเริง ชอบยั่วแหย่คนอื่นเป็นประจำ บางทีไปเล่นกับคนที่เขายังไม่พร้อมที่จะเล่นกับเรา เขาก็เล่นงานให้ก็มี เพราะฉะนั้นต้องพยายามสำรวมอินทรีย์ ผมล้างหน้าทำสะอาดฟันแล้ว
ต้องทาหน้าด้วยโอดิโคโลญทำให้สดชื่นขึ้นอย่างประหลาด
(ตอนนี้พี่หงวนคงว่าผม เคยปรารภกับตัวเองหลายครั้งว่า
อยากพบอาจารย์สักครั้ง
ในที่สุดผมก็ได้พบจริงๆที่บ้านสาทร
พี่หญิงทำบุญสงกรานต์ มาถึงตอนนี้ ก็เป็นแก่นหรือสาระสำคัญของเรื่องเจริญสติปัฏฐาน ตามที่ผมได้ฟังและจดไว้จากคำบรรยายของอาจารย์ แต่ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ที่ผมจดไว้นั้นอาจจะฟังมาผิดแล้วก็จดไว้ หรือฟังมาถูก แต่มาจดผิดหรือเข้าใจผิดก็ได้ ฉะนั้นที่ผมจะเขียนต่อไปเป็นข้อเขียนของผมจริงๆ หากมีอะไรผิดพลาด ผมขอรับผิดแต่ผู้เดียว และหวังในความกรุณาของท่านผู้รู้ได้แนะนำด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง จะเริ่มเรื่องอย่างไรดี คิดไม่ออก ทิ้งไว้ 2-3 วันจึงนึกได้ว่า ควรเริ่มด้วยคำนิยามหรือคำจำกัดความของคำว่า "เจริญสติปัฏฐาน" หมายความว่าอย่างไร ตั้งแต่เริ่มฟังมา ได้ยินอาจารย์พูดบ่อยๆว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ การมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ฉะนั้นต้องพยายามเข้าใจแต่ละอรรถหรือถ้อยคำที่อาจารย์พูดให้ดี ถ้าแยกแยะถ้อยคำออกมาก็อาจทำให้เข้าใจชัดขึ้น ซึ่งมีหลายข้อหลายตอน เช่น การเจริญสติฯ คือมีสติระลึกรู้ ระลึกรู้อะไร? ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ระลึกรู้อย่างไร? ระลึกรู้ตามที่ปรากฏ ปรากฏอย่างไร? ปรากฏตามที่เป็นจริง ปรากฏเมื่อไร? ปรากฏในปัจจุบัน ไม่ใช่ในอดีตหรือในอนาคต มุ่งเฉพาะที่ปรากฏในปัจจุบันเท่านั้น แค่นี้ก็หนักเอาการอยู่ ผมฟังแรกๆก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองไม่ทราบความหมาย แต่ฟังๆไปแล้ว แยกออกมาเป็นตอนๆก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี อาจารย์เคยเน้นบ่อยครั้งว่า ก่อนที่จะเจริญสตินั้น ต้องเข้าใจให้ทราบแน่เสียก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้าเข้าใจไม่ถูกแล้วจะไปกันใหญ่ คือ ถ้าเจริญเหตุไม่ถูกผลก็ไม่เกิด ผมขอเปรียบว่า เราจะไปเชียงใหม่ ถ้าไปขึ้นรถที่ขนส่งสายใต้ ก็ไปได้ แต่เมื่อไปถึงใต้แล้ว ต้องย้อนกลับขึ้นมาทางเหนืออีก เสียเวลามาก ถ้าไปขึ้นที่ตลาดหมอชิต ก็คงจะถึงเร็วกว่าเพราะเป็นทางตรงและเป็นทางที่ถูกต้อง ก็ขอพูดเรื่องนี้เสียก่อน อาจารย์ว่า สติปัฏฐาน นั้น เป็นวิปัสสนาภาวนา (คืออบรมปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง) ไม่ใช่ สมาธิ ซึ่งเป็นการทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ให้พ้นจากการเห็น การได้ยิน ฯลฯ ชั่วคราว และก็ไม่ใช่ สมถภาวนา ซึ่งเป็นการเจริญความสงบให้จิตสงบระงับจากโลภะ โทสะ โมหะชั่วคราว นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน เหตุที่ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ได้เจริญสติฯนั้น ก็เพราะเข้าใจผิดในเรื่องการเจริญสติ คิดว่าการเจริญสติฯ เป็นเรื่องของการปฏิบัติทำนองเดียวกับ สมาธิ หรือ สมถภาวนา ฉะนั้นต้องถามตัวเองว่า ความเข้าใจในเรื่องเจริญสติฯ ถูกต้องหรือยัง ถ้ายังก็เจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ เมื่อเข้าใจถูกต้อง แล้วก็เตรียมตัวเริ่มเข้าใจในคำจำกัดความ หรือนิยามศัพท์ที่กล่าวมาแล้วต่อไป ผมขอย้อนกลับไปอีกนิด
