Buddhist Study   บทที่ 23   โลกุตตรจิต    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 

 

 


"โลกุตตรกุศลจิต
(มัคคจิต) เท่านั้น
ดับอนุสัยกิเลส
เป็นสมุจเฉท"


 

 

 

 

 

 

 


"ทิฏฐิ คือ
ความเห็นผิด
จะต้องดับก่อน
ตราบใดที่เรายัง
ยึดถือสภาพธรรม
ว่าเป็นตัวตน
ตราบนั้นก็ยังดับ
กิเลสไม่ได้"


 

 

 

 

 

 

 


"กิเลสจะต้องดับ
เป็นลำดับขั้น
และกิเลสจะดับ
หมดสิ้นเมื่อบรรลุ
เป็นพระอรหันต์"


 

 

 

 

 

 

 


"พระโสดาบันบุคคล
ดับทิฏฐานุสัย
ได้หมดสิ้น ทิฏฐิ
จึงเกิดอีกไม่ได้เลย"


 

 

 

 

 

 

 


"โลกุตตรจิตเกิด
ร่วมกับปัญญา ซึ่ง
เกิดจากการอบรม
เจริญวิปัสสนา
จะรู้แจ้งอริย-
สัจจธรรมไม่ได้
ถ้าไม่ได้อบรม
เจริญวิปัสสนา-
ปัญญา .........
วิปัสสนาฌานมี
หลายขั้น
ขั้นแรกละคลาย
ความสงสัยใน
สภาพที่ต่างกัน
ของนามธรรม
และรูปธรรม"


 

 

 

 

 

 

 


"พระโสดาบัน
ดับอุปาทาน 3 นี้
อุปาทานหนึ่งก็คือ
การยึดมั่นในข้อ
ปฏิบัติผิด
(สีลัพพตุปาทาน)
ซึ่งรวมการปฏิบัติ
วิปัสสนาผิดๆด้วย"


 

 

 

 

 

 

 


"การเจริญมัคค์
มีองค์ 8 นั้น
สติระลึกรู้นามธรรม
และรูปธรรมที่
กำลังปรากฏขณะนี้"


 

 

 

 

 

 

 


"ถ้าไม่เจริญมัคค์
มีองค์ 8 ก็ดับความ
เห็นผิดในสภาพ
ธรรมไม่ได้ จึง
บรรลุอริยสัจจธรรม
แม้เพียงขั้นต้น
คือ ขั้นโสดาบัน
ไม่ได้ ฉะนั้นจึง
ไม่มีวิธีอื่นที่จะนำไป
สู่พระนิพพาน
นอกจากความเห็น
ถูกในสภาพธรรม
ซึ่งเป็นปัญญาใน
มัคค์มีองค์ 8"


 

 

 

 

 

 

 


"เมื่อเลือกนามธรรม
และรูปธรรมที่ต้อง
การจะระลึกรู้
จึงละความเห็นผิด
ว่ามีตัวตนไม่ได้"


 

 

 

 

 

 

 


"พระโสดาบันเป็น
พระอริยบุคคล
เพราะว่า ขณะที่
ตรัสรู้อริยสัจจธรรม
พระโสดาบันไม่ใช่
บุคคลเดิมแล้ว
ท่านไม่ใช่ปุถุชน
อีกต่อไป ท่านไม่มี
เชื้อของมิจฉาทิฏฐิ
วิจิกิจฉา  มัจฉริยะ
และ อิสสา สะสม
อยู่ในจิตอีกเลย"


 

 

 

 

 

 

 


"อนุสัยกิเลสสะสม
อยู่ในจิตทุกดวง
แม้ในภวังคจิตที่
ไม่รู้อารมณ์ทาง
ปัญจทวารหรือ
ทางมโนทวาร"


 

 

 

 

 

 

 


"การตรัสรู้จะเกิดขึ้น
ทันทีทันใดไม่ได้
จะต้องระลึกรู้
นามธรรมและ
รูปธรรมทั้งหลาย
ที่เกิดปรากฏใน
ชีวิตประจำวัน และ
ปัญญาจะต้องพิจารณา
ศึกษาสังเกตลักษณะ
ของสภาพธรรม
เหล่านั้นบ่อยๆเนืองๆ
อบรมเจริญอย่างนี้
ปัญญาจึงจะค่อยๆ
คมกล้าขึ้น"


 

 

 

 

 

 


"สติที่เกิดขึ้นแล้ว
แต่ละครั้งเป็น
ประโยชน์ เพราะเป็น
ปัจจัยให้สติเกิดขึ้น
ในขณะต่อๆไปได้"


