Buddhist Study   Special: ทรรศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
โดย  พระธรรมปิฎก

จาก นสพ. ไทยโพสต์
   

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


 

12 พฤษภาคม 2544    

เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม

ถาม  : กลับมาปัญหาที่กำลังคุกรุ่น ในปัจจุบัน  ในเรื่องการบวชภิกษุณีในเมืองไทย  มีผู้ที่พยายามบวช และทางฝ่ายเถรวาทอ้างว่า   เพราะเราขาดสูญอุปัชฌาย์ ของภิกษุณีด้านเถรวาทนี้ มานานแล้ว ก็มีผู้ไปบวชเมืองจีนที่ไต้หวัน ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีกลุ่มที่พยายามผลักดัน ให้มีการบวชภิกษุณี โดยใช้คำอ้างว่า
“แม้แต่พระพุทธเจ้ายังอนุญาตให้สตรีบวชเลย   แต่ทำไม ทางมหาเถรสมาคมของประเทศไทยจึงไม่อนุญาต   ทั้งที่มีผู้พร้อมที่จะบวช   ซึ่งน่าจะอนุญาตได้”   นี่ข้อหนึ่ง และเขามองในแง่สังคมวิทยาว่า   เพราะ สถาบันศาสนาเปิดโอกาสให้กับผู้ชาย ฉะนั้นเด็กผู้ชายตามจังหวัดที่ยากจน ด้อยโอกาส มีโอกาสเข้ามาพึ่งพิงศาสนา   ได้เรียนหนังสือ   ได้เติบโตในสังคม ต่อไปได้ด้วยดี ในขณะที่ไม่มีสถาบันภิกษุณี ทำให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสในเรื่อง ของการศึกษา   เขาเปรียบเทียบว่าจำนวนภิกษุสงฆ์สองแสน   เทียบแล้วก็เท่า กันกับเด็กผู้หญิงที่จะต้องไปทำอาชีพโสเภณี ถ้ามีสถาบันภิกษุณีในสังคม จะได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้มากขึ้นด้วย
ตอบ : อันนี้เกิดจากการจับเรื่องโน้นมาชนเรื่องนี้  จับจุดของเรื่อง ไม่ถูก การอนุญาตให้บวชภิกษุณีเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า   คือต้องเป็นไปตาม พุทธบัญญัติ   มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจอะไรเลย   มหาเถรสมาคมเป็นเรื่อง บัญญัติใหม่ตามกฎหมายของบ้านเมือง   แม้แต่สงฆ์ที่เป็นการปกครองแบบพระ พุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ก็ไม่มีอำนาจที่จะให้ภิกษุณีบวช  และการที่บอกว่าเป็น เรื่องไม่มีอุปัชฌาย์ก็ยังไม่ถูก   คือการบวชภิกษุณีสำเร็จด้วยสงฆ์    เช่นเดียวกับ ภิกษุเหมือนกัน เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว จะบวชภิกษุณีได้อย่างไร   ไม่ใช่อยู่ที่ตัวอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บวชไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ถึงมีอุปัชฌาย์ มีภิกษุณีรูปเดียวเป็นอุปัชฌาย์ ก็บวชใครให้เป็นภิกษุณีไม่ได้
เมื่อครั้งภิกษุสงฆ์ในลังกาหมด   ลังกาก็ต้องส่งทูตมาขอพระสงฆ์ จากเมืองไทยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปบวชให้แก่คนลังกา   ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ ไม่มี   แล้วเราจะบวชภิกษุณีได้อย่างไร   ข้อสำคัญอยู่ที่นี่ 
เหมือนอย่างเมื่อพระเจ้าอโศกส่งพระศาสนทูตมาตั้งพระศาสนา ในลังกา   พระมหินท์ก็นำคณะภิกษุมา ก็บวชภิกษุลังกาได้   และตอนนั้นฝ่าย ภิกษุณีก็ต้องมีภิกษุณีสงฆ์ คือพระนางสังฆ-มิตตาเถรี นำคณะภิกษุณีสงฆ์มา ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์จึงบวชภิกษุณีได้ หมายความว่าจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์จึงจะ บวชภิกษุณีได้ ต้องมีภิกษุสงฆ์จึงจะบวชภิกษุได้ ถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์   แล้วใครจะไปบวชภิกษุได้   ก็เหมือนกัน ปัญหามันติดอยู่ที่นี่มัน ไม่ใช่เรื่อง อุปัชฌาย์และมหาเถรสมาคมอะไรเลย
ถาม : แล้วที่พาไปบวชภิกษุณีสงฆ์ที่ไต้หวัน   ที่บวชมาแล้ว   ทางนี้ไม่ยอมรับนับถือ   และค่อนข้างจะมองกันในแง่เรื่องของการเมืองด้วย
