Buddhist Study   บทที่ 7   อวิชชา    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 

 

 


"เมื่อยึดมั่น
ในความคิด
ตามคำที่
บัญญัติเรียก
ว่า  "ต้นไม้" 
หรือ "เก้าอี้"  
ก็ไม่รู้ลักษณะ

ของสภาพ
ธรรมตาม
ความเป็นจริง"


 

 

 

 

 

 

 


"โลกที่ปรากฏทาง 6 ทวารเป็นโลกที่มีจริง   แต่ไม่ยั่งยืน   เป็นโลกที่ไม่เที่ยง"


 

 

 

 

 

 

 


"เรารู้จักโลกที่
เป็นสมมุติ
บัญญัติเท่านั้น
เพราะความ
ไม่รู้(อวิชชา)
และ
ความเห็นผิด
สะสมมานาน
แสนนาน"


 

 

 

 

 

 

 


"เมื่ออบรม
เจริญ"ปัญญา"
ก็จะรู้ว่า
รู้จักตัวเอง
น้อยเพียงไร"


 

 

 

 

 

 

 


"ถ้าไม่เข้าใจ
สภาพธรรม  
ก็ไม่เข้าใจโลก  
ไม่เข้าใจ

ตัวเอง  
ไม่เข้าใจ

กุศลกรรม  
อกุศลกรรม  
ไม่เข้าใจ
ผลของกรรม   และไม่เข้าใจ
หนทางปฏิบัติ
ที่จะละกิเลส"


 

 

 

 

 

 

 


"โมหะ
ละไม่ได้
เพียงด้วยการ
คิดเรื่อง
สัจจธรรม
แต่จะละได้
ด้วยการอบรม
เจริญปัญญา"


 

 

 

 

 

 


"ไม่ควรสับสน
ลักษณะของ
โมหะกับลักษณะ
ของ ทิฏฐิ
(ความเห็นผิด)   
ทิฏฐิ เกิดกับ
โลภมูลจิต
เท่านั้น"


 

 

 

 

 

 


"โมหะไม่ใช่
ความเห็นผิด แต่เป็นความ

ไม่รู้
สภาพธรรม
ตามความ

เป็นจริง   โมหะเป็นปัจจัย
ให้เกิดทิฏฐิ "


 

 

 

 

 

 


"โมหะ
เป็นโทษ
เพราะเป็น

มูลของ
อกุศลธรรม
ทั้งปวง"



 
     ราอาจจะรู้ว่าอกุศลจิตขณะใดเป็น โลภมูลจิต หรือเป็น โทสมูลจิต   แต่เรารู้ไหมว่าขณะใดเป็น โมหมูลจิต    โมหะมีลักษณะอย่างไร    เราอาจคิดว่าคนที่มีการศึกษาน้อย   คนที่พูดภาษาต่างประเทศไม่ได้   คนที่ไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์หรือการเมือง    เราเรียกคนที่ไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกว่าเป็นคนเขลา   นั่นเป็นโมหะที่ควรละหรือ    ถ้าเป็นจริงอย่างนั้น   กุศลก็จะเกิดมากกับคนที่พูดได้หลายภาษา   หรือคนที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์และการเมือง เราสามารถพิจารณาได้ว่านั่นไม่ใช่ความจริง

เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของโมหะ   เราควรรู้ว่าโมหะไม่รู้ อะไร บ้าง   ในชีวิตประจำวันของเรานั้นมีโลกของสมมุติบัญญัติซึ่งใช้คำบัญญัติให้เข้าใจสิ่งต่างๆ และมีโลกของ ปรมัตถธรรม หรือโลกของสภาพธรรม    เมื่อเราคิดถึง "โลก" ซึ่งเราบัญญัติขึ้น   เราอาจคิดถึงผู้คน  สัตว์   วัตถุต่างๆ   และเราบัญญัติคำเรียกสิ่งนั้นๆ    แต่เรารู้สภาพธรรมต่างๆในตัวเราและรอบๆตัวตามความเป็นจริงแล้วหรือ ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

โลกของปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง   นามธรรมและรูปธรรมเป็นปรมัตถธรรม    นามธรรมและรูปธรรมซึ่งปรากฏในชีวิตประจำวันของเรานั้น   สามารถรู้ได้ทางปัญจทวารและมโนทวาร   ไม่ว่าจะเรียกนามธรรมและรูปธรรมนั้นว่าอย่างไร    นี่เป็นโลกที่มีจริง    ขณะที่เห็น   เป็นโลกของสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่ได้ยิน  เป็นโลกของเสียง     ขณะกระทบสัมผัสสิ่งใดก็เป็นโลกของโผฏฐัพพารมณ์    สิ่งที่ปรากฏทางตาและการเห็นมีจริง   ลักษณะของสภาพธรรมทั้งสองอย่างสามารถจะรู้ได้ ไม่ว่าเราจะ เรียก ว่า "สิ่งที่ปรากฏทางตา"   หรือ  "การเห็น"   หรือแม้จะไม่เรียกว่าอะไรเลยก็ตาม    แต่เมื่อยึดมั่นในความคิดตามคำที่บัญญัติเรียกว่า   "ต้นไม้"  หรือ  "เก้าอี้"   ก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง    เมื่อมองดูต้นไม้   อะไรเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง    สภาพธรรมใดสามารถปรากฏให้รู้ได้จริงๆ    สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น
ปรมัตถธรรม  เป็นสภาพที่มีจริง   เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่สามารถรู้ได้ ทางตา  สภาพแข็ง เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง   สามารถรู้ได้โดยการกระทบสัมผัส ทางกาย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง    ต้นไม้เป็นบัญญัติหรือความคิดนึก   แต่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่ใช่สภาพธรรมที่จะประจักษ์แจ้งได้    สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี   ความแข็งก็ดี   เป็นปรมัตถธรรมที่มีลักษณะ ให้รู้ได้   ไม่ว่าเราจะเรียกว่าอะไรก็ตาม

โลกที่ปรากฏทาง 6 ทวารเป็นโลกที่มีจริง   แต่ไม่ยั่งยืน   เป็นโลกที่ไม่เที่ยง    ขณะเห็น   เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา   ซึ่งดับไปอย่างรวดเร็ว    ขณะได้ยิน เป็นโลกของเสียงซึ่งไม่เที่ยง   เช่นเดียวกับโลกของกลิ่น   โลกของรส   โลกของโผฏฐัพพารมณ์   และโลกของธรรมารมณ์    อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่า   เรารู้จักโลกที่เป็นสมมุติบัญญัติเท่านั้น   เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) และความเห็นผิดสะสมมานานแสนนาน   ความไม่รู้ปรมัตถธรรม เป็นความไม่รู้ที่ต้องละ   เพราะนำความทุกข์มาให้

โลกที่เป็นปรมัตถธรรมนั้น   ตามพระธรรมเรียกว่าโลกในอริยวินัย   พระอริยเจ้าได้อบรมเจริญปัญญาจนคมกล้าประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง พระอริยเจ้ารู้จักโลกตามความเป็นจริง   
ในสังยุตตนิกาย  สฬายตนวรรค   ฉันนวรรคที่ 4  ปโลกสูตร   ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ที่เรียกกันว่าโลกๆดังนี้   ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกกันว่าโลก"

"ดูกรอานนท์   สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดานี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย   ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา    จักษุแล   มีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูป ... ชิวหา ... ใจ ... มีความแตกสลายเป็นธรรมดา    ธรรมารมณ์ ... มโนวิญญาณ ... มโนสัมผัส  สุขเวทนา   ทุกขเวทนา  หรือ   อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย   ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา   ดุกรอานนท์   สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา   นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัยฯ"