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 
.    พระอภิธรรมสอนให้เรารู้ความแตกต่างกันของกุศลจิตประเภทต่างๆ   มี กามาวจรจิต (กุศลจิตขั้นกามภูมิ)
รูปาวจรกุศลจิต (รูปฌานจิต)   และ อรูปาวจรกุศลจิต (อรูปฌานจิต)    จิตเหล่านี้เป็นกุศลจิตทั้งสิ้น   แต่ดับอนุสัยกิเลสไม่ได้  โลกุตตรกุศลจิต (มัคคจิต) เท่านั้นดับอนุสัยกิเลสเป็นสมุจเฉท   เมื่อกิเลสทั้งหมดดับหมดสิ้นแล้ว   สังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง

ข.    โลกุตตรกุศลจิต ดับ กิเลสได้ เป็นสมุจเฉท   ไม่เกิดอีกเลยจริงๆหรือ?   กิเลสมีมากมายเหลือเกิน   ทั้งโลภะ  โทสะ  และโมหะ    เรามีความตระหนี่   ความริษยา  ความกังวล   ความสงสัย   ความถือตนและกิเลสอื่นๆอีกมากมาย   การยึดถือสิ่งต่างๆว่าเป็นตัวตนนั้นเหนียวแน่นเหลือเกิน   เรายึดถือกายและใจว่าเป็นของเรา   ดิฉันนึกไม่ออกเลยว่า   กิเลสเหล่านี้จะดับหมดไปได้อย่างไร

.   กิเลสดับหมด ได้ และมีหนทางที่จะดับกิเลส   แต่เราสะสมกิเลสไว้มากมายจนไม่สามารถจะดับให้หมดไปทันที   ทิฏฐิ คือ   ความเห็นผิดจะต้องดับก่อน   ตราบใดที่เรายังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน   ตราบนั้นก็ยังดับกิเลสไม่ได้   การรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมมี 4 ขั้น  คือ  ขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี  พระอนาคามี   และพระอรหันต์   กิเลสจะต้องดับเป็นลำดับขั้น   และกิเลสจะดับหมดสิ้นเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์    พระอริยบุคคลขั้นแรก  คือ   พระโสดาบันดับความเห็นผิดได้หมดสิ้น

ข.   เมื่อพระโสดาบันบุคคลดับทิฏฐิแล้ว   ทิฏฐิไม่เกิดขึ้นอีกเลยหรือ

ก.    ถ้าทิฏฐิเกิดขึ้นอีก   ก็หมายความว่ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท   ถ้าอย่างนั้น   ผู้นั้นก็ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมจริงๆ
ฉะนั้นก็ไม่ใช่พระโสดาบัน   พระโสดาบันบุคคลดับทิฏฐานุสัยได้หมดสิ้น   ทิฏฐิจึงเกิดอีกไม่ได้เลย

ข.    จะรู้ได้อย่างไรว่าได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว

.    โลกุตตรจิตเกิดร่วมกับ ปัญญา ซึ่งเกิดจากการอบรมเจริญวิปัสสนา   จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้ถ้าไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนาปัญญา    วิปัสสนาญาณมีหลายขั้น   ขั้นแรกละคลาย ความสงสัยในสภาพที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม   เมื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ   ก็ไม่สับสนลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม    การที่จะบรรลุแม้วิปัสสนาญาณปัญญาขั้นนี้ซึ่งเป็นเพียงขั้นต้น   สติจะต้องอบรมเจริญระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน   เมื่ออบรมเจริญเช่นนี้   ปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัดแจ้งขึ้น   จึงจะเจริญขึ้นได้   ปัญญาขั้นต่อไปสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและการดับไปของนามธรรมและรูปธรรม   แต่จะบรรลุปัญญาขั้นนี้ไม่ได้เลยถ้ายังมีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

จะต้องอบรมเจริญวิปัสสนาต่อไปอีกหลายขั้น   จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งสภาพที่ไม่เที่ยง   เป็นทุกข์   และเป็นอนัตตาของนามธรรม   และรูปธรรมที่ปรากฏ   แล้วจึงจะรู้แจ้ง
อริยสัจจธรรม   เมื่อปัญญาอบรมเจริญถึงขั้นนี้   จะยังมีความสงสัยอะไรอีกไหมว่าได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้วหรือยัง