ตอบ : ถ้าไปบวชแบบมหายาน   ก็แน่นอนละ   เรื่องการเมืองไม่ ต้องไปเกี่ยวหรอก   ก็เหมือนกับภิกษุมหายานนั่นแหละ   ภิกษุเถรวาทก็ไม่รับ เหมือนกันใช่ไหม   ไม่ต้องไปถึงไต้หวันหรอก พระมหายานในเมืองไทยก็ถือ ว่าเป็นมหายาน พระสงฆ์เถรวาทจะไปนับท่านเป็นเถรวาทได้อย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา
ถาม : ทางนครปฐมที่มีเรื่องท่านสังฆณีวรมัย (มารดาของ ดร.ฉัตรสุมาลย์   กบิลสิงห์  หรือธัมมนันทา  ผู้รับการบวชจากประเทศศรีลังกา เป็นสามเณรี...ไทยโพสต์)  เท่าที่จำได้  ท่านเองก็อ้างว่าท่านบวชในสาย เถรวาทมาจากไต้หวัน 
ตอบ : ก็นั่นสิ   ขอให้มองเป็นเรื่องตรงไปตรงมาตามธรรมดา   อยู่ๆ ถ้าพูดขึ้นมาเฉยๆ   จะให้ทางนี้ยอมรับได้ไหมว่า   ภิกษุณีที่สืบมาในไต้หวัน เป็นสายเถรวาท   อย่างน้อยท่านก็ต้องตั้งข้อระแวงไว้ว่า ดินแดนไต้หวันมีแต่ พุทธศาสนามหายาน ภิกษุสงฆ์ก็เป็นมหายาน แล้วจะไปยอมรับภิกษุณีทันที ได้อย่างไร มันก็เป็นธรรมดา  ไม่ใช่เฉพาะไม่ยอมรับภิกษุณีหรอก   ภิกษุก็ไม่ รับก็ได้ แต่รับในแง่ที่รู้ว่านี่เป็นภิกษุมหายาน เมื่อเป็นภิกษุณีท่านก็ยอมรับใน แง่ว่านี่เป็นภิกษุณีมหายาน   ก็ว่ากันไปตามเรื่อง  ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว เมื่อมาจากแดนมหายาน  ถ้าบอกว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท   ก็อย่าเพิ่งให้ท่านต้อง ยอมรับทันที   ก็ต้องให้โอกาสท่าน ก็ต้องสืบสาวราวเรื่องที่เป็นมาให้ชัดก่อน นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา
ในกรณีที่ว่า ถ้าเป็นภิกษุณีสายเถรวาทจริง   แต่ภิกษุสงฆ์ใน ไต้หวันมีแต่มหายาน ภิกษุณีซึ่งบวชในสงฆ์สองฝ่ายก็กลายเป็นบวชกับภิกษุ สงฆ์มหายาน ความเป็นเถรวาทก็แปรไปเสียอีก จะนับว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท ครึ่ง มหายานครึ่งหรืออย่างไร แค่นี้ก็ต้องเห็นใจท่านที่จะต้องวินิจฉัยแล้ว ว่าคงลำบากใจไม่น้อยเลย ถ้ามีภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริงก็ถือว่าดีไปขั้นหนึ่ง   แต่เมื่อเรื่องเกิดขึ้นท่านก็ต้องถือในขั้นต้นว่าเป็นภิกษุณีมหายานไว้ก่อน ก็เป็นธรรมดา มันตรงไปตรงมา ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท่านด้วย
ถาม :  ในประเด็นนี้   ถ้าผู้หญิงไทยยอมรับสภาพ  คือยอมรับเป็น ภิกษุณีสงฆ์ของมหายาน ก็น่าจะเป็นทางออกได้
ตอบ : ก็เป็นทางออกหนึ่ง เราก็ต้องมาตกลงว่าจะเอาอย่างไร
ถาม : ต้องมีการสืบต่อไปอีกไหมครับว่ามีการขาดช่วงของภิกษุณี
ตอบ :  อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์  หรือชาวพุทธที่จะ ต้องสืบสวนทางประวัติศาสตร์ว่า   ภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นสืบมาอย่างไร เป็นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทแท้จริงไหม ถ้าหากว่าสืบได้ชัด   ทางนี้ยอมรับได้   ก็หมดเรื่อง แต่ก็ต้องพิจารณาในแง่ว่าไต้หวันไม่มีภิกษุสงฆ์เถรวาท ที่จะบวชภิกษุณีเถรวาทในขั้นตอนที่ให้ครบสงฆ์ 2 ฝ่าย  แล้วจะยุติอย่างไร   ก็ว่ากันตรงไปตรงมา อย่าไปยกอันโน้นมาปนอันนี้ให้มันยุ่ง ไม่ต้องไปพูดถึง ภิกษุณีเลย ภิกษุก็เหมือนกัน เราก็ยังมีภิกษุสายเถรวาท และภิกษุมหายาน
ถาม :   แล้วอย่างที่บัญญัติไว้ว่า   พระอุปัชฌาย์ของภิกษุณีที่เรียก ว่า  ปวัตตินี   ที่ว่าสามารถบวชได้แค่ปีละองค์   แล้วก็ต้องเว้นไปอีกปีหนึ่งถึงจะ บวชได้ใหม่อีกองค์หนึ่ง   อย่างนี้คิดว่าน่าจะเป็นพระพุทธประสงค์ที่จะคุม กำเนิดนะครับ
ตอบ : ก็อาจจะอย่างนั้น   คือไม่ต้องการให้มีมาก   คล้ายว่าทำให้ การบวชภิกษุณีนั้นเป็นไปได้ยาก อันนี้คงต้องมองในแง่ของสังคม คือเป็น ปัญหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ทางสังคม
ถาม : คือท่านต้องการที่จะให้สูญพันธุ์ไปโดยปริยายหรือเปล่า
ตอบ : อันนั้นก็ต้องพิจารณากันอีก   อาตมาคงตัดสินไม่ได้   แต่พูดได้ว่าเป็นข้อที่ควรตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่ง.

