Buddhist Study   Special: ทรรศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
โดย  พระธรรมปิฎก

จาก นสพ. ไทยโพสต์
   

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 
ทรรศนะของ พระพุทธศาสนาต่อสตรี และการบวชเป็นภิกษุณี

8 พฤษภาคม 2544  

โดย..พระธรรมปิฎก

(1)
โดย..พระธรรมปิฎก

เมื่อ  พ.ศ.2541   ได้มีนักศึกษาคณะหนึ่งถามปัญหาเรื่องพระ พุทธศาสนามีทรรศนะอย่างไรต่อสตรีและการบวชภิกษุณี   และพระธรรมปิฎก ได้ตอบชี้แจงไว้ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่กำลังมีการวิพากษ์ วิจารณ์กันอย่างสูงในสังคมชาวพุทธถึงการออกบวชของสตรีเพื่อเป็นภิกษุณี และด้วยปัจจุบันพระธรรมปิฎกสุขภาพไม่สู้ดีนัก ท่านจึงมอบเทปบันทึกเสียง ในคราวนั้นผ่านทางไทยโพสต์เพื่อแสดงทรรศนะต่อเรื่องดังกล่าว

***** ***** ***** *****

ไม่ว่าหญิงหรือชายมีความเป็นมนุษย์เสมอกัน
ถาม : 1.เรื่องที่ระบุไว้มักจะกล่าวถึงมาตุคามในแง่ที่ไม่ดี
2.เรื่องที่ว่าในยุคแรกไม่ให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยผู้ที่จะบวชต้องรับครุธรรม   8  ประการ มีผู้สงสัยว่า บางข้ออาจมีผู้เขียนเพิ่มเติมในหนหลังสมัยลังกา ไม่ใช่เป็นการ บัญญัติของพระพุทธเจ้าเอง   เช่นข้อที่ว่า ภิกษุณีแม้บวชมานาน มีพรรษามาก กว่าภิกษุ ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ และห้ามภิกษุณีว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ ไม่ทราบว่าแม้ทำผิดด้วยหรือไม่
ตอบ : การที่จะตอบเรื่องนี้ เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจเป็นพื้น ฐานก่อน คือ
1.ต้องแยกเรื่องการบรรลุธรรมหรือศักยภาพในการบรรลุธรรม ออกไปต่างหาก
2.ต้องทราบเรื่องของสังคมซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่คณะสงฆ์ตั้ง อยู่
3.ต้องเข้าใจเรื่องศาสนกิจที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ปฏิบัติ ถ้าแยกแยะเรื่องเหล่านี้ได้   ก็จะทำความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความเป็น มนุษย์ และความเป็นหญิง เป็นชายนี้ โยงไปถึงการบรรลุธรรมด้วย ถ้ามองในแง่การบรรลุธรรมก็คล้ายกับว่าหมดความเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ไม่ต้องพูดถึง เพราะทั้งหญิงและชายมีสิ่งที่เหมือนกันคือความเป็นมนุษย์ ตามหลักพุทธศาสนาถือว่าแต่ละคนเกิดเป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง หมุนเวียน ไป แล้วแต่กรรมของตน   ในแง่นี้ทุกคนเป็นมนุษย์ จึงไม่มีอะไรต่างกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายจึงมีศักยภาพในการที่จะบรรลุธรรม เช่นเดียวกัน   ส่วนการที่เรามามองแยกเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายนี้  เป็นการมองใน ช่วงเวลาสั้นๆ  ระยะหนึ่งๆ หรือเฉพาะหน้า แต่ความจริงแต่ละคนก็มีทั้ง ความเป็นหญิงและความเป็นชายที่จะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ทำไมในคัมภีร์มีคำ ว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย
ถาม : ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงผู้หญิงในแง่ที่ไม่ดีอยู่เสมอ
ตอบ :  ก็ไม่เสมอหรอก   คำติเตียนว่าผู้หญิงนั้นมีชุมนุมอยู่มาก จริงๆ  แห่งเดียวในกุณาลชาดก ซึ่งทั้งเรื่องเต็มไปด้วยคำด่าว่าผู้หญิง   น่าสังเกตว่า   กุณาลชาดกเป็นชาดกเรื่องเดียวในพระไตรปิฎกที่มีเนื้อความเป็น ร้อยแก้ว เรื่องอื่นในพระไตรปิฎกปกติจะมีแต่ตัวคาถา เมื่ออรรถกถาจะอธิบาย จึงเขียนเป็นร้อยแก้ว   แต่กุณาลชาดกนี้แปลกที่ในพระไตรปิฎกก็ดำเนินเรื่อง เป็นร้อยแก้ว   จนกระทั่งถึงข้อความที่เป็นคำกล่าวว่าสตรีจึงจะเป็นคาถา ซึ่งว่ารุนแรง และเยอะแยะไปหมด