ข.    พระโสดาบันบุคคลเจริญวิปัสสนาด้วยวิธีที่ผิดได้หรือไม่

ก.   นี่เป็น ทิฏฐิ ซึ่งพระโสดาบันดับ   พระอภิธรรมจำแนกกิเลสออกเป็นประเภทต่างๆ   และทิฏฐิก็จำแนกเป็นประเภทต่างๆด้วย   และทิฏฐิก็จำแนกหลายนัยด้วย   เช่น  ทิฏฐิต่างๆ จำแนกโดยเป็น อุปาทาน   ในอุปาทาน 4 นั้น  อุปาทาน 3 เป็นอุปาทานในความเห็นผิดลักษณะต่างๆ   พระโสดาบันบุคคลดับอุปาทาน 3 นี้  อุปาทานหนึ่งก็คือ การยึดมั่นในข้อปฏิบัติผิด (สีลัพพตุปาทาน) ซึ่งรวมการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างผิดๆด้วย   ฉะนั้น   พระโสดาบันบุคคลจึงปฏิบัติวิปัสสนาผิดๆไม่ได้   บางท่านคิดว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ด้วยการปฏิบัติอื่นที่ไม่ใช่มัคค์มีองค์ 8

ข.    ทำไมจึงไม่มีวิธีอื่นๆที่จะรู้แจ้งพระนิพพาน

ก.    การเจริญมัคค์มีองค์ 8 นั้น   สติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้   เช่น   การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา   การได้ยินเสียง   ความคิดนึกหรือความรู้สึกต่างๆ   เมื่อมีสติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรม   ปัญญาก็สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัดขึ้น   จึงจะดับความเห็นผิดได้   ถ้าไม่เจริญมัคค์มีองค์ 8   ก็ดับความเห็นผิดในสภาพธรรมไม่ได้   จึงบรรลุอริยสัจจธรรมแม้เพียงขั้นต้น   คือ  ขั้นโสดาบันไม่ได้   ฉะนั้นจึงไม่มีวิธีอื่นที่จะนำไปสู่พระนิพพานนอกจาก ความเห็นถูกในสภาพธรรม ซึ่งเป็น ปัญญา ใน มัคค์มีองค์ 8

ข.    ความเห็นถูกคืออะไร

.    เห็นนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง   คือ  ไม่เที่ยงเป็นทุกข์   และเป็นอนัตตา  อบรมเจริญ ความเห็นถูกได้   เมื่อยังมีความเห็นผิดก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน   ยึดการเห็นเป็นตัวตน   ยึดสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นตัวตน   ยึดความรู้สึกเป็นตัวตน   ยึดสัญญา (ความจำ) เป็นตัวตน   ยึดการนึกคิดเป็นตัวตน   และยึดสติและปัญญาเป็นตัวตนด้วย   เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะที่ปรากฏ   ก็จะเห็นนามธรรมและรูปธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง   ขณะนั้นเป็นความเห็นถูก

ข.    ยกตัวอย่างการปฏิบัติวิปัสสนาผิดสักตัวอย่างหนึ่งได้ไหม

ก.    การปฏิบัติผิดอย่างหนึ่ง   เช่น   คิดว่าตอนแรกเมื่อเริ่มต้นปฏิบัติ   ควรระลึกรู้เฉพาะบางนามธรรมและบางรูปธรรมเท่านั้น   แทนที่จะระลึกรู้ นามธรรมและรูปธรรมใดๆที่ปรากฏ   ปฏิบัติผิดถ้าคิดว่า   ไม่ควรระลึกรู้ลักษณะของโลภะ โทสะ  และโมหะ  ที่ปรากฏ   เมื่อเลือกนามธรรมและรูปธรรมที่ต้องการจะระลึกรู้   จึงละความเห็นผิดว่ามีตัวตนไม่ได้    อีกตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติผิด   คือ   คิดว่าการเจริญวิปัสสนานั้นจะต้องนั่ง   การปฏิบัติอย่างนี้จะวางกฏสำหรับปฏิบัติ   ซึ่งคิดว่าสามารถบังคับบัญชาสติได้   เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่เห็นว่าสติก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน (ไม่ใช่ตัวตน)

ข.    พระโสดาบันบุคคลดับกิเลสอะไรได้บ้าง

ก.    พระโสดาบันบุคคลดับความ สงสัย หรือ วิจิกิจฉา    วิจิกิจฉาเป็นธรรมประเภทนิวรณ์   ซึ่งเป็นเครื่องกั้นกุศลธรรม   เราอาจสงสัยในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรม  และในพระอริยสงฆ์   และในสัมมามัคค์   พระโสดาบันบุคคลไม่มีวิจิกิจฉาอีกเลย