 

14 พฤษภาคม 2544    

แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม

ถาม : ในเรื่องของสถานภาพแม่ชีล่ะคะ
ตอบ : อันนี้อาตมาเห็นด้วยว่าควรจะเปิดโอกาสให้กับผู้หญิง ในสังคมไทยที่เป็นมา เมื่อภิกษุณีสงฆ์ไม่มี ในเมื่อเรายังมีปัญหากันอยู่ว่า   เราจะมีภิกษุณีสงฆ์มาบวชได้อย่างไร เพราะวินัยมีข้อกำหนดอยู่ว่าภิกษุบวชก็ ยังต้องมีภิกษุสงฆ์   ภิกษุณีถึงแม้จะต้องให้ภิกษุสงฆ์ยอมรับด้วย   แต่อย่างไรก็ ตาม จุดเริ่มต้นต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทีนี้ในเมื่อเรายังหาภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้  ใน สังคมไทยก็จึงยังไม่มีภิกษุณี   ทีนี้จะทำอย่างไรที่จะให้โอกาสแก่สตรี โบราณก็หาทางออกโดยเป็นอนาคาริก เป็นอุบาสิกานุ่งห่มขาวรักษาศีล ที่เรียกเป็นแม่ชี แต่ในสังคมโบราณสังคมเป็นไปอย่างหลวมๆ   เพราะเป็น ชุมชนเล็กๆ   จบในตัว ก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ทีนี้พอเป็นสังคมใหญ่อย่าง ปัจจุบันขึ้นมา ก็มีกฎกติกาสังคม มีกฎหมายอะไรต่างๆ สถาบันสังคมมี ความซับซ้อน อาตมาว่าต้องมาตกลงกันจัดวางให้เหมาะกับยุคนี้  
คือต้องตรงไปตรงมา   ถ้าจะบวชภิกษุณีก็ต้องให้มีภิกษุณีสงฆ์   ก็จบเท่านั้น   ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์เราบวชภิกษุณีไม่ได้   แต่เราอยากให้ผู้หญิงมี โอกาสได้ประโยชน์จากพระศาสนา   ในภาวะที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบ ครัว   และภาระกังวลทางด้านชีวิตภายนอกของคฤหัสถ์   เป็นผู้ไม่ครองเรือน เราจะวางหลักเกณฑ์อย่างไร   เราก็มาตกลงกัน อันนี้คิดว่าตรงไปตรงมาดีที่สุด   หมายความว่าตอนนี้เรายังหาภิกษุณีสงฆ์มาบวชภิกษุณีไม่ได้  เรามาตกลงกัน ดีกว่าว่าสังคมของเราอยากให้โอกาสแก่ผู้หญิง   เราจะทำอย่างไร แล้วเราก็จัด ให้เหมาะ   ให้ได้ประโยชน์แก่ผู้หญิงตามวัตถุประสงค์ด้วย และไม่ผิดพุทธ บัญญัติด้วย นี่เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด ไม่ต้องมัวมาเถียงกันอยู่
ถาม :  แล้วระหว่าง  2  ทางออก   คือการให้มีแม่ชีในเถรวาท   กับการที่จะเปิดให้มีภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายาน อันไหนจะมีข้อดีข้อเสียมากกว่า กัน
ตอบ : ไม่ใช่เป็นทางออก  2 อย่างที่จะต้องเลือก และไม่เกี่ยว กับการเอามาเปรียบเทียบกันเลย แม่ชีเป็นเรื่องที่เรามีอยู่แล้ว   และดีอยู่แล้ว แต่เราค่อนข้างปล่อยปละละเลยไปเสีย ก็มาตั้งใจส่งเสริมจัดให้ดีไปเลย ส่วนเรื่องภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายานที่ยังไม่มี   ก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณา เป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหากกัน ถ้าพูดว่าอย่างไหนจะดี ก็ไม่ตรงประเด็น และจะเป็นปัญหาขัดแย้งนอกเรื่อง เมื่อนำภิกษุณีฝ่ายมหายานเข้ามา   ก็ต้องเอาหลักคำสอน   ข้อยึดถือของฝ่ายมหายานมา แต่ถ้าเราตั้งเป็นระบบของ เราขึ้นมา ก็เป็นนักบวชที่เรายอมรับว่าไม่ใช่อันที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้   แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เท่าที่ช่องทางของธรรมวินัยมีอยู่ แล้วเราก็วางแนว ปฏิบัติอะไรต่ออะไรให้เหมาะสม