ทีนี้เราก็ต้องรู้ภูมิหลังว่ากุณาลชาดกเกิดขึ้นมาอย่างไร   ทำไมจึงมีคำติเตียนว่าสตรีมากมาย เรื่องมีอยู่ว่า   เมื่อครั้งที่เจ้าศากยะ   กับเจ้าโกลิยะ จะทำสงครามกันเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี พระพุทธเจ้าได้ เสด็จไปและทรงระงับสงครามได้ด้วยพระดำรัสตรัสสอนต่างๆ   เมื่อระงับ สงครามลงได้   เจ้าทั้งสองฝ่ายก็สำนึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า   ก็เลยถวาย เจ้าชายที่มารบฝ่ายละ  250 คน ให้บวชเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เพราะถ้าพระพุทธเจ้าไม่เสด็จมา   ทั้งสองฝ่ายก็คงฆ่ากันตายมากกว่านั้น ก็เหมือนกับว่าถวายชีวิตที่จะสูญเสียไปกับสงครามแด่พระพุทธเจ้า  ทีนี้พอ บวชแล้ว   ต่อมาก็ปรากฏว่าเจ้าชายหนุ่มๆ เหล่านี้ซึ่งไม่ได้มาบวชด้วยความ ตั้งใจของตัวเอง   แต่เป็นความตั้งใจเฉพาะหน้าที่จะมุ่งตอบแทนพระคุณของ พระพุทธเจ้าเท่านั้น   ทีนี้ใจของตัวเองไม่พร้อม พอหายตื่นเต้นก็คิดถึงแฟนล่ะสิ ยิ่งต่อมาบางองค์แฟนก็ส่งข่าวมาอีก   พูดอย่างนั้นอย่างนี้   ใจก็ไม่เป็นสมาธิ วุ่นวายไปหมด ก็อยากสึกกันจำนวนมาก
พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุการณ์นี้แล้วก็ทรงพระดำริว่า จะต้องช่วยภิกษุหนุ่มเหล่านั้น แล้วก็ทรงพิจารณาว่าจะแสดงธรรมเรื่องอะไร ดี   เพื่อจะให้ภิกษุเหล่านี้บรรเทาความเบื่อหน่ายในพรหมจรรย์ วันหนึ่งพระ พุทธเจ้าก็ทรงพาภิกษุเหล่านี้เข้าป่าหิมพานต์   ไปชมนกชมไม้ให้ได้บรรยากาศ ที่จะโน้มนำใจของภิกษุใหม่ไปในทางสงบรื่นรมย์   ตอนหนึ่งก็ได้เห็นฝูงนก ดุเหว่าบินมา   จึงทรงปรารภถึงนกเหล่านั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องพญานกกุณาลใน อดีต
เจ้ากุณาลนี้รูปร่างงดงามมาก   และมีนกดุเหว่าที่เป็นภรรยาเยอะ แยะ   แต่เจ้านกกุณาลมักจะด่าพวกนกภรรยาเหล่านั้นด้วยคำหยาบคาย    จนเป็นเรื่องปกติของมัน จะกล่าวฝ่ายนกอีกตัวหนึ่งชื่อ ปุณมุข เป็นนกดุเหว่า ขาว    มีภรรยาเยอะเหมือนกัน แต่นกปุณมุขนี่ชอบพูดกับภรรยานกทั้งหลาย ด้วยคำไพเราะ   ต่อมานกปุณมุขมาหานกกุณาล   ก็ถูกนกกุณาลด่าถอยกลับไป ต่อมามีเรื่องว่านกปุณมุขเจ็บไข้ พวกภรรยาพากันทิ้งไป   กลายเป็นว่านก กุณาลผู้หยาบคายนี่แหละไปช่วยรักษาโรค และช่วยเฝ้าดูแลต่างๆ ตอนนี้นก กุณาลก็เลยติเตียนว่าพวกผู้หญิงต่างๆ   นานา ให้นกปุณมุขฟัง เล่าเป็นเรื่อง เป็นราวว่าพวกผู้หญิงเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้   ไม่มีดีเลย การที่พระพุทธเจ้า ตรัสเล่าเรื่องนกกุณาลนี้ ก็ทรงมีเป้าหมายเหมือนกับว่า   คนที่มีราคะต้องให้ กรรมฐานประเภทอสุภะ   จะได้เป็นเครื่องชักจูงใจไปในภาวะที่ตรงข้ามจิตที่ ไปติดไปยึดผูกพันอยู่ จะได้คลายออก   นี่ก็เป็นอุบายวิธี
เรื่องเล่าต่อไปว่า   เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้จบ ภิกษุหนุ่ม เหล่านั้นใจก็คลายความคิดถึงแฟนลง แล้วก็ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป   เรื่องก็เป็นอย่างนี้   นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่เต็มไปด้วยคำติเตียนว่าสตรีเป็นแหล่ง ที่หาได้ง่าย   ที่ชุมนุมคำต่อว่าสตรีตอนที่รัชกาลที่  5   จะทรงพิมพ์ชาดก   มีเรื่องเล่าว่า พระสนมองค์หนึ่งจะให้เผาชาดกทิ้ง เพราะไม่พอใจว่าชาดกนี้ด่า ผู้หญิงมากมาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชัดว่าเป็นการแก้ปัญหาความคิดถึงผูกพันที่ เป็นเรื่องทางเพศระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ทางฝ่ายหญิงก็เหมือนกัน   เวลาภิกษุณี สาวๆ   คิดถึงแฟนอยากสึก   ภิกษุณีผู้ใหญ่ก็อาจจะเล่นงานผู้ชายเสียหนักก็ได้   แต่ไม่เป็นเรื่องบันทึกไว้   ส่วนกุณาลชาดกนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเล่า   แต่คำติเตียนนั้นไม่ใช่คำตรัสของพระองค์เอง   แม้ว่าตามเรื่องจะบอกว่ากุณาล นั่นละต่อมาเป็นพระพุทธเจ้า    ข้อสำคัญก็อยู่ที่เหตุปรารภในการตรัสแสดงใน กรณีอื่นก็อาจมีข้อปรารภอื่นอีก แต่นี่เป็นตัวอย่าง ว่าเป็นจุดสำคัญอันหนึ่งที่ จะทำให้เรามองเรื่องราวต่างๆ โดยมีแง่มุมที่พิจารณาให้ตรงเรื่องกัน เป็นอันว่าเรื่องคำกล่าวว่าเหล่านี้อยู่ในวิธีการอีกด้านหนึ่ง   ซึ่งมีไว้สำหรับแก้ ความฟุ้งซ่านจากราคะเกี่ยวกับการคิดถึงผู้หญิง   หรือคนที่โกรธผู้หญิงมีเรื่อง แค้นขึ้นมาอ่านสมใจแล้วจะได้ไม่ต้องไปฆ่าฟันทำร้ายกัน แต่อย่างที่ว่าแล้ว เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้าเอง.