บางคนอาจจะคิดว่า   เขารู้จักตังเองได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องประจักษ์แจ้งโลกที่ปรากฏทาง 6 ทวาร   เขาอาจคิดว่าเขารู้จักความโกรธและความโลภของเขา   แต่เขาไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าสภาพธรรมเหล่านั้นเป็นเพียงนามธรรมแต่ละอย่างและไม่ใช่ตัวตน    ตราบใดที่เขายังยึดถือสภาพธรรมต่างๆว่าเป็นตัวตน   เขาก็ยังไม่รู้จักตัวเองจริงๆ   และยังดับกิเลสไม่ได้   ยังคงยึดมั่นในความเห็นผิดว่ามีตัวตน ยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมใดๆ   เป็นการยากที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นโลภะ   โทสะ  และโมหะ   และเป็นการยากที่สติจะระลึกรู้อกุศลธรรมที่ละเอียดยิ่งขึ้น    เมื่ออบรมเจริญ "ปัญญา" ก็จะรู้ว่ารู้จักตัวเองน้อยเพียงไร

ขณะใดที่โมหะเกิดขึ้น   ขณะนั้นก็อยู่ในความมืดบอด   พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยพระมหากรุณาคุณ   พระธรรมเป็นดวงประทีปซึ่งทำความมืดให้สิ้นไป    ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรม   ก็ไม่เข้าใจโลก   ไม่เข้าใจตังเอง   ไม่เข้าใจกุศลกรรม   อกุศลกรรม   ไม่เข้าใจผลของกรรม   และไม่เข้าใจหนทางปฏิบัติที่จะละกิเลส

การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เข้าใจลักษณะของโมหะมากขึ้น   

ในอัฏฐสาลินี   อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ 
จิตตุปปาทกัณฑ์   พรรณนาอกุสลปทภาชนีย    อธิบายโมหะว่า

โมหะมีความมืดของจิตเป็นลักษณะ   หรือมีความไม่รู้เป็นลักษณะ   มีความไม่แทงตลอดเป็นรส   หรือมีความปกปิดสภาวะของอารมณ์เป็นรส   มีความไม่ปฏิบัติชอบเป็นปัจจุปัฏฐาน   หรืออันธการคือมืดมนเป็นปัจจุปัฏฐาน   มีการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคายเป็นปทัฏฐาน   พึงเห็นว่าเป็นมูลแห่งอกุศลทั้งปวงฯ

โมหะมีหลายขั้น   เมื่อศึกษาพระธรรม   ความไม่รู้เรื่องสภาพธรรมต่างๆ ก็จะน้อยลง   แต่จะเข้าใจปรมัตถธรรม   กรรมและวิบากมากขึ้น   แต่ก็มิได้หมายความว่า   เราจะสามารถละโมหะได้แล้ว   เพราะโมหะละไม่ได้เพียงด้วยการคิดเรื่องสัจจธรรม แต่จะละได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญา   ซึ่งสามารถรู้แจ้งโลกในอริยวินัย   คือ  จักขุ   สิ่งที่ปรากฏทางตา (รูปารมณ์)   จักขุวิญาณ  โสต  เสียง
(สัททารมณ์)  โสตวิญาณ   และสภาพธรรมทุกอย่างที่ปรากฏทางทวาร 6

เมื่อศึกษาพระอภิธรรมก็จะรู้ว่า   โมหะเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง   โลภมูลจิตมีโมหะและโลภะเป็นมูล   โทสมูลจิตมีโมหะและโทสะเป็นมูล    อกุศลจิต 2 ดวงที่มีโมหะเป็นมูลอย่างเดียว   คือ  โมหมูลจิต 2 ดวง  โมหมูลจิตดวงหนึ่งมีความสงสัย (วิจิกิจฉา) เกิดร่วมด้วย    และ โมหมูลจิตดวงหนึ่งมีความไม่สงบ (อุทธัจจะ) เกิดร่วมด้วย   เวทนา ที่เกิดกับโมหมูลจิตนั้นเป็น อุเบกขาเวทนา อย่างเดียว    โมหมูลจิตไม่มีโลภะหรือโทสะ   ไม่มีโสมนัสหรือโทมนัส   โมหมูลจิต 2 ดวงเป็นอสังขาริก

