Buddhist Study   บทที่ 19   โสภณจิตในชีวิตของเรา    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก


 

 

 

 

 


"อเหตุกจิต
เป็นจิตที่ไม่มี
เหตุเกิดร่วม
ด้วย  เมื่อจิต
เป็นอเหตุกะ
นั้นไม่มี
โสภณเจตสิก
เกิดร่วมด้วย 
ฉะนั้น
อเหตุกจิต
จึงเป็น
อโสภณ"


 

 

 

 

 

 

 


"โสภณจิต
เกิดร่วมกับ
อโลภเจตสิก
และ
อโทสเจตสิก
ทุกครั้ง และ
อาจมีปัญญา
หรือไม่มี
ปัญญาก็ได้
เกิดร่วมด้วย"


 

 

 

 

 

 

 


"กามาวจรจิต
เป็นจิตที่เกิด
ในชีวิตประจำ
วัน...............
กามาวจรจิต
บางดวง เกิด
ร่วมกับ
โสภณเหตุ
บางดวงเกิด
ร่วมกับ
อกุศลเหตุ
และบางดวง
ก็ไม่มีเหตุเกิด
ร่วมด้วยเลย"


 

 

 

 

 

 

 


"แต่ถ้าเรารู้
ปัจจัยที่จะ
เจริญกุศล
กุศลจิต
ก็จะเกิด
บ่อยขึ้น"


 

 

 

 

 

 

 


"การศึกษา
พระธรรม
ทำให้เรารู้
วิธีเจริญ
กุศล
ถ้าไม่ได้
ศึกษา
พระธรรม
เราอาจคิดว่า
เรากำลัง
เจริญกุศล
ทั้งๆที่เรา
กำลังเจริญ
อกุศล"


 

 

 

 

 

 

 


"การให้ที่เป็น
กุศลจริงๆก็คือ
ให้โดยไม่หวัง
สิ่งใดตอบแทน
เลย เราควร
พิจารณาให้
รู้ว่า ทำไม
เราจึงให้....
เราให้เพราะ
หวังสิ่งตอบ
แทนหรือเปล่า
หรือว่าเรา
ต้องการมี
กิเลสน้อยลง"


 

 

 

 

 

 

 


"พระอรหันต์
มีมหากิริยาจิต
ที่เป็น
ญาณวิป-
ปยุตต์ได้
เพราะปัญญา
ไม่จำเป็นต้อง
เกิดร่วมกับ
มหากิริยาจิต
ในขณะที่
พระอรหันต์
ไม่ได้สอนหรือ
สนทนาธรรม"


 

 

 

 

 

 

 


"แต่การเจริญ
วิปัสสนานั้น
เจริญได้ขณะ
ที่ทำงาน
รักษาศีล
เจริญสมถ-
ภาวนา หรือ
ขณะที่ศึกษา
ธรรม หรือ
แสดงธรรม
และในขณะที่
ไม่มีโอกาส
ที่จะกระทำ
ทาน รักษาศีล
หรือกุศลอื่นๆ"


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
    มีจิตหลายประเภท   และจำแนกจิตโดยนัยของชาติได้ดังนี้

กุศลจิต  (จิตที่ดีงาม)

อกุศลจิต  (จิตที่ไม่ดี)

วิบากจิต  (จิตที่เป็นผล)

กิริยาจิต  (จิตที่ไม่ใช่เหตุและไม่ใช่ผล)

และยังจำแนกจิตโดยนัย  โสภณ   อโสภณ  ดังนี้   คือ

  1. โสภณจิต    จิตที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย
  2. อโสภณจิต   จิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

อกุศลจิต และ อเหตุกจิต เป็น อโสภณจิต ซึ่งไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย   ตามที่ทราบแล้วว่า  อกุศลจิตมี 12 ดวง  คือ

โลภมูลจิต 8 ดวง  (จิตที่มีโลภะเป็นมูล)

โทสมูลจิต 2 ดวง  (จิตที่มีโทสะเป็นมูล)

โมหมูลจิต 2 ดวง  (จิตที่มีโมหะเป็นมูล)

อเหตุกจิตเป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย   เมื่อจิตเป็นอเหตุกะนั้นไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย    ฉะนั้น   อเหตุกจิตจึงเป็นอโสภณ      ตามที่ได้ศึกษาแล้วว่า
อเหตุกจิตมี 18 ดวง   โดยย่อดังนี้