ผู้ที่ยังไม่เคยทำสมาธิหรือ การเจริญฯต้องไม่มีอะไรผิดปกติไม่ต้องทำตามกฏเกณฑ์ ไม่ต้องเข้าไปในที่สงบหรือทำกิริยาอะไรให้ผิดแผกออกไป ทำทุกอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สีฟันก็เจริญสติฯ ซักผ้าก็เจริญสติฯได้ ทำอะไรอยู่ก็เจริญสติฯได้ทั้งนั้น พยายามเข้าใจให้ถูกต้องแล้วการเจริญสติฯก็คงจะง่ายเข้า ต่อไปนี้ผมพยายามทำเป็นข้อๆ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน
การเจริญสติฯ คือ มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน การเจริญสติฯ เป็นหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดขึ้นอีก แม้ว่าจะให้ทานสักเท่าใด และทำให้จิตสงบสักเท่าใด แต่กิเลสทั้งหลายก็ไม่หมดสิ้นไปได้เลย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางปฏิบัติในอันที่จะดับกิเลสนั้นว่า ได้แก่การเจริญสติฯให้ ปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพื่อให้เกิดการละคลายที่เคยยึดถือสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าอยากจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ต้องเจริญสติฯ และมีทางเป็นพระอริยบุคคลได้
(ทั้ง 4 อย่างนี้ อย่าเลือกรู้ทีละอย่าง ต้องแล้วแต่สภาพธรรมใดจะเกิด) เขียนมาถึงตอนนี้ รู้สึกว่าชักจะเขียนลำบากเข้าไปทุกที เสมือนกำลังเดินเข้าป่าลึกต้องระวังทุกฝีก้าว สติจะเกิดเมื่อใด จะบังคับให้สติเกิดได้หรือไม่ สติจะเกิดเมื่อใด ไม่มีใครรู้ นอกจากผู้เจริญสติเอง สติเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ อย่างไรก็ดี การที่จะให้สติเกิดนั้น อาจมีหนทางอยู่บ้าง แต่เป็นไปโดยทางอ้อม ไม่ใช่บังคับให้สติเกิด ถ้าอยากให้สติเกิด ต้องพยายามหัดพิจารณาสังเกตุ น้อมไปที่จะให้สติเกิด พยายามเจริญกุศลทุกประเภท ฟังธรรมะ ใส่บาตร ศึกษาธรรม แล้วจะเริ่มรู้สึกตัววันละเล็กละน้อย นอกจากนี้ต้องพยายามระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏบ่อยๆเนืองๆ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น้อมไปที่จะระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏเหล่านี้ ซึ่งมื่อย่อลงแล้วก็มี 2 อย่าง คือ รูป และ นาม ความจริงแรกๆนั้น สติเกิดขึ้นนิดเดียว คือระลึกจริงแต่ยังไม่รู้ ปัญญายังไม่สามารถรู้แจ้งได้ ต้องปล่อยเป็นอย่างนี้ไปก่อน แล้วจะค่อยๆรู้เอง การพิจารณาสังเกต คือ กิจของปัญญาในขั้นต้น ที่เกิดขึ้นพร้อมกับมีสติระลึกรู้ เมื่อสติเกิดแล้ว ปัญญาก็เริ่มศึกษา สังเกตพิจารณาสภาพลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กละน้อย และค่อยๆเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามที่สติเกิดนั้นเป็นจุดเริ่มของปัญญา
