Buddhist Study   บทที่ 9   อเหตุกจิตที่ไม่มีใครรู้ในชีวิตประจำวัน    

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

 

 

 


"วิบากจิตที่
รับรู้รูปารมณ์
สืบต่อจาก
จักขุวิญญาณ
นั้นชื่อว่า
สัมปฏิจฉันนจิต"


 

 

 

 

 

 

 


"รูปธรรมดับ
ช้ากว่า
นามธรรม"


 

 

 

 

 

 

 


"จิตที่รู้อารมณ์
นั้นไม่ใช่เพียง
ดวงเดียว แต่
มีวิถีจิตหลาย
ขณะเกิดดับ
สืบต่อกันและ
รู้อารมณ์
เดียวกันนั่นเอง"


 

 

 

 

 

 

 


"สัมปฏิจ-
ฉันนจิต เป็น
อเหตุกวิบากจิต
ไม่มีอกุศลเหตุ
หรือโสภณเหตุ
เกิดร่วมกับจิต
ดวงนี้"


 

 

 

 

 

 

 


"อเหตุกวิบากจิต
ซึ่งเป็นผลของ
กรรมอีกดวงหนึ่ง
ที่เกิดสืบต่อ
สัมปฏิจ-
ฉันนจิต
นั้นเรียกว่า
สันตีรณจิต"


 

 

 

 

 

 

 


"อเหตุกจิตเป็น
อกุศลวิบาก
7 ดวงและเป็น
กุศลวิบาก
8 ดวง เพราะ
สันตีรณจิต-
กุศลวิบาก
มี 2 ดวง"


 

 

 

 

 

 

 


"จิตซึ่งรู้
อารมณ์ทาง
ทวารใดทวาร
หนึ่งจะรู้
อารมณ์นั้น
เพียงอารมณ์
เดียว"


 

 

 

 

 

 

 


"พระอรหันต์
มีโสภณกิริยาจิต
ซึ่งประกอบด้วย
โสภณเหตุ
แทนกุศลจิต"


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 
       อเหตุกจิต หรือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ 
มี 18 ดวง (ประเภท) เป็นวิบากจิต 15 ดวง  ใน 15 ดวงนี้ เป็นทวิปัญจวิญญาณจิต 10 ดวง  คือ

จักขุวิญญาณจิต           2 ดวง
โสตวิญญาณจิต           2 ดวง
ฆานวิญญาณจิต           2 ดวง
ชิวหาวิญญาณจิต          2 ดวง
กายวิญญาณจิต            2 ดวง

จักขุวิญญาณจิตเป็นผลของกรรม   เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรมจักขุวิญญาณก็เป็นอกุศลวิบากที่เห็นอนิฏฐารมณ์   ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม   จักขุวิญญาณก็เป็นกุศลวิบากที่เห็นอิฏฐารมณ์   จักขุวิญญาณทำกิจรู้รูปารมณ์

กรรมที่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดนั้น   ไม่ได้เป็นปัจจัยให้เฉพาะจักขุวิญญาณจิตเกิดเท่านั้น   แต่ยังเป็นปัจจัยให้วิบากจิตอีก 2 ดวงเกิดสืบต่อจากจักขุวิญญาณ   วิบากจิตที่ รับรู้ รูปารมณ์สืบต่อจากจักขุวิญญาณนั้นชื่อว่า สัมปฏิจฉันนจิต  เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว   รูปารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์ของจัขุวิญญาณยังไม่ดับ   เพราะรูปารมณ์เป็นรูป   รูปธรรมดับช้ากว่านามธรรม    เมื่ออารมณ์ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน 6 ทวาร   จิตที่รู้อารมณ์นั้นไม่ใช่เพียงดวงเดียว   แต่มี วิถีจิต หลายขณะเกิดดับสืบต่อกันและรู้อารมณ์เดียวกันนั่นเอง

ถ้าจักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก   สัมปฏิจฉันนจิตก็เป็นอกุศลวิบาก   ถ้าจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก   สัมปฏิจฉันนจิตก็เป็นกุศลวิบาก  
ฉะนั้น  สัมปฏิจฉันนจิตจึงม2 ดวง   เป็นอกุศลวิบากดวงหนึ่ง   เป็นกุศลวิบากดวงหนึ่ง
สัมปฏิจฉันนจิตเป็น อเหตุกวิบากจิต   ไม่มีอกุศลเหตุหรือโสภณเหตุเกิดร่วมกับจิตดวงนี้
สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อจากจักขุวิญญาณจิต   จักขุวิญญาณเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิด
โดยนัยเดียวกัน   เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นรู้เสียง  
สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดสืบต่อโสตวิญญาณจิต   ทางฆานทวาร  ชิวหาทวาร   และกายทวารก็โดยนัยเดียวกัน

สัมปฏิจฉันนจิตเกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนา ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสัมปฏิจฉันนจิตอกุศลวิบาก   หรือกุศลวิบาก

เมื่อปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว   วิถีจิตก็ยังเกิดสืบต่อไปอีก   อเหตุกวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมอีกดวงหนึ่งที่เกิดสืบต่อสัมปฏิจฉันนจิตนั้นเรียกว่า สันตีรณจิต  สันตีรณจิต พิจารณา อารมณ์ที่รับต่อจากสัมปฏิจฉันนะ   สันตีรณจิตเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตทางปัญจทวาร
สัมปฏิจฉันนจิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สันตีรณจิตเกิด   ขณะเห็น   จักขุวิญญาณจิตเกิดและดับไป   แล้วสัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อแล้วดับไป   แล้วสันตีรณจิตก็เกิดต่อ   เป็นวิถีจิตที่รู้รูปารมณ์   ทางจักขุทวาร  ทางโสตทวาร   ฆานทวาร  ชิวหาทวาร  กายทวาร   ก็เช่นเดียวกัน   สันตีรณจิตเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต   เราจะเลือกให้สันตีรณจิตเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่ได้   จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย   บังคับบัญชาไม่ได้

สันตีรณจิต เป็น อเหตุกวิบากจิต   เมื่ออารมณ์เป็นอนิฏฐารมณ์   สันตีรณจิตก็เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ส่วนสันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากนั้นมี 2 ดวง    เมื่ออารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ธรรมดาๆ   สันตีรณจิตก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   เมื่ออารมณ์เป็นที่น่าพอใจยิ่ง (อติอิฏฐารมณ์)
สันตีรณจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา   ฉะนั้น 
สันตีรณจิตจึงมี 3 ดวง   สันตีรณจิตดวงไหนจะเกิดขึ้นนั้นย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัย

ด้วยเหตุนี้จึงมีอเหตุกวิบากจิต 15 ดวง  กล่าวโดยย่อดังนี้

ทวิปัญจวิญญาณจิต  (5) คู่        10  ดวง
สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบากจิต         1   ดวง
สัมปฏิจฉันนกุศลวิบากจิต           1   ดวง
อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต     1  ดวง
อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต       1  ดวง
โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต        1  ดวง

อเหตุกจิตเป็นอกุศลวิบาก 7 ดวง  และเป็น กุศลวิบาก 8 ดวง   เพราะสันตีรณจิตกุศลวิบากมี 2 ดวง

ตามที่ทราบแล้วว่า   อเหตุกจิตทั้งหมดมี 18 ดวง   เป็น วิบากจิต 15 ดวง   และเป็น กิริยาจิต 3 ดวง    กิริยาจิตต่างกับอกุศลจิต   กุศลจิต  และวิบากจิต    อกุศลจิตและกุศลจิตเป็นจิตที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีบ้าง   ที่ดีบ้าง   ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดผลสมควรแก่เหตุนั้นๆ    วิบากจิตเป็นผลของอกุศลกรรมและกุศลกรรม   กิริยาจิตเป็นจิตที่ไม่ใช่เหตุและไม่ใช่ผล

อเหตุกกิริยาจิตดวงหนึ่งภาษาบาลีเรียกว่า  
ปัญจทวาราวัชชนจิต (ปัญจะ แปลว่า 5    ทวาร แปลว่า ทาง ประตู   อาวัชชนะ แปลว่า  น้อมไปสู่)   เมื่ออารมณ์กระทบปสาทหนึ่งในปสาท 5   จิตดวงหนึ่งจะเกิดขึ้นน้อมไปสู่อารมณ์ที่กระทบทวารนั้น   เช่น   เมื่อรูปารมณ์กระทบจักขุปสาท   จักขุทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น   รู้ว่ารูปกระทบจักขุทวารก่อนจักขุวิญญาณจิตเกิด    เมื่อเสียงกระทบโสตปสาท   โสตทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้ว่าเสียงกระทบโสตทวารก่อนโสตวิญญาณเกิด   ปัญจทวาราวัชชนจิตรู้แต่เพียงว่าอารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน 5 ทวาร   ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ได้ทำกิจเห็นหรือได้ยิน   ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นอเหตุกกิริยาจิตดวงหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยเหตุ   ขณะนั้นยังไม่มีความชอบหรือความไม่ชอบเกิดขึ้น
ทวิปัญจวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่งซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต

จิตแต่ละดวงซึ่งเกิดดับสืบต่อ   รู้อารมณ์เดียวกันมีกิจเฉพาะตนๆ

จิตซึ่งรู้อารมณ์ทางทวารใดทวารหนึ่งจะรู้อารมณ์นั้นเพียงอารมณ์เดียว   เช่น  ขณะที่อ่านหนังสือ   จิตซึ่งทำกิจเห็นจะรู้รูปารมณ์เท่านั้น   ไม่รู้ความหมายของตัวหนังสือ   เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับไปแล้ว   มโนทวารวิถีจิตจะรับรู้รูปารมณ์นั้นต่อ   และหลังจากนั้นมโนทวารวิถีจิตวาระอื่นก็เกิดขึ้น   รู้ความหมายและคิดเรื่องที่อ่านนั้น   ฉะนั้นจึงมีวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารใดทวารหนึ่งใน 5 ทวาร   และมีวิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร

อเหตุกกิริยาจิต อีกดวงหนึ่งคือ มโนทวาราวัชชนจิต (จิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบมโนทวาร)   ซึ่งเกิดขึ้นทั้งทางปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี   แต่ กระทำกิจต่างกัน   เพราะเกิดต่างวิถี   คือเมื่ออารมณ์กระทบทวารใดทวารหนึ่งใน 5 ทวาร 
ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรำพึงถึงอารมณ์นั้น  
ทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น  
สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อ   สันตีรณจิตเกิดขึ้นพิจารณาอารมณ์   อเหตุกกิริยาจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจ โวฏฐัพพนะ    คือกำหนดอารมณ์ต่อจากสันตีรณจิต   จิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจนี้เป็นจิตประเภทเดียวกับ มโนทวาราวัชชนจิต นั่นเอง (มโนทวาราวัชชนจิต   เป็นจิตดวงแรกของมโนทวารวิถี)    แต่เมื่อจิตดวงนี้เกิดทาง ปัญจทวารวิถี ก็เรียกว่า  โวฏฐัพพนจิต   เพราะทำ โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารวิถี   เมื่อโวฏฐัพพนจิตเกิดทำโวฏฐัพพนกิจและดับไปแล้ว    สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์   อกุศลจิตหรือกุศลจิตก็เกิดต่อ   การที่อกุศลจิตหรือกุศลจิตจะเกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิตนั้นย่อมเป็นไปตามการสะสมอกุศลและกุศลของแต่ละบุคคล

เมื่อปัญจทวารวิถีจิตดับไปแล้ว   มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อ   มโนทวาราวัชชนจิต   เป็นจิตดวงแรกในมโนทวารวิถีที่รู้อารมณ์ที่เพิ่งดับไปนั้น    ในปัญจทวารวิถี   ปัญจทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ   เช่น  ปัญจทวาราวัชชนจิตรู้
รูปารมณ์หรือสัททารมณ์ที่กระทบจักขุทวารหรือ
โสตทวาร   แต่มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดทาง
มโนทวารวิถีรู้อารมณ์ที่เพิ่งดับไปแล้วนั้นต่อ   เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว   กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดสืบต่อ   (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์)  
รู้อารมณ์เดียวกันนั้น   มโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่อกุศลจิตหรือกุศลจิต   แต่เป็นกิริยาจิต

แม้ว่าโวฏฐัพพนจิตทางปัญจทวารวิถี   และมโนทวาราวัชชนจิตทางมโนทวารวิถี   เป็นอเหตุกกิริยาจิตประเภทเดียวกัน   แต่กิจของจิตสองดวงนี้ต่างกัน   จิตดวงนี้ทำ โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารวิถี   และทำ อาวัชชนกิจทางมโนทวารวิถี   ฉะนั้น   เมื่อกล่าวถึงมโนทวาราวัชชนจิต   ต้องรู้ว่าทำกิจอะไรด้วย