ทวิปัญจวิญญาณ 10 ดวง เป็นอเหตุกวิบากจิต (ปัญจวิญญาณ 5 คู่  คือ  จักขุวิญญาณ   โสตวิญญาณ ฯลฯ )

สัมปฏิจฉันนจิต 2 ดวง เป็นอเหตุกวิบากจิต (กุศลวิบาก 1   และ อกุศลวิบาก 1)

สันตีรณจิต 3 ดวง   เป็นอเหตุกวิบากจิต (อุเบกขาอกุศลวิบาก 1  อุเบกขากุศลวิบาก 1  และ   โสมนัสสกุศลวิบาก 1)

ปัญจทวาราวัชชนจิต 1 ดวง   เป็นอเหตุกกิริยาจิต

มโนทวาราวัชชนจิต 1 ดวง   เป็นอเหตุกกิริยาจิต

หสิตุปปาทจิต 1 ดวง   เป็นอเหตุกกิริยาจิต   ซึ่งทำให้พระอรหันต์แย้มยิ้ม

ฉะนั้น  จึงมี อโสภณจิต 30 ดวง   เป็นอกุศลจิต 12 ดวง   และอเหตุกจิต 18 ดวง

ในชีวิตของเรามี โสภณจิต ที่เกิดร่วมกับโสภณเจตสิกด้วยโสภณเจตสิก 3 ดวงเป็นเหตุ  คือ
อโลภะ   อโทสะ  และอโมหะ  หรือปัญญา    โสภณจิตเกิดร่วมกับอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกทุกครั้ง และอาจมีปัญญาหรือไม่มีปัญญาก็ได้เกิดร่วมด้วย    ฉะนั้น  โสภณจิตจึงเป็น สเหตุกะ   คือมีเหตุเกิดร่วมด้วย    ขณะที่ให้ทาน  รักษาศีล   หรือเจริญภาวนา  (ซึ่งได้แก่   การเจริญสมถะวิปัสสนา   การศึกษาธรรมหรือแสดงธรรม)    ขณะนั้น จิตเป็นกุศลที่มีโสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วย   ฉะนั้น  กุศลจิต จึงเป็น จิต ประเภท โสภณ

กุศลจิตที่กระทำทาน  รักษาศีล   หรือเจริญภาวนา เป็นจิตภูมิตํ่าสุด  คือ  กามาวจรจิต    กามาวจรจิตเป็นจิตที่เกิดในชีวิตประจำวัน   เช่น  กำลังเห็น   กำลังคิดนึก   หรือต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด   กามาวจรจิตบางดวง   เกิดร่วมกับโสภณเหตุ   บางดวงเกิดร่วมกับอกุศลเหตุ   และบางดวงก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย    ทาน  ศีล  และภาวนา   เป็นกามาวจรกุศลจิตซึ่งปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันเมื่อมีอารมณ์กระทบทวาร 6  กามาวจรจิตมีชื่อว่า มหากุศลจิต  (คำว่า  "มหา"   แปลว่า  "มาก"  หรือ  "ใหญ่")

สำหรับผู้ที่บรรลุ ญาณ  (สมถภาวนา ขั้นอัปปนาสมาธิ)   ขณะนั้นไม่เห็น  ไม่ได้ยิน   ไม่รับรู้อารมณ์ใดๆ ทางปัญจทวาร    จิตขณะนั้นไม่ใช่กามาวจรจิต
แต่เป็นจิตขั้นสูงกว่านั้น  ฌานจิต เป็นรูปาวจรจิต  (รูปฌานจิต)    หรืออรูปาวจรจิต (อรูปฌานจิต) ก็ได้   อย่างไรก็ตาม   ขณะที่กำลังเจริญสมถภาวนานั้น   จิตเป็นมหากุศล ก่อนที่จะบรรลุฌาน

ขณะที่จิตมีนิพพานเป็นอารมณ์นั้นเป็นจิตขั้น โลกุตตรภูมิ   เมื่อกำลังจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในมัคควิถีนั้น   มหากุศลจิต ต้องเกิดก่อนโลกุตตรกุศลจิต  (มัคคจิต)