ไม่ควรสับสนลักษณะของโมหะกับลักษณะของ ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)    ทิฏฐิ เกิดกับโลภมูลจิต เท่านั้น    เมื่อทิฏฐิเกิดขึ้น   ก็เห็นว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเที่ยง   หรือยึดถือว่าเป็นตัวตน    โมหะไม่ใช่ความเห็นผิด   แต่เป็นความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง   โมหะเป็นปัจจัยให้เกิดทิฏฐิ   แต่ลักษณะของโมหะต่างกับลักษณะของทิฏฐิ

โมหมูลจิต 2 ดวง  ได้แก่

  1. โมหมูลจิตเกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนา   ประกอบด้วย วิจิกิจฉา (อุเปกฺขาสหคตํ  
    วิจิกิจฺฉา  สมฺปยุตฺตํ)
  2. โมหมูลจิตเกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนา   ประกอบด้วย อุทธัจจะ (อุเปกฺขาสหคตํ  
    อุทธจฺจ  สมฺปยุตฺตํ)

ขณะที่โมหมูลจิตประกอบด้วย วิจิกิจฉา เกิดขึ้นนั้น มีความสงสัยในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   พระธรรม  และพระอริยสงฆ์    สงสัยว่า   พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้จริงหรือ   พระองค์ทรงสอนหนทางปฏิบัติซึ่งนำไปสู่การดับกิเลสได้จริงหรือ    มีพระอริยบุคคลที่ตรัสรู้เช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคได้ด้วยหรือ    สงสัยเรื่องชาติก่อนและชาติหน้า   เรื่องกรรมและวิบาก   ความสงสัยมีหลายขั้น   เมื่อเริ่มอบรมเจริญปัญญาก็อาจจะสงสัยเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สงสัยว่าสภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม   เช่น   เมื่อมีการได้ยินก็ย่อมมีเสียงด้วย   แต่สติจะระลึกรู้สภาพธรรมได้ทีละอย่างเท่านั้น   เพราะจิตขณะหนึ่งรู้อารมณ์ได้หนึ่งอารมณ์เท่านั้น    ฉะนั้นก็อาจจะสงสัยว่า   สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นเป็นนามที่ได้ยินหรือเป็นรูป (เสียง)    นามรูปเกิดดับรวดเร็วมาก   และเมื่อยังไม่ได้อบรมณ์เจริญปัญญาถึงขั้นประจักษ์ลักษณะที่แตกต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว   ก็ไม่รู้แน่ชัดว่าสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ   จะยังสงสัยในโลกของปรมัตถธรรม   จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปขณะที่ปรากฏทาง 6 ทวาร

ในอัฏฐสาลินี   อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ 
จิตตุปปาทกัณฑ์   พรรณนาอกุสลปทภาชนีย   อธิบายลักษณะของวิจิกิจฉาว่า

อีกอย่างหนึ่ง   ชื่อว่าวิจิกิจฉา   ด้วยอรรถว่า  เป็นเหตุยาก   คือ   ลำบากของบุคคลผู้ค้นคว้าสภาวธรรม   มีความสงสัยเป็นลักษณะ   มีความหวั่นไหวเป็นรส   มีการตกลงใจไม่ได้เป็นปัจจุปัฏฐาน   หรือ มีการถือเอาโดยส่วนเดียวไม่ได้เป็น
ปัจจุปัฏฐาน   มีอโยนิโสมนสิการเป็นปทัฏฐาน   บัณฑิตพึงเห็นว่ากระทำอันตรายต่อการปฏิบัติ