เมื่อสติเกิดหรือรู้สึกตัว
จะต้องมีสภาพธรรมปรากฏ คือ
รูป-นาม ถ้าไม่มี
รูป-นามปรากฏ
ก็ไม่ใช่การเจริญสติฯ
การเจริญสติฯนั้น
เป็นการเจริญปัญญา
ผิดกับสมาธิหรือ
ขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง คือขณะที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น ส่วนขณะที่มีสตินั้น เป็นขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางจมูก หรือทางหู ทางลิ้น ทางกาย ใจ โดยไม่บังคับเจาะจง เช่น ขณะที่กลิ่นปรากฏ ก็ระลึกรู้สภาพของกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รู้ว่ากลิ่นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ในขณะที่รู้กลิ่นเลย
สภาพที่มีจริงนั้นเกิดขึ้นปรากฏต่างกันเป็น 2 ลักษณะ คือ เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ลักษณะรู้ อันนี้สำคัญที่ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ สภาพธรรมที่มีลักษณะรู้นั้นเป็นนาม สภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้นั้นเป็นรูป ฉะนั้นต้องรู้ให้ถูกต้อง สติเป็นนามธรรมที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาเป็นนามธรรมที่ รู้ชัด ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น ในขณะที่สภาพเย็นปรากฏนั้น ไม่ใช่สภาพรู้ และสภาพที่รู้เย็นนั้นก็ไม่ใช่สภาพเย็น อันนี้ต้องแยกให้ออก เมื่อแยกออกแล้ว ก็จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป ปัญญาที่ประจักษ์ชัดในสภาพที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมนั้นเป็น นามะรูปะปริจเฉทะญาณะ (ความสมบูรณ์ของปัญญาที่รู้ลักษณะที่แตกต่างกันของนามรูป) ภาษาบาลียากแก่ผมมาก แต่ที่จำได้เพราะรู้สึกเก๋ดี เลยจำขึ้นใจ อีกคำหนึ่งคือ โยนิโสมะนะสิการะ (การพิจารณาโดยแยบคาย) นอกนั้นผมจำไม่ค่อยได้ ถ้าผมเอาบาลีเข้ามาคงยุ่งกันใหญ่ ในชั้นเริ่มศึกษานี้ขอเอาไว้ห่างๆก่อน การรู้ลักษณะที่ต่างกันของรูป-นามสำคัญมาก จะทำให้การเจริญสติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นรูป หรือนาม ได้ถูกต้องขึ้น อย่าลืมว่า นามธรรม คือ สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ จิตใจ ปัญญา ความสุข ทุกข์ พอใจ ดีใจ เสียใจ หดหู่ เป็นนามธรรมทั้งสิ้น รูปธรรม นอกจากสิ่งที่เห็นแล้ว เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหว ก็เป็นรูปด้วย ไม่จำเป็นต้องไปรู้ชื่อรูปต่างๆ 28 รูป แต่ต้องรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏก็พอแล้ว เช่น เสียงเป็นของจริงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู กลิ่น เป็นของจริงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางจมูก รู้เพียงแค่นี้ก่อน แล้วจึงค่อยๆก้าวต่อไป จนรู้ว่าเสียงกับได้ยินเสียง กลิ่นกับการได้กลิ่น ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร เป็นต้น รูป-นาม เกิดดับอยู่เรื่อยๆและรวดเร็วมาก เช่น ตาเห็นรูป เดี๋ยวเผลอคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ไม่ค่อยได้สังเกตความเป็นจริงนั้น