Buddhist Study   บทที่1   ปรมัตถธรรม 4    

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 

 


"เมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทมากขึ้น   ก็จะยิ่งรู้ชัดขึ้นว่า  "ตัวตน"   นั้นเป็นเพียงความคิดเห็น   ไม่ใช่ปรมัตถธรรม"


 

 

 

 

 

 


"ไม่มีจิตดวงใดที่เกิดขึ้นโดยปราศจากอารมณ์   แม้ในขณะที่นอนหลับสนิท   จิตก็รู้อารมณ์ "


 

 

 

 

 

 


"การรู้ว่าจิตแต่ละดวงเป็นชาติอะไรนั้นเป็นสิ่งสำคัญ   เพราะเราไม่สามารถเจริญกุศลได้   ถ้าเราสำคัญผิดว่าอกุศลเป็นกุศลหรืออกุศลเป็นวิบาก"


 

 

 

 

 

 


"จิตเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้เลย   เช่น  ความรู้สึก   ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า เวทนา เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง "


 

 

 

 

 

 


"แม้ว่าจิตและเจตสิกเป็นนามธรรม   แต่ก็มีลักษณะต่างกัน "


 

 

 

 

 

 


"รูปแต่ละรูปไม่เกิดตามลำพังรูปเกิดรวมกันเป็นกลุ่ม   อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูป 8 รูปเกิดรวมกัน"


 

 

 

 

 

 


"ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือโต๊ะ   ลักษณะที่แข็งนั้นเป็นแข็งเหมือนกัน    สภาพแข็งเป็นปรมัตถธรรม    "ร่างกาย"  หรือ  "โต๊ะ"   ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นสมมุติบัญญัติ "


 

 

 

 

 

 


"สังขารธรรม  คือ  จิต  เจตสิก   รูป  ไม่เที่ยง (อนิจจัง)    สังขารธรรมเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง"


 

 

 

 

 

 


"นิพพานเป็นนามธรรมซึ่งไม่รู้อารมณ์   แต่นิพพานเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกได้ "


 

 

 

 

 

 


"นิพพานเป็นนามธรรม   แต่นิพพานก็ไม่ใช่จิตหรือเจตสิก   นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่เกิดและไม่ดับ   เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งภาษาบาลี   เรียกว่า 
วิสังขารธรรม"


 
        ภาพธรรมมี 2 อย่าง  คือ  นามธรรม และ รูปธรรม   นามธรรมเป็นสภาพรู้    รูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร   เช่น   การเห็นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง   เป็นสภาพธรรมที่รู้สี   สีเป็นรูป  สีไม่รู้อะไร    สิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น   เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   
ในวิสุทธิมัคค์   ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส   มีข้อความว่า

เหมือนอย่างว่า
เพราะอวัยวะเครื่องปรุง
จึงมีเสียงเรียกว่ารถฉันใด
เมื่อขันธ์ (ขันธ์ 5 ได้แก่ นามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง) ทั้งหลายยังมีอยู่
ย่อมมีสมมุติเรียกว่าสัตว์ฉันนั้น

......เมื่อเป็นเช่นนี้   นามรูปนั่นแหละ   ท่านจึงแสดงแล้วโดยพระสูตรตั้งหลายร้อย   ไม่ใช่แสดงถึงบุคคลฯ   ดุจเมื่อเครื่องสัมภาระ (ของรถ) อันเป็นอวัยวะ  มีเพลา  ล้อ   เรือนรถ  งอน  เป็นต้น   ปรุงคุมกันเข้าโดยอาการอันเป็นอันเดียวกัน   จึงมีโวหารมาตรว่ารถ   แต่เมื่อจะพิจารณาแยกองค์ออกเป็นอย่างๆ   โดยทางปรมัตถ์   ชื่อว่ารถหามีไม่.....   เหตุนั้น....จึงมีโวหารว่าสัตว์   ว่าบุคคล  แต่โดยปรมัตถ์   เมื่อจะแยกพิจารณา   แยกธรรมออกเป็นอันๆขึ้นชื่อว่าสัตว์   อันเป็นวัตถุแห่งการยึดถือว่า   มีเราหรือว่าเป็นเราดังนี้หามีไม่   โดยปรมัตถ์คงมีนามรูปเท่านั้น    ผู้เห็นอยู่อย่างนี้   ชื่อว่า ยถาภูตทัสสนะเห็นตามเป็นจริงๆ