เมื่อเสียงกระทบโสตปสาท   โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้เสียงดับไปหมดแล้ว   มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้เสียงที่เพิ่งดับไปนั้นต่อวิถีจิตทางปัญจทวาร   วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวารและทางมโนทวารเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว

จะมีอกุศลจิตหรือกุศลจิตเกิดทางปัญจทวารได้อย่างไรในเมื่อยังไม่รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไร   อกุศลจิตหรือกุศลจิตเกิดก่อนที่จะรู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไรได้   ซึ่งพอจะเปรียบได้กับการที่เด็กเล็กๆชอบของที่มีสีสดใส   เช่น  ลูกโป่ง   โดยยังไม่รู้ว่าเป็นลูกโป่ง    โลภะหรือโทสะในอารมณ์นั้นย่อมเกิดได้ก่อนที่จะรู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไร

อเหตุกกิริยาจิตอีกดวงหนึ่ง   คือ  หสิตุปปาทจิต (จิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้ม)    พระอรหันต์เท่านั้นที่มีจิตประเภทนี้   การหัวเราะและการยิ้มเกิดจากจิตหลายประเภท   บุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์ย่อมยิ้มเพราะโลภะหรือกุศลจิตเป็นปัจจัย    พระอรหันต์ไม่มีกิเลสเลย   ท่านจึงไม่มีทั้งอกุศลจิตและกุศลจิต   ไม่มีกรรมใดๆอีกต่อไป    พระอรหันต์มี โสภณกิริยาจิต ซึ่งประกอบด้วยโสภณเหตุแทนกุศลจิต   พระอรหันต์ไม่หัวเราะ   เพราะดับเหตุที่จะให้หัวเราะ ท่านเพียงแต่ยิ้มเท่านั้น   ขณะที่พระอรหันต์ยิ้มนั้น 
ท่านอาจยิ้มด้วยโสภณกิริยาจิตหรือ หสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็น อเหตุกกิริยาจิต ก็ได้

ฉะนั้น  อเหตุกจิต 18 ดวง   จึงเป็นวิบากจิต 15 ดวง และเป็นกิริยาจิต 3 ดวง อเหตุกกิริยาจิต 3 ดวง คือ

  1. ปัญจทวาราวัชชนจิต  (จิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบปัญจทวาร)
  2. มโนทวาราวัชชนจิต  (จิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบมโนทวาร)   ซึ่งทำ อาวัชชนกิจทางมโนทวาร และทำ โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารวิถ
  3. หสิตุปปาทจิต  (จิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้ม)

ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีอเหตุกจิตเพียง 17 ดวงเท่านั้น  อเหตุกจิต 17 ดวงนี้เกิดในชีวิตประจำวันของเรา   เมื่ออารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใดในปัญจทวาร   ปัญจทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ที่กระทบทวาร เมื่อจิตดวงนี้ดับไปแล้ว   ปัญจวิญญาณจิตดวงหนึ่งเกิดต่อทำกิจรู้อารมณ์   แล้วสัมปฏิจฉันนจิตเกิดทำกิจรับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ   แล้วสันตีรณจิตเกิด ทำกิจพิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต   แล้วโวฏฐัพพนจิตก็เกิดขึ้นกำหนดอารมณ์   แล้วอกุศลจิตหรือกุศลจิตก็เกิดต่อ   เมื่อปัญจทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว   มโนทวารวิถีก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อ   โดยมโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์กระทบทางมโนทวารแล้ว   ต่อจากนั้นอกุศลจิตหรือกุศลจิตก็เกิดสืบต่อ   ถ้าอกุศลจิตเกิดก็มีการพิจารณาไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ)    ถ้ากุศลจิตเกิดก็มีการพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)  เช่น   เมื่อเห็นแมลง  โทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) อาจเกิดขึ้น   ขณะนั้นมีอโยนิโสมนสิการ   โทสะอาจแรงกล้าถึงกับต้องการฆ่าแมลงนั้น   ซึ่งก็เป็นอกุศลกรรม   แต่ถ้าระลึกได้ว่าการฆ่าเป็นอกุศล   แล้วละเว้นการฆ่า   ขณะนั้นเป็นกุศลจิต   จึงมีโยนิโสมนสิการ    การศึกษาพระธรรมและการอบรมเจริญปัญญาจะเป็นปัจจัยให้โยนิโสมนสิการเกิด   ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน 6 ทวาร  ขณะนั้นมีโยนิโสมนสิการ