 

9 พฤษภาคม 2544   

ทำไมในวินัยจึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม

ถาม :  ในครุธรรม   8 มีอยู่ 2 ข้อที่คนไม่อยากเชื่อ คือภิกษุณีที่ บวชมานานกว่าภิกษุ มีอาวุโสกว่า แต่ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ ที่บวชเพียงวันเดียว   และภิกษุณีแม้จะอาวุโสอย่างไร ก็ไม่มีสิทธิ์ตักเตือนภิกษุ แม้จะทำผิด
ตอบ :  ก็อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า   เวลาพิจารณาเรื่องจะต้องนึกถึง
1.เรื่องการบรรลุธรรม   ที่เป็นเรื่องสภาวะ
2.เรื่องทางสังคม  ซึ่งเป็นสมมติ   แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่มี อิทธิพลต่อความเป็นไปของคณะสงฆ์ และต่อการบำเพ็ญศาสนกิจของพระ พุทธเจ้าด้วยเราต้องมองว่าสังคมยุคนั้นเป็นอย่างไร   เราต้องมองว่าพระ พุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญศาสนกิจเพื่องานพระพุทธศาสนา   นี่ก็เป็นภาระหนัก อยู่แล้ว ทรงพยายามให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี   อะไรที่ไม่จำเป็นจะมาขัด ขวางงานก็ต้องพยายามยั้งไว้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับทำงานแข่งกับพวก เดียรถีย์  หรือพวกศาสดาทั้ง 6 ทีนี้ค่านิยม ความรู้สึก ทัศนคติ ขนบธรรม เนียมประเพณีในสมัยนั้น   ก็รู้กันอยู่แล้วว่าสตรีในศาสนาทั่วไปมีฐานะทาง สังคมเรียกว่าด้อยมาก
ดังนั้นเมื่อผู้หญิงจะมาบวช เราก็เห็นได้ชัดว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาใหญ่ๆ 2 ด้าน คือ
1.แง่สังคม สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะธรรมเนียมเกี่ยวกับเรื่อง นักบวช สมัยนั้นเป็นอย่างไร
2.แง่การบรรลุธรรม
ในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชนั้นชัด    คือมีลำดับ เรื่อง 2 ขั้นตอนที่ว่า ตอนแรก ไม่อนุญาต และตอนหลังจึงทรงอนุญาต   ถ้าเราอ่านโดยพิจารณาจะรู้เลยว่า  การที่ให้บวชก็ด้วยเหตุผลในแง่บรรลุธรรม ได้   แต่ถ้าว่าโดยเหตุผลทางสังคมจะไม่ยอมให้บวช   เพราะว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมสมัยนั้นไม่อำนวยเลย
สมัยนั้นนักบวชสตรียังไม่เป็นที่ยอมรับ   และในทางสังคมสตรี ก็มีฐานะด้อยอยู่ ทีนี้ในภาวการณ์ระหว่างศาสนา    เมื่อค่านิยมในสังคมเป็น อย่างนี้   ถ้าผู้หญิงเข้ามาบวชก็เริ่มเป็นจุดอ่อนให้แก่ศาสนาอื่นทันที เขาก็ยกขึ้น เป็นข้อโจมตีและกดว่าศาสนานี้ผู้หญิงก็บวชได้  ก็กลายเป็นเหมือนกับว่าผู้หญิง มาดึงคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นนี้ลงไป ในขณะที่ยังต้องบุกฝ่าเดินหน้าอยู่ และถ้ายอมให้พระภิกษุไหว้ด้วย ก็จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้เขาเอาไปพูดกดพระ พุทธศาสนาได้เต็มที่