ขณะที่เห็นต้องดับไปก่อนแล้วจิตเผลอนึกคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้จึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะจิตต้องเกิดทีละดวง ทีละขณะ จิตจะเกิดพร้อมกันทีละสองสามขณะไม่ได้ สติสัมปชัญญะในความหมายภาษาไทย ต่างกับเจริญสติฯ สติสัมปชัญญะในภาษาทั่วๆไป คือ สภาพการรู้สึกตัวตามปกติ ยังไม่ใช่การเจริญสติฯ เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏก็ไม่ใช่การเจริญสติฯ ต้องทำความเข้าใจให้ดี ถ้าจะเริ่มเจริญสติฯ เดี๋ยวนี้จะทำอย่างไร เรื่องนี้ถ้าท่านมีศรัทธาที่จะเจริญสติฯ และเข้าใจในหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ก็เจริญสติฯ ได้ (ไม่ใช่มีศรัทธาเพียงขั้นตรึกตรองนึกคิดเท่านั้น) การเจริญสติฯเริ่มที่มีสติระลึกรู้ รู้สึกตัว หรือรู้ตามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เดี๋ยวนี้ (ไม่ใช่อดีตหรืออนาตค) เช่น ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏหลายอย่าง คือ ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางจมูกก็ได้กลิ่น อย่างนี้ก็ต้องพยายามรู้สิ่งที่ปรากฏทีละอย่าง เช่น ระลึกรู้ที่เสียงที่อาจารย์พูด ขณะที่ได้ยินเสียงนั้นมี 2 อย่างด้วยกัน ตัวเสียงเองอย่างหนึ่ง กับได้ยินเสียงอีกอย่างหนึ่ง เรารู้มาแล้วว่า ตัวเสียงเองนั้น ไม่รู้อะไรเลยจึงเป็นรูป ได้ยินเสียงเป็นสภาพรู้ก็เป็นนาม รู้เพียงนี้ก่อนแล้วค่อยๆหัดสังเกตสำเหนียกบ่อยๆเนืองๆ สติก็จะเกิดมีมากขึ้น ปัญญาก็จะเจริญขึ้น รู้ชัดขึ้น คมกล้าขึ้น จนสามารถละคลายการยึดมั่นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ ต้องไม่ลืมว่า การเจริญสติเป็นการเจริญปัญญาให้รู้ชัดในสภาพที่แท้จริงของธรรมที่กำลังปรากฏ อย่าทำอะไรให้ผิดปกติ การเจริญสติฯ ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ใดๆทั้งสิ้น สติเกิดได้ทั้งนั้น ถ้าคอยเลือกโอกาส เลือกสถานที่และเวลาแล้ว ก็น่าเสียดายที่วันหนึ่งๆหมดไปโดยไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง พิจารณาเนืองๆว่า ในขณะนี้เป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล ถ้าเกิดโกรธหรือยินดี พอใจ ก็ช่วยไม่ได้ อย่าละเลย พิจารณาสภาพธรรมนั้นทุกครั้งที่เกิดขึ้นเพราะเป็นของมีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย พิจารณาเสียบ่อยๆเนืองๆ เพื่อจะได้ละการยึดถือว่า ความโกรธ ยินดี พอใจ เป็นตัวตน ซึ่งที่แท้แล้ว ก็เป็นรูปธรรม นามธรรม เท่านั้น ต้องเข้าใจว่า รูปนั้นไม่รู้อะไรเลย นามนั้นเป็นสภาพรู้ ลักษณะรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ต้องเข้าใจและจำให้ได้ แล้วจะตัดสินได้ถูกเมื่อมีสิ่งปรากฏและนี่คือปัญญาขั้นต้น ถ้าไม่รู้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเจริญสติฯได้ การเจริญสติฯไม่ใช่เรื่องง่าย เวลารับประทานข้าว เคยรู้สึกตัวบ้างไหม แขที่เหยียดออก คู้เข้า ยกขึ้นลง มือ ปาก ขากรรไกรเคลื่อนไหว ถ้าเคยรู้ว่าอวัยวะเคลื่อนไหวก็เรียกได้ว่ารู้สึกตัว