Buddhist Study   บทที่ 18   ธาตุ    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 

 


"สิ่งที่เรายึด
ถือว่าเป็น
ตัวตนนั้น
ความจริง
เป็นแต่เพียง
นามธาต
และรูปธาตุ
ที่เกิดขึ้น
เพราะปัจจัย
ที่เหมาะสม
แล้วก็ดับไป"


 

 

 

 

 

 

 


"ธรรมทั้งหลาย
จำแนกเป็น
ธาตุต่างๆ
บางธาตุก็
เป็นรูป
บางธาตุก็
เป็นนาม
เมื่อจำแนก
เป็นธาตุ
ธาตุทั้งหมด
มี 18 ธาตุ"


 

 

 

 

 

 

 


"การจำแนก
สภาพธรรม
นั้นมีหลายนัย
แต่ไม่ว่าจะ
จำแนกโดย
นัยของขันธ์
หรืออารมณ์
หรือโดย
นัยอื่น
ก็ตาม
เราไม่
ควรลืมว่า
จุดมุ่งหมาย
ของการ
จำแนกสภาพ
ธรรมโดยนัย
ต่างๆนั้น
ก็เพื่อให้รู้
สภาพธรรม
ที่ยึดถือว่า
เป็นตัวตนนั้น
เป็นแต่เพียง
นามธาตุ
และรูปธาตุ
เท่านั้น"


 

 

 

 

 

 

 


"ร่างกายก็
เป็นแต่เพียง
ธาตุเท่านั้น
ไม่จริงหรือ
ที่มีแต่สภาพ
แข็ง เกาะกุม
เย็น  ร้อน
และตึงไหว
สภาพเหล่านี้
เป็นตัวตน
หรือเป็นธาตุ
ที่ไม่ใช่ตัวตน"


 

 

 

 

 

 

 


"มิใช่ร่างกาย
เท่านั้น ถึงแม้
จิตก็ควร
พิจารณาว่า
เป็นธาตุ
เหมือนกัน
ไม่มีสิ่งใดใน
ชีวิตของเรา
ซึ่งไม่ใช่ธาตุ"


 

 

 

 

 

 

 


"แม้เจตสิก
ก็เป็นธาตุ
เราชอบ
ความรู้สึก
ที่เป็นสุข
และไม่ชอบ
ความรู้สึก
ที่เป็นทุกข์
แต่ความรู้สึก
ก็เป็นเพียง
ธาตุ ซึ่งเกิด
ขึ้นเพราะ
เหตุปัจจัย"


 

 

 

 

 



 
ระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมต่างๆโดยความเป็นธาตุ   เพื่อเตือนให้เราระลึกว่าสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน    เมื่อกล่าวถึงธาตุ   เรามักคิดถึงธาตุในวิชาเคมีหรือวิชาฟิสิกส์   สสารสังเคราะห์เป็นธาตุต่างๆ   อาจจะดูแปลกๆที่จะกล่าวว่าตาหรือการเห็นเป็นธาตุ   ทั้งนี้เพราะเรายึดสภาพธรรมเหล่านี้ว่าเป็นตัวตน

สิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น   ความจริงเป็นแต่เพียงนามธาตุและรูปธาตุที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยที่เหมาะสมแล้วก็ดับไป   จักขุปสาทเป็นแต่เพียงธาตุอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะของธาตุนั้นและไม่ใช่ตัวตน   จักขุปสาทเป็นรูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป   การเห็นเป็นธาตุอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะของธาตุนั้น   ไม่ใช่ตัวตน    การเห็นเป็นนามธาตุที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย   แล้วก็ดับไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า   ธรรมทั้งหลายจำแนกเป็นธาตุต่างๆ   บางธาตุก็เป็นรูป   บางธาตุก็เป็นนาม    เมื่อจำแนกเป็นธาตุ   ธาตุทั้งหมดมี 18 ธาตุ ดังนี้

ปสาท 5 คือ

  1. จักขุธาตุ
  2. โสตธาตุ
  3. ฆานธาตุ
  4. ชิวหาธาตุ
  5. กายธาตุ

    อารมณ์ 5  (รู้โดยอาศัยปสาท 5) คือ

  6. รูปธาตุ
  7. สัททธาตุ
  8. คันธธาตุ
  9. รสธาตุ
  10. โผฏฐัพพธาตุ   ซึ่งได้แก่มหาภูตรูป 3  คือ
    ธาตุดิน   สภาพแข็งหรืออ่อน
    ธาตุไฟ    สภาพร้อนหรือเย็น
    ธาตุลม   สภาพไหวหรือตึง