เรื่องมีในพระไตรปิฎกด้วย   ครั้งหนึ่งพระมหาปชาบดีทูลขอว่า ให้พระภิกษุกับภิกษุณีเคารพกันตามพรรษา   พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต   และตรัสว่า   แม้แต่อัญเดียรถีย์ทั้งหลายก็ไม่ยอม นี่แหละ พระพุทธเจ้าทรง ปรารภเรื่องอัญเดียรถีย์   เพราะถ้าไปทำเข้า ก็เหมือนกับยอมให้พุทธศาสนาถูก เขาดึงลงไปกดไว้ในพระวินัย จะเห็นว่าพวกเดียรถีย์คอยหาแง่ที่จะกดจะข่ม จะว่าร้ายพระพุทธศาสนาอยู่ แม้แต่ถ้าพระภิกษุให้ของขบฉันด้วยมือแก่นัก บวชอเจลก (พวกชีเปลือย) เป็นต้น   ก็จะถูกเขาหาแง่มุมว่าในทางไม่ดี    จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุให้ของขบฉันแก่นัก บวชพวกนั้นด้วยมือตนเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจและตกลงกันให้ ชัดก่อนว่า ถ้าจะบวชก็อย่าไปคำนึงถึงเรื่องด้านสังคมเลย เราจัดให้เหมาะตาม สภาพสังคมก็แล้วกัน  ให้ผู้หญิงที่จะบวชนึกมุ่งไปที่การบรรลุธรรมเป็นสำคัญ  ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธตอนแรกก็เหมือนกับว่า จะให้พิจารณาทำความ เข้าใจในเรื่องนี้   ว่าถ้ามองในแง่สังคมถึงขออนุญาตอย่างไรก็ไม่ให้ แต่เมื่อ มองในแง่การบรรลุธรรมจึงทรงอนุญาต
หนึ่ง   เป็นการเตือนสตรีทั้งหลายให้รู้ว่าสภาพสังคมมันเป็น อย่างนี้  เราจะต้องตระหนักไว้
และสอง  คำนึงถึงคุณค่าของการบวชที่ได้มาด้วยความยาก ลำบากว่ามุ่งที่การบรรลุธรรม แล้วก็อย่าไปคิดมากในเรื่องอื่นๆ  ที่เป็นแง่ของ การปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพสังคมอย่างนั้น  แล้วก็ทรงมอบครุธรรมมาเพื่อ ปฏิบัติให้เหมาะกับสังคมยุคนั้น   ให้เป็นอันรู้กันว่านี่เป็นการยอมรับไปตาม สภาพสังคม แต่เรามุ่งที่การบรรลุธรรม   จึงไม่มาติดใจกันในเรื่องนี้
เป็นอันว่า ตอนแรกที่พระมหาปชาบดีขออนุญาต พระพุทธเจ้า ไม่ทรงอนุญาต ซึ่งเป็นการพิจารณาในแง่ของสังคม   แต่เมื่อยกเหตุผลในแง่ การบรรลุธรรมอันนี้ก็ทรงอนุญาตให้บวช   ภิกษุณีก็ต้องตระหนักไว้ว่า การอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นนี้เพื่อเหตุผลในการบรรลุธรรม  แล้วก็ให้มุ่งที่ นี่   อย่าไปคำนึงถึงในแง่ของสังคม   ซึ่งจะต้องทำให้เหมาะสมกับสภาพแวด ล้อม ซึ่งในแง่นี้เท่ากับขอให้เห็นแก่พระศาสนาโดยส่วนรวม เพื่อให้งานพระ ศาสนาส่วนรวมดำเนินต่อไปได้ด้วยดีเมื่อยอมรับเงื่อนไขทางสังคม พอให้ ส่วนรวมดำรงอยู่ในภาวะปกติเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว   ผู้บวชเป็นภิกษุณีเข้ามา   ก็มุ่งไปที่การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมตามศักยภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาติ   ซึ่งไม่ขึ้นต่อการยึดถือของสังคม   ตามเรื่องที่เป็นมาปรากฏว่า ภิกษุณีสงฆ์เมื่อ เกิดขึ้นแล้ว   นอกจากเป็นที่ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม ก็ได้ขยายตัวเป็นศูนย์กลาง การศึกษามวลชนสำหรับสตรี   เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือกระบวนการเรียนรู้ ฝึกศึกษาพัฒนาคนนั่นเอง   และวัดกับทั้งสำนักภิกษุณีก็เป็นศูนย์กลางที่ชุมนุม พบปะทำกิจกรรมร่วมกันของพุทธบริษัททั้ง   4  ดังนั้น   การเกิดขึ้นทั้งของภิกษุ สงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ จึงเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการขยายโอกาสทางการ ศึกษาในสังคมชมพูทวีป.