เราอยากจะให้กุศลจิตเกิดบ่อยขึ้น   เราอาจคิดว่าเหตุการณ์ในชีวิตของเราหรือคนอื่นทำให้จิตเราไม่เป็นกุศล   แต่ถ้าเรารู้ปัจจัยที่จะเจริญกุศล   กุศลจิตก็จะเกิดบ่อยขึ้น   การศึกษาพระธรรมทำให้เรารู้วิธีเจริญกุศล   ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม   เราอาจคิดว่าเรากำลังเจริญกุศล   ทั้งๆที่เรากำลังเจริญอกุศล   เช่น   เราอาจคิดว่าขณะที่ให้วัตถุทานนั้นก็มีแต่กุศลจิต   แต่โลภมูลจิตก็อาจจะเกิดด้วย   เราอาจให้สิ่งของแก่มิตรสหายและหวังว่าเขาจะดีกะเราเป็นการตอบแทน   นี่ไม่ใช่กุศลแต่เป็นโลภะ   เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว
เรารู้ว่าการให้ที่เป็นกุศลจริงๆก็คือให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนเลย   เราควรพิจารณาให้รู้ว่า ทำไม เราจึงให้    ในส่วนลึกของหัวใจ   เราให้เพราะหวังสิ่งตอบแทนหรือเปล่า   หรือว่าเราต้องการมีกิเลสน้อยลง

แต่ละคนสะสมมาต่างๆกัน   ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกุศลจิตบ้างและอกุศลจิตบ้าง   เช่น   เมื่อไปวัดและเห็นคนอื่นถวายไทยธรรมแก่พระภิกษุ   เมื่อสะสมมาต่างกัน   แต่ละบุคคลก็มีปฏิกิริยาต่างกัน   บางคนอาจจะเกิดมุทิตาจิตต่อกุศลกรรมของผู้อื่น   บางคนอาจจะไม่สนใจเลย   ถ้าเราเพียงแต่จะรู้คุณประโยชน์ของกุศล
และรู้ว่าการยินดีด้วยในกุศลของคนอื่นนั้นเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน   เราก็จะมีโอกาสเจริญกุศลเพิ่มขึ้น

ถ้าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงตรัสรู้และมิได้ทรงแสดงพระสัทธรรมแล้ว   เราจะไม่มีทางรู้จักตัวเองโดยละเอียดถี่ถ้วน   เราจะไม่รู้เรื่องกุศลจิตและอกุศลจิตและปัจจัยที่ทำให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้นโดยถ่องแท้    พระผู้มีพระภาคตรัสสอนให้เราเจริญกุศลและขัดเกลากิเลส   การดำเนินชีวิตในศีลในธรรมและกระทำกุศลต่างๆเป็นการแสดงการเคารพต่อพระองค์ ในทีฆนิกาย  มหาวรรค   มหาปรินิพพานสูตร   มีข้อความว่า   ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน   ณ   โคนไม้สาละคู่ซึ่งเผล็ดดอกสะพรั่งนอกฤดูกาล   ดอกสาละเหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคต   แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ   แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ   ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต   พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า

"ดูกรอานนท์   ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะเคารพ   นับถือ  บูชา   นอบน้อมด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้
ผู้ใดแล  จะเป็นภิกษุ  ภิกษุณี   อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม   เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม   ปฏิบัติชอบ   ปฏิบัติตามธรรมอยู่   ผู้นั้นย่อมชื่อว่า   สักการะเคารพนับถือบูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด   เพราะเหตุนั้นแหละ  อานนท์
พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า   เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม   ปฏิบัติชอบ   ประพฤติตามธรรมอยู่  ดังนี้ฯ "

ในชีวิตประจำวัน   เรามีโอกาสที่จะให้ทานและรักษาศีล   สำหรับภาวนา   ก็รวมทั้งสมถภาวนา   วิปัสสนาภาวนา   การศึกษาและการแสดงธรรม   ไม่ใช่แต่พระภิกษุเท่านั้น   แม้คฤหัสถ์ก็ศึกษาและแสดงธรรมได้เช่นเดียวกัน    ในมหาปรินิพพานสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า   หลังจากที่ทรงตรัสรู้   มารได้ทูลพระองค์ว่า   ถึงเวลาแล้วที่พระองค์ควรจะทรงดับขันธปรินิพพาน   พระตถาคตตรัสว่า

"เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว   เราได้ตอบว่า
ดูกรมารผู้มีบาป   ภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา ... อุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา   ภิกษุณีผู้เป็นสาวกของเรา ... อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเราจักยังไม่เฉียบแหลม   ไม่ได้รับคำแนะนำ   ไม่แกล้วกล้า   ไม่เป็นพหูสูตร  ไม่ทรงธรรม   ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม   ไม่ปฏิบัติชอบ   ไม่ประพฤติตามธรรม   เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว   ยังบอก  แสดง  บัญญัติ   แต่งตั้ง  เปิดเผย  จำแนก   กระทำให้ง่ายไม่ได้   ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรับปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อย   โดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด   พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์กว้างขวางแพร่หลาย   รู้กันโดยมาก  เป็นปึกแผ่น   จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้วเพียงใด   เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น"

ความจริงที่ว่าเราจะกระทำกุศลในชีวิตของเราได้นั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย   ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ตัวตน ใดๆเลย  ในอังคุตตรนิกาย   จักกสูตร  จตุกกนิบาต   มีข้อความเกี่ยวกับปัจจัยซึ่งเป็นประโยชน์ว่า

"จักร 4 ประการเป็นไฉน  คือ   การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม (ปฏิรูปเทสวาสะ)   การคบสัปบุรุษ (สัปปุริสโสปัสสโย)   การตั้งตนไว้ชอบ (อัตตสัมมาปณิธิ)   และ   ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน (ปุพเพกตปุญญตา) "

ในข้อ ปฏิรูปเทสวาสะ  (การได้อยู่สถานที่เหมาะสม)   คือ   การอยู่ในประเทศที่มีพุทธศาสนา   ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อกุศลจิต   ทำให้มีโอกาสไปวัดฟังธรรม   พระธรรมสามารถเปลี่ยนชีวิตของเราได้   และเป็นปัจจัยไห้เรากระทำกุศลทั้งทาน   ศีล  และภาวนา

ในข้อ สัปปุริสโสปัสสโย (การคบสัปบุรุษ)   หมายถึงการคบกัลยาณมิตร   ผู้ที่ถึงแม้จะอยู่ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา   แต่ไม่ได้พบกัลยาณมิตรที่สามารถจะช่วยให้ได้พบสัจจธรรม   ผู้นั้นก็ขาดปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะเกื้อกูลการเจริญปัญญาและการขัดเกลากิเลส

อัตตสัมมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ)   คือ   การตั้งตนไว้ในกุศลอันเป็นจุดหมาย   กุศลมีหลายขั้น   ผู้ที่อบรมเจริญสัมมาทิฏฐิในมัคค์มีองค์ 8   โดยมีสติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมก็จะคลายความยึดมั่นในตัวตนลง   ขณะที่กระทำกุศลและสติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรม   ก็จะรู้ว่าไม่มีตัวตน  บุคคล   ที่กระทำกุศล   กุศลกรรมก็จะบริสุทธิ์ขึ้น   และในที่สุดกิเลสก็จะดับหมดเป็นสมุจเฉท

ปุพเพกตปุญญตา (การสะสมบุญในอดีต)
เป็นปัจจัยที่ 4   ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล   ถ้าไม่ได้สะสมกุศลมาแล้วในอดีต   เราจะกระทำกุศลในชาตินี้ได้อย่างไร   กุศลกรรมที่ได้สะสมมาแล้วในอดีตเป็นปัจจัยให้เราไปสู่สถานที่เหมาะสมและพบสัปบุรุษ   กรรมเป็นเหตุให้เกิดหรืออยู่ในประเทศมีพระพุทธศาสนา   กุศลกรรมที่ได้สะสมมาในอดีตเป็นปัจจัยให้ศึกษาและปฏิบัติธรรมในขณะนี้   ถ้าเราพิจารณาปัจจัยต่างๆในชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดแล้ว   เราก็จะเข้าใจดีขึ้นว่าไม่มีตัวตนที่กระทำกุศล

