Buddhist Study   บทที่ 6   ลักษณะของโทสะ    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก


 

 

 


"ถ้าต้องการให้โทสะลดน้อยลง   ก็ควรรู้ลักษณะของโทสะและระลึกรู้สภาพของโทสะเมื่อโทสะเกิด"


 

 

 

 

 

 

 


"โลภะ เกิดขณะใด    จิตพอใจอารมณ์ขณะนั้น  แต่ โทสะ เกิดขณะใด   จิตไม่พอใจอารมณ์ขณะนั้น"


 

 

 

 

 

 

 


"่เวลากลัวอะไรก็เป็นโทสะเหมือนกัน   เพราะไม่ชอบอารมณ์ที่เรากลัวนั้น"


 

 

 

 

 

 

 


"โลภะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดโทสะ   เราไม่อยากสูญเสียสิ่งซึ่งเป็นที่รัก   และเมื่อใดที่สูญเสียเราก็โศกเศร้า   ความเศร้าโศกเป็นโทสะ   เป็นอกุศล"


 

 

 

 

 

 

 


"เมื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็จะคลายความเศร้าโศกลง   ไม่มีประโยชน์เลยที่จะโศกเศร้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปแล้ว"


 

 

 

 

 

 

 


"โทสะเกิดร่วมกับ ความรู้สึกไม่สบายใจ (โทมนัสเวทนา)
เสมอ "


 

 

 

 

 

 

 


"เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายใจไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม   ก็แสดงว่าขณะนั้นเป็นโทสะ"


 

 

 

 

 

 

 


"การที่ได้ยินสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจนั้นเป็นอกุศลวิบากซึ่งไม่ได้เกิดจากการกระทำของคนอื่น   แต่เป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้ว"


 

 

 

 

 

 

 


"ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนสามารถดับโทสะได้"


 

 

 

 

 

 

 


"เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ ชัดแจ้งขึ้น   ก็จะครุ่นคิดถึงอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจน้อยลง   เพราะเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป "


 

 

 

 

 

 

 


"คนที่ไม่ดีต่อเรานั้นสมควรได้รับความเมตตา  
เพราะเขาทำตนเองให้เป็นทุกข์"


 
      ขณะที่เราโกรธใครนั้น   เราทำร้ายตนเองเพราะความโกรธของเรา   พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของความโกรธ (โทสะ)  ในอังคุตตรนิกาย   สัตตกนิบาต  โกธนาสูตร  ว่า   คนที่เป็นข้าศึกกันย่อมปราถนาคนผู้เป็นข้าศึกกันให้ได้รับความทุกข์   ความจริงแล้วความทุกข์กำลังคุกคามยํ่ายีหญิงหรือชายผู้มีความโกรธอยู่   ข้อความในโกธนาสูตรมีว่า

".... ดูกรภิกษุทั้งหลาย   คนผู้เป็นข้าศึกกันในโลกนี้ย่อมปราถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า   ขอให้บุคคลผู้นี้มีผิวพรรณทรามเถิดหนา   ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีผิวพรรมงาม    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำยํ่ายีแล้ว   แม้จะอาบนํ้า  ไล้ทา  ตัดผม   โกนหนวด   นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม   แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว   ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   นี้เป็นธรรมข้อที่ 1   เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน   เป็นความต้องการของผู้เป็นข้าศึกกัน   ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธฯ

อีกประการหนึ่ง   คนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมปราถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้พึงนอนเป็นทุกข์เถิดหนอ ข้อนี้เพราะเหตุไร   เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันอยู่สบาย   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   คนผู้โกรธ   ถูกความโกรธครอบงำยํ่ายีแล้ว   แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าขนสัตว์   ลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อน   ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด   มีผ้าดาดเพดาน   มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแถวทั้งสองข้างก็ตาม   แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว   ย่อมนอนเป็นทุกข์   ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ 2 ...."