ถาม : แม่ชีเกิดในสังคมไทยนานเท่าไร
ตอบ : คงเกิดนานมากแล้ว มีเรื่องเล่ามาตลอด ซึ่งแสดงว่าสังคม ไทยเดิมก็มีวิธีการหาทางออกให้ผู้หญิง
ถาม : แม่ชีมาอยู่ตามวัดจะถูกมองว่าเป็นเหมือนคนรับใช้ และไม่สามารถจะรับบิณฑบาตได้ ไม่สามารถจะทำพิธีสังฆทานได้
ตอบ : แม่ชีนี่เรียกว่าอุบาสิกา   แต่ก่อนผู้ชายก็มี   เขาเรียกผ้าขาวก็ เหมือนกัน   ไม่มีสิทธิ์อะไรพิเศษ หมายความว่าชีก็สืบมาจากโบราณอย่างที่ ฝ่ายชายก็มีชีปะขาวหรืออะไรทำนองนั้น   ในแบบเดียวกัน   ทั้งสองฝ่ายก็อยู่วัด   เป็นอนาคาริก  เป็นอุบาสก   เป็นอุบาสิกา มีฐานะแบบเดียวกัน แต่ต้องการมี ชีวิตแยกจากความเป็นคฤหัสถ์   เพื่อจะได้มีความหลีกเร้นปลีกตัวสงบมากขึ้น   ก็มุ่งผลเพียงเท่านั้น   ทีนี้สังคมมันเปลี่ยนไป เราจึงต้องบอกว่าควรจะจัดอย่าง ไรให้เหมาะสม
ถาม : โอกาสที่จะเป็นภิกษุณีอย่างเถรวาทนี่ ตามวินัยเป็นไม่ได้ ใช่ไหมคะ
ตอบ : ตามวินัย ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ก็บวชภิกษุณีไม่ได้
ถาม : แต่ถ้าจัดขึ้นมาเองล่ะคะ
ตอบ :  ก็เป็นของเทียม   ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า   ถ้าอย่างนั้นเราก็ บวชพระภิกษุกันเองได้ ไม่ต้องบวชตามวินัยของพระพุทธเจ้า   จะเอาอย่างนั้น หรือ ที่จริงถ้าเราจัดขึ้นมาเองเราก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปปลอมของ ท่าน อย่าไปทับพุทธบัญญัติ   มันไม่ดี ไม่ถูก ก็เหมือนลังกาเมื่อพระภิกษุหมด ไปเขาก็ยอมรับว่าภิกษุสงฆ์ของเขาหมด   เขาก็ต้องส่งทูตมาขอจากไทยไป   ก็ไปมีสยามวงศ์ขึ้นมา แล้วก็ขอจากพม่า มีนิกายมรัมมะและอมรปุระขึ้นมา เขาเคารพพุทธบัญญัติ ก็ไม่จัดภิกษุสงฆ์ขึ้นมาเอง
ท่านสุรเดช  : ที่จริงปัญหาเรื่องแม่ชีไม่ได้รับการยอมรับทาง สถานะ ถ้าลองเปรียบเทียบกับภิกษุณีในสมัยพุทธกาล  ก็น่าจะเอาความรู้สึก มาเปรียบเทียบกันได้   แม้กระทั่งภิกษุณีเอง   เมื่อจะบวชพระพุทธเจ้าก็ทรง บัญญัติครุธรรม  8 ประการ เพื่อให้ตระหนักแบบท่านอาจารย์ว่า แม้กระทั่ง แม่ชีเอง ถ้ามองย้อนกลับไปที่ต้นแบบ   ก็ต้องยอมรับได้ว่าฐานะจริงๆ ในเรื่องการปฏิบัติ หรือเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ได้หมายความถึงเรื่องปลีกย่อย อย่างเรื่องบิณฑบาตการขึ้นรถ   ค่าโดยสาร   แต่ในเรื่องความรู้สึกของฐานะทาง ฝ่ายผู้หญิงน่าจะพิจารณา

 

15 พฤษภาคม 2544    

ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ 4 จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม

ถาม :   แต่เมื่อก่อนนั้น  สถาบันภิกษุณีเป็นคณะที่แยกออกมา   ถึงแม้จะอยู่ในอารามบริเวณเดียวกัน แต่ท่านจะปกครองจัดการอะไรเอง   แต่ระบบแม่ชีนี้อิงอยู่กับวัด   แล้วเหมือนกับว่าการปฏิบัติธรรมมีน้อย ไม่ค่อยมีโอกาส เท่าที่ดูก็จะไปยุ่งกับงานอื่นๆ มากกว่า
ตอบ :  อาจจะเป็นการค่อยๆ คลาดเคลื่อนไป  หรือการเปลี่ยน แปลงเป็นไปตามสภาพสังคม   คล้ายว่ายุคหนึ่งคนมองแม่ชีเป็นขอทาน  อย่างนี้ เป็นต้น สมัยหนึ่งเราไปตามถนนในกรุงเทพฯ   แม่ชีนั่งอยู่ข้างถนน วางกระป๋องรับสตางค์ก็เป็นอย่างนี้ คือสายตาหรือภาพที่คนมองแม่ชีนี่ไม่ดีเลย อีกยุคหนึ่งก็มองว่า แม่ชีคือคนที่อกหัก   ถ้าไม่อกหักก็ไม่มาบวช   ก็มองไม่ดีทั้ง นั้น ทีนี้เราก็ไม่รู้ชัดว่ายุคสมัยโบราณเป็นอย่างไร และขออภัยเถอะ   ยุคหนึ่งก็มีแต่นิทานเรื่องตาเถรยายชีเยอะไปหมด มันเป็นความเป็นไปของ สังคมที่ว่า เรานี่รู้ไม่ตลอดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง   แล้วสังคม โบราณเคยคิดอย่างไร   มีเหตุผลอย่างไร แม้แต่จะจัดการอย่างไรในเรื่องเกี่ยว กับการให้โอกาสผู้หญิงเราก็รู้กันไม่ชัดเจนพอ  จึงบอกว่า เมื่อถึงยุคของเรานี้ ก็จัดวางเสียให้ดีไปเลย อย่างกรณีที่มีผู้พูดว่า ครุธรรม 8 ประการอาจจะ บัญญัติในลังกา ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะนำมาอ้างว่า ด้วยเหตุผลอย่างนี้นะ หรือเท่าที่เห็นหลักฐานว่าอย่างนั้นๆ นะ จึงสรุปว่าบัญญัติในลังกา แต่พูด เพียงคล้ายๆ ว่าอาจจะคิดอยากให้เป็นไปอย่างที่ต้องการสันนิษฐาน
ขอยกตัวอย่าง Mrs. Rhys Davids ก็เป็นคนหนึ่งที่มองเรื่องนี้ ว่า พุทธศาสนายุคหลังนี้อยู่ในกำมือภิกษุ ก็เลยเอนเอียง แล้วก็มีลักษณะ
1.เป็น monastic Buddhism เป็นพุทธศาสนาแบบวัดๆ
2.เป็นของผู้ชาย
ในแง่นี้อาจจะมีความเป็นไปได้บ้าง   แต่เราก็ต้องระวัง ไม่มองแง่เดียว บางทีเราคิดไปๆ ก็มองเกินเลย  จริงอยู่   เมื่อภิกษุณีสงฆ์ไม่มี   มีแต่ภิกษุสงฆ์อะไรๆ ก็มองด้วยสายตาของภิกษุ ก็จึงมีทางหนักไปได้ข้าง หนึ่ง   แต่วินัยดั้งเดิมจะเป็นกรอบหนึ่งที่ช่วยกันไว้ ทำให้พระต้องสัมพันธ์กับ ชาวบ้าน จะเป็นอย่างฤาษีชีไพรไปไม่ได้ แน่ละอิทธิพลย่อมมีได้ในแง่ว่า   เมื่อภิกษุเป็นผู้ดูแลพุทธศาสนาต่อมา  มันก็มีโอกาสเป็น monastic  Buddhism  ซึ่งมีส่วนที่เป็นจริงอยู่   จนกระทั่งทำให้คนมองว่าพุทธ ศาสนาเหมือนกับเป็นเรื่องของวัดไป จนกระทั่งรู้สึกว่าจะปฏิบัติธรรมก็ต้องมา บวชเป็นพระภิกษุ บางทีนึกเลยเถิดไปถึงขึ้นนั้น ทีนี้ถ้ามองหลักธรรมในพระ ไตรปิฎก  เราจะเห็นว่าหลักธรรมนั้นกว้างกว่าเรื่องของการปฏิบัติหรือชีวิตใน วัด คือครอบคลุมชีวิตพุทธบริษัท 4 มากกว่า แต่มาในยุคหลังที่ถือตามแนว ทางแบบที่เน้นในอรรถกถา จะเห็นว่าแม้แต่การปฏิบัติในหลักการของพระ พุทธศาสนาก็ไปเน้นในเรื่องชีวิตแบบภิกษุมาก
ยกตัวอย่างว่า พระพุทธศาสนาสายเถรวาทยุคหลัง ได้รับ อิทธิพลจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาก จนกระทั่งเรียกได้ว่าถือวิสุทธิมรรคเป็น แบบ   บางทีกลายเป็นเรียนวิสุทธิมรรคมากกว่าเรียนพระไตรปิฎก ทีนี้วิสุทธิ มรรคนั้นในแง่ขอบเขตของการเขียน อาจจะเป็นด้วยท่านผู้เขียนเป็นพระภิกษุ ท่านก็มุ่งเขียนการปฏิบัติของพระภิกษุ และในคัมภีร์เองก็ชัดที่ท่านวางบทตั้ง ของคัมภีร์ไว้ว่า
สีเล ปติฏฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ
อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ
นี่เป็นคาถาตั้ง   หรือคาถากระทู้ของวิสุทธิมรรค เป็นคำแสดง หลักไตรสิกขา แต่ยกคาถานี้ขึ้นตั้ง คาถานี้เป็นคาถาที่ปรารภพระภิกษุ   ฉะนั้นจะโดยคาถาตั้งที่ปรารภพระภิกษุ   แล้วท่านจึงอธิบายตามแนวนี้ก็ตาม หรือว่าการมองของท่านที่ดูการปฏิบัติโดยเน้นอยู่ในขอบเขตของพระภิกษุก็ตาม ทำให้เป็นอย่างนั้น
ย้ำอีกทีก็ได้ว่า เรายึดถือแนวคำสอนของวิสุทธิมรรค จนกระทั่งเราเพลินไปว่า นั่นเป็นกรอบของพระพุทธศาสนา   แล้วก็ไม่ไปมอง ที่พระไตรปิฎก   บางทีก็ลืมๆ ไป   เราจึงต้องตระหนักความจริงนี้ไว้   แล้วก็มองว่าพุทธศาสนานี่เป็นของพุทธบริษัท   4  ทั้งหมด  เพื่อจะได้มอง บทบาทของท่านผู้เขียนตามความเป็นจริง และให้ความสำคัญกับวิสุทธิมรรค ให้ตรงพอดีกับที่ท่านประสงค์จะทำความสำคัญของพระภิกษุก็แน่นอน เพราะท่านเป็นผู้อุทิศตัวให้แก่การปฏิบัติ ท่านมีเวลาและมีบทบาทในการสั่ง สอนด้วย  ทั้งเล่าเรียน  ศึกษา ปฏิบัติ และสั่งสอน ทั้งหมดนี้ท่านทำได้เต็มที่ กว่า   แต่เราก็ต้องมองให้กว้างให้ครอบคลุมพุทธบริษัท 4 ไม่ใช่จำกัดอยู่ใน แนวปฏิบัติที่เน้นพระภิกษุอย่างเดียว แต่ที่ว่าเป็นพุทธศาสนาแบบวัด หรือเป็นของพระผู้ชายคือพระภิกษุนี้   ก็เป็นเรื่องความโน้มเอียงหรือเน้นหนัก ไปข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่หมายความว่าท่านบัญญัติอะไรขึ้นใหม่แปลกออกไป จากของพระพุทธเจ้า
อยากเกิดเป็นหญิงหรือชาย จะทำให้เป็นได้อย่างไร
ถาม : มักจะพูดกันต่อๆ มาว่า   เกิดมาเป็นผู้หญิงนี่เป็นผู้มีกรรม หรือมีกรรมมาก และทำอย่างไรจะได้เกิดเป็นผู้ชายคะ
ตอบ : ทุกคนมีกรรมทั้งนั้น   ไม่ว่าหญิงหรือชาย   มันอยู่ที่ว่า กรรมดีหรือไม่ดี ถ้ามีกรรมมาก เป็นกรรมดีก็ดีน่ะสิ   โดยมากภาษาไทยจะมี ปัญหาอยูในตัว   คำว่ามีกรรมนี่กลายเป็นว่ากรรมที่ไม่ดีไป   ในเรื่องนี้อรรถกถา ก็จะพูดถึงว่า ทำไมไปเกิดเป็นหญิง   แล้วก็ว่าเพราะทำกรรมไม่ดีอย่างนี้ๆ  นี่ เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถา-จารย์  แต่ในพระไตรปิฎกไม่มี   ในพระ ไตรปิฎกจะเน้นไปในแง่ของจิตที่ยึดถือผูกพันโน้มไป ก็หมายความว่าการตั้ง จิตนี้ละเป็นสาระสำคัญ จิตที่โน้มเอียงยึดถือพอใจในภาวะเพศนี้แหละ ถ้าผู้หญิงพอใจโน้มใจผูกพันยึดถือในเพศที่เป็นหญิง   ก็จะโน้มไปในการที่จะ เกิดเป็นหญิง แต่ถ้าไปพอใจในความเป็นชาย   ก็มีความโน้มไปในการที่จะเกิด เป็นชายเช่นเดียวกัน อยู่ที่จิตผูกยึดโน้มพอใจ ทีนี้ถ้าเรามาโยงกับอรรถกถา   ก็อาจจะมองได้ว่า   อรรถกถาอธิบายในเชิงคล้ายๆ ว่า  สมัยนั้นสังคมยึดถือผู้ ชายเป็นหลัก   เมื่อผู้ชายไปล่วงละเมิดคู่ครองของคนอื่น จิตก็จะครุ่นคิดหมกมุ่น ในเรื่องผู้หญิงมาก   ก็จะไปเกิดเป็นหญิง แต่ผู้หญิงที่ภักดีต่อสามี เอาใจใส่ ปฏิบัติสามี ปฏิบัติดีอะไรต่างๆ จิตก็ผูกอยู่กับผู้ชายมาก ก็โน้มไปในทางที่จะ เกิดเป็นชาย ถ้าอธิบายอย่างนี้ก็พอจะเข้ากับหลักในพระไตรปิฎก ที่ว่าไว้เป็น กลางๆ คือหมายถึงสภาวะจิต หรือความโน้มเอียงของจิตเป็นสำคัญ
ถาม : แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นหญิง เป็นชาย
ตอบ :   ไม่ใช่พูดแค่ตัวภาวะเพศเท่านั้นนะ   แต่หมายถึงการพัฒนา คุณสมบัติ   คือไม่ใช่พอใจในเรื่องเพศ เรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ   แต่หมายถึง พอใจในคุณสมบัติที่แสดงถึงความเป็นชาย   เช่น คุณสมบัติในความเข้มแข็ง ความเด็ดเดี่ยวอะไรต่างๆ
ถาม : ปัจจุบันนี้ ผู้ชายมีแนวโน้มเป็นผู้หญิงมาก มีอิตถีภาวะ มาก มีเยอะเหลือเกิน
ตอบ : นั่นสิแสดงว่าสังคมมันวิปริต   แสดงว่าจิตใจของคนมีความ โน้มเอียงเปลี่ยนไป   ก็เห็นแล้วว่าแนวโน้มจะเป็นผู้หญิง.