อกุศลเจตสิกอีกประเภทหนึ่งที่พระโสดาบันบุคคลดับได้   คือ  มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่    ในวิสุทธิมัคค์   ญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส   กล่าวถึงความตระหนี่ 5 ประการไว้ว่า

ความตระหนี่ 5 ซึ่งเป็นไปโดยอาการอดกลั้นไม่ได้ซึ่งความเผื่อแผ่ทั่วไปแก่ผู้อื่น   ในอาวาสเป็นต้น  เหล่านี้คือ   อาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่ที่อยู่) 1   กุลมัจฉริยะ (ตระหนี่สกุล) 1    ลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) 1    ธัมมมัจฉริยะ (ตระหนี่ธรรม) 1
วัณณมัจฉริยะ (ตระหนี่วรรณะ) 1    ชื่อว่า  มัจฉริยะ ฯ

ในอัฏฐสาลินี  อธิบายมัจฉริยะ 5   คือ  ตระหนี่ อาวาส 1    ตระหนี่สกุล ที่อุปัฏฐากปัจจัย 4 (จีวร  อาหาร   ที่อยู่  และยารักษาโรค) 1    ตระหนี่ ปัจจัย 4 (ลาภ) 1    ตระหนี่ ความรู้ในพระธรรม 1  และ คำสรรเสริญ (ความสวยงามหรือคุณความดี) 1

มีคำอธิบายว่า   ขณะที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมีส่วนร่วมในสิ่งต่างๆ   ขณะนั้นเป็นความตระหนี่   แต่ถ้าไม่ต้องการให้แก่คนไม่ดีหรือคนที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งเหล่านี้   ขณะนั้นก็ไม่ใช่ความตระหนี่   เช่น   ถ้าไม่สอนพระธรรมแก่บุคคลที่จะทำให้พระธรรมเสื่อมเสีย   ก้ไม่ใช่การตระหนี่ธรรม   ฉะนั้น   จะเห็นได้ว่าการดับมัจฉริยะมิได้หมายถึงการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในทุกๆสิ่ง    พระโสดาบันบุคคลดับมัจฉริยะได้หมดสิ้น    มัจฉริยะ 5 ที่กล่าวถึงแล้วนั้นไม่เกิดอีก

นอกจากนั้น   พระโสดาบันบุคคลดับ อิสสา หรือ ริษยา ด้วย
อิสสาเกิดได้กับโทสมูลจิต    วิสุทธิมัคค์  ขันธนิทเทส
กล่าวถึงอิสสาว่า

ความประพฤติริษยา   ชื่อว่าอิสสาฯ   ริษยานั้นมีอันริษยาต่อสมบัติของผู้อื่นเป็นลักษณะ   มีความไม่ยินดีด้วยในสมบัติของผู้อื่นนั้นแหละเป็นรส   มีความเบือนหน้าหนีจากสมบัติของผู้อื่นนั้นเป็นเครื่องปรากฏ   มีสมบัติของผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน ฯ

ข.    เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะริษยา   ได้ทราบว่าจิตแพทย์บางคนกำลังก่อตั้งสถาบันขึ้นเพื่ออบรมคนไม่ให้ริษยา

ก.    จิตแพทย์อาจจะพยายามรักษาคนให้หายริษยา   แต่จิตแพทย์จะดับเชื้อของความริษยาในจิตของผู้อื่นได้อย่างไร ปัญญาที่อบรมเจริญแล้วถึงขั้นพระโสดาบันบุคคลเท่านั้นที่จะดับริษยาได้หมดสิ้นไม่เกิดอีกเลย

ข.   มหัศจรรย์จริงๆ   ที่สิ่งที่น่าเกลียดอย่างมัจฉริยะและริษยาดับได้หมดสิ้น ถูกต้องแล้วที่เรียกพระโสดาบันว่าเป็น พระอริยบุคคล   แม้ว่าพระโสดาบันยังดับกิเลสไม่หมด

ก.    พระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลเพราะว่า ขณะที่ตรัสรู้อริยสัจจธรรม   พระโสดาบันไม่ใช่บุคคลเดิมแล้ว   ท่านไม่ใช่ ปุถุชน อีกต่อไป   ท่านไม่มีเชื้อของมิจฉาทิฏฐิ   วิจิกิจฉา  มัจฉริยะ   และ  อิสสา สะสมอยู่ในจิตอีกเลย