ข้อความต่อไปกล่าวถึงความทุกข์อื่นๆ ที่คนผู้เป็นข้าศึกกันปราถนาให้คนผู้เป็นข้าศึกกันได้รับ   แต่ความทุกข์นั้นๆ ย่อมเกิดแก่หญิงหรือชายผู้มีความโกรธ   คนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมหวังให้คนที่เป็นข้าศึกกันไม่มีความเจริญ   โภคะ  ยศ  และมิตร   แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดแก่หญิงหรือชายผู้มีความโกรธนั้นเอง  
ข้อความต่อไปมีว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำยํ่ายีแล้ว   แม้เขามีมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต   มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตเหล่านั้นก็เว้นเขาเสียห่างไกล   เพราะเขาถูกความโกรธครอบงำ
ยํ่ายีแล้วฯ"

คนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมปราถนาว่า   เมื่อคนผู้เป็นข้าศึกกันตายไป   พึงเข้าถึงอบาย  ทุคติ   วินิบาต  นรก   แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดแก่คนผู้โกรธนั่นเอง    ข้อความต่อไปมีว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   คนผู้โกรธ   ถูกความโกรธครอบงำยํ่ายีแล้ว   ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย   ด้วยวาจา
ด้วยใจ  ครั้นตายไปย่อมเข้าถึง   อบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรกฯ"

เราปราถนาที่จะอยู่ในโลกที่สมัครสมานกลมเกลียวกันระหว่างชาติต่างๆ   และเป็นทุกข์เดือดร้อนเมื่อมีการประทุษร้ายเบียดเบียนกัน   เราควรพิจารณาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของสงครามและความขัดแย้ง   สาเหตุก็คือกิเลสที่สะสมอยู่ในจิตของแต่ละคน   เวลาโกรธ   เราคิดว่าคนอื่นและสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจนั้นทำให้เราโกรธ   แต่โทสะที่ได้สะสมไว้เป็นเหตุที่แท้จริงทำให้ความโกรธเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า   ถ้าต้องการให้โทสะลดน้อยลง   ก็ควรรู้ลักษณะของโทสะและระลึกรู้สภาพของโทสะเมื่อโทสะเกิด

โทสะมีหลายขั้น   อาจเป็นความขุ่นใจเล็กน้อยหรือรุนแรงขึ้นจนถึงกับโกรธเคือง   เรารู้จักโทสะขั้นหยาบ   แต่เรารู้จักโทสะอย่างบางเบาบ้างไหม การศึกษาพระอภิธรรมทำให้รู้ลักษณะของโทสะมากขึ้น โทสะ เป็น อกุศลเจตสิก เกิดร่วมกับอกุศลจิต จิตที่มีโทสะเป็นมูล   ภาษาบาลีเรียกว่า โทสมูลจิต ลักษณะของโทสะต่างจากลักษณะของโลภะ   
โลภะ เกิดขณะใด   จิตพอใจอารมณ์ขณะนั้น   แต่ โทสะ เกิดขณะใด  จิตไม่พอใจอารมณ์ขณะนั้น    ขณะที่โกรธใครๆ และกล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับใครนั้น   เรารู้ว่าเป็นโทสะ   แต่เวลากลัวอะไรก็เป็นโทสะเหมือนกัน   เพราะไม่ชอบอารมณ์ที่เรากลัวนั้น เรากลัวหลายอย่างในชีวิต   กลัวอนาคต  กลัวเจ็บป่วย   กลัวอุปัทวเหตุและกลัวตาย เราแสวงหาทางที่จะทำให้หายกลัว   แต่ทางเดียวก็คือ อบรมณ์เจริญปัญญาที่ดับโทสะได้หมดสิ้น

โลภะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดโทสะ   เราไม่อยากสูญเสียสิ่งซึ่งเป็นที่รัก   และเมื่อใดที่สูญเสียเราก็โศกเศร้า   ความเศร้าโศกเป็นโทสะ   เป็นอกุศล    เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง   ก็ย่อมเห็นว่าคนและสิ่งต่างๆ ยั่งยืน   แต่คนและสิ่งต่างๆนั้น   เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปทันที   ชั่วขณะต่อมาสภาพธรรมนั้นๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว   เมื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็จะคลายความเศร้าโศกลง   ไม่มีประโยชน์เลยที่จะโศกเศร้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปแล้ว