วิจิกิจฉาต่างกับทิฏฐิ   เมื่อทิฏฐิเกิดขึ้นนั้นมีความยึดมั่นว่า สภาพธรรมเที่ยงหรือเป็นตัวตน   เป็นต้น    เมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้น   มี ความสงสัย ว่า   นามต่างกับรูปหรือไม่   มีตัวตนหรือไม่   สภาพธรรมเที่ยงหรือไม่เที่ยง   ไม่มีหนทางอื่นใดที่จะดับวิจิกิจฉาได้ นอกจากอบรมเจริญปัญญาซึ่งประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง    ผู้ที่สงสัยว่าพระผู้มีพระภาคมีจริงหรือไม่   และสงสัยในคำสอนของพระองค์ อาจคิดว่าความสงสัยจะหมดไปได้ด้วยการศึกษาเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์   เขาอยากจะรู้รายละเอียดในสมัยพระผู้มีพระภาคและสถานที่ที่พระองค์จาริกไป   เขาอยากจะรู้ว่าคำสอนของพระองค์จารึกไว้เมื่อใดแน่   แต่เขาก็ไม่หมดความสงสัยได้   ด้วยการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์    เพราะไม่ทำให้บรรลุจุดหมายในพระพุทธศาสนา   ซึ่งเป็นการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท  

คนในสมัยพุทธกาลก็คาดฝันในสิ่งที่ไม่นำไปสู่จุดหมายของพระธรรม   เขาสงสัยว่า   โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด   โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยงพระผู้มีพระภาคทรงมีพระชนม์อยู่หลังจากทรงดับขันธปรินิพพานแล้วหรือไม่    ในมัชฌิมนิกาย   มัชฌิมปัณณาสก์   จูฬมาลุงโกยวาทสูตร   มีข้อความว่า  ท่านพระ
มาลุงกยบุตรไม่พอใจที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฐิเหล่านั้น    ท่านต้องการที่จะทูลถามเนื้อความนั้นต่อพระผู้มีพระภาค   และถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์   ท่านก็จะลาสิกขาบท   ท่านกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเกี่ยวกับเรื่องนี้   พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านว่า   พระองค์ได้เคยตรัสกะท่านดังนี้หรือว่า

"ดูกรมาลุงกยบุตร   เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า   เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด   เราจักพยากรณ์แก่เธอว่าโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง ...   หรือพระตถาคตมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ หลังจากปรินิพพานแล้ว ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่   สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไม่มีอยู่"

ท่านพระมาลุงกยบุตรทูลตอบว่า   "ไม่ใช่อย่างนั้นพระเจ้าข้า"   พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านต่อไปว่า ท่านได้เคยทูลพระองค์ว่า   ตนจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์ทิฐิเหล่านี้แก่ท่านหรือ  
ท่านพระมาลุงกยบุตรทูลตอบว่า   "ไม่ใช่อย่างนั้นพระเจ้าข้า"    พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาว่า   บุรุษต้องศรอาบยาพิษ   แต่เขาไม่ยอมเอาลูกศรออก   จนกว่าจะรู้จักบุรุษผู้ยิงตนนั้นว่าเป็นกษัตริย์   เป็นพราหมณ์  แพศย์   หรือศูทร  มีชื่อว่าอย่างนี้   มีโคตรอย่างนี้   สูงตํ่าหรือปานกลาง   ธนูที่ใช้ยิงตนเป็นชนิดมีแล่งหรือเกาทัณฑ์   บุรุษนั้นพึงทำกาละไปก่อนที่จะรู้ข้อนั้น   เช่นเดียวกับบุคคลจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคก็ต่อเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ทิฐิเหล่านั้นแก่เขา   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"ดูกรมาลุงกยบุตร   เมื่อมีทิฐิว่าโลกเที่ยงดังนี้   จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือก็ไม่ใช่อย่างนั้นฯ   ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฐิว่าโลกไม่เที่ยงดังนี้   จักไม่มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ   แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่   ดูกรมาลุงกยบุตรเมื่อยังมีทิฐิว่าโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยงอยู่   ชาติ  ชรา  มรณะ  โสกะ   ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส   และอุปายาสในปัจจุบัน