ข.   อนุสัยกิเลสคืออะไรแน่

ก.    เมื่อต้องการสิ่งใด   ขณะนั้นมีโลภะ   เมื่อโลภมูลจิตดับไปแล้ว   ก็มีจิตอื่นๆซึ่งไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย   แต่โลภะซึ่งเกิดแล้วนั้นสะสมนอนเนื่องในจิต   เมื่อมีปัจจัย   โลภะก็เกิดกับอกุศลจิตอีก   อนุสัยกิเลสสะสมอยู่ในจิตทุกดวง   แม้ในภวังคจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร

ข.    ทิฏฐินั่นค่อยๆละคลายไปทีละเล็กละน้อยหรือดับไปทันที

ก.   ถ้าไม่อบรมเจริญเหตุที่สมควรก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้
เราจะเห็นว่า   ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังทรงมีพระชนม์อยู่ บางท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เร็วแม้ในขณะฟังธรรม   บางท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมที่ละเอียดขึ้น   ขณะที่บางท่านต้องเจริญมรรคมีองค์ 8 นานกว่านั้น   บางทีก็เป็นเวลาถึงหลายๆปี   ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามปัญญาที่สะสมมามากเพียงใดรวมทั้งในอดีตชาติด้วย   เรื่องที่ว่าผู้ใดจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินี้นั้น   จะต้องอบรมสะสมปัจจัยที่สมควร   เพราะเหตุว่าการตรัสรู้จะเกิดขึ้นทันทีทันใดไม่ได้   จะค้องระลึกรู้นามธรรมรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดปรากฏในชีวิตประจำวัน   และปัญญาจะต้องพิจารณา   ศึกษาสังเกตลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้นบ่อยๆเนืองๆ   อบรมเจริญอย่างนี้   ปัญญาจึงจะค่อยๆคมกล้าขึ้น   ไม่ควรหวังว่าสติและปัญญาจะเกิดขึ้นมากๆในขั้นเริ่มต้น   แต่สติที่เกิดขึ้นแล้วแต่ละครั้งเป็นประโยชน์   เพราะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นในขณะต่อๆไปได้   ซึ่งเป็นการสะสมของสติ   เมื่อปัญญารู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม   ก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนลงจนกระทั่ง โสดามัคคจิต
(โลกุตตรกุศลจิต) เกิดขึ้นดับทิฏฐานุสัยเป็นสมุจเฉทแล้วทิฏฐิก็จะไม่เกิดอีกเลย

.   พระโสดาบันบุคคลยังพูดคำที่ไม่น่าฟังบ้างไหม

ก.  ใน อกุศลกรรมบถ 10   มีอกุศลกรรมบถ 4  ทางวาจาคือ   พูดเท็จ  พูดส่อเสียด   พูดคำหยาบ  พูดไร้สาระ    พระโสดาบันบุคคลละการพูดเท็จได้   แต่ท่านยังพูดคำที่ไม่น่าฟังได้   หรือกล่าวคำหยาบได้แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นที่จะให้ผลปฏิสนธิในอบายภูมิ   พระโสดาบันบุคคลจะไม่เกิดในอบายภูมิอีกเลย

คำพูดที่ไร้สาระเป็นคำพูดที่ไม่เกี่ยวกับทาน   ศีล  หรือภาวนา
พระโสดาบันยังละไม่ได้   พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้

ข.   จำเป็นหรือที่จำแนกอกุศลกรรมโดยละเอียดเช่นนี้

.    การรู้เรื่องจำแนกอกุศลกรรมโดยนัยต่างๆทำให้เราเข้าใจลักษณะต่างๆของอกุศลธรรม   เช่น  ทิฏฐิ    นอกจากเป็นอกุศลธรรมประเภท อนุสัย (นอนเนื่องในสันดาน) แล้ว   ก็ยังเป็น อาสวะ (ไหลซึมตลอดเวลา)   เป็น อุปาทาน (การยึดมั่น)    ดังที่เราเห็นแล้วว่า   ทิฏฐิเป็นอุปาทาน 3 ด้วย   อกุศลธรรมยังจำแนกเป็น คันถะ (เครื่องผูก)  เป็น นิวรณ์ (เครื่องกั้น)   และเป็นประเภทอื่นๆอีก    การจำแนกอกุศลธรรมเป็นแต่ละประเภทแสดงให้เห็นลักษณะต่างๆของอกุศลธรรม   และทำให้เราเข้าใจถูกต้องขึ้นว่า   อกุศลธรรมสะสมเหนียวแน่นมากเพียงใด   และยากเพียงใดที่จะดับให้หมดไปได้    มัคคจิต (โลกุตตรกุศลจิต) เท่านั้นที่ดับกิเลสได้   แต่มัคคจิตที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นที่ 1  ก็ดับกิเลสไม่หมดทุกชนิด