สภาพธรรมทั้งหลายทั้งภายในกายและภายนอกกายเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   ไม่เที่ยง   นามธรรมและรูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง   ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า  ปรมัตถธรรม
เราสามารถรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมได้เมื่อปรมัตถธรรมปรากฏ   ไม่ว่าเราจะบัญญัติเรียกปรมัตถธรรมนั้นๆว่าอย่างไรก็ตาม    ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาสามารถประจักษืสภาพลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ตามความเป็นจริงว่า  ไม่เที่ยง   ไม่ใช่ตัวตน เมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทมากขึ้น   ก็จะยิ่งรู้ชัดขึ้นว่า  "ตัวตน"   นั้นเป็นเพียงความคิดเห็น   ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

นามธรรมและรูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน   ถ้าเราไม่แยกนามธรรมและรูปธรรมออกจากกัน   และไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว   ก็ย่อมยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน   เช่น  การได้ยินเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปร่างสัญฐาน    การได้ยินต่างจากโสตปสาท   แต่ก็มีโสตปสาทเป็นปัจจัยสำคัญ   นามธรรมที่ได้ยินเป็นสภาพธรรมที่รู้เสียง สตปสาทและเสียงเป็นรูปธรรมซึ่งไม่รู้อะไร    แตกต่างจากนามธรรมที่ได้ยินโดยประการทั้งปวง    เมื่อไม่รู้ชัดว่า   การได้ยิน  โสตปสาท   และเสียง   เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันแล้ว   ก็จะยังยึดถือต่อไปว่าเป็นตัวตนที่ได้ยิน

ในวิสุทธิมัคค์   ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส   มีข้อความว่า

อนึ่ง   นามธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีเดช   ไม่อาจเพื่อจะเป็นไปด้วยเดชของตน....กินไม่ได้   ดื่มไม่ได้  ขวนขวายไม่ได้   ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้    แม้รูปก็ไม่มีเดช   ไม่อาจจะเป็นไปด้วยเดชของตน   เพราะว่ารูปนั้นไม่มีความใคร่จะกิน   ไม่มีความใคร่จะดื่ม   ไม่มีความใคร่จะขวนขวาย   ไม่มีความใคร่สำเร็จอิริยาบถ    อันที่แท้รูปอาศัยนามจึงเป็นไป   แม้นามก็ต้องอาศัยรูปจึงเป็นไปฯ    ก็เมื่อมีนามธรรมเป็นผู้ใคร่กิน   ใคร่ดื่ม  ใคร่ขวนขวาย   ใคร่สำเร็จอิริยาบถ   รูปจึงกิน  จึงดื่ม   จึงขวนขวาย   จึงสำเร็จอิริยาบถฯ

ข้อความต่อไปในวิสุทธิมัคค์   ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส  มีว่า

นามกายอาศัยรูปจึงเป็นไป
เปรียบเหมือนมนุษย์อาศัย (โดยสาร) เรือไปในห้วงนํ้าฯ
รูปกายอาศัยนามจึงเป็นไป
เหมือนอย่างเรือ
อาศัยมนุษย์จึงแล่นไปในแม่นํ้าฯ
ทั้งสองอย่างคือมนุษย์และเรือ
อาศัยกันและกัน   จึงไปในห้วงนํ้าได้ฉันใด
นามธรรมและรูปธรรม  ก็ฉันนั้น

นามธรรมซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งมี 2 ประเภท  คือ  จิต และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต)จิตและเจตสิกเกิดพระเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด   จิตแต่ละดวงต้องมี สิ่ง ที่จิตกำลังรู้   ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า  อารมฺมณ    จิตที่เห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์   จิตที่ได้ยินมีเสียงเป็นอารมณ์   ไม่มีจิตดวงใดที่เกิดขึ้นโดยปราศจากอารมณ์   แม้ในขณะที่นอนหลับสนิท   จิตก็รู้อารมณ์    จิตมีมากมายหลายประเภทซึ่งจำแนกได้เป็นหลายนัย