ดูกรมาลุงกยบุตร   เพราะเหตุนี้แล
เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์   และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด   ดูกร  มาลุงกยบุตร   อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์   ดูกร  มาลุงกยบุตร ทิฐิว่าโลกเที่ยง   โลกไม่เที่ยง ...   ดูกรมาลุงกยบุตร   ก็เพราะเหตุไรข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์   เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์   ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์   ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย   เพื่อความคลายกำหนัด   เพื่อความดับ  เพื่อความสงบ   เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้  เพื่อนิพพาน   เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น   ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราพยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร ความเห็นว่านี้ทุกข์   นี้เหตุให้เกิดทุกข์   นี้ความดับทุกข์   นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์   ดังนี้  เราพยากรณ์   ก็เพราะเหตุไร   เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น   เพราะข้อนั้นประกอบด้วยประโยชน์   เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์   เป็นไปเพื่อความหน่าย   เพื่อความคลายกำหนัด   เพื่อความดับ  เพื่อความสงบ   เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้   เพื่อนิพพานฯ"

ความสงสัย (วิจิกิจฉา) จะหมดไม่ได้ด้วยการคาดคะเนเรื่องต่างๆที่ไม่ได้ทำให้ดับกิเลส   แต่จะหมดไปได้ด้วยการระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้   แม้ว่าจะเกิดสงสัยก็สามารถรู้ได้ว่า (ความสงสัย) เป็นเพียงนามธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและไม่ใช่ตัวตน   ด้วยเหตุนี้ความรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจึงจะชัดเจนยิ่งขึ้น

โมหมูลจิตดวงที่สองเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาประกอบด้วยอุทธัจจะ   โดยศัพท์  อุทธัจจะ   หมายถึง  สภาพไม่สงบ   หรือ  ฟุ้งซ่าน  
อุทธัจจะเกิดกับอกุศลจิต ทุกประเภท (ดวง)   ขณะใดที่จิตมีอุทธัจจะขณะนั้นไม่มี สติ สติเกิดกับโสภณจิตทุกดวง   สติระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม   สติไม่ได้เกิดเฉพาะกับวิปัสสนาเท่านั้น   ขณะให้ทาน  รักษาศีล ศึกษาพระธรรม  แสดงพระธรรม   หรือเจริญสมถภาวนานั้น   สติก็เกิดร่วมด้วย  แต่สติในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น   ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

จิตที่มี อุทธัจจะ เป็นกุศลไม่ได้   ขณะนั้นจะไม่ให้ทานรักษาศีล   หรือเจริญภาวนา   อุทธัจจะทำให้จิตฟุ้งจากกุศลธรรม   อุทธัจจะ เป็น สภาพธรรมที่ไม่สงบอยู่ในกุศลธรรม ฉะนั้นอุทธัจจะจึงต่างจากที่พูดกันทั่วไปว่าความกระวนกระวาย

อุทธัจจะ เกิดกับโมหมูลจิตที่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย เพราะ อุทธัจจะ เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง
แต่โมหมูลจิตดวงที่สองมีชื่อว่า   อุทธัจจสัมปยุตต์   ต่างกับโมหมูลจิตดวงที่หนึ่งซึ่งมีชื่อว่า วิจิกิจฉาสัมปยุตต์

โมหมูลจิตดวงที่สองคืออุทธัจจสัมปยุตต์นั้นเกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในวันหนึ่งๆ   แต่ก็ยากที่จะรู้ลักษณะของจิตดวงนี้   ถ้าไม่อบรมเจริญวิปัสสนาก็จะไม่รู้ลักษณะของโมหมูลจิตดวงนี้   ขณะที่ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมและเพ้อฝันนั้นไม่ใช่จิตดวงนี้ก็ได้   ขณะคิดฝันนั้นไม่ได้มีแต่โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์เท่านั้น   แต่มีโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตด้วย    ขณะที่ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมและอกุศลจิต   ขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิต   ไม่ใช่โทสมูลจิต   ไม่ใช่โมหมูลจิต
วิจิกิจฉาสัมปยุตต์   ขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิต
อุทธัจจสัมปยุตต์

โมหมูลจิตเกิดขณะที่รู้อารมณ์ทางทวารใดทวารหนึ่งใน 6 ทวาร  เช่น  ขณะได้ยินเสียง   โมหมูลจิตก็อาจจะเกิด   ขณะที่โมหมูลจิตดวงที่สองซึ่งเป็นอุทธัจจสัมปยุตต์เกิดนั้นจะไม่รู้สภาพของอารมณ์ขณะนั้น   เราอาจไม่เห็นโทษของโมหมูลจิตดวงนี้เพราะเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   แต่อกุศลจิตทุกประเภทเป็นโทษ