บุคคลสองคนในสถานการณ์เดียวกัน   คนหนึ่งอาจมีอโยนิโสมนสิการ   อีกคนหนึ่งอาจมีโยนิโสมนสิการ   ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล    ในสังยุตตนิกายสฬายตนวรรค  
อวัสสุตสูตร    มีข้อความเรื่องพระภิกษุผู้ไม่พิจารณาอารมณ์โดยแยบคาย   และพระภิกษุผู้พิจารณาอารมณ์โดยแยบคาย   ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   เราจักแสดงอวัสสุตปริยายและอนวัสสุตปริยายแก่ท่านฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ภิกษุย่อมเป็นผู้มีใจชุ่มด้วยกามอย่างไร

ภิกษุในศาสนานี้เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว   ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก   ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก   เป็นผู้ไม่ตั้งกายคตาสติไว้   มีใจมีประมาณน้อยอยู่   และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ   ปัญญาวิมุติอันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอตามความเป็นจริง ฯลฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มีใจชุ่มแล้วในรูป   เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ   ธรรมารมณ์   อันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา  หู   จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ฯ    ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ถ้าแม้ว่ามารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางจักษุ มารย่อมได้ช่องได้เหตุฯ   ถ้าแม้ว่ามารเข้าไปหาภิกษุนั้น   ผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางใจ   มารย่อมได้ช่องได้เหตุฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ก็รูปครอบงำภิกษุผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น   ภิกษุไม่ครอบงำรูป   เสียงครอบงำภิกษุ   ภิกษุไม่ครอบงำเสียง   กลิ่นครอบงำภิกษุ   ภิกษุไม่ครอบงำกลิ่น   รสครอบงำภิกษุ   ภิกษุไม่ครอบงำรส   โผฏฐัพพะครอบงำภิกษุ   ภิกษุไม่ครอบงำโผฏฐัพพะ   ธรรมารมณ์ครอบงำภิกษุ   ภิกษุไม่ครอบงำธรรมารมณ์   ภิกษุนี้เรียกว่า   เป็นผู้ถูกรูป  เสียง  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ครอบงำ   ไม่ครอบงำ  รูป เสียง  กลิ่น   รส  โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์    ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาป   เป็นอกุศล   มีความเศร้าหมองให้เกิดในภพใหม่   มีความกระวนกระวาย   มีทุกข์เป็นวิบาก   เป็นที่ตั้งแห่งชาติ  ชรา   และมรณะต่อไป  ครอบงำแล้ว   ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ภิกษุเป็นผู้มีใจชุ่มแล้วด้วยกามอย่างนี้แล

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ก็ภิกษุเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มด้วยกามอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้   เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก   ไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก ...

รู้รสด้วยลิ้น ...   รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว   ย่อมไม่น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก   ไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก   เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้แล้ว   มีใจหาประมาณมิได้อยู่   และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ   ปัญญาวิมุติ   อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลกรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอตามความเป็นจริง

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มแล้วในรูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา ... เป็นผู้มีใจไม่ชุ่มแล้วในธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ    ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ถ้าแม้มารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางจักษุ   ทางลิ้น ... ทางใจ   มารย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้เหตุ ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ก็ภิกษุผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น   ครอบงำรูป   รูปไม่ครอบงำภิกษุ   ภิกษุครอบงำเสียง  กลิ่น  รส   โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์  เสียง   กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ   ธรรมารมณ์  ไม่ครอบงำภิกษุ    ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ภิกษุนี้เรียกว่า   ผู้ครอบงำรูป  เสียง  กลิ่น   รส  โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์   อันเป็นบาป   เป็นอกุศลเหล่านั้น   อันมีความเศร้าหมอง   ให้เกิดในภพใหม่   มีความกระวนกระวาย   มีทุกข์เป็นวิบาก   เป็นที่ตั้งแห่งชาติ  ชรา   มรณะ  ต่อไป     ดูกรอาวุโสทั้งหลาย   ภิกษุเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มแล้วด้วยกามอย่างนี้"

 

 

ดูสารบัญ

home         ปัญหาถาม-ตอบ        หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 

 


ดูสารบัญ