ข.   โลกุตตรจิตทั้งหมดมีกี่ประเภท

ก.   โลกุตตรจิตมี 8 ประเภท   มัคคจิตมี 4 ประเภท   เพราะเหตุว่า   มัคคจิตประเภทหนึ่งก็เกิดขึ้นรู้แจ้ง
อริยสัจจธรรมขั้นหนึ่งใน 4 ขั้น (ขั้นพระโสดาบัน   พระสกทาคามี  พระอนาคามี   และพระอรหันต์)  ผลจิตมี 4 ประเภท  ซึ่งเป็นผลของมัคคจิต 4 (โลกุตตรกุศลจิต 4)

มัคคจิตเท่านั้นที่ดับกิเลส   ผลจิตเป็นวิบาก  เป็นผลของ
มัคคจิต

ข.    ถ้าจะเจริญวิปัสสนาจะต้องศึกษามากไหม   คล้ายกะว่าจะต้องรู้เรื่องการจำแนกธรรมโดยนัยต่างๆไม่จบสิ้น   ทั้งความต่างกัน   จำพวกใหญ่และจำพวกย่อย

ก.    จุดประสงค์ของการศึกษาพระอภิธรรมนั้นเพื่อเข้าใจสภาพธรรมต่างๆถูกต้อง   ถ้าไม่ศึกษาเลย   ก็จะตัดสินไม่ได้ว่าอะไรเป็นหนทางที่ถูกและอะไรเป็นหนทางที่ผิด   การที่แต่ละคนจะศึกษามากน้อยเท่าใดนั้นย่อมแล้วแต่อัธยาศัย   เราไม่ได้อยู่ในสมัยพุทธกาล   และเมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมโดยตรงจากพระโอษฐ์   เราจึงต้องศึกษาพระธรรมที่สืบทอดมาถึงเราทางพระไตรปิฎก

ข.   นิพพานคืออะไรแน่   นิพพานเป็นภูมิหนึ่งหรือ

ก.    ถ้านิพพานเป็นภูมิหนึ่งที่เราไปเกิดได้   ก็เท่ากับว่ายังมีนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่ออยู่   ชีวิตคือนามธรรมและรูปธรรมที่เกิด   แล้วดับไป  ชีวิตเป็นทุกข์   เพราะสิ่งใดที่เกิดแล้วดับไปย่อมเป็นทุกข์   แต่ พระนิพพาน เป็น สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง   พระนิพพานไม่เกิดจึงไม่ดับ   ฉะนั้น   นิพพานจึงเป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์    ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแม้เพียงขั้นที่หนึ่งแล้ว   ก็ แน่นอน ที่จะถึงซึ่งการดับ  การเกิด
แก่  เจ็บ  ตาย   ดับทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด

เมื่อบุคคลที่ไม่ใช่พระพระอรหันต์สิ้นชีวิต   จิตดวงสุดท้ายของชาตินั้นคือ   จุติจิต ดับแล้ว  ปฏิสนธิจิต ของชาติต่อไปก็เกิดสืบต่อ   ภพชาติก็จะดำเนินต่อๆไป   ตราบใดที่ยังมีกิเลส ชีวิตก็จะต้องดำเนินต่อไป   ที่เราเกิดในโลกมนุษย์นี้ก็เพราะกิเลส   ถึงแม้จะเกิดในสวรรค์   ในรูปพรหมภูมิ   หรือในอรูปพรหมภูมิ   ก็เพราะมีกิเลสอยู่นั่นเอง

พระอรหันต์ไม่มีกิเลสเหลืออีกเลย   ท่านจะไม่เกิดในภูมิใดๆทั้งสิ้น   สำหรับท่านเมื่อจุติจิตดับลงแล้ว   นามธรรมและรูปธรรมก็ไม่เกิดอีก    พระอรหันต์ต้องตายเพราะท่านเกิด   เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย   แต่เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดับแล้ว   ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ   การเวียนว่ายตายเกิดของท่านจึงสิ้นสุดลง

ข.   รู้สึกว่า   นิพพานเป็นสิ่งที่ค้านกับชีวิต   เป็นการสูญชีวิต

ก.    พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับโลภะ   โทสะ  และโมหะ   พระนิพพานควรจะเป็นสิ่งที่ดีใช่ไหม

ข.   เห็นด้วยว่า   การดับกิเลสน่าจะเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต   แต่การไม่เกิดอีกนั้นเป็นสิ่งที่น่าเศร้า