 

16 พฤษภาคม 2544    

เปลี่ยนจากนับถือเทพสูงสุด มาถือธรรมเป็นใหญ่ ชาวพุทธจะยืน หยัดไหวไหม

ถาม :   ในพระไตรปิฎก   มีเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์   ที่ว่าพรหมลงมากินง้วนดิน จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องเล่าหรือว่าอย่างไรค่ะ
ตอบ : เรื่องมีในพระไตรปิฎก และก็มีคำอธิบายรุ่นหลังเสริมเข้า ไปอีก เราก็ต้องไปแยกอีกทีว่าแค่ไหนในพระไตรปิฎก
ถาม : แล้วเราจะยึดถือได้จริงขนาดไหนค่ะ
ตอบ :  จับเอาสาระว่า พุทธศาสนาถือหลักความหมุนเวียนเปลี่ยน ไปเป็นวิวัฒนาการ ท่านไม่ใช้คำว่าพรหม   แต่เวลาเล่าหรืออธิบายกันต่อมามี การพูดรวบรัด อย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่าพรหมลงมากินง้วนดิน   ในบาลีใช้แค่อาภัสรา   คือสัตว์ที่มีแสงสว่างในตัว   เปล่งหรือแผ่ซ่านออกมา   แต่พอมาแปลในพระ ไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทย ก็ใส่คำว่าพรหมลงไป  นี่ละ   ถ้าเราดูแค่เฉพาะ พระไตรปิฎกไทยก็ยังเสี่ยง   เพราะท่านแปลตามภูมิของท่าน   ท่านเรียนมา อย่างไรก็แปลอย่างนั้น คือ หนึ่ง ท่านแปลไปตามความรู้ของตัว สอง มิฉะนั้นก็เอาตามอรรถกถา   แต่ในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่าพรหม   พระพุทธเจ้า ทรงใช้คำว่าอาภัสรา อาภัสรา แปลว่า ผู้มีรังสีแผ่ซ่านออกไป
ถาม : ที่ท่านบอกให้ถือสารัตถะคืออะไร
ตอบ : สารัตถะก็คือความหมุนเวียนเปลี่ยนไปของสภาพที่ปรากฏ ในสังคมมนุษย์ ถ้าพูดแบบเทียบเคียงก็คือ พุทธศาสนาถือหลักวิวัฒนาการ   แล้วสาระที่สำคัญอย่างยิ่งคือตรัสเรื่องนี้เพื่ออะไร จุดสำคัญของพระสูตรนี้เพื่อ อะไร   ก็เพื่อแสดงความไม่ยอมรับแนวคิดของพราหมณ์ในเรื่องวรรณะ 4 ที่ว่าพระพรหมเป็นผู้กำหนด นี่คือสาระสำคัญของพระสูตรนี้ คือสิ่งที่พระ พุทธเจ้าตรัส เป้าหมายก็คือ การแสดงความไม่ยอมรับระบบวรรณะ   และทรงแสดงแก่วาเสฏฐะ   และภารทวาชะ   ซึ่งมาบวชเป็นเณร   สองท่านนี่มา จากวรรณะพราหมณ์   พอมาบวชก็ยังแม่นในแนวคิดของพราหมณ์ สิ่งที่พระ พุทธเจ้าตรัสอย่างหนึ่งก็คือ การแยกพุทธมติ กับ มติของพราหมณ์
โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าไม่ยอมรับเรื่องวรรณะ ที่ว่าพระพรหม เป็นผู้กำหนดควบคุม สร้างโลก สร้างมนุษย์ โดยกำหนดมาเสร็จว่าใครเป็น วรรณะไหน พราหมณ์เขาถือว่าพราหมณ์นี่สูงสุด เป็นวรรณะที่เกิดจากพระ โอษฐ์ของพระพรหม   กษัตริย์เกิดจากพระพาหา   คือเป็นนักรบ แพศย์เกิดจาก สะโพกเป็นพวกนักเดินทางค้าขาย   ศูทรเกิดจากพระบาท   เป็นที่รองรับ รับใช้ เกิดมาอย่างไรก็ต้องตายไปอย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พระพุทธเจ้าไม่ ยอมรับคำสอนของพราหมณ์   แต่ได้ตรัสเป็นเรื่องวิวัฒนาการของสังคมว่า มนุษย์เกิดมาอย่างนี้   แล้วมีการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินชีวิตแล้วสังคมเกิด ขึ้นมา   ต่อมาความจำเป็นของสังคมทำให้เกิดมีอาชีพการแบ่งงาน   ต่อมาเลยยึด ถือเป็นวรรณะไป   ถ้าเรามองคำสอนของพระพุทธเจ้าบนพื้นฐานสังคมในสมัย นั้น ก็เป็นการพลิกตรงข้ามเลย ถ้าเราจับจุดนี้ได้เราจะเข้าใจ ไม่ไปมัวติดยึด อยู่ในตัวอักษร ตรงนี้แหละสาระสำคัญเลย คือการปฏิเสธเรื่องวรรณะ
จุดหมายของพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับเป็นอันขาดในเรื่อง วรรณะ  4 พราหมณ์เขาถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด   พระพุทธเจ้าตรัส รุนแรงในเรื่องการไม่ยอมรับว่าพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด   แล้วในพระสูตรนี้ จะมีคำตรัสย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ธรรมสูงสุด   ธรรมเป็นเครื่องตัดสิน ไม่ใช่พระ พรหม หลักที่ว่าธรรมเป็นสิ่งสูงสุดนี้ ชาวพุทธไม่ค่อยจะยึดถือ   ที่จริงเราต้อง ถือว่าธรรมเหนือเทพ   พระพุทธศาสนาถืออย่างนั้น ไม่ใช่เทพสูงสุด   เวลานี้ดีไม่ดีชาวพุทธเพลินไปถือเทพเป็นใหญ่   เอาละ   ใครจะถือเทพเชื่อเทพก็ ไม่ว่าหรอก แต่เมื่อเป็นชาวพุทธต้องถือธรรมสูงสุด ธรรมเป็นตัวตัดสินเทพ ด้วย เทพจะใหญ่ไปกว่าธรรมไม่ได้ แล้วคาถาสุดท้ายว่าอย่างไร บอกว่าใน หมู่ชนที่ยังถือโคตรกันอยู่ กษัตริย์สูงสุด แต่ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็น ผู้สูงสุด ไม่ต้องไปคำนึงแล้วว่าจะเป็นวรรณะไหน แม้แต่เทพ ไม่เอาทั้งนั้น มนุษย์ที่พัฒนาตัวเองแล้วสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะนี่แหละประเสริฐสุด   ทั้งในหมู่มนุษย์และทวยเทพ   นี่คือสาระสำคัญของอัคคัญญสูตร
ถาม : เรื่องการสิ้นโลกมีปรากฏไหมค่ะ ที่ว่าน้ำจะท่วม
ตอบ : ในอรรถกถาบอกว่า   โลกจะสิ้นด้วยไฟ   โลกจะสิ้นด้วยน้ำ โลกจะสิ้นด้วยลม เรื่องนี้มีมติพราหมณ์อยู่เดิม   คือพราหมณ์เขาถือว่าพระ พรหมสร้างโลก แล้ววันคืนหนึ่งของพรหมเรียกว่ากัปหนึ่ง เมื่อครบกัปหนึ่งก็ จะสิ้นโลกกันทีหนึ่ง   โลกก็จะสลาย   ทีนี้การที่โลกจะสลายนี้สลายด้วยไฟก็มี   ด้วยลมก็มี ด้วยน้ำก็มี เขาเรียกว่ากัปที่วินาศด้วยไฟ ด้วยลม  ด้วยน้ำ นี่มติอรรถกถา ซึ่งไปโยงกับแนวคิดที่มีอิทธิพลของพราหมณ์อยู่ในพระ ไตรปิฎกบางแห่งอาจจะกล่าวถึงอะไรสักอย่างหนึ่ง  แล้วอรรถกถาก็อธิบาย ขยายความ  ตัวอย่างที่ชัดก็คือ   ในพุทธคุณ   พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู   รู้แจ้งโลก   ในพระไตรปิฎกว่าไว้แค่นี้ ตรงอรรถกถาก็อธิบายเลยว่า โลกนี้เป็น อย่างไร แล้วก็เกิดขึ้น เจริญ เสื่อม วินาศ อย่างไร ก็ว่ากันยืดยาว.

 

คลิกที่นี่เพื่ออ่านต่อ....

 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ: จากหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์

Click Here!