จิตบางประเภทเป็น อกุศล   จิตบางประเภทเป็น กุศล    อกุศลจิตและกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิดกายกรรม   วจีกรรม  มโนกรรม   ที่เป็นอกุศลและกุศลได้    จิตบางประเภทเป็นวิบากจิต   คือ เป็นผลของอกุศลกรรมหรือกุศลกรรม    จิตบางประเภทเป็น  กิริยาจิต   คือ เป็นจิตที่ไม่ใช่กุศล   ไม่ใช่อกุศลและไม่ใช่วิบาก

เมื่อจำแนกจิตโดยชาติ (ชาติคือการเกิดขึ้น)    จิตมี 4 ชาติ  คือ  อกุศล1,   กุศล1,  วิบาก1,  กิริยา1

การรู้ว่าจิตแต่ละดวงเป็นชาติอะไรนั้นเป็นสิ่งสำคัญ   เพราะเราไม่สามารถเจริญกุศลได้   ถ้าเราสำคัญผิดว่าอกุศลเป็นกุศลหรืออกุศลเป็นวิบาก   เช่น   เมื่อได้ยินคำพูดที่ไม่เป็นที่พอใจ   ขณะที่ได้ยินเสียงนั้น   โสตวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก   เป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำไปแล้ว   แต่โทสะซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ใช่วิบากจิต   แต่เป็น  อกุศลจิต

การจำแนกจิตอีกนัยหนึ่ง  คือ   จำแนกโดย  ภูมิระดับขั้นของจิต    จิตมี 4 ภูมิ  คือ   กามาวจรจิต  รูปาวจรจิต   อรูปาวจรจิต  โลกุตตรจิต

กามาวจรจิต   เป็นจิตที่รู้กามอารมณ์   ได้แก่  จิตเห็น  จิตได้ยิน   จิตลิ้มรส   และจิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเป็นต้น    ยังมีจิตภูมิอื่นๆอีก   คือจิตที่ไม่รับรู้กามอารมณ์      ผู้ที่เจริญ สมถภาวนา    บรรลุอัปปนาสมาธิ (สมาธิขั้นฌาณ) มีฌาณจิต  ฌาณจิตเป็น จิตอีกภูมหนึ่ง ซึ่งไม่รับรู้กามอารมณ์      โลกุตตรจิต เป็นจิตภูมิสูงสุดเพราะเป็นจิตที่ประจักษ์แจ้งนิพพาน

นอกจากนั้น ยังจำแนกจิตตามนัยอื่นๆอีก   และถ้าพิจารณาความแรงกล้า   หยาบ  และละเอียดของจิตแล้ว   จิตก็ยังต่างกันไปอีกมากมาย   เช่น  อกุศลจิต   ซึ่งมีโลภะ  โทสะ  โมหะ   เป็นมูลนั้น   ย่อมมีความแรงกล้า  หยาบ   และละเอียดต่างกัน    บางครั้งก็อาจเป็นเหตุให้กระทำกรรมต่างๆ   บางครั้งก็ไม่กระทำกรรมต่างๆ   ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความแรงกล้าของอกุศลจิต   กุศลจิตก็มีความแรงกล้าระดับขั้นต่างๆเช่นเดียวกัน

จิตทั้งหมดมี 89   หรือ 121 ดวง (ประเภท)     
ที่จำแนกจิตเป็น 121 ดวงนั้น   รวมจิตของพระอริยบุคคลผู้เจริญทั้งฌานและวิปัสสนา   และสามารถประจักษ์แจ้งพระนิพพานด้วยฌานจิต