ก.    แล้วแต่ว่าเราจะมองชีวิตอย่างไร   ตามที่ทราบแล้วว่าชีวิตเป็นนามธาตุและรูปธาตุซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป   นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดแล้วดับ   จะเป็นความสุขที่แท้จริงได้หรือ

ข.    เข้าใจว่าชีวิตมีความสุขสนุกสนานมากแม้จะมีความทุกข์เกิดบางขณะก็ตาม

ก.   จริง   มีบางขณะที่เราเรียกว่าความสุข   แต่ความสุขชั่วขณะเหล่านี้   เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปซึ่งเป็นขณะที่แสนจะสั้น   เราหลงไปว่าชีวิตเป็นสุขและควรจะอยู่ต่อไป   หรือว่าเราควรแสวงหาสัจจธรรมเพื่อที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง   ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าเราต้องการอะไรจริงๆในชีวิต   จะโง่หรือจะรู้ความจริง

ถ้าเราอบรมเจริญปัญญา   เราก็จะเห็นความไม่เที่ยงและความทุกข์ของชีวิตมากขึ้น   ทัศนะที่เราเคยมีต่อชีวิตและความสุขก็จะเปลี่ยนไป    พระอริยบุคคลรู้ว่าสิ่งที่ปุถุชนเห็นว่าเป็นสุขนั้นเป็นทุกข์   สิ่งที่ปุถุชนคิดว่าเป็นความทุกข์นั้น   พระอริยบุคคลรู้ชัดว่าเป็นความสุข   การอบรมปัญญาทำให้เกิดความสุขที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยคิดว่าเป็นความสุข

ข.    ไม่ชอบความคิดที่จะดับสังสารวัฏฏ์เลย

.    ถ้ายังยึดมั่นในตัวตน   ก็จะเดือดร้อนกระวนกระวายว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวตนเมื่อตายแล้ว   สำหรับพระอรหันต์นั้นจะไม่สงสัยเลยว่าปรินิพพานแล้วจะเป็นอย่างไร   พระอรหันต์ไม่มีกิเลสเหลืออีกเลย   ฉะนั้นท่านจึงไม่ติดข้องในชีวิต

ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคลนั้นไม่สามารถเข้าใจได้ว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร   เมื่อยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป   ก็ย่อมไม่สามารถประจักษ์สภาพธรมที่ไม่เกิดและไม่ดับ   ซึ่งเป็นวิสังขารธรรม

ข.    จิตทุกดวงรู้อารมณ์   โลกุตตรจิตรู้อารมณ์อะไร

ก.    โลกุตตรประจักษ์แจ้ง พระนิพพาน   ซึ่งเป็น สภาพธรรมที่ไม่เกิดและไม่ดับ

ตามที่ทราบแล้วว่า   ปรมัตถธรรมมี 4 คือ  จิต   เจตสิก  รูป  นิพพาน   จิต เจตสิก รูปเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป   เป็น สังขารธรรม    นิพพานไม่เกิดและไม่ดับ   เป็น วิสังขารธรรม    เราไม่สามารถประจักษ์สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (วิสังขารธรรม)   จนกว่าปัญญาจะเจริญถึงขั้นที่สามารถรู้แจ้งสังขารธรรมตามความเป็นจริงคือ   ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์   เป็นอนัตตา

ข.   ทั้งมัคคจิตและผลจิตประจักษ์แจ้งพระนิพพานหรือ

ก.   มัคคจิตและผลจิตเป็นโลกุตตรจิต   ฉะนั้นจึงมีนิพพานเป็นอารมณ์   เมื่อมัคคจิตดับไป   ผลจิตซึ่งรู้อารมณ์เดียวกันก็เกิดสืบต่อทันที   เมื่อเรากระทำกามาวจรกุศล (กุศลกรรมในกามภูมิ) วิบากจะไม่เกิดทันที   แม้ว่าวิบากจะเกิดหลังกุศลกรรมนั้นไม่นาน   แต่ก็เกิดในวาระเดียวกันไม่ได้ (เมื่อบรรลุฌาน   ถ้าวิบากจะเกิดก็จะเกิดในชาติต่อไป)   ซึ่งต่างกับ
โลกุตตรจิต   ผลจิตจะเกิดสืบต่อมัคคจิตทันที   ผลจิตอาจจะเกิด 2 หรือ 3 ขณะแล้วแต่บุคคล

ข.    เมื่อพระโสดาบันบุคคลรู้แจ้งสัจจธรรม   โสดามัคคจิต   และโสดาผลจิตเกิด   จิตทั้งสองประเภทนี้เกิดอีกบ่อยไหม

ก.    โสดามัคคจิตเกิดเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในสังสารวัฏฏ์   เพราะกระทำกิจดับกิเลส   กิเลสใดที่โสดาปัตติมัคคจิตดับแล้ว
กิเลสนั้นก็เป็นอันดับสิ้นเป็นสมุจเฉท   ฉะนั้นโสดามัคคจิตจึงไม่เกิดอีกเลย

ผลจิตสามารถเกิดอีกได้ในวาระอื่นๆ   ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจ์พร้อมด้วยองค์ของฌาน   ในบทที่ 22   กล่าวถึงโลกุตตรจิตที่เกิดพร้อมกับองค์ฌาน   ซึ่งสามารถประจักษ์แจ้งพระนิพพานด้วยด้วยอัปปนาสมาธิ   สำหรับผู้ที่ได้เจริญฌานจนชำนาญคล่องแคล่ว   ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม   สะสมมาต่างๆกัน   และเพราะการสะสมต่างกัน   โลกุตตรจิตจึงเกิดพร้อมกับองค์ฌานขั้นต่างๆ   ผลจิตที่เกิดพร้อมองค์ฌานสามารถเกิดอีกได้หลายครั้ง   โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ด้วยอัปปนาสมาธิฌาน

จิตจำแนกเป็น 89 ประเภท หรือ  121 ประเภท   เมื่อกล่าวโดยนัยของจิต 121 ประเภท นั้น  กล่าวถึง โลกุตตรจิต 40 ซึ่งมีองค์ฌานเกิดร่วมด้วยแทนโลกุตตรจิต 8  ตามที่ทราบแล้วว่า  รูปฌานมี 5 ขั้น  และองค์ฌานลดลงตามลำดับ (ดูบทที่ 22)    ฌานที่สูงขึ้นจนกระทั่งถึง ปัญจมฌานขั้นที่ 5 (หรือจตุตฌานขั้นที่ 4   โดยจตุตถนัย)   องค์ฌานที่ยังอยู่คือ เอกัคคตา และ อุเบกขาเวทนา   ซึ่งเกิดแทนสุขเวทนา
โลกุตตรจิตเกิดพร้อมกับองค์ฌานได้ทั้ง 5 ฌาน  เช่น  เมื่อ โลกุตตรจิต เกิดร่วมกับ องค์ของปัญจมฌาน ก็แสดงว่าเกิดร่วมกับองค์ฌานคือ   สมาธิ และ อุเบกขาเวทนา เกิดร่วมกัน

สำหรับ อรูปฌานจิต นั้นมีอารมณ์ต่างกับรูปฌาน   แต่ องค์ฌาน ที่เกิดร่วมด้วยเหมือนกับ องค์ของรูปปัญจมฌาน   คือ  สมาธิ  และ อุเบกขา    ฉะนั้น  องค์ฌานของฌานจิต 5 ขั้นจึงเป็นสภาพธรรมที่จำแนกโลกุตตรจิตตามองค์ฌานที่เกิดร่วมด้วย    ดังนั้นโลกุตตรจิต 8 จึงจำแนกเป็น 5 ขั้น   จึงรวมเป็น โลกุตตรจิต 40 ดวง

เมื่อกล่าวถึงจิต 89 ดวง   โดยย่อมีดังนี้  คือ

กามาวจรจิต 54 ดวง (จิตขั้นกามภูมิ)

อกุศลจิต        12 ดวง
อเหตุกจิต       18 ดวง
มหากุศลจิต      8 ดวง
มหาวิบากจิต     8 ดวง
มหากิริยาจิต     8 ดวง

รูปาวจรจิต       15 ดวง
อรูปาวจรจิต     12 ดวง
โลกุตตรจิต        8 ดวง

เมื่อกล่าวถึงจิต 121 ดวง   โลกุตตรจิตมี 40 ดวง  แทน 8 ดวง

ข.   รู้สึกว่า   หนทางที่จะบรรลุพระนิพพานนั้นแสนไกล   เราจะถึงได้อย่างไรหนอ

ก.    เราควรอดทนและไม่ควรหวังผลที่ยังอยู่ไกล   เราควรพิจารณาว่าต้องทำอะไรขณะนี้   นั่นคือ   อบรมเจริญสติระลึกรู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ กำลังปรากฏ   นี่คือการสะสม ปัจจัย ที่จะบรรลุพระนิพพาน

 

ดูสารบัญ     

home   ปัญหาถาม-ตอบ    หนังสือธรรมะ   
พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

Click Here!

 


ดูสารบัญ