ในพระอภิธรรม  เราศึกษาว่ามี มหากุศลจิต 8 ดวง ซึ่งเป็นกามาวจรกุศลจิต   ทำไมจึงไม่มีมหากุศลจิตแต่เพียงดวงเดียว   เหตุผลก็คือจิตแต่ละประเภท (ดวง) มีปัจจัยเฉพาะตนๆที่ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้น    ถ้าเรารู้เรื่องจิตประเภทต่างๆเหล่านี้   และถ้ามีสติระลึกรู้ขณะที่ลักษณะของจิตเหล่านี้ปรากฏ   ก็จะทำให้เราไม่ยึดถือจิตเหล่านี้ว่าเป็นตัวตน    มหากุศลจิต 4 ดวง เกิดร่วมกับ โสมนัสเวทนา   และ มหากุศลจิตอีก 4 ดวง เกิดกับ อุเบกขาเวทนา    เราอยากจะมีมหากุศลโสมนัส   เพราะเราชอบโสมนัสเวทนา   แต่เราก็ไม่สามารถบังคับบัญชาให้โสมนัสเวทนาเกิดได้    บางครั้งเราก็ให้ทานด้วยโสมนัสเวทนา   บางครั้งก็ด้วยอุเบกขา   โสมนัสหรืออุเบกขาจะเกิดกับมหากุศลจิตตามเหตุปัจจัย   มหากุศลจิต 4 ดวงสัมปยุตต์ด้วยปัญญา   อีก 4 ดวงไม่สัมปยุตต์ด้วยปัญญา   เช่น   เราอาจช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่มีปัญญาหรือมีปัญญาเกิดร่วมด้วย   เมื่อเรารู้ว่าการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นเป็นกุศล   หรือถ้าสติระลึกรู้นามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
มหากุศลจิตนั้นก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย    มหากุศลจิต 4 ดวงเป็นอสังขาริก (เกิดขึ้นเอง   ไม่มีการชักจูงด้วยตนเองหรือผู้อื่น)   อีก 4 ดวงเป็นสสังขาริก (โดยการชักจูงของตนเองหรือผู้อื่น)    มหากุศลจิต 8 ดวง  คือ

  1. เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ญาณสัมปยุตต์  อสังขาริก
    (โสมนสฺสสหคตํ  ญาณสมฺปยุตตํ   อสงฺขาริกเมกํ)
  2. เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ญาณสัมปยุตต์  สสังขาริก
    (โสมนสฺสสหคตํ  ญาณสมฺปยุตตํ   สสงฺขาริกเมกํ)
  3. เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ญาณวิปปยุตต์  อสังขาริก
    (โสมนสฺสสหคตํ  ญาณวิปปยุตตํ   อสงฺขาริกเมกํ)
  4. เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ญาณวิปปยุตต์  สสังขาริก
    (โสมนสฺสสหคตํ  ญาณวิปปยุตตํ   สสงฺขาริกเมกํ)
  5. เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ญาณสัมปยุตต์  อสังขาริก
    (อุเปกฺขาสหคตํ  ญาณสมฺปยุตตํ   อสงฺขาริกเมกํ)
  6. เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ญาณสัมปยุตต์  สสังขาริก
    (อุเปกฺขาสหคตํ  ญาณสมฺปยุตตํ   สสงฺขาริกเมกํ)
  7. เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ญาณวิปปยุตต์  อสังขาริก
    (อุเปกฺขาสหคตํ  ญาณวิปฺปยุตตํ   อสงฺขาริกเมกํ)
  8. เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ญาณวิปปยุตต์  สสังขาริก
    (อุเปกฺขาสหคตํ  ญาณวิปฺปยุตตํ   สสงฺขาริกเมกํ)

กามาวจรโสภณจิต (จิตดีงามขั้นกามภูมิ)   ไม่ใช่มีแต่มหากุศลจิตเท่านั้น   มหากุศลจิตเป็นจิตที่เป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรมทางกาย   วาจา  และใจ   ซึ่งทำให้เกิดผลเป็น มหาวิบากจิต   ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม    มหาวิบากจิตก็เป็นโสภณจิตเกิดพร้อมกับโสภณเจตสิก   การกระทำของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน   ฉะนั้นผลก็ย่อมไม่เหมือนกันด้วย   แต่ละคนมีปฏิสนธิจิตต่างกัน    ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรม

ตามที่ทราบแล้วในบทที่ 11  ว่า   มนุษย์ก็ปฏิสนธิด้วยจิตที่เป็น อเหตุกกุศลวิบาก ได้  (สำหรับผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด) หรือปฏิสนธิด้วยจิตที่เป็น สเหตุกกุศลวิบาก ประกอบด้วยโสภณเหตุ     สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์หรือเทพในกามภูมิอื่นๆ   ปฏิสนธิจิตที่เป็นสเหตุกวิบากจิตคือ มหาวิบากจิต   ซึ่งเป็นผลของกามาวจรกุศลกรรม   (กรรมที่กระทำโดยกามาวจรกุศลจิต)    นอกจากมหาวิบากจิต   ยังมีสเหตุกวิบากจิตอื่นๆอีก   ที่ไม่ใช่ผลของกามาวจรกุศลกรรม   แต่เป็นผลของฌานจิต   ซึ่งจะได้กล่าวถึงภายหลัง

มหาวิบากจิตมี 8 ดวง   มหาวิบากจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาก็ได้   ญาณสัมปยุตต์หรือญาณวิปปยุตต์ก็ได้   เป็นอสังขาริกหรือสสังขาริกก็ได้   การจำแนกมหาวิบากจิต 8 ดวงโดยนัยเดียวกับมหากุศลจิต 8
ที่กล่าวถึงตอนต้น

ภวังคจิต และจุติจิตเป็นจิตประเภทเดียวกันกับจิตดวงแรก   คือ ปฏิสนธิจิต   ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากจิต   ภวังคจิตและจุติจิตในชาตินั้นก็เป็นมหาวิบากจิตด้วย   ฉะนั้น   มหาวิบากจิตจึงทำกิจปฏิสนธิ   ภวังค์  และจุติ    นอกจากนั้นมหาวิบากจิตยังทำกิจตทาลัมพณะได้ด้วย

เมื่อเราเห็นภาพที่งดงามหรือรู้อารมณ์ที่น่าพอใจทางทวาร 5 นั้น   เป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม   แต่วิบากจิตนั้นเป็น อเหตุกวิบาก  (ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย)   ไม่ใช่มหาวิบาก   มหาวิบากจิตทำกิจเห็น   ได้ยิน  ได้กลิ่น  ลิ้มรส   และกระทบโผฏฐัพพารมณ์   หรือทำสัมปฏิจฉันนกิจ   สันตีรณกิจไม่ได้    อเหตุกวิบากจิตทำกิจเหล่านี้   สำหรับ ตทาลัมพณจิต ซึ่งเป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้นภายหลังชวนจิตนั้น   อาจจะเป็น อเหตุกวิบากจิต   หรือ มหาวิบากจิต ก็ได้

ยังมีกามาวจรโสภณจิตอีกประเภทหนึ่งคือ   มหากิริยาจิต    พระอรหันต์ มี มหากิริยาจิต แทนมหากุศลจิต   เมื่อเราประสบอิฏฐารมณ์   โลภะอาจจะเกิด   และเมื่อประสบอนิฏฐารมณ์โทสะอาจจะเกิด    พระอรหันต์ไม่ยินดียินร้ายในอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์   ท่านไม่มีกิเลสเลย    พระอรหันต์ไม่สะสมกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมต่อไปอีกแล้ว   ฉะนั้นท่านจึงมี มหากิริยาจิต   สำหรับพระอรหันต์ท่านมี มหากิริยาจิต แทนมหากุศลจิตทำ กิจชวนะ หลังจากโวฏฐัพพนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตดับ    บางคนอาจสงสัยว่าพระอรหันต์มีมหากิริยาจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต์ได้หรือ    พระอรหันต์มีมหากิริยาจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต์ได้   เพราะปัญญาไม่จำเป็นต้องเกิดร่วมกับมหากิริยาจิตในขณะที่พระอรหันต์ไม่ได้สอนหรือสนทนาธรรม

พระอรหันต์มีกิริยาจิตซึ่งเป็นโสภณจิตและกิริยาจิตที่เป็นอโสภณจิต   ปัญจทวาราวัชชนจิต   มโนทวาราวัชชนจิต   และหสิตุปปาทจิต  (จิตแย้มยิ้มของพระอรหันต์)   เป็น อโสภณกิริยาจิต จิตเหล่านี้ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย   จิตเหล่านี้เป็นอเหตุกะ