 

10 พฤษภาคม 2544    

ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย

ถาม :  มีผู้บอกว่า การบัญญัตินี้ เป็นการบัญญัติในชั้นหลัง โดยผ่านผู้ชายหรือภิกษุเอง ในสมัยลังกา ท่านเจ้าคุณมีความคิดเห็นอย่างไร
ตอบ :  ก็คงจะหาทางพูดเอานั่นละ   ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไร ตามประวัติเท่าที่มีหลักฐาน ตอนแรกพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต   แต่เมื่อขอ ในแง่ของการบรรลุธรรมก็อนุญาต   ถึงอย่างนั้นก็ทรงแสดงข้อเป็นห่วงพระ ศาสนาไว้   เมื่อสตรีบวชพระองค์ทรงเปรียบไว้หลายข้อ   เช่นว่าเหมือนกับบ้าน เรือนที่มีบุรุษน้อย มีสตรีมากจะถูกภัยภายนอกเข้ามาได้ง่าย คล้ายว่าสงฆ์ส่วน รวมก็จะอ่อนกำลังลง และพระภิกษุที่มุ่งทำงานอยู่ก็จะต้องแบ่งกำลังมาคุ้ม ครองภิกษุณีสงฆ์ด้วย     
เพราะสตรีนอกจากมีปัญหาเชิงสังคม   เรื่องที่วัฒนธรรมขนบ ธรรมเนียมประเพณีสมัยนั้นไม่ยกย่องสตรีในระดับเดียวกับบุรุษแล้ว   โดยภาวะของสตรีก็มีความไม่ปลอดภัยต่างๆ มากด้วย ตอนหนึ่งภิกษุณีอยู่ป่า ก็ถูกคนร้ายมาข่มเหง   พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุณีอยู่ ป่า  คือชีวิตที่จะบำเพ็ญสมณธรรมแบบผู้ชายนี้ทำได้ยาก   ภิกษุจะบุกเดี่ยวบุก ป่าฝ่าดงถึงไหนถึงกัน   แต่ภิกษุณีไปไม่ได้ แม้แต่เพียงภิกษุณีอยู่ลำพังรูปเดียว ก็ไม่ได้  เกิดปัญหาอีกแล้ว   จึงต้องมีบัญญัติเช่นว่า ภิกษุณีจะประพฤติมานัต ตามปกติการประพฤติมานัตอยู่กรรมก็ต้องอยู่รูปเดียว แต่สำหรับภิกษุณีต้องมี เพื่อนอยู่ด้วย   พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติสิกขาบทให้ภิกษุณีสงฆ์ตั้งภิกษุณีรูปอื่น มาเป็นเพื่อนให้อยู่ได้   อย่างนี้เป็นต้น
ในแง่ชีวิตพรหมจรรย์ที่ว่าต้องพร้อมที่จะอยู่ป่าอยู่เขาคนเดียว   และจาริกไปได้ทุกหนทุกแห่ง   ในแง่นี้ภาวะเพศหญิงก็ไม่เหมาะเท่าเพศชาย   และกลายเป็นปัญหาหนัก ทำให้ฝ่ายพระภิกษุต้องเป็นกังวล พลอยห่วงด้วย ตามปกติภิกษุกับภิกษุณีเดินทางไกลไปด้วยกันไม่ได้   ถ้าไปด้วยกันชาวบ้านก็ เพ่งมอง เพราะมีพระผู้หญิงพระผู้ชาย   ชาวบ้านเขาก็มองว่านี่เป็นแฟนกันหรือ อะไร  เพราะชีวิตนักบวชนั้น   คนอินเดียรู้กันอยู่แล้วว่า   นักบวชไม่ว่าศาสนา ไหนก็ถือว่าต้องอยู่พรหมจรรย์   พอมีภิกษุณีขึ้นมาก็แปลกแล้ว   ไม่เข้าตาเขา ทีนี้พอเดินทางไปด้วยกันคนก็เพ่งก็จ้องว่า   เอ๊ะ!   พระในศาสนานี้มีภรรยาด้วย นะ อะไรอย่างนี้มีเรื่องที่พระภิกษุกับพระภิกษุณีเดินทางเป็นคณะไปด้วยกัน   ผู้คนพากันมาดูและล้อเลียน   ทำให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิกขาบท  กันไม่ให้ ภิกษุและภิกษุณีเดินทางร่วมกัน   แต่พอเดินทางแยกกัน   เมื่อไปเฉพาะภิกษุณี แม้จะหลายรูปก็ถูกข่มเหง   ก็ต้องมีพุทธานุญาตว่า   ไม่ให้เดินทางด้วยกัน  เว้น แต่เดินทางไกลที่มีภัยอันตรายอย่างนี้เป็นต้น    อย่างน้อยก็เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้น ในการที่จะทำงานพระศาสนา ขอย้อนอีกนิดว่า ที่ว่าไม่ให้ภิกษุณีว่าภิกษุ 