    ทวิปัญจวิญญาณ  (รู้อารมณ์ 5)   คือ
  11. จักขุวิญญาณธาตุ
  12. โสตวิญญาณธาตุ
  13. ฆานวิญญาณธาตุ
  14. ชิวหาวิญญาณธาตุ
  15. กายวิญญาณธาตุ

    อีก 3 ธาตุ  คือ
  16. มโนธาตุ
  17. ธัมมธาตุ
  18. มโนวิญญาณธาตุ

ธาตุ 5  ที่เป็นทวาร 5  เป็นรูป    ธาตุ 5  ที่เป็นอารมณ์ 5   ซึ่งรู้ได้ทางทวาร 5 ก็เป็นรูป    ธาตุ 5   ที่เป็นทวิปัญจวิญญาณ ซึ่งรู้อารมณ์ 5 นั้นเป็นนามธรรม    จักขุวิญญาณธาตุมี 2 ดวง   เพราะจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก 1  และ  อกุศลวิบาก 1    ปัญจวิญญาณอื่นๆก็นัยเดียวกัน   ปัญจวิญญาณจึงมี 5 คู่   เป็นปัญจวิญญาณธาตุ

มโนธาตุ เป็นนามธรรม    มโนธาตุคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต 1 ดวง  และ สัมปฏิจฉันนจิต 2 ดวง  (กุศลวิบาก 1 และ   อกุศลวิบาก 1)  จิต 3 ดวงนี้เป็นมโนธาตุ

ธัมมธาตุ มีทั้งนามและรูป   ธัมมธาตุ  ได้แก่  เจตสิก   สุขุมรูป  และ นิพพาน

มโนวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม   ได้แก่
จิตทุกดวงเว้นทวิปัญจวิญญาณและมโนธาตุ
มโนวิญญาณธาตุ  คือ   สันตีรณจิต
มโนทวาราวัชชนจิต   และจิตที่ทำชวนกิจ  เช่น   โลภมูลจิต  เป็นต้น

ปัญจวิญญาณธาตุ  มโนธาตุ   และ มโนวิญญาณธาตุ ทั้งหมดนี้เป็น วิญญาณธาตุ

ธัมมธาตุ ไม่เหมือนกับ ธัมมารมณ์   จิตทั้งหมดเป็นธัมมารมณ์   แต่ไม่ใช่ธัมมธาตุ   เพราะธัมมธาตุ  คือ  เจตสิก   สุขุมรูป  และนิพพานเท่านั้น
เมื่อจำแนก จิต โดยธาตุ  วิญญาณธาตุ มี 7 ประเภท  คือ

ปัญจวิญญาณ 5   มโนธาตุ 1    มโนวิญญาณธาตุ 1

เรื่อง และ บัญญัติ เป็น ธัมมารมณ์ แต่ไม่ใช่
ธัมมธาตุ เพราะไม่ใช่ปรมัตถธรรม    ปรมัตถธรรมเท่านั้นที่เป็นธาตุ

บางครั้งพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องธาตุ 6    บางครั้งทรงแสดงโดยนัยของธาตุ 2    การจำแนกสภาพธรรมนั้นมีหลายนัย   แต่ไม่ว่าจะจำแนกโดยนัยของขันธ์หรืออารมณ์หรือโดยนัยอื่นก็ตาม   เราไม่ควรลืมว่า จุดมุ่งหมาย ของการจำแนกสภาพธรรมโดยนัยต่างๆนั้น   ก็เพื่อให้รู้สภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นเป็นแต่เพียงนามธาตุและรูปธาตุเท่านั้น

ในมัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์   สติปัฏฐานสูตร  ธาตุบรรพ   พระผู้มีพระภาคทรงแสดงรูปกายโดยนัยของธาตุว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   อีกประการหนึ่ง   ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ   ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติ   โดยความเป็นธาตุว่า   มีอยู่ในกายนี้  ธาตุดิน (ความแข็ง)    ธาตุนํ้า  ธาตุไฟ  ธาตุลม
คนฆ่าโค   หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาดฆ่าแม่โคแล้ว   แบ่งออกเป็นส่วนๆ   นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่ 4 แพร่ง   ฉันใด   ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน   ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ   ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า   มีอยู่ในกายนี้   ธาตุดิน   ธาตุนํ้า  ธาตุไฟ  ธาตุลม   ดังพรรณนามาฉะนี้   ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง   ฯลฯ   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   แม้อย่างนี้   ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ "

ในวิสุทธิมัคค์  สมาธินิทเทส    มีข้อความว่า

มีอธิบายอย่างไร?   อธิบายว่า   เมื่อนายโคฆาตก์เลี้ยงโคอยู่ก็ดี   นำมาสู่ที่ฆ่าก็ดี
จูงมาผูกไว้ในที่ฆ่านั้นก็ดี   ฆ่าอยู่ก็ดี   เห็นโคที่ฆ่าแล้วตายแล้วก็ดี   ความสำคัญหมายว่าแม่โคยังไม่สูญหาย   ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ชำแหละโคนั้นแบ่งออกเป็นชิ้นๆ   แต่เมื่อเธอแบ่งออกแล้วนั่งอยู่   ความหมายว่าแม่โคย่อมหายไป   กลายเป็นความหมายว่าเนื้อ   เธอหาคิดอย่างนี้ไม่ว่า   เราขายแม่โค   คนเหล่านี้ซื้อแม่โคไป   อันที่แท้เธอย่อมคิดอย่างนี้ว่า   เราขายเนื้อ   แม้ชนเหล่านี้ซื้อเนื้อไป   ฉันใด  แม้เมื่อภิกษุนี้   ครั้งก่อนคือในเวลาเป็นปุถุชนคนโง่   จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม   บรรชิตก็ตาม   ความสำคัญหมายว่าสัตว์   ว่าสัตว์เลี้ยง   หรือว่าบุคคล   ยังไม่หมดสิ้นไป    ตราบเท่าที่ยังมิได้ทำการแยกก้อน   พิจารณากายนี้ตามที่ตั้งอยู่แล้ว   ตามที่ดำรงอยู่แล้วโดยความเป็นธาตุ   แต่เมื่อพระโยคีพิจารณาโดยความเป็นธาตุ   ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์ย่อมสิ้นไป   จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ในสภาพที่เป็นธาตุฝ่ายเดียว

อาจจะไม่ชอบใจเลยที่จะรู้ว่าร่างกายเป็นธาตุ   เราคิดถึงบุคคลต่างๆว่าเป็น   "ผู้ชายคนนี้"  หรือ  "ผู้หญิงคนนั้น"    เราไม่ชินกับการวิเคราะห์สิ่งที่เราถือว่า   "คน"   อย่างที่เราวิเคราะห์วัตถุเช่นในวิชาฟิสิกส์   บางคนอาจจะคิดว่า   ออกจะหยาบที่จะคิดว่าร่างกายถูกชำแหละเหมือนวัวที่ถูกคนขายเนื้อชำแหละ    อย่างไรก็ตาม   ถ้าพิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง   ร่างกายก็เป็นแต่เพียง ธาตุเท่านั้น   ไม่จริงหรือที่มีแต่สภาพแข็ง   เกาะกุม  เย็น  ร้อน   และตึงไหว   สภาพเหล่านี้เป็นตัวตนหรือเป็นธาตุที่ไม่ใช่ตัวตน

ธาตุทั้ง 4  คือ  ดิน  นํ้า   ไฟ  ลม   เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราหรือไม่?    ธาตุ 4 นี้เกิดตลอดเวลา    ธาตุไฟปรากฏลักษณะที่ร้อนหรือเย็น   เรารู้สึกร้อนหรือเย็นบ่อยๆ มิใช่หรือ?   เวลาถูกแมลงต่อย   เรารู้ลักษณะที่ร้อนได้    ขณะที่นอน  นั่ง  เดิน   หรือยืน   ก็รู้สึกว่าร่างกายกระทบแข็งหรืออ่อนได้   นั่นไม่ใช่ชีวิตประจำวันหรือ    ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของธาตุบ่อยๆ   ก็จะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง

พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนให้ระลึกถึงสัจจธรรมโดยประการต่างๆ   บางครั้งทรงเปรียบร่างกายเสมือนซากศพที่เป็นอสุภต่างๆ   ทรงแสดงเรื่องส่วนต่างๆของร่างกาย   ร่างกายเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลอย่างไร   เพื่อเตือนให้ผู้ที่ยึดถือร่างกายว่าเป็นของเรา   รู้ว่าร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุซึ่งเป็นอสุภ   เป็นทุกข์  ไม่เที่ยง   และไม่ใช่ตัวตน

ในสติปัฏฐานสูตร  ปฏิกูลบรรพ   มีข้อความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เปรียบเสมือนไถ้มีปากสองข้างเต็มด้วยธัญญชาติต่างอย่าง
คือ  ข้าวสาลี  ข้าวเปลือก   ถั่งเขียว  ถั่วเหลือง  งา   ข้าวสาร      บุรุษผู้มีนัยน์ตาดี    แก้ไถ้นั้นแล้ว   พึงเห็นได้ว่า  นี้ข้าวสาลี   นี้ข้าวเปลือก  นี้ถั่วเขียว   นี้ถั่วเหลือง  นี้งา   นี้ข้าวสาร  ฉันใด   ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน   ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ   เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป   เบื้องตํ่าแต่ปลายผมลงมาฯ "

มิใช่ร่างกายเท่านั้น   ถึงแม้จิตก็ควรพิจารณาว่าเป็นธาตุเหมือนกัน   ไม่มีสิ่งใดในชีวิตของเราซึ่งไม่ใช่ธาตุ   อดีตชาติของเราก็เป็นแต่เพียงธาตุ   และชาติต่อๆไปก็จะเป็นแต่เพียงธาตุ   เรามักคิดถึงชาติหน้าและปราถนาที่จะเกิดดี   แต่ก็ควรรู้ความจริงว่าไม่มีตัวตนที่จะไปเกิดในภพหน้า   มีแต่เพียงธาตุเท่านั้น เราได้ศึกษาแล้วว่าการจำแนกจิตมีหลายนัยซึ่งจะเตือนให้เรารู้ว่า   จิตเป็นแต่เพียงธาตุ   แม้เจตสิกก็เป็นธาตุ   เราชอบความรู้สึกที่เป็นสุข   และไม่ชอบความรู้สึกที่เป็นทุกข์   แต่ความรู้สึกก็เป็นเพียงธาตุ   ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย    ขณะที่เหนื่อยหรือไม่สบาย   ก็ยึดถือความเหน็ดเหนื่อยและความไม่สบายว่าเป็นตัวตน   แล้วโทสะก็เกิด   ทำไมเราจึงจะเดือดร้อนไปกับความไม่น่ายินดีทั้งหลายที่เกิดกับเราในเมื่อความไม่น่ายินดีนั้นๆก็เป็นแต่เพียงธาตุเท่านั้น   เราอาจไม่อยากเห็นว่าสภาพธรรมเป็นธาตุ   แต่ความจริงเป็นเช่นนั้น   เราอาจไม่อยากระลึกว่า   ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง   เมื่อเกิดแล้วก็แก่  เจ็บ   ตาย   แต่นั่นเป็นความจริง   ทำไมเราจึงไม่อยากรู้ความจริง

ในมัชฌิมนิกาย  อุปริปัณณาสก์   พหุธาตุกสูตร    ขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับที่เชตวนาราม   อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี     พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า   ความกลัว  ความทุกข์ยาก   ความเสื่อมทั้งหลายเกิดแต่คนโง่   ไม่เกิดกะบุคคลที่มีปัญญา    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ภัยไม่ว่าชนิดใดๆที่เกิดขึ้น   อุปัทวะไม่ว่าชนิดใดๆที่เกิดขึ้น   อุปสรรคไม่ว่าชนิดใดๆที่เกิดขึ้น   ทั้งหมดนั้นย่อมไม่เกิดขึ้นแต่บัณฑิต   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เพราะฉะนั้นแล   พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่าจักเป็นบัณฑิต"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว   ท่านพระอานนท์ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า   "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   จะควรเรียกว่า   ภิกษุเป็นบัณฑิต   มีปัญญาพิจารณา   ด้วยเหตุเท่าไรหนอแลฯ "