เวลารับประทานอาหาร รู้รสที่ลิ้นเท่านั้น ไม่เลยไปกว่านั้น รสที่ปรากฏที่ลิ้นหมดแล้วก็หมดไป เกิดที่ไหน ดับที่นั่น นี่ก็พูดตามอรรถ ยังไม่เคยประจักษ์แจ้งกับตัวเอง ผู้ใดเจริญสติฯ แต่ปัญญาไม่เกิดก็ละกิเลสไม่ได้ เมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาก็เริ่มศึกษา สังเกต พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย การรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลายนั้น รู้ได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ปัญญาจะค่อยๆเพิ่มขึ้น รู้ชัดขึ้นในสภาพของนามและรูป ปัญญาจะคมกล้าขึ้นจนละคลายการยึดมั่นว่าเป็นตัวตนได้
การอบรมเจริญปัญญา จะเป็นไปได้ด้วยการระลึก พิจารณา สังเกต รู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดดับสืบต่อกัน ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพเห็นและสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา พอเห็นทีไรก็เป็นตัวตน สัตว์บุคคล ทุกที ปัญญาก็ไม่เจริญพอที่จะรู้ว่านามธรรมที่เห็นต่างกับนามธรรมที่รู้ ปัญญารู้อะไรที่เกี่ยวกับรูป-นาม ปัญญารู้รูป-นามที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่กระทบตาเป็นรูป เห็นเป็นนาม เสียงที่กระทบหูเป็นรูป ได้ยินเสียงเป็นนาม เสียงกับได้ยินต่างกัน ต้องแยกให้ออก มิฉะนั้นจะสับสน เพียงมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ว่าการเห็นนั้นไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหู การเห็นไม่ใช่กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก การเห็นไม่ใช่รสที่ปรากฏทางลิ้น แต่การเห็นเป็นการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เริ่มรู้อย่างนี้ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาให้เจริญขึ้นแล้ว ปัญญาขั้นต้นนั้น จะต้องรู้ความต่างกันของนามและรูปว่า มีลักษณะอย่างไร ต่างกันอย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาขั้นนี้แล้ว ปัญญาขั้นต่อไปก็ไม่เกิด ที่เห็นนั้นรู้ได้อย่างไรว่าเป็นนาม เพราะเป็นสภาพรู้ที่เกิดทางตา เห็นแล้วรู้ว่าเป็นอะไร เป็นคน เป็นเก้าอี้ ก็เป็นนามเหมือนกัน แต่เป็นนามอีกประเภทหนึ่ง เห็นแล้วเกิดชอบไม่ชอบ ก็เป็นนามอีกประเภทหนึ่ง สิ่งที่ต้องอบรมในเบื้องต้นก่อน คือพยายามพิจารณาว่า เสียง กับ รส ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร สี กับ การเห็น เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ข้อเฉลยก็คือ เสียง กับ รส เป็นรูปเหมือนกัน เพราะไม่รู้อะไร สี กับ การเห็น ต่างกัน สีเป็นรูปเพราะไม่รู้อะไร การเห็นเป็นนาม เพราะเป็นสภาพรู้ ลักษณะรู้ อาการรู้ การพิจารณาได้อย่างนี้ เป็นการทำให้ปัญญาเริ่มเจริญขึ้น
สติรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เข่น รู้ตรงสภาพเย็น ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น สภาพเย็นไม่ใช่สภาพที่รู้เย็น
คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง เช่น หูก็ได้ยิน ตาก็เห็น จมูกก็ได้กลิ่น ต้องรู้สึกตัวทีละอย่าง และเมื่อรู้สึกตัวแล้วต้องมีรูปนามปรากฏอยู่เสมอ ถ้าไม่มี ไม่ใช่การรู้สึกตัว ถ้าจะละกิเลสควรละอะไรก่อน จะละกิเลสทั้งหมดทีเดียวไม่ได้ ต้องละทีละอย่าง เรามีกิเลสสะสมมานานเป็นอนันตชาติ ยากที่จะละให้หมดได้ทันที จะละโลภะ โทสะ โมหะ ก่อนก็ยังไม่ถูก จะต้องละความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน สัตว์บุคคลก่อน เมื่ออบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆละความเห็นผิดไปได้ทีละเล็กละน้อย สิ่งสำคัญในการเจริญสติฯ คือ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ทั้งนั้น ถ้าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็ไม่ใช่การเจริญสติฯ รู้แต่ละลักษณะ รู้แต่ละขณะ การเจริญสติฯ เป็นการเจริญปัญญาที่ละเอียดสุขุมลึกซึ้งจริงๆ สิ่งที่ยากในการเจริญสติฯ คือการละคลายความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ซึ่งเป็นเรื่องยากยิ่ง เพราะยึดถือมาเป็นเวลาช้านานว่าเป็นเรา เป็นของเรา บ้านช่องทรัพย์สิน เงินทอง ที่ดิน ก็เป็นของเราทั้งนั้น ทำไมจะว่าไม่ใช่ของเรา นี่เป็นเรื่องยาก ถ้าจะมองให้เห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องหัดพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ผมเข้าใจว่า ถ้าเราเห็นคนก็ระลึกรู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เสียงก็เช่นเดียวกัน เมื่อสติระลึกปัญญาก็พิจารณารู้ว่าเป็นเสียงที่ปรากฏทางหูเท่านั้น ไม่ใช่คนนั้นคนนี้ ไม่ใช่เสียงนก เสียงระฆัง เมื่อสติเกิดและปัญญาพิจารณาลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมบ่อยๆเนืองๆ การละคลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ทีละเล็กละน้อย การที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลนั้นต้องฟังมากๆ พิจารณาโดยแยบคาย ปัญญาเกิดขึ้นทีละน้อยจนคมกล้าขึ้นจึงสามารถละคลายได้
เมื่อเจริญสติฯ รู้แล้วก็จะละ เมื่อรู้ก็ละความไม่รู้ ถ้ายังไม่รู้ก็ละไม่ได้ เมื่อปัญญาเกิดปัญญาก็ละคลายเอง ไม่ต้องทำอะไร และไม่มีใครรู้นอกจากตัวเองว่ารู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้นอย่างไร และเมื่อรู้แล้วก็จะละคลายความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล วิธีตรวจสอบว่ามีปัญญาที่จะละคลายมากน้อยแค่ไหน ประการแรก ต้องรู้ว่ามีสติกับหลงลืมสติต่างกันอย่างไร ประการที่สอง กำลังเห็นที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเช้า สาย บ่าย เย็น สิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้เท่านั้น ถ้ารู้ชัดได้อย่างนี้ก็เป็นปัญญาที่ละคลายตัวตนได้ ข้อบันทึกที่จดไว้จากคำบรรยายของอาจารย์ยังมีอีกมาก แต่ผมพลิกๆดูที่เขียนมาแล้วรู้สึกว่าไม่น้อย นํ้าคงจะท่วมทุ่งไปมากแล้ว ขืนเขียนอีกก็จะผิดมากไปอีก ผมจึงขอยุติเพียงนี้ และขออภัยหากการเขียนสับสนวกวนทำให้อ่านไม่เข้าใจ ผมเริ่มเขียนก่อนปีใหม่ 2529 ประมาณ 1 เดือน และมาเสร็จเอาหลังปีใหม่แล้ว ประมาณ 1 เดือนครึ่ง