ในอรรถกถาท่านอธิบายว่า   ไม่ให้ตั้งตัวเป็นเจ้าเป็นนายหรือ อะไรทำนองนั้น ถ้าจะพูดเชิงตำหนิหรือแนะนำก็พูดแบบให้เกียรติ เช่น ภิกษุทำอาการไม่สำรวม ภิกษุณีก็อาจจะพูดว่า พระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพ นับถือ   ท่านไม่แสดงอาการอย่างนี้ แต่ถึงฝ่ายภิกษุก็มีวินัยบัญญัติว่า ภิกษุที่จะว่ากล่าวให้โอวาทภิกษุณี ต้องได้รับการแต่งตั้งจากสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ นั้นเกิดขึ้นทีหลัง   เป็นของใหม่   ก็ให้ปฏิบัติไปตามวินัยของภิกษุ เพราะบัญญัติ ไว้แล้ว   แต่เมื่อภิกษุณีมีเรื่องใหม่ๆ   ขึ้นมา   ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทใหม่เป็น ข้อๆ  เพิ่มเข้าไป ตอนแรกที่ภิกษุณีบวชเข้ามาก็ไม่รู้ว่าวินัยที่มีอยู่แล้วเป็น อย่างไร  ก็ทรงให้ภิกษุเป็นผู้สวดปาฏิโมกข์ให้ฟัง   ต่อมาก็มีปัญหาว่าภิกษุมา สวดหลายครั้งเข้า  คนก็ติเตียนภิกษุว่าอย่างนั้นอย่างนี้   พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้าม ไม่ให้ภิกษุมาสวดปาฏิโมกข์ให้ภิกษุณีฟัง   และให้ภิกษุณีสวดเอง แต่ภิกษุณี ยังไม่รู้ธรรมเนียมวิธีปฏิบัติ ก็ต้องให้ภิกษุสอนให้ อย่างนี้เป็นต้น
ตอนแรกๆ ก็มีการปรับตัวอย่างนี้ คือเรื่องนี้เป็นของใหม่ที่ แปลกสำหรับสังคม คนก็ต้องเพ่ง ต้องจ้อง จะมีข้อตำหนิอะไรอยู่เรื่อย   และภิกษุณีเองก็ไม่สบายใจ มีเรื่องเช่นว่า   มีผู้ชายมาไหว้ภิกษุณีก็ไม่สบายใจ เกิดความสงสัยว่านี่เรายินดีการไหว้ของบุรุษได้หรือเปล่า ก็ไปทูลถามพระ พุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าได้ อย่างนี้เป็นต้น    นี่ก็อีกแง่หนึ่ง   แต่ปัญหา ระยะยาวก็คือ ภาวะชีวิตร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการอยู่ป่าอยู่เขา จาริกไปตามลำ พัง ขอให้นึกถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ พอตั้งขึ้นแล้วก็มีเรื่องราวที่ต้องเป็น ห่วงเป็นกังวลอะไรเยอะ แต่เป้าอยู่ที่ว่า เอาละอย่ามัวเกี่ยงข้อปฏิบัติด้าน สังคมเลย มุ่งไปที่การบรรลุธรรมเถิด อันนี้คือตัวเหตุผลที่แท้
ข้อสำคัญอยู่ที่ความมุ่งหมายของการบัญญัติครุธรรมนี้ ที่ตรัสว่า เพื่อป้องกันความอ่อนแอและภัยที่จะเกิดแก่พระศาสนา  เหมือนสร้างทำนบกัน น้ำไหลบ่าล้น เราอาจจะมัวไปมองกันในแง่อื่นๆ  และคิดอย่างโน้นอย่างนี้เลย ไป ขอให้พิจารณาจุดนี้กันให้ดี.