ในเถรีคาถา  ติกนิบาต   อุพพิริเถรีคาถา  พระนาง
อุพพิริทรงเศร้าโศกเมื่อพระธิดาพระนามว่าชีวาสิ้นพระขนม์   พระนางเสด็จไปยังป่าช้าทุกวัน   พระนางทรงพบพระผู้มีพระภาค   พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระนางว่า   ป่าช้าแห่งนี้เป็นที่เผาพระศพพระธิดาของพระนางในอดีตมาแล้ว 84,000 พระองค์   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"ดูกรนางอุพพิริ ท่านครํ่าครวญอยู่
ในป่าว่า
"ลูกชีวาเอ๋ย"  ดังนี้
ท่านจงรู้สึกตนก่อนเถิด
บรรดาธิดาของท่านที่มีชื่อ
เหมือนกันว่า ชีวา
ถูกเผาอยู่ในป่าช้าใหญ่นี้
ประมาณ 84,000 คน
ท่านจะเศร้าโศกถึงธิดาคนไหนฯ"

เมื่อพระนางอุพพิริทรงพิจารณาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว   ฏ็ทรงประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง   ได้ทรงบรรลุธรรมเป็นอรหันต์

มีอกุศลเจตสิกอื่นๆอีกซึ่งเกิดร่วมกับโทสมูลจิต ความเสียดาย หรือ ความกังวล   ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า กุกกุจจะ   ก็เป็นอกุศลเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับโทสมูลจิตขณะที่ได้กระทำสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ได้ทำสิ่งที่ดี    ขณะที่เสียใจนั้นเป็นขณะที่คิดถึงอดีตแทนที่จะระลึกถึงขณะปัจจุบัน   เมื่อได้กระทำผิดพลาดไปแล้ว   ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกังวลใจ

ความริษยา (อิสสา)   เป็นเจตสิกอีกดวงหนึ่งที่เกิดกับโทสมูลจิต   เวลาไม่อยากให้ใครได้รับสิ่งที่น่ายินดีพอใจนั้นเป็นความริษยา   ขณะนั้นจิตไม่พอใจอารมณ์นั้น   ควรจะสังเกตุว่าความริษยาเกิดบ่อยเพียงใด   แม้ว่าเป็นความริษยาเพียงเล็กน้อยก็ตาม นี่เป็นวิธีที่จะรู้ว่าเราใส่ใจคนอื่นหรือไม่   หรือว่าเราคิดถึงแต่ตัวเองเมื่อคบหาสมาคมกับคนอื่น

ความตระหนี่ (มัจฉริยะ)   เป็นอกุศลเจตสิกอีกดวงหนึ่งซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต   ขณะที่ตระหนี่นั้นมีโทสะด้วย   ขณะนั้นไม่อยากให้คนอื่นมีส่วนในสมบัติที่เรามี

โทสะเกิดร่วมกับ ความรู้สึกไม่สบายใจ (โทมนัสเวทนา) เสมอ   คนส่วนมากไม่อยากมีโทสะเพราะไม่ชอบความรู้สึกที่ไม่สบายใจ   ขณะที่อบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมมากขึ้นนั้น   ก็ใคร่จะละโทสะ   ทั้งนี้โดยไม่ใช่เพราะไม่ชอบโทมนัสเวทนา   แต่เพราะเห็นโทษภัยของอกุศล

โทสะเกิดขึ้นได้ทางตา  หู   จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ    โทสะเกิดได้เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจ   ได้ยินเสียงหยาบกระด้าง   ได้กลิ่นที่ไม่ดี   ลิ้มรสที่ไม่ถูกปาก   กระทบสัมผัสสิ่งที่ทำให้กายเจ็บปวด   และคิดนึกเรื่องที่ไม่พอใจ    เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายใจไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม   ก็แสดงว่าขณะนั้นเป็นโทสะ   โทสะอาจจะเกิดบ่อยเมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ   เช่น   อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป      เมื่อมีความรู้สึกที่ไม่สบายกายเพียงนิดเดียว     โทสะก็เกิดได้แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

โทสะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย   โทสะเกิดได้เสมอตราบใดที่ยัง ติดข้อง ในกามอารมณ์ 5   ที่ปรากฏทางปัญจทวาร   ทุกคนอยากจะมีแต่อิฏฐารมณ์เท่านั้น   และเมื่อไม่ได้อิฏฐารมณ์อีก โทสะก็จะเกิด

ปัจจัยอีกอันหนึ่งที่ทำให้โทสะเกิดก็คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจธรรม    ถ้าไม่รู้เรื่องกรรม   วิบาก  เหตุและผล    โทสะอาจเกิดได้ง่ายๆ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจทางทวารใดทวารหนึ่ง    ฉะนั้น   โทสะจึงสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ   ขณะประสบอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจทางทวารใดทวารหนึ่งนั้น   เป็นอกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว   เช่น   เมื่อขณะที่ได้ยินคำพูดที่ไม่น่ายินดีพอใจก็อาจโกรธคนที่พูด   แต่คนที่ศึกษาธรรมแล้วย่อมรู้ว่า   การที่ได้ยินสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจนั้นเป็นอกุศลวิบากซึ่งไม่ได้เกิดจากการกระทำของคนอื่น   แต่เป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้ว   วิบากจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันทีไม่ดำรงยั่งยืน   แต่เราก็มักจะครุ่นคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีนั้นอยู่อีกไม่ใช่หรือ   ถ้าสติระลึกรู้สภาพธรรมขณะนี้   ก็จะคลายการคิดถึงอกุศลวิบากด้วยโทสะลงได้

การศึกษาพระอภิธรรมทำให้รู้ว่า โทสมูลจิตมี 2 ประเภท  คือ   โทสมูลจิตที่เป็นอสังขาริก
(ไม่มีการชักจูง) และ โทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริก (มีการชักจูง)    ตังอย่างของโทสะที่เป็นสสังขาริก   เช่น   เมื่อมีผู้เตือนให้นึกถึงการกระทำที่ไม่น่าพอใจของคนอื่นแล้วก็โกรธ   โทสะที่เป็นอสังขาริกรุนแรงกว่าโทสะที่เป็นสสังขาริก    โทสมูลจิตเป็น ปฎิฆสัมปยุตต์   คือ  ประกอบด้วย ปฏิฆะ   ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งของโทสะ    โทสมูลจิตเกิดร่วมด้วยโทมนัสเวทนา (ความรู้สึกที่ไม่สบายใจ) ทุกครั้ง   โทสมูลจิต 2 ประเภท   ได้แก่

  1. โทสะเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา เป็นอสังขาริก
    (โทมนสฺสสหคตํ  ปฏิฆสมฺปยุตตํ   อสงฺขาริกํ)
  2. โทสะเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา เป็นสสังขาริก
    (โทมนสฺสสหคตํ  ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ   สสงฺขาริก)

ดังที่รู้แล้วว่าโทสะมีหลายขั้น   อาจจะเป็นโทสะอย่างหยาบ หรือเป็นโทสะอย่างบางเบา    โทสะอย่างหยาบเป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมบถทางกาย ทางวาจา  หรือทางใจ    โทสมูลจิตเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมบถ ทางกาย 2 อย่าง  คือ  การฆ่า   และ  การลักทรัพย์    ถ้าต้องการให้ความทารุณโหดร้ายในโลกลดน้อยลง   ก็ควรพยายามเว้นการฆ่า    ขณะที่ฆ่า โทสะก็จะสะสมมากขึ้น    ชีวิตของพระภิกษุเป็นชีวิตที่ไม่เบียดเบียน   พระภิกษุไม่ทำร้ายสัตว์โลก   แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถมีชีวิตอย่างพระภิกษุได้   กิเลสเป็น อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)    กิเลสเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย   จุดมุ่งหมายของพระธรรมนั้นมิใช่เพื่อบัญญัติห้ามไม่ให้กระทำอกุศล   แต่เพื่อเกื้อกูลการอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส

ส่วนการลักทรัพย์ของคนอื่นนั้นอาจจะกระทำด้วยโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตก็ได้   ถ้ามีเจตนาที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็กระทำไปด้วยโทสมูลจิต
การทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของคนอื่นจัดอยู่ในอกุศลกรรมบถข้อนี้

โทสมูลจิตทำให้เกิดอกุศลกรรมบถ ทางวาจา 4 ประการ  คือ  มุสาวาท   ปิสุณาวาจา  ผรุสวาจา และ สัมผัปปลาปวาจา    การพูดเท็จ   การพูดส่อเสียด   และการพูดไร้สาระ   อาจเกิดจากโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตก็ได้   เช่น   ถ้ามีเจตนาที่จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง   หรือเจตนาที่จะให้ถูกเหยียดหยามเป็นต้น   คนส่วนมากคิดว่าควรหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธ   แต่ลืมไปว่าลิ้นก็เป็นอาวุธซึ่งทำให้เจ็บปวดอย่างมากได้เช่นกัน   วจีทุจริตทำความเดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงในโลก   ทำให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มคนต่างๆ    ผู้ที่กล่าววจีทุจริตย่อมทำร้ายตนเองเพราะขณะนั้นสะสมอกุศลกรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก
ในขุททกนิกาย  สุตตนิบาต   โกกาลิกสูตรข้อ 387 มีข้อความว่า

"ก็วาจาหยาบเช่นกับขวานเกิดในปากของบุรุษแล้ว
เป็นเหตุตัดรอนตนเองของบุรุษผู้เป็นพาล"

อกุศลกรรมบถทางมโนทวาร   ที่เกิดจาก
โทสมูลจิตนั้นเป็น เจตนาที่เบียดเบียน หรือ
ทำร้าย
คนอื่น

คนมักจะพูดถึงการกระทำที่โหดร้ายทารุณและทางแก้ไข   มีใครในพวกเราบ้างที่กล้ากล่าวว่าไม่มีโทสะและจะไม่ฆ่าสัตว์เลย   เราไม่รู้ว่าได้สะสมโทสะมามากเพียงใดในสังสารวัฏฏ์    เมื่อมีเหตุปัจจัย   เราอาจกระทำสิ่งที่โหดร้ายได้โดยไม่รู้ตัวเลยว่าจะกระทำอย่างนั้นได้    เมื่อรู้ว่าโทสะน่าเกลียดน่ากลัวเพียงใด   และเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมใดแล้ว ก็ย่อมต้องการที่จะละโทสะ

การกระทำดีต่อคนอื่นนั้น   ไม่สามารถละโทสะอย่างละเอียดได้   แต่อย่างน้อยขณะนั้นก็ไม่ได้สะสมโทสะเพิ่มขึ้น   พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้เจริญเมตตา    ข้อความในขุททกนิกาย   สุตตนิบาต  กรณียเมตตสูตรที่ 8 (ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยท่านพระภิกษุญาณโมลี   พิมพ์โดย Buddhist Publication Society)  แสดงว่า   การที่จะให้จิตสงบได้นั้นพึงเจริญเมตตาให้สัตว์ทั้งหลาย   ดังนี้

"ขอสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้มีความสุข
มีความเกษม   มีตนถึงความสุขเถิด
สัตว์มีชีวิตเหล่าหนึ่งเหล่าใดมีอยู่
เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง
ไม่มีส่วนเหลือ   สัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่
ปานกลางหรือสั้น
ผอมหรือพี   ที่เราเห็นแล้วหรือไม่ได้เห็น
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้
ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด
ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด
สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น
ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ
ไม่พึงปราถนาทุกข์ให้แก่กันและกัน
เพราะความโกรธ   เพราะความเคียดแค้น
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน
แม้ด้วยกายยอมสละชีวิตได้ฉันใด
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์
พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวงแม้ฉันนั้น
กุลบุตรนั้นพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ
ไปในโลกทั้งสิ้น  ทั้งเบื้องบน   เบื้องตํ่า  เบื้องขวาง
ไม่คับแคบ  ไม่มีเวร   ไม่มีศัตรูฯ"