นับว่าใช้เวลามากทีเดียว เพราะการเขียนเรื่องธรรมะผมไม่เคยเขียนมาก่อน เป็นเรื่องยุ่งยากใจพอดู ธรรมดาผมมักจะเขียนตอนเช้า ระหว่าง 7-9 น. เกือบทุกวัน วันละเล็กละน้อย วันไหนไม่มีอารมณ์ก็ไม่เขียน เพราะเขียนไม่ออก เมื่อเขียนมาได้ครึ่งหนึ่งเกิดท้อแท้ใจอยากเลิกเขียน แต่ใจหนึ่งบอกให้เขียนให้จบ เลยต้องทำตาม ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้อาศัยคำบรรยายของอาจารย์ทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นมาบ้าง อาจารย์เป็นอัจฉริยะบุคคล นอกจากนำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาแสดงอย่างน่าสนใจแล้ว อาจารย์ยังมีเทคนิค มีศิลป ที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจ มีลีลาการพูดที่ดีมาก พูดไม่ติดขัด พูดไม่ซํ้า ตอบปัญหาของท่านผู้ฟังได้อย่างแจ่มกระจ่างชัดเจนทุกขั้นตอน ผู้ใดมาทดลองภูมิก็พ่ายไปทุกครั้ง แต่ก่อนนี้ ผมตื่นนอนขึ้นมาก็ปลอบใจตนเองว่า โลกนี้น่าอยู่ มีปัญหายุ่งยากอะไรก็คิดแก้ไขไป แต่เมื่อมาศึกษาเรื่องการเจริญสติฯแล้ว ก็นำการเจริญสติฯ มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นับว่าได้ประโยชน์มาก แต่ติดขัดอยู่ที่สติไม่ค่อยเกิดบ่อยนัก ก็จะต้องพิจารณา ศึกษา สังเกต น้อมไปที่จะให้สติเกิดระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏบ่อยขึ้นอีก ที่พอเข้าใจบ้างก็เป็นมหากุศลแก่ผมยิ่งแล้ว การเจริญสติฯ เป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าผู้ใดวิริยะความเพียร อดทน พยายามศึกษา ฟังคำบรรยายของอาจารย์ พิจารณาสังเกตสำเหนียกไปเรื่อยๆ ก็อาจเข้าใจและปฏิบัติได้ การเจริญสติฯ ทำที่ไหน เมื่อใดก็ได้ ไม่ต้องทำอะไรให้ผิดปกติ ในชีวิตประจำวันที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อยู่เป็นปกตินั้น จงพิจารณาเสียเนืองๆว่าขณะนี้เป็นลักษณะของนาม-รูปเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ถ้าเกิดโกรธไม่พอใจหรือเพลิดเพลินยินดีขึ้นมา ก็ช่วยไม่ได้เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีเหมือนกันทุกผู้ทุกคน ฉะนั้นจงพิจารณาเสียเนืองๆ เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพความโกรธ หรือความเพลิดเพลินนั้นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ถ้ายังละไม่ได้ ก็เพราะยังมีความยินดี พอใจแฝงอยู่ในลักษณะของนาม-รูปที่ปรากฏขณะนั้น หากข้อเขียนนี้มีประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านแม้แต่น้อยนิดแล้ว ผมขอมอบความดีนั้นให้กับพี่หญิงที่เคารพรัก ผู้ซึ่งให้ธรรมะแก่ผมเป็นคนแรก และอาจารย์ผู้บรรยายธรรมะอันประเสริฐ และอีกท่านหนึ่งที่จะเว้นเสียมิได้ คือ พี่หงวน ผู้ให้อรรถาธิบายเรื่องธรรมะทุกครั้งที่พบกัน ผมขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
บ้านพอสุข
หมายเหตุ
อาจารย์ หมายถึง
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
home ปัญหาถาม-ตอบ หนังสือธรรมะ หมายเหตุ:
คัดลอกจากหนังสือ
"เหตุใดผมจึงศึกษาธรรมะ
แนะแนวทางเจริญวิปัสสนา"
|
|