"ดูกรอานนท์   เพราะภิกษุเป็นผู้ฉลาดในธาตุ   ฉลาดในอายตนะ  ฉลาดใน
ปฏิจจสมุปบาท   และฉลาดในฐานะและอฐานะ    ดูกรอานนท์   ด้วยเหตุเท่านี้แล   จึงควรเรียกได้ว่า   ภิกษุเป็นบัณฑิต มีปัญญาพิจารณาฯ "

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ก็ควรจะเรียกว่า   ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุด้วยเหตุเท่าไรฯ "

"ดูกรอานนท์  ธาตุนี้มี 18 อย่างแล  ได้แก่  ธาตุคือจักษุ   ธาตุคือรูป   ธาตุคือจักขุวิญญาณ   ธาตุคือโสต  ธาตุคือเสียง   ธาตุคือโสตวิญญาณ  ธาตุคือ
ฆานะ  ธาตุคือกลิ่น  ธาตุคือ
ฆานวิญญาณ  ธาตุคือชิวหา   ธาตุคือรส
ธาตุคือชิวหาวิญญาณ   ธาตุคือกาย  ธาตุคือโผฏฐัพพะ   ธาตุคือกายวิญญาณ   ธาตุคือมโน   ธาตุคือธัมมารมณ์   ธาตุคือมโนวิญญาณ    ดูกรอานนท์  เหล่านี้แล
ธาตุ 18 อย่าง   ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่   จึงควรเรียกได้ว่าภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ก็ปริยายแม้อื่น   ที่ควรเรียกว่าภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ   จะพึงมีไหมฯ "

"ดูกรอานนท์  มี    ธาตุนี้มี 6 อย่าง  ได้แก่   ธาตุคือดิน  ธาตุคือนํ้า   ธาตุคือไฟ  ธาตุคือลม   ธาตุคืออากาศ  ธาตุคือวิญญาณ    ดูกรอานนท์   เหล่านี้แลธาตุ 6 อย่าง   แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่จึงควรเรียกได้ว่า   ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ก็ปริยายแม้อื่นที่ควรเรียกว่าภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ   จะพึงมีอีกไหมฯ "

ดูกรอานนท์  มี   ธาตุนี้มี 6 อย่าง  ได้แก่  ธาตุคือสุข   ธาตุคือทุกข์  ธาตุคือโสมนัส
ธาตุคือโทมนัส  ธาตุคืออุเบกขา   ธาตุคืออวิชชา   ดูกรอานนท์   เหล่านี้แลธาตุ 6 อย่าง   แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่   เห็นอยู่   จึงควรเรียกได้ว่าภิกษุผู้ฉลาดในธาตุฯ "

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการเป็นผู้ฉลาดในธาตุด้วยประการอื่นๆอีก   และท่านพระอานนท์ได้ทูลถามต่อไปว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ก็ปริยายแม้อื่นที่ควรเรียกว่าภิกษุเป็นผู้ฉลาดในธาตุ   จะพึงมีอีกไหมฯ "

"ดูกรอานนท์  มี    ธาตุนี้มี 2 อย่าง  คือ   สังขตธาตุ  อสังขตธาตุ    ดูกรอานนท์  เหล่านี้แล   ธาตุ 2 อย่าง   แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่   เห็นอยู่   จึงควรเรียกได้ว่าภิกษุผู้ฉลาดในธาตุฯ "

ธาตุที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม (ขันธ์ 5)   และธาตุที่ไม่เกิดคือนิพพาน   นิพพานก็เป็นธาตุๆหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน   นิพพานไม่ใช่บุคคล   นิพพานเป็นอนัตตา ในพระสูตรนี้กล่าวถึงพระภิกษุผู้รู้และประจักษ์ลักษณะของธาตุ   การรู้และการประจักษ์ลักษณะที่เป็นธาตุไม่ใช่การรู้ธาตุเพียงทฤษฎีและคิดเรื่องธาตุเท่านั้น   การรู้และการประจักษ์สภาพที่เป็นธาตุคือขณะที่ปัญญาประจักษ์นามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธาตุเท่านั้น   ไม่ใช่ตัวตน    การรู้ความจริงเช่นนี้จะนำไปสู่การดับความกลัว   ความทุกข์   และภัยพิบัติทั้งปวง 

 

 

ดูสารบัญ

home         ปัญหาถาม-ตอบ        หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