Buddhist Study | พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน | |||
home |
เนื่องจาก พระอภิธรรม
เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย
ในการศึกษา พระไตรปิฎก เพราะถือว่าเป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธเจ้า
แต่ก็เข้าใจได้ยากถ้าปราศจากการชี้แนะ
ทางเราเห็นว่าหนังสือ
"พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย Nina Van Gorkom (แปลโดย ดวงเดือน
บารมีธรรม) ของ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการปูพื้นฐานก่อนจะศึกษาพระอภิธรรมอย่างลึกซึ้งต่อไป
จึงขอนำมาเสนอไว้นะที่นี้
โดยจะทยอยลงทีละบทโดยไม่ตัดทอน จนครบทั้ง 24 บท ดังต่อไปนี้ คำนำ
พระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคที่รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก คือ พระวินัย (ระเบียบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุ) พระสูตร และพระอภิธรรม ทั้งสามปิฎกเป็นแหล่งบันดาลใจให้เราอาจหาญร่าเริงที่จะประพฤติ ปฏิบัติธรรมเพื่อดับความเห็นผิดและกิเลสทั้งปวงได้ในที่สุด พระธรรมวินัยทั้งสามปิฎกสอนให้เราเข้าใจ "ธรรมะ" คือ ทุกอย่างที่มีจริง การเห็นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง สีเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง ความรู้สึกเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง กิเลสเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม พระองค์ทรงประจักษ์แจ้งธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อเราจะได้ประจักษ์แจ้งสัจจธรรมตามความเป็นจริงเช่นเดียวกับพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรม เราก็ไม่รู้เรื่องสภาพธรรม เรามักยึดถือสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน จุดประสงค์ของพระไตรปิฎก คือ สอนให้อบรมเจริญมัคค์ 8 ซึ่งนำไปสู่ความดับกิเลส พระวินัยปิฎกเป็นระเบียบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุเพื่อดำเนินชีวิต "พรหมจรรย์" จุดมุ่งหมายของชีวิตพรหมจรรย์ คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่เพียงแต่ภิกษุเท่านั้น แม้คฤหัสถ์ก็ควรศึกษาพระวินัย มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่า มีภิกษุที่หันเหจากชีวิตพรหมจรรย์ เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อป้องกันพระภิกษุไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท ขณะที่ศึกษาพระวินัยก็เตือนสติให้รู้โลภะ โทสะ โมหะ ของเราเอง สภาพธรรมเหล่านั้นมีจริง ตราบใดที่สภาพธรรมเหล่านั้นยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท สภาพธรรมเหล่านั้นจะเกิดเมื่อใดก็ได้ พระวินัยเตือนให้รู้ว่ากิเลสเหนียวแน่นเพียงใด และนำไปสู่โทษภัยอะไร เมื่อพิจารณาอย่างนี้ เราก็จะเร่งรีบอบรมเจริญมัคค์มีองค์ 8 ซึ่งนำไปสู่ความดับความเห็นผิด ความริษยา ความตระหนี่ ความสำคัญตน และกิเลสอื่นๆ พระสูตรเป็นเรื่องราวต่างๆ ของบุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารทั้ง 6 กรรมและวิบาก และหนทางซึ่งนำไปสู่ความดับทุกข์ พระอภิธรรมเป็นปิฎกที่กล่าวถึงสภาพธรรมทั้งปวงอย่างละเอียด
คำว่า "อภิ" หมายถึง
"ยิ่งใหญ่" ฉะนั้น
"อภิธรรม" หมายถึง
"พระธรรมที่ยิ่งใหญ่"
การแสดงธรรมในพระอภิธรรมปิฎกแม้จะต่างจากสองปิฎก
แต่จุดมุ่งหมายก็เหมือนกัน
คือ
เพื่อการดับความเห็นผิดและดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท
ฉะนั้น
เมื่อเราศึกษาสภาพธรรมซึ่งจำแนกเป็นประเภทต่างๆ
ก็ไม่ควรลืมจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรม
ปริยัติธรรมเกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประจักษ์แจ้ง จุดมุ่งหมายที่เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาพระอภิธรรม ดิฉันหวังว่า แทนที่ท่านผู้อ่านจะท้อใจที่เห็นตัวเลขและคำภาษาบาลีมากมาย ก็คงจะหันมาสนใจสภาพธรรมที่ปรากฏที่ภายในและรอบๆท่านผู้อ่านเอง คุณสุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจอย่างมากให้ดิฉันได้ศึกษาพระอภิธรรม ดิฉันยกข้อความในพระสูตรหลายแห่งเพื่อแสดงให้เห็นว่า คำสอนในพระอภิธรรมไม่ต่างจากคำสอนในปิฎกอื่นๆ ข้อความที่ยกมา ส่วนใหญ่จากพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ ฉบับแปล ของสมาคมบาลีปกรณ์ ส่วนข้อความจากวิสุทธิมัคค์ ดิฉันใช้ฉบับแปลของท่านพระภิกษุญาณโมลี (โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา 2507) ท่านพระภิกษุธัมมธโร (แอแลน ไดรเวอร์) ได้ช่วยแก้ไขและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ด้วยความอนุเคราะห์อย่างขันแข็งจากท่าน การเรียบเรียงและการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้จึงสำเร็จได้
กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ home ปัญหาถาม-ตอบ หนังสือธรรมะ
|
|