มหากิริยาจิต มีทั้งหมด 8 ดวง   มีโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย   เป็นญาณสัมปยุตต์หรือญาณวิปปยุตต์   เป็นอสังขาริกหรือสสังขาริก   มหากิริยาจิตจำแนกโดยนัยเดียวกับมหากุศลจิต

จิตที่เป็น กามภูมิ (ภูมิ   ในที่นี้หมายถึงภูมิของจิต   ไม่ใช่ที่เกิดของสัตว์) หรือกามาวจรจิต  มี 54 ดวง   คือ

อกุศลจิต   12 ดวง
                                อโสภณจิต 30 ดวง
อเหตุกจิต  18 ดวง

มหากุศลจิต  8 ดวง
มหาวิบากจิต  8 ดวง       โสภณจิต 24 ดวง
มหากิริยาจิต  8 ดวง

ยังมีโสภณจิตที่ไม่ใช่กามโสภณจิต   คือ

โสภณจิตที่เป็นรูปภูมิ   (รูปาวจรจิตสำหรับผู้ที่บรรลุรูปฌาน)

โสภณจิตที่เป็นอรูปภูมิ   (อรูปาวจรจิตสำหรับผู้ที่บรรลุอรูปฌาน)

โสภณจิตซึ่งเป็นโลกุตตรภูมิ   สำหรับผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคล

กามาวจรจิตเท่านั้นที่เป็นอโสภณจิตได้   จิตที่เป็นรูปภูมิ  อรูปภูมิ   และโลกุตตรภูมิเป็นโสภณจิตได้เท่านั้น

ผู้ที่ไม่ได้บรรลุฌานหรือไม่รู้แจ้งพระนิพพาน   ไม่มีจิตภูมิอื่นแต่สามารถรู้แจ้งสัจจธรรมที่เป็นกามภูมิที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว   เราจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ที่จะกระทำทาน   รักษาศีล  และเจริญภาวนา    เราจะรู้ได้ว่าการเจริญกุศลดังกล่าวนี้ทำให้เรามีอกุศลจิตน้อยลงหรือไม่   บางครั้งเป็นโอกาสที่จะทำทาน   บางครั้งเป็นโอกาสจะรักษาศีลหรือเจริญภาวนา   แต่การเจริญวิปัสสนานั้นเจริญได้ขณะที่ทำทาน   รักษาศีล  เจริญสมถภาวนา   หรือขณะที่ศึกษาธรรม   หรือแสดงธรรม   และในขณะที่ไม่มีโอกาสที่จะกระทำทาน   รักษาศีลหรือกุศลอื่นๆ    แม้ว่าจะยังไม่ได้อบรมเจริญสติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมมากนัก   เราก็สามารถที่จะรู้ว่าสติเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดน้อยลง   และการยึดมั่นในตัวตนน้อยลงบ้างหรือไม่   การเจริญสติทำให้เราพิสูจน์คำสอนของพระผู้มีพระภาคได้

ครั้งนั้นแล   ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ   ถวายบังคมแล้วนั่ง  ณ   ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง   ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ขอประทานพระวโรกาส   ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์   ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว   จะเป็นผู้หลีกออกจากหมู่   อยู่ผู้เดียว  ไม่ประมาท   มีความเพียร   มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิดฯ "

"ดูกรอุบาลี   เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า   ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด  เพื่อความดับ   เพื่อความสงบ   เพื่อความรู้ยิ่ง   เพื่อตรัสรู้  เพื่อนิพพาน   โดยส่วนเดียว   เธอพึงทรงธรรมเหล่านั้นไว้   โดยส่วนหนึ่งว่า   นี้มิใช่ธรรม   นี้ไม่ใช่วินัย   นี้ไม่เป็นคำสั่งสอนของศาสดา    อนึ่ง   เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า   ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย   เพื่อคลายกำหนัด   เพื่อความดับ  เพื่อสงบระงับ   เพื่อความรู้ยิ่ง   เพื่อตรัสรู้  เพื่อนิพพาน   โดยส่วนเดียว   เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้โดยส่วนหนึ่งว่านี้เป็นธรรม   นี้เป็นวินัย   นี้เป็นคำสั่งสอนของศาสดาฯ "

 

 

 

ดูสารบัญ     

home       ปัญหาถาม-ตอบ         หนังสือธรรมะ   
พระไตรปิฎก

 

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