โมหะเป็นโทษเพราะเป็นมูลของอกุศลธรรมทั้งปวง
เมื่อไม่รู้สถาพธรรมตามความเป็นจริง   อกุศลก็จะสะสมมากขึ้น   โมหะเป็นปัจจัยให้เกิดให้เกิดโลภ
เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมเพลิดเพลินไปในอารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏทางทวารต่างๆ  
โมหะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะด้วย เมื่อไม่รู้สภาพธรรมก็ย่อมจะโกรธเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ   โมหะเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง   และเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมบถ 10  ทางกาย  วาจา  ใจ    ขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน 6 ทวารเท่านั้น   ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนสามารถดับโมหะได้เป็นสมุจเฉท

พระโสดาบันบุคคล (ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นแรก) ดับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ได้เป็นสมุจเฉท   ท่านไม่มีความสงสัยในปรมัตถธรรมอีกเลย   ท่านรู้จักโลกในอริยวินัย   ไม่มีความสงสัยเคลือบแคลงในพระผู้มีพระภาค   พระธรรม  และพระสงฆ์    ไม่สงสัยในมัคคปฏิปทาซึ่งนำไปสู่ความดับกิเลส    พระโสดาบันบุคคล   พระสกทาคามีบุคคล
(รู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นที่สอง)   และพระอนาคามีบุคคล (ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นที่สาม)   ยังมีโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์   พระอรหันต์เท่านั้นที่ดับอกุศลได้หมดสิ้น

อวิชชา   ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง   ไม่รู้อริยสัจจ์ 4   เพราะอวิชชาจึงไม่รู้ในอริยสัจจ์ข้อที่หนึ่ง   คือ  ทุกข์อริยสัจจ์   ไม่ประจักษ์ว่านามธรรมและรูปธรรมไม่เที่ยงและเป็นทุกข์   ไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่สอง   คือ  ตัณหา   ซึ่งเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์   เพราะติดข้องในนามและรูป สังสารวัฏฏ์
จึงไม่สิ้นสุด   ทุกข์จึงไม่สิ้นสุด   ไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่สาม   คือ  พระนิพพาน   ซึ่งเป็นธรรมที่ดับทุกข์   ไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่สี่   คือ  อริยมรรคมีองค์ 8   ซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์   อริยมรรคมีองค์ 8   จะเจริญขึ้นในการเจริญวิปัสสนาภาวนา

ในสังยุตตนิกาย  สุตตนิบาต   สฬายตนวรรค 
ชัมพุขาทกสังยุตต์  ข้อ 505    ปริพาชกชื่อว่า
ชัมพุขาทก ถามท่านพระสารีบุตรว่า

ช.      ดูกรท่านสารีบุตร   ที่เรียกว่าอวิชชาๆดังนี้   อวิชชาเป็นไฉนหนอฯ

สา.    ดูกรผู้มีอายุ   ความไม่รู้ในทุกข์   ในเหตุเกิดแห่งทุกข์   ในความดับทุกข์  ในปฏิปทา   เครื่องให้ถึงความดับทุกข์   นี้เรียกว่า  อวิชชาฯ

ช.      ดูกรท่านผู้มีอายุ   ก็มรรคามีอยู่หรือ   ปฏิปทามีอยู่หรือ   เพื่อละอวิชชาเหล่านั้นฯ

สา.    มีอยู่   ผู้มีอายุฯ

ช.       ดูกรท่านผู้มีอายุ   ก็มรรคาเป็นไฉน   ปฏิปทาเป็นไฉน   เพื่อละอวิชชาเหล่านั้นฯ

สา.    ดูกรผู้มีอายุ   อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8   อริยมรรคมีองค์ 8   เป็นหนทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับโมหะ
          

 

 

ดูสารบัญ

home         ปัญหาถาม-ตอบ        หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