พระผู้มีพระภาคทรงสอนไม่ให้โกรธผู้ที่ไม่เป็นที่พอใจของเรา   ในพระวินัยปิฎกมหาวรรค  ภาค 2 (ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยท่านพระภิกษุญาณโมลี) โกสัมพิขันธกะ  เวรุปสมคาถา   พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

"ก็คนเหล่าใด  จองเวรไว้ว่า
คนโน้นด่าเรา  ตีเรา  ชนะเรา
ได้ลักสิ่งของของเราไป   เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ
ส่วนคนเหล่าใดไม่จองเวรไว้ว่า
คนโน้นด่าเรา  ตีเรา  ชนะเรา
ได้ลักสิ่งของของเราไป   เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ
แต่ไหนแต่ไรมา   เวรทั้งหลายในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย
แต่ย่อมระงับ  เพราะไม่จองเวร   ธรรมนี้เป็นของเก่าฯ"

บางครั้งเรารู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเมตตาแทนโทสะ   เช่น   เมื่อคนอื่นทำไม่ดีกับเรา   เราก็ไม่สบายใจและครุ่นคิดแต่เรื่องไม่สบายใจนั้น   เมื่อโทสะยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท   ก็ยังมีปัจจัยที่โทสะจะเกิดอีก    ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนสามารถดับโทสะได้

การละโทสะนั้นเป็นไปตามลำดับขั้น   พระโสดาบันบุคคล (ผู้ที่บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นต้น) ยังละโทสะไม่ได้    การบรรลุอริยสัจจธรรมขั้นต่อมาคือ  ขั้นพระสกทาคามีบุคคล   ก็ยังดับโทสะเป็นสมุจเฉทไม่ได้    ผู้บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นที่สาม   คือ  พระอนาคามีบุคคล   ดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท  ไม่มีปฏิฆานุสัยกิเลสอีกเลย

แม้ว่ายังดับโทสะไม่ได้   แต่เมื่อโทสะเกิด   สติก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของโทสะว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง   ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย    แต่เมื่อสติไม่เกิด   ก็ดูราวกับว่าเกิดโทสะอยู่นาน   และยึดมั่นโทสะว่าเป็นตัวตน   และไม่ได้สังเกตุรู้นามธรรมและรูปธรรมอื่นๆที่ปรากฏ    การเจริญสติระลึกรู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละขณะนั้น   จะทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่เที่ยง   และรู้ว่าโทสะเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง   ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ ชัดแจ้งขึ้น   ก็จะครุ่นคิดถึงอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจน้อยลง   เพราะเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป   และจะใส่ใจในขณะปัจจุบันมากขึ้น   แทนที่จะคิดถึงอดีตหรืออนาคต    เราจะเล่าเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นกับตัวเราให้คนอื่นฟังน้อยลง   เพราะรู้ว่าจะเป็นปัจจัยให้ทั้งตนเองและคนอื่นสะสมโทสะมากขึ้น   เมื่อคนอื่นโกรธเรา   เราก็จะเข้าใจสภาพของเขาดีขึ้น   เขาอาจจะเหนื่อยหรือไม่สบายก็ได้    คนที่ไม่ดีต่อเรานั้นสมควรได้รับความเมตตา   เพราะเขาทำตนเองให้เป็นทุกข์

ความเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ   จะทำให้เรามีเมตตากรุณาต่อคนอื่นมากกว่าอื่นใดแทนที่จะเกิดโทสะ

 

 

ดูสารบัญ

home         ปัญหาถาม-ตอบ        หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