ปรมัตถธรรมที่สองคือ เจตสิก   ซึ่งเป็นนามธรรม   ดังที่ทราบว่า   จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์   จิตเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์    จิตได้ยิน มีเสียงเป็นอารมณ์  การคิดนึก มีเรื่องที่คิดนึกเป็นอารมณ์    แต่ไม่ใช่ว่า มีแต่จิตเพียงอย่างเดียว   ยังมีนามธรรมอื่นๆอีกมากด้วย   คือมี เจตสิกหลายดวงเกิดร่วมกับจิตดวงหนึ่งๆ    เราอาจจะคิดอะไรด้วยโทสะ หรือด้วยความรู้สึกเป็นสุข   หรือด้วยปัญญา  
โทสะก็ดี   ความรู้สึกเป็นสุขก็ดี   ปัญญาก็ดี   เป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่จิต   แต่เป็นเจตสิกต่างๆซึ่งเกิดร่วมกับจิตประเภทต่างๆ   ในขณะหนึ่งก็มีจิตดวงหนึ่งเท่านั้น   แต่มีเจตสิกหลายดวง (อย่างน้อย 7 ดวง) เกิดร่วมกับจิตนั้น และดับไปพร้อมกับจิตนั้น จิตเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้เลย   เช่น  ความรู้สึก   ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า เวทนา เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง  
จิตเพียงแต่ ู้ อารมณ์   จิตรู้สึกไม่ได้    เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่ รู้สึก   บางครั้งรู้สึกเป็นสุข   บางครั้งรู้สึกเป็นทุกข์    ขณะใดที่ไม่รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์   ขณะนั้นก็ยังมีความรู้สึกที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ   ความรู้สึกย่อมมีอยู่เสมอ   ไม่มีสักขณะจิตเดียวที่ปราศจากความรู้สึก   เช่น  เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น   ความรู้สึก (เวทนา) ก็เกิดร่วมกับจิตเห็น    จิตเห็นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น   ขณะนั้นยังไม่มีความชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้น   เวทนาที่เกิดร่วมกับจิตเห็นเป็นความรู้สึกเฉยๆ   หลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว   จิตดวงอื่นๆก็เกิดขึ้น   และอาจเป็นจิตที่ไม่ชอบอารมณ์ที่เห็นนั้น   เวทนาที่เกิดร่วมกับจิตนั้นก็เป็นโทมนัสเวทนา

จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์  จิตเป็นใหญ่   เป็นประธานในการรู้อารมณ์   เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตมีอารมณ์เดียวกันกับจิต   แต่เจตสิกแต่ละดวงนั้น ก็มีลักษณะและกิจเฉพาะของตนๆ    เจตสิกทั้งหมดมี 52 ดวง (ประเภท)    มีเจตสิก 7 ดวงที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง   แต่เจตสิกอื่นๆไม่ได้เกิดกับจิตทุกดวง

สภาพธรรมที่จำ   ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า สัญญา   เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง   ในวิสุทธิมัคค์ขันธนิทเทส   แสดงลักษณะของสัญญา ซึ่งมีลักษณะจดจำว่า

......มีการทำเครื่องหมายอันเป็นปัจจัยแก่การจำได้ต่อไปว่า   นี้คือสิ่งนั้นเองเป็นกิจ   ดุจช่างถาก  เป็นต้นฯ

จิตรู้อารมณ์เท่านั้น   จิตไม่จดจำอารมณ์   สัญญาจำหมายอารมณ์ที่ปรากฏ   ซึ่งเมื่ออารมณ์นั้นปรากฏอีก   สัญญาก็จำได้   ขณะใดที่จำได้นั้น   ขณะนั้นเป็นสัญญาเจตสิก   ไม่ใช่ตัวตนที่จำได้  เช่น   เป็นสัญญานั้นเองที่จำได้ว่า   นี้เป็นสีแดง  นี้เป็นบ้าน   หรือนี้เป็นเสียงนก  เป็นต้น

เจตนา ความตั้งใจ   เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกดวง    มีเจตสิกอื่นๆที่ไม่ได้เกิดร่วมกับจิตทุกดวง    อกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น    โสภณ (ดีงาม) เจตสิกก็เกิดร่วมกับโสภณจิต

โลภะ  โทสะ  และ โมหะ   เป็นอกุศลเจตสิก   ซึ่งเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น   เช่น   เมื่อเราเห็นสิ่งที่สวยงาม   จิตที่ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นอาจเกิดขึ้น   จิตในขณะนั้นมีโลภะเจตสิกเกิดร่วมด้วย    โลภเจตสิกทำกิจติดข้องในอารมณ์   ยังมีอกุศลเจตสิกอื่นๆอีกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต   เช่น  ความสำคัญตน (มานะ)   ความเห็นผิด (ทิฏฐิ)  และ ความริษยา (อิสสา) เป็นต้น