 

11 พฤษภาคม 2544    

ทำไมจะเป็นพระศาสดาต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย

ถาม : เรื่องที่ว่าสตรีไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าหรือศาสดาได้ นี่มีในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา
ตอบ :  มีในพระไตรปิฎก เรื่องเป็นพระพุทธเจ้านี้ หนึ่ง ขั้นต้นไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นหญิงเป็นชาย อยู่ที่ความเป็นมนุษย์ที่เป็นอัน เดียวกัน   ถ้าพูดในแง่ปัจจุบันขณะนี้   ก็ไม่มีคนไหน ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชายที่ เป็นพระพุทธเจ้า   และบนพื้นฐานนี้ เมื่อมองในแง่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ไม่ว่าคนไหนก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งนั้น ในความ เป็นมนุษย์นั้น มีศักยภาพที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน
แต่สอง   ตอนที่เป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ชาย เพราะเกี่ยวกับ เรื่องที่ว่า เวลาเป็นพระพุทธเจ้าจะมีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ
1.การค้นพบสัจธรรม
2.การประกาศพระศาสนา
ในขั้นก่อนจะบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า   ก็มีการบำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพชีวิตชนิดที่ว่าถึงไหนถึงกัน   ซึ่งทำได้ยากสำหรับผู้ หญิง ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช   ต้องสละวังไปอยู่ในป่า และทดลองวิธี ปฏิบัติทุกรูปแบบนั้น ผู้หญิงก็ทำลำบากมาก เรียกว่าทำไม่ได้เลย ในชีวิตท่าม กลางสภาพอย่างนั้น ต่อมาเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว การที่จะทำงานทำการ เที่ยวจาริกไปทุกแห่งทุกที่ ค้างแรมพระองค์เดียวได้ทุกแห่งหน   ก็ไม่เป็นที่ สะดวกเลยสำหรับภาวะของสตรี ก็เลยกลายเป็นหลักที่ว่า เวลาเป็นพระ พุทธเจ้าจะเป็นในภาวะที่เป็นบุรุษ แต่ถ้าพูดถึงขณะนี้ละก็ พูดไม่ได้ว่าหญิง หรือชาย เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และจะเกิดเปลี่ยนเป็น หญิงเป็นชายไปได้เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นจะไปพูดว่าผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้เดี๋ยวจะ เข้าใจผิด คือมนุษย์ทุกคนนั่นละมีสิทธิ์เป็นพระพุทธเจ้าได้  แต่ในระยะบำเพ็ญ บารมีไปจนถึงการตั้งพระศาสนาจะเป็นผู้ชาย   ในความเป็นมนุษย์ที่เหมือน กันนั้น   เมื่อมาแยกออกเป็นหญิงกับชาย   มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติภาย ใน   และท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมอย่างไรเป็นที่คลี่คลายออกของศักยภาพ อย่างไร    น่าจะได้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อความรู้ ไม่ขึ้นต่อเพียงความคิดเห็น
เป็นอันว่า   ความเป็นหญิงเป็นชายนี่เปลี่ยนไปเรื่อย   เป็นเพียง ภายนอก   ส่วนที่เป็นอันเดียวกันคือ ความเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์นี้ เป็นตัวบ่งบอกศักยภาพที่จะบรรลุธรรมหรือเป็นพระพุทธเจ้า เหมือนอย่าง ภิกษุณีรูปหนึ่ง   ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า   ในเรื่องว่ามีมารมารังควาน   มารล้อว่า   ผู้หญิงมีปัญญาสองนิ้วจะได้เรื่องอะไร   มาอยู่อะไรที่นี่  ท่านก็ตอบ ไปทำนองนี้ว่า   ความเป็นหญิงเป็นชายไม่มีในการบรรลุธรรม ไม่ต้องพูดถึง เรื่องหญิงหรือชาย