โสภณเจตสิก เกิดร่วมกับโสภณจิต  เช่น  อโลภเจตสิก   อโทสเจตสิก  อโมห (ปัญญา) เจตสิก
ขณะที่ให้ทาน อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเกิดขึ้นร่วมกับกุศลจิต   ปัญญาเจตสิกอาจจะเกิดร่วมกับกุศลจิตนั้นๆด้วย   และยังมีโสภณเจตสิกอื่นๆเกิดร่วมด้วยอีก

แม้ว่าจิตและเจตสิกเป็นนามธรรม   แต่ก็มีลักษณะต่างกัน    บางคนคงสงสัยว่าจะรู้ลักษณะของเจตสิกได้อย่างไร   เราอาจรู้ลักษณะของเจตสิกได้เมื่อสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิต   เช่น   อกุศลจิตซึ่งมีมัจฉริยะ (ตระหนี่) เจตสิกเกิดขึ้น    หลังจากที่กุศลจิตซึ่งมีอโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยดับไป   ทำให้เรารู้ว่ามัจฉริยเจตสิกมีลักษณะต่างจากอโลภเจตสิก    เราอาจสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงจากความยินดีเป็นความยินร้าย   จากความสบายใจเป็นความไม่สบายใจ เวทนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่สามารถสังเกตุรู้ได้   เพราะบางครั้งเวทนาปรากฏชัด และมีเวทนาหลายประเภท   เราสามารถจะรู้ได้ว่า   โทมนัสเวทนาต่างกับโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา
เจตสิกบางประเภทเกิดกับจิตบางดวงเท่านั้น   แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับจิตที่เกิดร่วมด้วย   การรู้เรื่องจิตและเจตสิกประเภทต่างๆมากขึ้น   จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ปรมัตถธรรมไม่ใช่มีแต่นามธรรมเท่านั้น   ยังมีรูปธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่ 3   รูปทั้งหมดมี 28 รูป (ประเภท)   รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มี 4 รูป ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า   มหาภูตรูป 4  คือ

  1.  ธาตุดิน  ปถวี   ปรากฏให้รู้ในลักษณะ แข็ง หรือ อ่อน
  2.  ธาตุนํ้า  อาโป   เป็นสภาพที่ เกาะกุม
  3.  ธาตุไฟ  เตโช   ปรากฏให้รู้ในลักษณะ ร้อน หรือ เย็น
  4.  ธาตุลม  วาโย   ปรากฏให้รู้ในลักษณะ ไหว หรือ ตึง


มหาภูตรูป 4   มีรูปอื่นๆซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า   อุปาทายรูป เกิดร่วมด้วย   รูปแต่ละรูปไม่เกิดตามลำพังรูปเกิดรวมกันเป็นกลุ่ม   อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูป 8 รูปเกิดรวมกัน  เช่น   เมื่อเตโชเกิดขึ้น  ปถวี   อาโป  วาโย   และรูปอื่นๆต้องเกิดร่วมด้วย  
รูปที่เป็นอุปาทายรูป  คือ   จักขุปสาท  โสตปสาท  ฆานปสาท   ชิวหาปสาท  กายปสาท   และรูปที่เป็นอารมณ์  เช่น   สี  เสียง  กลิ่น  รส   เป็นต้น

ลักษณะต่างๆของรูปสามารถรู้ได้ทางตา   ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น   ทางกาย  และทางใจ  
รูปธรรมมีจริง   เพราะมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้   เราบัญญัติเรียกรูปว่า   ร่างกายบ้าง  โต๊ะบ้าง    ทั้งร่างกายและโต๊ะมีลักษณะแข็ง   ซึ่งรู้ได้ด้วยการกระทบสัมผัส   ซึ่งทำให้เห็นความจริงว่า   ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือโต๊ะ   ลักษณะที่แข็งนั้นเป็นแข็งเหมือนกัน    สภาพแข็งเป็นปรมัตถธรรม    "ร่างกาย"  หรือ  "โต๊ะ" ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นสมมุติบัญญัติ    เราเข้าใจว่าร่างกายดำรงอยู่   และยึดถือว่าร่างกายเป็นตัวตน    แต่ที่เรียกว่า  "ร่างกาย"   นั้นเป็นเพียงรูปต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป    คำบัญญัติว่า  "ร่างกาย"   นั้น อาจทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงผิดไป   เราจะประจักษ์แจ้งซึ่งความจริง   ถ้าเรารู้ลักษณะที่ต่างกันของรูปเมื่อรูปปรากฏ

จิต  เจตสิก  และรูป    เกิดขึ้นเมื่อมี ปัจจัยปรุงแต่ง เท่านั้น   ภาษาบาลีเรียกว่า   สังขารธรรม
การเห็นย่อมเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีจักขุปสาทและสิ่งที่ปรากฏทางตา    เสียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย   เสียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป    สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยย่อมดับเมื่อเหตุปัจจัยดับ   บางคนเข้าใจว่าเสียงยังดังอยู่   แต่ที่คิดว่าเสียงยังดังอยู่นั้น   ตามความเป็นจริงแล้ว   เป็นรูปที่เกิดดับสืบต่อกันหลายขณะ

ปรมัตถธรรมที่ 4 คือ นิพพาน   นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลส   นิพพานเป็นอารมณ์ที่รู้แจ้งได้ทางมโนทวาร   เมื่อประพฤติปฏิบัติตามหนทางที่ถูกต้องซึ่งนำไปสู่นิพพาน   ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง
นิพพานเป็นนามธรรม   แต่นิพพานก็ไม่ใช่จิตหรือเจตสิก   นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่เกิดและไม่ดับ   เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง   ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า  วิสังขารธรรม
นิพพานไม่เกิดเพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง   ฉะนั้นนิพพานจึงไม่ดับ    จิตและเจตสิกเป็นนามธรรมซึ่งรู้อารมณ์   นิพพานเป็นนามธรรมซึ่งไม่รู้อารมณ์   แต่นิพพานเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกได้ นิพพานไม่ใช่บุคคล  ตัวตน  นิพพานเป็นอนัตตา

สงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4 ดังนี้   คือ

จิต                     เป็นสังขารธรรม
เจตสิก                เป็นสังขารธรรม
รูป                      เป็นสังขารธรรม
นิพพาน               เป็นวิสังขารธรรม

เมื่อศึกษาพระธรรม   จำเป็นจะต้องรู้ว่า สภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรมประเภทใด   มิฉะนั้นแล้วคำสมมุติบัญญัติต่างๆ   อาจทำให้เราเข้าใจผิดได้   เช่น  เราควรทราบว่า   สภาพธรรมที่เรียกว่า  "ร่างกาย"   เป็นรูป    ปรมัตถ์ต่างๆไม่ใช่จิตปรมัตถ์หรือเจตสิกปรมัตถ์ เราควรรู้ว่า   นิพพานไม่ใช่จิตหรือเจตสิก   แต่เป็นปรมัตถธรรมที่ 4    นิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับสังขารธรรมทั้งปวง   เมื่อพระอรหันต์ดับ
ขันธปรินิพพานแล้ว   ไม่มีการเกิดอีก

สังขารธรรม  คือ  จิต  เจตสิก   รูป  ไม่เที่ยง (อนิจจัง)    สังขารธรรมเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา   ไม่ใช่ตัวตน  (สพฺเพ 
ธมฺมา   อนตฺตา)   เพราะฉะนั้น   สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง   เป็นทุกข์  แต่ ธรรมทั้งหลาย   คือ 
ปรมัตถธรรมทั้ง 4 ซึ่ง รวมทั้งนิพพาน ด้วย  เป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

ดูสารบัญ     

home       ปัญหาถาม-ตอบ         หนังสือธรรมะ   
พระไตรปิฎก


หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 


ดูสารบัญ

 






 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


"โทสะก็ดี   ความรู้สึกเป็นสุขก็ดี   ปัญญาก็ดี   เป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่จิต   แต่เป็นเจตสิกต่างๆซึ่งเกิดร่วมกับจิตประเภทต่างๆ "