ถาม : มีข้อเขียนของบางคนนะคะว่า จริงๆ แล้วเมื่อก่อนผู้หญิง เป็นผู้นำคือ เป็นยุคของผู้หญิง แล้วพอ   5-6   หมื่นปีให้หลังนี้ เป็นยุคของผู้ชาย เป็นใหญ่ ก็ทำให้คิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงยุคผู้ชายเป็นใหญ่ ในการจะทำอะไรก็ทำ ให้ผู้ชายทำได้สะดวกกว่า   พร้อมกว่า แต่ถ้าเป็นยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ ความสามารถที่ผู้หญิงจะตั้งศาสนาจะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม
ตอบ :   เรื่องนี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายแง่   เรื่องที่นักมานุษย วิทยาและสังคมวิทยาว่าไว้นั้น ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน   และสัมพันธ์กับ สภาพสังคม   คือสังคมยุคแรกที่เขาว่า ผู้หญิงเป็นใหญ่ ก็เพราะว่าเป็นระบบใน ครอบครัว   ผู้หญิงจะเป็นแกน รู้ว่าคนไหนเป็นลูก ศูนย์กลางของครอบครัว ก็อยู่ที่แม่ แม่ก็เป็นใหญ่   แต่ต่อมาพอชุมชนขยายตัว   มีการขัดแย้งกันระหว่าง เผ่าชน หรือคนต่างกลุ่ม ผู้ชายก็เริ่มมีอำนาจขึ้นมา เพราะจะต้องต่อสู้   ผู้ชายนี่โดยโครงสร้างร่างกายเมื่อมีการรบราฆ่าฟันจะได้เปรียบ   เพราะฉะนั้น ผู้ชายก็เรืองอำนาจขึ้นมา
นี่ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยในเรื่องของโครงสร้างร่างกาย   มันเป็นอย่างนั้นเอง   บางคนบอกว่านี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม   แต่ถ้าเรามองว่า วัฒนธรรมเกิดจากอะไร มันก็เกิดจากตัวปัจจัย เช่น ชีวิตคน สภาพแวดล้อม   ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน   และโอกาส ใช่ไหม ผู้ชายได้เปรียบขึ้น มา แล้วก็มาตั้งอะไรๆ  เข้าข้างตน ก็เพราะมีโอกาสจากการที่มีกำลังกายเหนือ กว่าตอนแรกก็อย่างที่ว่าแล้ว ผู้หญิงเป็นผู้ที่ลูกหลานอยู่ใกล้ชิด และเลี้ยงดูเขา มา ก็เป็นที่เคารพ เป็นศูนย์กลาง และมีอำนาจเป็นใหญ่ ต่อมาพอมีชุมชน  มีเผ่าต่างๆ ต่างฝ่ายต่างมีกำลังกล้าแข็งขึ้น ก็ขัดแย้งกัน รบกัน ผู้ชายก็เริ่มมี อำนาจมากขึ้น แล้วผู้ชายก็กลายเป็นใหญ่   ฉะนั้นในยุคที่ผ่านมานี่   ผู้ชายจะ เป็นใหญ่มาตลอด   เพราะมีเรื่องของการขัดแย้ง รบราฆ่าฟัน ใช้กำลังกายกัน มาก
ทีนี้ก็มองว่า  เมื่อสังคมมีวัฒนธรรม   มีอารยธรรมเจริญขึ้น   เราก็พยายามลดการที่จะถือเอากำลังทางร่างกายเป็นสำคัญ   โดยมีกำหนด กฎเกณฑ์ทางสังคมขึ้น ให้มีหลักจริยธรรม   มีหลักความดี   มีการให้เกียรติ   มีการยกย่องกันด้วยความดีนั้น ไม่เอาแต่เรื่องของกำลังกาย และถ้าเอาแต่ใช้ กำลังร่างกายข่มขี่บังคับกัน ก็ถือเป็นความป่าเถื่อน   อันนี้ก็เป็นโอกาสของผู้ หญิงเพิ่มขึ้น   แต่แม้ในขั้นอย่างนี้ ก็จะเห็นว่า พอเอาเรื่องความเสมอภาคขึ้น มาพิจารณาก็ยังมีปัญหา   แม้แต่พระราชบัญญัติแรงงาน   ก็ต้องบัญญัติงานบาง อย่างไม่ให้ผู้หญิงทำ เช่น  งานที่ขึ้นที่สูงมากเกินไป   ใช้เรี่ยวแรงกำลังมากเกิน ไป   อย่างนี้ไม่ได้ กลายเป็นว่าถ้าให้ไปทำก็เท่ากับเป็นการรังแกผู้หญิง  ในแง่ นี้   ถ้าเสมอภาคกันทำไมไม่ให้ทำเท่ากันล่ะ อย่างนี้เป็นต้น.

คลิกที่นี่เพื่ออ่านต่อ......

 

 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ:จากหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์

Click Here!